คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ‘หัวเว่ย’การสร้างนวัตกรรมเปรียบได้กับการวิ่งมาราธอน

วีคที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมงาน “หัวเว่ย คอนเน็ค 2016” ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานประชุมครั้งใหญ่สุดที่จัดขึ้นเกี่ยวกับระบบนิเวศด้านไอซีที โดยในปีนี้เน้นไปในเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี “คลาวด์” โดยเฉพาะ

บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ภายในไม่เกินสิบปีข้างหน้า โซลูชั่นไอทีสำหรับองค์กรทั้งหมดจะเปลี่ยนไปเป็นคลาวด์ โดยมากกว่า 85% ของแอพพลิเคชั่นสำหรับองค์กรจะใช้เทคโนโลยี “คลาวด์” เป็นพื้นฐาน

สำหรับผู้บริโภคทั่วไป ตัวอย่างบริการ “คลาวด์” ที่เราคุ้นเคยกันดีคือบรรดาบัญชีอีเมล์ฟรี และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลออนไลน์ต่างๆ เช่น จีเมล์, ดร็อปบ็อกซ์, ไอ-คลาวด์ของแอปเปิล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม “คลาวด์” ไม่ใช่แค่พื้นที่เก็บข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่ระบบคลาวด์ทำได้หลายสิ่ง ทั้งประมวลผล จัดเก็บ และมีรูปแบบบริการที่หลากหลายมากๆ โดยมีจุดเด่นอยู่ตรงที่เป็นระบบที่ยืดหยุ่น สะดวกรวดเร็ว และประหยัด (กว่า)

Advertisement

ต่อไป สารพัดข้อมูลความรู้ต่างๆ จะขึ้นไปอยู่บนระบบ “คลาวด์”

“หัวเว่ย” เปรียบคลาวด์เป็น “มันสมองดิจิทัล”

“เคน หู” ซีอีโอหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวว่า เทคโนโลยีคลาวด์จะเปลี่ยนโฉมทุกสิ่ง โดยใน 5-10 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นอุปกรณ์ต่างๆ ปรับการทำงานให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ ทุกคนและทุกสิ่งจะรับรู้ได้ถึงสภาวะรอบข้าง โดยมีอุปกรณ์ต่างๆ ทำหน้าที่ป้อนข้อมูล ทั้งเครือข่ายไฟเบอร์ออฟติก เครือข่ายไร้สายจะเชื่อมต่อผ่านระบบบรอดแบนด์ความเร็วสูงอย่าง

Advertisement

ทั่วถึง คอมพิวเตอร์ (รวมถึงสมาร์ทโฟน) ที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก จะสามารถรวบรวมข้อมูลมหาศาล เกิดเป็น “มันสมองดิจิทัล”

“มันสมองดิจิทัล” ในระบบคลาวด์จะมีการพัฒนาต่อเนื่องแบบเรียลไทม์ และไม่มีวันเสื่อมสภาพ โดยผู้คนและเครื่องจักรสามารถดึงออกมาใช้เมื่อใดก็ได้ เพียงเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์

เมื่อถนนทุกสายมุ่งหน้าไปสู่ “คลาวด์” หัวเว่ยก็เช่นกัน

งานหลังบ้านของบริษัทต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาระบบไอซีที รวมถึงระบบโทรศัพท์มือถือของบริษัทต่างๆ ในบ้านเราเอง ต่างคุ้นเคยกับอุปกรณ์ของ “หัวเว่ย” เป็นอย่างดี แต่กับผู้บริโภคทั่วไปอาจรู้จักแบรนด์ “หัวเว่ย” ไม่นานมานี้ หลังจากสามารถขึ้นแท่นผู้ผลิต “สมาร์ทโฟน” เบอร์สามของโลกได้ เมื่อกลางปี 2015 เป็นต้นมา

และจนถึงขณะนี้ ไม่เพียงรักษาตำแหน่งไว้ได้เท่านั้น แต่อัตราการเติบโตของยอดขายยังร้อนแรงเป็นอย่างยิ่ง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2016 นี้ มียอดจัดส่งสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาสูงถึง 25% ที่ 60.56 ล้านเครื่อง มากกว่าการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนโลกที่อยู่ที่ 3% เท่านั้น

แม้จะก่อตั้งบริษัทมาเกือบ 30 ปี แต่ชื่อชั้นของ “หัวเว่ย” ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมแถวหน้าของโลกก็เพิ่งเปล่งประกายขึ้นมาในระยะสิบปีหลังนี้เอง

ไม่มีใครคาดคิดว่า มังกรจีน “หัวเว่ย” จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำของโลก แซงหน้าผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารชาติตะวันตกได้

แต่มาถึงวันนี้ ไม่มีใครปฏิเสธความจริงนี้ได้ จากความสำเร็จของยอดขายที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการจัดอันดับให้เข้ามาอยู่ใน 500 บริษัทขนาดใหญ่ จากนิตยสารฟอร์จูนตั้งแต่ปี 2010

ไม่เท่านั้น ในแง่ตราสินค้า หรือ “แบรนด์” ยังติดอันดับ 1 ใน 100 แบรนด์ที่ดีที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของบริษัทอินเตอร์แบรนด์ด้วย

ถือเป็นแบรนด์สินค้าสัญชาติจีนรายแรกที่ก้าวเข้าสู่ท็อป 100 แบรนด์อันทรงคุณค่าของโลกได้สำเร็จ

ลบภาพลักษณ์สินค้าจีนที่เน้น “ถูก แต่คุณภาพไม่ได้” ไปจนหมดสิ้น แม้ในช่วงเริ่มต้น “หัวเว่ย” จะใช้ “ราคา” ที่ต่ำกว่าคู่แข่งมาก เป็นกลยุทธ์สำคัญในการบุกเบิกตลาดโทรคมนาคม ทั้งของโลกและในประเทศไทย

ต้องยอมรับว่า “ราคา” อย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้หัวเว่ยมาไกลถึงวันนี้

ว่ากันว่า ความตั้งใจแรกของ “เหริน เจิ้งเฟย” (อดีตนายทหารในกองทัพจีน) ผู้ก่อตั้งบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ต้องการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อ (ตลาด/คน) จีน ตามความหมายของชื่อ HUAWEI “หัว” (Hua) ที่แปลว่า คนที่มีเชื้อสายจีน “เว่ย” (Wei) แปลว่า เพื่อ

แต่ปัจจุบันไม่ใช่แค่ในประเทศจีนหรือคนจีนเท่านั้น

หนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของ “หัวเว่ย” อยู่ที่การให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาในระยะยาว โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา “หัวเว่ย” ใช้เงินไปกับการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นอย่างน้อย 10% ของยอดขายในแต่ละปี เช่น ในปี 2014 ใช้เงินกว่า 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 14% ของยอดขายทั้งปี

สมกับคำกล่าวของซีอีโอหัวเว่ยที่บอกว่า “นวัตกรรมไม่ใช่การวิ่งเข้าเส้นชัยให้เร็วที่สุด แต่เป็นการวิ่งระยะยาวแบบมาราธอน”

ซีอีโอ “หัวเว่ย” ย้ำว่า นวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของ DNA และเป็นรากฐานสำคัญของความสามารถในการแข่งขัน

“พนักงานเกือบครึ่งหนึ่งจาก 170,000 คนทั่วโลก ทำงานเกี่ยวข้องกับด้าน R&D และกว่าสิบปีที่ผ่านมา หัวเว่ยใช้งบลงทุนในด้าน R&D ไปแล้วมากกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”

ต้องยอมรับว่า ไม่เฉพาะ “หัวเว่ย” แต่วันนี้ “สินค้าและบริการ” สัญชาติ “จีน” จำนวนไม่น้อย สามารถยกระดับตนเองมาได้ไกลมาก โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนน้องใหม่ “เซี่ยวมี่” ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ อาลีบาบา ของ “แจ็ก หม่า” แอพพลิเคชั่นแชต “Wechat”, คอมพิวเตอร์ “เลอโนโว”, เครื่องใช้ไฟฟ้า “ไฮเออร์” เป็นต้น

หนทางไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจก็คงไม่ต่างไปจากการวิ่งเข้าเส้นชัยในระยะมาราธอน หวังว่าสักวันเราจะเห็นแบรนด์ไทย สินค้าไทย ทำได้เช่นนี้บ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image