อาศรมมิวสิค : อันน์-โซฟี มุตเตอร์ กับ โครงการโมซาร์ท การทำงานวิจัยภาคปฏิบัติในแบบของศิลปิน

สุนทรียรสอันสำคัญประการหนึ่งของดนตรีที่พวกเราเรียกหรือจัดประเภทว่า “คลาสสิก” ก็คือการศึกษานั่นเอง ดนตรีหรือศิลปะอื่นๆ ประเภทนี้สอนให้เราพิจารณารายละเอียดของสรรพสิ่ง รู้จักการใช้สมาธิอยู่นิ่งกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้โดยไม่รู้จักเบื่อหน่าย เราจึงพบเห็นได้บ่อยๆ ครั้งว่าในผลงานชิ้นเดียวกันนั้นเราสามารถค้นพบรายละเอียดใหม่ๆ ได้อย่างแทบไม่มีวันจบสิ้นโดยปราศจากคำว่าเบื่อหน่าย ปรากฏการณ์ที่ว่านี้จะชี้นำให้กับเราโดยศิลปินซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องรู้สึกนึกคิดเช่นว่านี้ให้ได้เองเสียก่อน มันจึงเป็นคำตอบที่ว่าเหตุใดบทเพลงเดียวกันที่บรรเลงและฟังกันมานับร้อยๆ ปี จึงยังคงมีแง่มุมใหม่ๆ ที่พวกเขาค้นพบกันอยู่เสมอๆ และเป็นผู้นำแนวคิดใหม่ในงานชิ้นเดิมมาตีแผ่สร้างความตื่นเต้นใหม่ๆ ให้กับพวกเรา (ผู้ฟัง) กันอย่างไม่หยุดหย่อน

เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของการตีความไวโอลินคอนแชร์โตทั้ง 5 บท ของ “วอลฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท” (Wolfgang Amadeus Mozart) โดยศิลปินเดี่ยวไวโอลินที่ปัจจุบันเธอเป็น “สาวใหญ่” (วัยใกล้ 60 ปี) หรือแม้แต่อาจจะเป็นคุณป้าไปแล้วสำหรับหลายๆ คน เธอเป็นชาวเยอรมันนามอุโฆษ “อันน์ โซฟี มุตเตอร์” (Anne-Sophie Mutter) ผู้ที่ใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่กับดนตรีคลาสสิก และผลงานของโมซาร์ทมาโดยตลอด ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2549 (ค.ศ.2006) อันเป็นปีครบรอบวาระ 250 ปีเกิดของโมซาร์ท อีกทั้งยังเป็นวาระครบรอบ 30 ปีที่เธอได้มีโอกาสเปิดตัวครั้งสำคัญในวัยเพียง 13 ปี ด้วยการได้มีโอกาสบรรเลงเดี่ยวบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตหมายเลข 3 ของโมซาร์ทร่วมกับวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก (Berlin Philharmonic) ภายใต้การอำนวยเพลงโดยวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “แฮร์แบร์ต ฟอน คารายาน” (Herbert von Karajan) เธอจึงถือเป็นวาระสำคัญในการสร้างผลงานที่ผู้เขียนขอเรียกมันว่าเป็น “การวิจัยเชิงปฏิบัติการ” ในโครงการที่เธอเรียกมันว่า “Mozart Project” ด้วยการค้นคว้าวิจัยสิ่งใหม่ๆ ที่เธอได้ค้นพบแนวคิดใหม่ๆ ในบรรดาผลงานวรรณคดีดนตรีสำหรับไวโอลินทั้งหลายที่โมซาร์ทประพันธ์ขึ้น และนำแนวคิดใหม่ๆ เหล่านั้นมาตีแผ่ต่อผู้ฟังดนตรีที่มีใจภักดีต่อวรรณกรรมดนตรีไวโอลินของโมซาร์ท เธอกล่าวว่า สำหรับผู้ฟังแล้วเธอต้องการนำเสนอการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นมุมมองเชิงบวกสำหรับผู้ฟัง และเธอก็บรรลุจุดมุ่งหมายที่ว่านั้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเธอทำให้บทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตทั้ง 5 บท รวมถึงบทเพลง “ซินโฟเนียคอนแชร์ตานเต” (Sinfonia Concertante) สำหรับไวโอลินและวิโอลา กลับมามีชีวิตชีวาเต็มไปด้วยความหมายใหม่ให้สุ้มเสียงใหม่ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ฟัง

ผู้เขียนไม่อายที่จะขอสารภาพว่า แรงบันดาลใจในการเขียนบทความชิ้นนี้มาจากเพียงแค่ มิตรสหายผู้รักดนตรีด้วยกันผู้หนึ่งที่ได้แนะนำ, จัดหาผลงานแผ่นซีดีมือสองชุดนี้มาให้ฟัง ซึ่งมันได้ออกสู่ตลาดมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว และทันทีที่ได้ฟังการตีความของเธอในครั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า นี่มิใช่เป็นเพียงการฉวยโอกาสตามน้ำทำเงินในวาระสำคัญ แต่มันเป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ทางดนตรีของโมซาร์ทที่น่าตื่นเต้น ด้วยรูปโฉมทางดนตรีที่ฟังดูมีความร่วมสมัย เธอตอบคำถามทางศิลปะที่พวกเราต้องค้นหากันอยู่เสมอๆ ตลอดมาว่าเราจะสร้างความน่าสนใจมีชีวิตชีวาใหม่ๆ จากผลงานลายครามเก่าแก่กว่า 200 ปีนี้ได้อย่างไร เสียงดนตรีที่โมซาร์ทสร้างสรรค์ขึ้นในศตวรรษที่ 18 ควรจะเปล่งเสียงใหม่ในสังคมร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ได้อย่างไร? เช่นเดียวกับวรรณกรรมบทละครของเชกสเปียร์ (William Shakespeare) ที่ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์หาความหมายใหม่ๆ กันอยู่เสมอๆ จากศิลปินในวงการละครทุกยุคสมัย

ความรื่นรมย์ในความหมายใหม่แห่งเสียงดนตรีของโมซาร์ทโดย อันน์-โซฟี มุตเตอร์ มิได้มาจากเพียงแค่เสียงดนตรีที่ผ่านการคิดวิเคราะห์และวิจัยของเธอ หากแต่มันยังมาจากการได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่เธอได้สนทนาธรรมทางดนตรีกับ “ไมเคิล เชิร์ช” (Michael Church) ถึงความผูกพันทางดนตรีของเธอกับผลงานดนตรีของโมซาร์ทที่แสดงให้เห็นว่า ในปี พ.ศ.2549 ด้วยวัย 43 ปี ในขณะนั้น เธอมีความรู้และประสบการณ์ทางดนตรีที่มั่งคั่งมากทีเดียว บทสนทนาของเธอสะท้อนว่าตลอดชีวิตแห่งการเป็นศิลปินดนตรีของเธอนั้น ไม่เคยหยุดนิ่งในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ, คิดวิเคราะห์เพื่อหามุมมองใหม่ๆ ในการตีความทางดนตรีอยู่เสมอ ซึ่งมันก็เสมือนกับการตีความผลงานดนตรีคลาสสิกโดยศิลปินร่วมสมัยคนอื่นๆ ที่เกิดประเด็นสำคัญอันเปรียบเสมือนทางสองแพร่งที่ว่าผลงานดนตรีในศตวรรษที่ 18-ต้นศตวรรษที่ 19 นั้นควรเปล่งเสียงออกมาอย่างซื่อตรงตามตัวโน้ตที่ผู้เขียนเขียนขึ้นทุกประการและควรใช้ความพยายามอันยิ่งยวดในการย้อนกลับไปสู่เสียงดนตรีประวัติศาสตร์ย้อนยุคให้มากที่สุด ด้วยการใช้เครื่องดนตรีย้อนยุคแบบที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์หรือไม่ ควรบรรเลงกันด้วยจารีตประเพณีทางดนตรีอันเคร่งครัดทุกประการแบบในยุคสมัยนั้นเพื่อให้ได้เสียงดนตรี “ดั้งเดิม” โดยแท้จริงให้มากที่สุดหรือไม่ (แนวทางเช่นว่านี้เราเรียกกันว่า H.I.P.ที่ย่อมาจาก “Historically informed performance”) หรือ………หรือเราจะเลือกแนวทางที่สองที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงนั่นก็คือการตีความใหม่จากเพียงโน้ตฉบับเดิมที่ดุริยกวีเขียนขึ้นโดยผ่านมุมมองและประสบการณ์ใหม่ของศิลปินร่วมสมัย สำหรับ อันน์-โซฟี มุตเตอร์ใน “โครงการโมซาร์ท” ของเธอนั้น เธอเลือกที่จะยืนอยู่ในประเภทหลัง (โดยอาศัยอ้างอิงข้อมูลและองก์ความรู้จากแนวทางแรก)

Advertisement

สองแนวทางแห่งการตีความ “ดนตรีคลาสสิก” เช่นว่านี้ เกิดคู่ขนานกันมาโดยตลอดระยะเวลาหลายๆ สิบปีที่ผ่านมา อันน์-โซฟี มุตเตอร์ เป็นศิลปินอีกผู้หนึ่งที่เชื่อว่า ทั้งไม่มีทางและดูจะเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ที่เราจะพยายามย้อนยุคหมุนโลกกลับไปสู่อดีตประดุจการขึ้นยานพาหนะย้อนเวลา (Time Machine) เพื่อไปฟังเสียงที่เกิดขึ้นจริงๆ ในอดีต ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่านั่นเป็นเพียงการเสแสร้งว่าเราทำได้ เพราะแท้ที่จริงแล้วผู้คนในสังคมร่วมสมัยในยุคปัจจุบันมีวิถีการฟังและการรับรู้ทางดนตรีที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงจากผู้คนในยุคสมัยศตวรรษที่ 18 แบบโมซาร์ทหรือเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) และที่สำคัญพวกเราผ่านการรับรู้ลีลา (Style) ทางดนตรีที่หลากหลายมาแล้ว โดยส่วนใหญ่ผู้ฟังมีความคาดหวังทางเสียงดนตรีที่แตกต่างไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง อย่างเช่น เธอไม่เลือกที่จะใช้สายไวโอลินที่ทำขึ้นจากสายเอ็นย้อนยุคแบบศตวรรษที่18 แต่เธอเลือกใช้สายไวโอลินที่ทำขึ้นจากโลหะแบบที่ใช้กันในทุกวันนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าสายโลหะได้ช่วยเปิด, แผ่ขยายช่วงเสียง (Range) และสีสันแห่งการแสดงออกที่ให้ความเจิดจ้ากว่า (มิใช่เพียงแค่ให้ปริมาณเสียงที่ดังกว่าเดิมเท่านั้น) ให้ความละเอียดอ่อนต่างๆ ได้หลากหลายกว่าสายที่ทำจากเอ็นแบบในยุคของโมซาร์ท สิ่งเหล่านี้เราสามารถเห็นได้ว่ามันตอบสนองวัตถุประสงค์ทางดนตรีดั้งเดิมที่ตัวโมซาร์ทเองต้องการจากสกอร์ (Score) ดนตรีที่เขาเขียนขึ้น นั่นก็คือเธอเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งเชื่อว่า หากโมซาร์ทมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบันเขาก็คงไม่สนับสนุนการบรรเลงผลงานดนตรีของเขาด้วย “เครื่องดนตรีโบราณ”

อันน์-โซฟี มุตเตอร์ ผ่านประสบการณ์การเป็นศิลปินเดี่ยว (Soloist) มาตลอดชีวิตหลายสิบปี ผ่านการบรรเลงเดี่ยวร่วมกับวงออเคสตราชั้นนำระดับโลกมามากมาย ในโครงการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 250 ปีเกิดของโมซาร์ทนั้น เธอน่าจะเลือกวงออเคสตราที่มีลักษณะอะไรบางอย่างที่มีความดั้งเดิม (Originality) หรือสูงด้วยขนบจารีตนิยมอันเหนียวแน่นมานับร้อยปีอย่างวงแห่งกรุงเวียนนา หรือเบอร์ลิน แต่เธอไม่คิดเช่นนั้นเธอกลับเลือกวงอย่างลอนดอนฟิลฮาร์โมนิก (London Philharmonic Orchestra) มาร่วมงานในโอกาสสำคัญนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “พวกเขามีความทันสมัยมาก” เธอบอกว่าวงออเคสตราชั้นดีหลายวงมีเสียงที่นุ่มนวลละเมียด แต่สมาชิกวงลอนดอนฟิลฮาร์โมนิกเปรียบเสมือนรถพอร์เช (Porsche) เต็มไปด้วยความแจ่มใส-กังวานและฟังดูมีความอ่อนเยาว์ (เธอสารภาพว่าแม้ว่าจะเกลียดที่ได้ใช้การเปรียบเปรยเช่นนี้ก็ตาม) และที่สำคัญเธอบอกว่า การบรรเลงดนตรีโมซาร์ทของวงลอนดอนฟิลฮาร์โมนิกนั้น “เร็ว” มาก (Fast) ซึ่งคำว่าเร็วในที่นี้มิได้แปลว่าเล่นด้วยจังหวะที่เร็ว หากแต่เธอหมายถึง “เร็ว” ในความหมายของ “ปฏิกิริยาตอบสนองทางดนตรี” (Reaction Time) เธอบอกว่าเป็นวงที่พร้อมที่จะสร้างสรรค์สรรพสิ่งได้อย่างรวดเร็วตามเป้าประสงค์ “พวกเขาจะนั่งอยู่ริมเก้าอี้เสมอ” (หมายถึงการนั่งด้วยความพร้อมและตื่นตัวมิใช่การนั่งพิงเอกเขนกกับพนักพิงหลังอย่างเฉื่อยชา)

คำพูด, คำบรรยายพรรณนาใดๆ ของศิลปินจะกลายเป็นเรื่องน่าเย้ยหยันในทันที หากเขาไม่สามารถสร้างความประจักษ์ทางเสียงให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ในแง่นี้ อันน์-โซฟี มุตเตอร์ก้าวผ่านได้อย่างงดงาม สิ่งที่เธอพร่ำพรรณนา, อธิบายไว้ในบทสัมภาษณ์กับไมเคิล เชิร์ช แสดงออกในทางปฏิบัติในศิลปะทางเสียงที่เธอได้สาธิตไว้ในงานบันทึกเสียงชุดนี้ของเธออย่างครบถ้วนบริบูรณ์ (และน่าตื่นเต้นยิ่งกว่าคำบรรยายของเธอด้วยซ้ำไป) มันเป็นการบรรเลงไวโอลินคอนแชร์โตที่ผู้เขียนและพวกเราผู้รักดนตรีซึ่งเคยคุ้นชินกันมานับสิบปี ในสุ้มเสียงใหม่โดยสิ้นเชิง เป็นโมซาร์ทที่ สดใส, โฉบเฉี่ยว, รวดเร็วปรู๊ดปร๊าด เป็นโมซาร์ทที่แต่งองค์ทรงเครื่องแบบหนุ่มทันสมัยหากแต่สูงด้วยรสนิยม (คล้ายกับการชมอุปรากรหรือละครเวทีคลาสสิกด้วยเครื่องแต่งกายและเวทีอันทันสมัยด้วยเทคนิคละครเวทียุคใหม่) ความสมัยใหม่แห่งการตีความที่รักษาวัตถุประสงค์, ปรัชญาศิลปะดั้งเดิมไว้ได้อย่างครบถ้วน เป็นผลงานไวโอลินคอนแชร์โตชิ้นเดิมๆของโมซาร์ทที่เราฟังมันมาตลอดชีวิต แต่กลับทำให้เราต้องเบิกตาโพลงและลุกขึ้นมานั่งหลังตรง,ชีพจรเต้นแรงด้วยประจุพลังชีวิต คำว่า “ประสบการณ์ใหม่ทางดนตรี” เป็นสิ่งที่ศิลปินดนตรีและผู้รักดนตรีคลาสสิกใฝ่หาด้วยกันเสมอมา ซึ่งมิใช่ทุกครั้งเสมอไปที่เราจะค้นพบมันได้ แต่เมื่อใดที่เราได้ค้นพบมันนั่นคือกำไรแห่งประสบการณ์ดนตรีของพวกเรา

Advertisement

ในบทสัมภาษณ์นั้นเธอแสดงวิสัยทัศน์ทางดนตรีได้สมกับชื่อเสียง, สถานะและประสบการณ์อันช่ำชอง เธอกล่าวถึงสิ่งที่เป็นข้อมูลความจริง (Fact) ทางประวัติศาสตร์, ผสมผสานกับมุมมองประสบการณ์โดยส่วนตัวของเธอ ณ ที่นี้เธออาจทำให้เรารู้สึกไปไกลได้ราวกับว่าการบรรเลงดนตรีคลาสสิกย้อนยุคแห่งศตวรรษที่ 18 ด้วยเครื่องดนตรีโบราณที่หลายๆ วง, หลายๆ ศิลปินได้กระทำกันอยู่แบบที่เราเรียกว่า “H.I.P” นั้น แทบจะกลายเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้กับพวกเราอย่างแห้งแล้งเกินไป (แม้มันจะเปี่ยมไปด้วยองก์ความรู้ก็ตาม) อันน์-โซฟี มุตเตอร์สอนเราไม่ให้ยึดติดกับนิยาม, ความหมายของคำว่า “คลาสสิก”, ปลดปล่อยความคิดเราไม่ให้ยึดติดกับคุณลักษณะของดนตรีแห่งศตวรรษที่ 18 “ตามตำรา” เธอชี้ให้เห็นว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์และตีความใหม่มิใช่บรรเลงกันตามนิยามมโนทัศน์แห่งคำศัพท์ ซึ่งผู้เขียนขอเปรียบเทียบกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยว่า เธอมิได้เพียงมาบอกกับพวกเราว่ากรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.2310 แต่เธอได้นำข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาคิดวิเคราะห์ต่อว่า ในการเสียกรุงครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร, เราได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ครั้งนั้น และเราควรที่จะนำประสบการณ์นั้นมาปรับใช้แก้ไขข้อผิดพลาดที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันอย่างไร?

ใครที่เล่นดนตรีเป็นแล้วก็อาจเรียกตัวเองว่าเป็น “นักดนตรี” ได้ไม่ยากนัก แต่คนที่คู่ควรกับคำว่า “ศิลปิน” นั้นต้องก้าวข้ามไปให้ได้อีกหลายขั้น เพราะศิลปินจะต้องเป็นผู้ชี้นำทางความคิดผ่านงานศิลปะของเขาให้ได้ นอกจากฝีไม้ลายมืออันเป็นเลิศแล้ว วิสัยทัศน์ก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง อย่างน้อยที่สุด “โครงการโมซาร์ท” ของ อันน์-โซฟี มุตเตอร์ ในครั้งนี้เธอได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเธอเป็นผู้นำทางวิสัยทัศน์แห่งดุริยางคศิลป์โดยแท้จริง ผู้ทำงานวิจัยในภาคปฏิบัติที่ไม่ได้ใช้คำว่าวิจัยอย่างเป็นทางการ แต่ได้กระทำและนำเสนอมันผ่านเสียงดนตรีอันมีความหมายและชีวิตชีวาต่อพวกเราผู้รักดนตรี

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image