สุวรรณภูมิในอาเซียน : โลกแห่งอนาคตต้องการ “มหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องมี”

สุวรรณภูมิในอาเซียน : โลกแห่งอนาคตต้องการ “มหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องมี”

โลกแห่งอนาคตต้องการ

มหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องมี”

ปรับปรุงใหม่โดยสรุปจากหนังสือ The Great Remake สู่โลกใหม่

ของ สันติธาร เสถียรไทย

Advertisement

โลกในอนาคตยังต้องการมหาวิทยาลัย เพียงแต่ต้องเป็นมหาวิทยาลัยซึ่งตอบโจทย์ที่โลกแห่งอนาคตต้องการ และตอบได้ดีกว่าสถาบันอื่นๆ จะทำได้

ทุกองค์กรในอนาคตอาจต้องมีความเป็น “มหาวิทยาลัย” เพราะคนทุกคนต้องฝึกเรียนรู้ตลอดชีวิต และเทคโนโลยีการศึกษาก็ทำให้การสร้างพื้นที่เรียนรู้เป็นเรื่องง่ายสำหรับบริษัทและองค์กรที่เห็นความสำคัญ กล่าวคือ “การเรียนรู้ต้องเกิดมากกว่าแค่ในมหาวิทยาลัย และไม่ต้องเกิดในรั้วมหาวิทยาลัยก็ได้”

ถ้าเป็นเช่นนั้นอาจต้องถามต่อว่า มหาวิทยาลัยแบบที่เรารู้จักกันวันนี้ยังจำเป็นแค่ไหน? มหาวิทยาลัยยังเป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบไปสู่ “มหาวิทยาลัย 5.0” เพื่อให้สามารถก้าวข้ามเทคโนโลยี 4.0 และการมุ่งสู่จุดนั้นต้องเริ่มจากตั้งคำถามถึงตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่มหาวิทยาลัยทำได้แต่องค์กรอื่นๆ ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่า ซึ่งมีอย่างน้อย 5 ข้อ ดังนี้

Advertisement

1. การเรียนรู้จากความแตกต่าง (Accepting Diversity) มหาวิทยาลัยในอนาคตไม่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดในการคัดเลือกผู้เข้าเรียน เพราะการทลายกำแพงระหว่างคณะ, สาขาวิชา, อายุ, เชื้อชาติ นอกจากจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกับความแตกต่างแล้ว ยังช่วยสร้างสังคมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ก่อให้เกิดการมองของเดิมๆ ด้วยมุมมองใหม่ๆ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์อันเป็นทักษะสำคัญที่สุดในยุคสมัยใหม่

2. เรียนรู้จากความล้มเหลว (Failure) มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แห่งการทดลอง เสมือน “กล่องทราย” (Sandbox) ที่ผู้เรียนสามารถทดลองได้ ล้มได้ ลุกได้ โดยไม่เจ็บตัวจนเกินไป อีกทั้งสามารถสร้างทัศนคติแบบ Growth Mindset เพื่อการรับรู้ว่าความล้มเหลวในวันนี้ เสมือน “ครู” ที่ทำให้เราเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้

แต่ในวันนี้โลกมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ได้เป็นเช่นนั้น นักเรียนจำนวนมากยังพบกับความกดดันมหาศาลเพียงเพื่อเป้าหมายของการสอบให้ได้คะแนนดี ต้องไม่เดินนอกเส้นทางและไม่คิดนอกกรอบ เท่ากับมหาวิทยาลัยยังผลิตคนที่กลัวความผิดพลาดจนไม่กล้าสร้างสรรค์ ปรับตัวไม่เก่ง และไม่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

3. เรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น (Empathy) เป็นทักษะที่สำคัญต่อการอยู่รอดในอนาคต ดังนั้นครูที่มี Empathy จะไม่ใช่แค่ผู้เลกเชอร์ แต่ครูสามารถเป็นได้ทั้งโค้ชที่รู้จักจุดแข็งจุดอ่อนของนักเรียนคนนั้นๆ สามารถเป็นพี่เลี้ยง/ที่ปรึกษา (Mentor) ที่เข้าใจนักเรียน สามารถแนะแนวทางการใช้ชีวิตได้ (บางด้าน) และที่สำคัญครูก็อาจเป็นผู้นำสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมี Empathy เหมือนกันได้

4. เรียนรู้ที่จะค้นพบตัวเอง (Soul) มหาวิทยาลัยสามารถเติมเต็มได้ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนค้นหาตัวเอง หรืออาจปล่อยให้หลงทางและค้นพบตัวเองใหม่ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องมีสังคมที่หลากหลาย ช่วยให้พบคนใหม่ๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ มีพื้นที่ให้ทดลองในสิ่งที่ไม่เคยทำ อีกทั้งมีครูที่ “เข้าใจ” คอยช่วยเหลือและสนับสนุน

5. พื้นที่ปลอดภัย (Save) มหาวิทยาลัย 5.0 ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากสังคมอันหลากหลาย เป็นพื้นที่เรียนรู้จากการทดลองแม้จะประสบความล้มเหลว เรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่นและเรียนรู้จากการค้นหาตนเองโดยไม่ต้องกลัวตราบาปใดๆ

พื้นที่ปลอดภัยไม่ได้แปลว่า “พื้นที่อยู่สบาย” หรือ “Comfort Zone”เพราะในทางตรงข้าม หากเราอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยก็ควรมีโอกาสที่จะกล้าออกนอกคอมฟอร์ตโซนของตนเอง กล้าเปิดรับความอ่อนไหว (Vulnerability) เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่

หากเอาตัวอักษรแรกของ 4 คำ ได้แก่ Soul, Accept, Failure, Empathy มารวมกันก็จะได้ข้อที่ 5 คือคำว่า SAFE หรือ “พื้นที่ปลอดภัย”

อนาคตมหาวิทยาลัยในโลก “ไร้พรมแดน”

ในยุคหลังโควิด มหาวิทยาลัยจะต้องเผชิญกับพรมแดนแห่งการเรียนรู้หลายอย่างที่จะจางหายไปและถูกเขียนขึ้นใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นมาสักพักหนึ่งแล้ว และถูกเร่งขึ้นให้ก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา

พรมแดนระหว่างมหาวิทยาลัย กับที่ที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย? ในอนาคตทุกองค์กรจำเป็นต้องมี “พื้นที่การเรียนรู้” ที่เป็นเสมือน “มหาวิทยาลัย” หรือสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าบริษัท องค์กรรัฐ หรือ NGO ต้องให้ใบปริญญา เพียงแต่ต้องสร้างระบบนิเวศที่กระตุ้นการเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองให้แก่คนในองค์กร ต้องมีการลงทุนและสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะใหม่ ในขณะที่ผู้นำจะต้องไม่เป็นแต่ “บอสสั่งงาน” แต่ต้องเป็น “ครูที่ดี” ให้กับคนในทีมด้วย

หากในยุคใหม่เราสามารถเรียนได้จากทุกที่ ทุกคน ทุกเวลา ทุกสาขาวิชา ในทุกองค์กรจริง โดยไม่ต้องอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย คำถามที่ตามมาก็คือ “บทบาทของมหาวิทยาลัยในยุค 2020 ควรจะเป็นอย่างไร”

การจะตอบคำถามนี้ได้อาจต้องตีโจทย์ให้แตกว่า “อะไรที่มหาวิทยาลัยทำได้ในขณะที่องค์กรอื่นๆ ทำไม่ได้ (หรือทำได้ไม่ดีเท่า) ในเรื่องการเรียนรู้และพัฒนาคน”

1. พรมแดนระหว่างการเรียนกับการทำงาน

พรมแดนของนักเรียนและคนทำงานกำลังจางหายไป ประเด็นแรก นักศึกษามหาวิทยาลัยต้องรู้จักการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริงตั้งแต่อยู่ในมหาวิทยาลัย ยิ่งในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด การมีประสบการณ์ทำงานจะช่วย “อัปเดตข้อมูล” สำหรับทั้งตัวนักเรียน สถาบันการศึกษา และนายจ้าง ว่าทักษะความรู้ต่างๆ ที่ได้เรียนมายังมีประโยชน์กับอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไร ประเด็นที่สอง คนทำงานต้องมีความเป็นนักเรียนตลอดเวลา เพราะความรู้มีอายุสั้นลงในยุคที่คนมีอายุยืนขึ้น

2. พรมแดนระหว่างภาควิชา

เส้นที่ขีดแบ่งแต่ละคณะภาควิชาจะละลายหายไป เพราะ (1) คนที่มีทักษะหลากหลายสามารถแก้ปัญหาในโลกความจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า (2) การเรียนรู้ข้ามพรมแดนคณะอาจทำให้เราได้พบคนหลากหลาย จึงควรฝึกรับฟัง เคารพและเข้าใจคนอื่นที่มองโลกต่างเลนส์ เพื่อให้สามารถทำงานในทีมที่มีความหลากหลายได้ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและการเรียนรู้ในองค์กร

3. พรมแดนของ “ห้องเรียน”

ตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด คอร์สออนไลน์ที่เรียกว่า Massive Open Online Course (MOOC) ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป อีกทั้งแหล่งความรู้ในอินเทอร์เน็ตยังมีอีกมากมายตั้งแต่วิดีโอจนถึงพอดแคสต์ หรือแม้แต่คลับเฮาส์ก็เป็นแพลตฟอร์มที่มาแรง ทำให้การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น

4. พรมแดนการเป็นครู

เมื่อ “ห้องเรียน” เปิดกว้างกลายเป็นพื้นที่ออนไลน์ นักเรียนก็สามารถเข้าถึงคอนเทนต์การศึกษามากมายจากครูเก่งๆ ทั่วโลก สามารถเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่เปิดให้เรียนออนไลน์ สามารถฟังจากเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ รวมถึงนักแสดง ผู้กำ กับฯ นักเขียนระดับโลกได้จากที่บ้าน ไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องเรียนจากครูที่มหาวิทยาลัยของตัวเองเสมอไป

บทบาทของครูต้องเปลี่ยนจาก “คนบรรยาย” ให้ความรู้หน้าห้องซึ่งถูกเทคโนโลยี “แทนที่” ได้ง่าย กลายเป็น “ครูหลังห้อง” ด้วยการสร้าง “ห้องเรียนกลับด้าน” (Flipped Classroom) ที่ครูคัดเลือกและแนะนำคอนเทนต์การเรียนให้นักเรียนฟังและอ่านมาจากบ้าน เมื่อเข้ามาในห้องเรียนก็สามารถใช้เวลาไปกับกิจกรรมกลุ่ม การตั้งคำถาม การถกเถียง หรือช่วยคิดหาคำตอบ โดยไม่ต้องเสียเวลาบรรยายเนื้อหาอีก

ในบทบาทนี้ นอกจากครูจะต้องแตกฉานในวิชาและอัปเดตแหล่งความรู้ใหม่ๆ ทั่วโลกอยู่เสมอแล้ว สิ่งที่ครูควรมี ซึ่งไม่ว่าอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกคนไหนก็ไม่สามารถมีได้คือการรู้จักนักเรียนของตัวเอง อีกทั้งควรคัดเลือกและปรับ (Customise and Localise) คอนเทนต์การศึกษาให้เหมาะสม เพื่อช่วยให้แต่ละคนเรียนได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด


The Great Remake สู่โลกใหม่

โดย สันติธาร เสถียรไทย

สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง มิถุนายน 2564

คำว่า “รีเมก (Remake)” ส่วนใหญ่ใช้ในวงการบันเทิง เช่น ละคร ภาพยนตร์ หรือเกม หมายถึงการนำละคร ภาพยนตร์ หรือเกม ที่ส่วนมากประสบความสำเร็จในอดีตกลับมาทำใหม่โดยอาจใช้โครงเรื่องเดิมเป็นจุดเริ่มต้น แต่ปรับเปลี่ยนเรื่องราวและตัวละครให้แตกต่างจากเดิมจนแทบจะเป็นเกมใหม่หรือภาพยนตร์คนละเรื่อง

การรีเมกนั้นลึกซึ้งกว่าการทำ “รีมาสเตอร์ (Remaster)” ที่แค่เอาภาพยนตร์เก่ามาอัปเกรดด้านเทคโนโลยีและกราฟิกให้ดูดีขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังนับได้ว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ซึ่งในโลกหลังโควิดอาจไม่เพียงพอ การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตนี้ไม่ควรทำอย่างผิวเผินฉาบฉวย ยกตัวอย่างเช่น การทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นย่อมต้องมีทั้งการรื้อระบบความคิดกระบวนการ วัฒนธรรมองค์กร และพัฒนาคน ไม่ใช่แค่เพียงสร้างแอปพลิเคชั่นใหม่ขึ้นมาแล้วบอกว่าเป็น 4.0

แต่ขณะเดียวกัน การรีเมกก็ไม่ใช่การ “รีเซ็ต (Reset)” หรือการเริ่มใหม่จากศูนย์ เพราะในโลกความเป็นจริง คนไม่ได้เขียนอนาคตของตนบน “กระดาษเปล่า” เรามักเลือกจุดเริ่มต้นไม่ได้ ลบอดีตไม่ได้ แม้อาจจะพอรีเซ็ตกรอบความคิดหรือทัศนคติของตนเองได้ แต่การ เปลี่ยนแปลงตัวเอง องค์กรและสังคมรอบตัวอย่างแท้จริง มักต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดที่สลับซับซ้อน และสะสมมายาวนาน การเอาโมเดลหรือสูตรสำเร็จขององค์กรอื่นมาแปะเป็นของเราโดยไม่คำนึงถึงบริบทจึงไม่ใช่คำตอบ

หัวใจของ “รีเมก” จึงเป็นการพยายามสร้างเวอร์ชั่นใหม่ของตนเองให้ดีกว่าเดิมโดยไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ หรือความสำเร็จในอดีต แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจและไม่ปฏิเสธสิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา การรีเมกคือการสร้างยุทธศาสตร์ใหม่และผลักดันการพัฒนาคนในองค์กรสังคมให้ปรับตัวสู่โลกใหม่ได้ทัน เพียงแต่การสร้างคน การเปลี่ยนความคิดและปรับทักษะสู่อนาคตนั้นไม่สามารถเกิดได้ชั่วข้ามคืน อีกทั้งต้องคิดถึงการช่วยคนที่ตามไม่ทันอยู่เสมอ

[ปรับปรุงจากคำนำของผู้เขียน]


โลกแห่งอนาคตต้องการพลังสร้างสรรค์เพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย กิจกรรม ‘เสาหลักจะไม่หักเหมือนตาชั่ง’ เพื่อไว้อาลัยให้ความยุติธรรม และสนับสนุนการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนตามสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่ลานจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564

ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” การชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อ. คลองหลวง จ. ปทุมธานี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

 “มอกะเสด ไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ” กิจกรรมแสดงพลังหนุนประชาธิปไตยของนิสิตเกษตรฯ ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 (ภาพจากhttps://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3636526)

 กิจกรรม #ยืนทะลุฟ้า ชูสามนิ้ว บีบแตร ไล่ประยุทธ์ ที่หน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝั่งศาลเจ้าพ่อมอดินแดง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 (ภาพจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2761054)

กลุ่มนักเรียนเลว พร้อมแนวร่วมเครือข่ายนักเรียนจาก 30 โรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นัดชุมนุม ณ บริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2563

สุวรรณภูมิในอาเซียน : โลกแห่งอนาคตต้องการ “มหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องมี”กลุ่มนักเรียนเลว จัดกิจกรรมวันไหว้ครู “พระคุณที่สาม…งดงามแจ่มใส” ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการนำไม้เรียว กรรไกร และไม้บรรทัดมากองอยู่ที่หน้ากระทรวง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564


พลังสร้างสรรค์ หลัง “ห่า” ระบาด

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ห่าลง” หรือ “ห่ากินเมือง” คือ Black Death (ความตายสีดำ) หรือ กาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ในตำนานกำเนิดอยุธยา มีบันทึกในประวัติศาสตร์โลกที่รัฐอยุธยาได้รับผลกระทบด้วย จึงพบความทรงจำเป็นคำบอกเล่าว่าเกิดปั่นป่วนโกลาหลมีคนล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง แต่หลังจากนั้นรัฐอยุธยามีการเปลี่ยนแปลงสู่โลกใหม่อย่างเติบโตก้าวหน้าสู่ความเป็น “ราชอาณาจักรสยามแห่งแรก”

โลกใหม่ของรัฐอยุธยาหลัง “ห่า” กาฬโรค มีดังนี้

1. ศาสนาเพื่อการค้า ก่อนหน้านั้นอยู่ในกรอบแข็งแรงของศาสนาการเมืองที่เน้น

พิธีกรรมสนองมหาเทพเป็นสำคัญ นับแต่นี้ไปเน้นศาสนาเพื่อการค้า มีการค้าโลกและการค้าสำเภาจีนด้วยการยกย่อง “ผู้มีบุญ” เพราะทำบุญทำทานมากในชาติปางก่อน เมื่อถึงชาตินี้จึงเป็นเศรษฐีมีทรัพย์มั่งคั่งจากการค้า ดังนั้น คำสอนเน้นการทำบุญทำทานเพื่อชาติหน้าเป็น “ผู้มีบุญ” และเป็นพระราชาก็ได้

2. ภาษาไทย อักษรไทย ก่อนหน้านั้นราชการใช้ภาษาเขมร อักษรเขมร (ในวัฒนธรรมขอม) นับแต่นี้ไปใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษากลางทางการค้าภายในมานานนับพันๆ ปีมาแล้วและอักษรไทยที่ดัดแปลงจากอักษรเขมร (และ/หรือมอญ) เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของรัฐสู่การค้าโลกและการค้าสำเภาจีน หลังจากนั้นมีพลังสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมไทยสั่งสมสืบเนื่องนับไม่ถ้วน

การศึกษาไทยในโควิด-19

ไทยต้องเตรียมเข้าสู่โลกใหม่หลังโควิด-19 ด้วยการสร้างสังคมเรียนรู้ข้อมูลความรู้ชุดใหม่ทั้งในระบบและนอกระบบ หรืออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

หลายสิบปีมาแล้วตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม 2516 จนถึงหลัง 6 ตุลาคม 2519 แนวคิดเสียดสีถากถางการศึกษาไทยของคนหนุ่มคนสาวฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารว่า “อยากมีปริญญาต้องเข้ามหาวิทยาลัย อยากได้ความรู้ต้องไปหมู่บ้าน”

หมายถึง มหาวิทยาลัยมีใบปริญญาและมีครูบาอาจารย์บนหอคอยงาช้างนั่งๆ นอนๆ กอดหนังสือตำรับตำราและทำหน้าที่พนักงานขายใบปริญญาให้ผู้ต้องการซื้อ แต่ไม่มีอย่างอื่น ส่วนหมู่บ้านมีความรู้และประสบการณ์ตรงในวิถีชีวิตจริงเพื่อเป็นพลังสร้างสรรค์ แต่ไม่มีใบปริญญาไว้ขาย

การศึกษาไทยก่อนการระบาดของโควิด-19 จนถึงช่วงระบาดระหว่าง พ.. 2563-2564 เป็นข้อมูลความรู้ชุดเก่าที่ไม่เท่าทันสากลโลก จึงไม่พบสิ่งแตกต่างจากหลายสิบปีมาแล้ว แม้เทคโนโลยีก้าวหน้าสู่ “ดิจิทัล” แต่เนื้อหาและกระบวนการได้มายังเป็น “แอนะล็อก” ดังนั้นแนวเสียดสีถากถางการศึกษาไทยที่เคยมีมาก่อนยังไม่ถึงกับล้าสมัย

อาจารย์มหาวิทยาลัยกับข้าราชการของรัฐราชการ (จำนวนหนึ่ง) ยังมีวิธีคิดและวิธีทำแบบ “หมาหวงก้างในรางหญ้า” (มาจาก “หมาหวงก้าง” รวมกับ “หมาในรางหญ้า” หมาหวงก้าง เป็นสำนวน หมายถึง การกันท่าอ้างสิทธิทั้งๆ ที่ตนไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ หมาในรางหญ้า เป็นสำนวน หมายถึง ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ผลประโยชน์ หรือหาผลประโยชน์จากสิ่งนั้นมิได้ แต่ก็กันท่าคนอื่นที่ควรจะได้)

กล่าวคืออาจารย์มหาวิทยาลัยและข้าราชการรับเงินเดือนซึ่งมาจากภาษีอากรของราษฎร แต่กีดกันราษฎรมิให้ “เข้าถึง” ข้อมูลจากการวิจัย, สำรวจ, ขุดค้น ฯลฯ ทั้งๆ สิ่งเหล่านั้นเป็นสมบัติร่วมกันของประชาชาติราษฎรทุกคน เพราะได้มาจากทุนซึ่งเป็นภาษีอากรของราษฎร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image