คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน : จำได้มากก็มีโอกาสถูกลวงจากความจำปลอมได้มาก

ความจำเป็นเรื่องที่เราอยากให้มีเยอะๆ ค่ะ นักเรียนที่ความจำดีมักมีผลการเรียนดีไปด้วยเพราะการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ต้องอาศัยความจำเป็นองค์ประกอบสำคัญ บางครั้งความจำอาจจะช่วยให้ระลึกถึงคนที่ตายจากไปแล้วเพื่อให้ยังรู้สึกเหมือนผู้ตายยังคงอยู่ด้วยกัน ดูเหมือนความจำจะนำพาแต่เรื่องดีๆ มาให้แต่ก็ไม่แน่เสมอไปเพราะถ้าเราจำเรื่องดีๆ ได้เยอะ เราอาจจะจำเรื่องไม่ดีได้เยอะเช่นเดียวกัน

คุณสุภาพสตรีท่านหนึ่งมีอาการซึมเศร้าหลังสามีเสียชีวิตค่ะ ความที่ลูกหลานทำงานต่างจังหวัดกันหมดทำให้ต้องอยู่บ้านคนเดียว เธอจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพบปะเพื่อนฝูงและปฏิบัติธรรม อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนโทรมาชวนไปปฏิบัติธรรมระหว่างนั่งอยู่บนรถแท็กซี่พอดี เธอตอบตกลงกับเพื่อนเรียบร้อยว่าจะไปวันไหนและกลับวันไหน หลังจากกลับมาก็พบว่าขโมยขึ้นบ้านค่ะ เธอแจ้งกับตำรวจว่าคนขโมยน่าจะเป็นคนขับรถแท็กซี่ที่รู้ว่าเธอจะไม่อยู่บ้านวันไหน เธอจัดแจงเล่ารูปพรรณสัณฐานอย่างละเอียดรวมถึงจดจำลักษณะรถ ป้ายทะเบียน และเรื่องราวที่คุยกันในรถได้ซึ่งฟังดูแล้วน่าจะตามตัวไม่ยากค่ะ แต่คุณตำรวจบอกว่าคนขับปฏิเสธทุกข้อกล่าวหานอกจากนั้นหน้าตาที่เธอเล่ากับหน้าตาคนขับตัวจริงไม่เหมือนกันเลย เมื่อเธอไปคุยกับคนแถวบ้านซึ่งน่าจะรู้จักคนขับคนนี้ ทุกคนก็บอกว่าลักษณะรถและป้ายทะเบียนตรงตามที่เธอจำได้แต่ลักษณะหน้าตาไม่ใช่แน่ๆ

“เขาอาจจะไปทำศัลยกรรมเปลี่ยนใบหน้าก็ได้นะคะ เขามีเงินแล้ว”

เธอยังเชื่อมั่นว่าคนที่ละเอียดรอบคอบและความจำเป็นเลิศอย่างเธอไม่มีทางผิดพลาดแน่ จริงอยู่ว่าเธอจำรายละเอียดได้แม่นยำแต่ในกรณีนี้เราควรต้องระวังการจำรายละเอียดที่ไม่มีอยู่จริงเข้าไปด้วยค่ะ

Advertisement

ตอนที่ 10 ของแอนิเมชั่น “Shokugeki no Soma” การ์ตูนแข่งขันทำอาหารของวัยรุ่นผู้มีจิตวิญญาณความเป็นเชฟ ในตอนนี้ “ฮายามะ อากิระ” เด็กหนุ่มผู้มีพรสวรรค์ด้านการดมกลิ่นและการใช้เครื่องเทศทำปลาซัมมะคาร์ปัชโช่ในรอบชิงชนะเลิศเอาชนะคู่แข่งซึ่งหนึ่งในนั้นคือพระเอกไปได้ วินาทีก่อนประกาศผลการแข่งขัน ฮายามะย้อนนึกไปถึงอดีต เขาเติบโตในสลัม ไม่รู้ว่าพ่อแม่เป็นใครและไม่รู้ว่าจะมีชีวิตในวันพรุ่งนี้ต่อไปอย่างไร อาจารย์สาวแห่งสถาบันอาหาร “ชิโอมิ จุน” พบเขาในสภาพเปียกฝนกลางสลัม เธอบอกว่าฮายามะมีพรสวรรค์ในการแยกแยะกลิ่นจึงน่าจะช่วยงานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องเทศของเธอได้ หลังจากนั้นฮายามะจึงตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตอยู่เพื่อชิโอมิ ความทรงจำที่ทุกข์ทรมานในวัยเด็กลบเลือนไปเหลือเพียงภาพที่ชิโอมิรับเขามาเลี้ยงดูซึ่งเป็นภาพที่ทำให้เขามีความหวังในชีวิตอยู่เสมอ

จุดที่น่าสนใจซึ่งแอนิเมชั่นนำเสนอคือชิโอมิเป็นผู้หญิงซุ่มซ่ามและเข้าสังคมไม่เก่ง เธอดูเงอะงะและมักจะทำอะไรน่าอายเสมอต่างจากภาพจำของฮายามะซึ่งเธอดูเป็นหญิงสาวที่มีเมตตาเหมือนมารดา แสดงว่าความทรงจำเป็นเรื่องที่มีอารมณ์เป็นเครื่องปรุงแต่งอยู่มากนั่นหมายถึงมีความทรงจำที่ไม่เป็นจริงปะปนอยู่ด้วย งานวิจัยโดย ดร.เซียร่า กรีน จากมหาวิทยาลัยคอลเลจดับลินบอกเราว่ายิ่งเราจำได้มากเท่าไร ความทรงจำที่ไม่ถูกต้องก็จะปะปนอยู่มากเท่านั้น

งานวิจัยนี้ทำในอาสาสมัคร 489 คน ให้แต่ละคนจัดอันดับเรื่องที่สนใจมากไปถึงน้อยที่สุดใน 7 หัวข้อ ได้แก่ ฟุตบอล การเมือง ธุรกิจ เทคโนโลยี ภาพยนตร์ วิทยาศาสตร์ และดนตรีป๊อป หลังจากนั้นให้จำหัวข้อข่าว 4 ชิ้นเกี่ยวกับหัวข้อที่สนใจมากที่สุด 4 ข่าว และอีก 4 ข่าวในหัวข้อที่สนใจน้อยที่สุด ใน 4 ข่าวนี้มี 3 ข่าวเกิดขึ้นจริงส่วนอีก 1 ข่าวแต่งขึ้นมา

Advertisement

ผลพบว่าในหัวข้อที่สนใจมาก ความทรงจำที่ถูกต้องของอาสาสมัครจะมากขึ้นแต่ความทรงจำที่ไม่ถูกต้องก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีร้อยละ 25 ของกลุ่มที่สนใจหัวข้อนี้ที่มีความทรงจำไม่ถูกต้องในระหว่างที่กลุ่มคนที่ไม่สนใจหัวข้อนี้มีคนที่ความทรงจำไม่ถูกต้องเพียงร้อยละ 10 ถ้าไปเรื่องความรู้ที่ได้จากหัวข้อข่าวบ้าง พบว่าระดับความรู้จะขึ้นอยู่กับความทรงจำที่ถูกต้องแต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสนใจที่มีต่อหัวข้อนั้นๆ เช่นเดียวกันว่าความทรงจำที่ไม่ถูกต้องก็จะมีมากขึ้นเช่นเดียวกับความทรงจำที่ถูกต้องด้วยโดยคนที่ทำแบบทดสอบแล้วพบว่าระดับความรู้มากกว่าจะมีโอกาสจำเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่อ่านมากกว่ากลุ่มที่ความรู้น้อยกว่าถึงเท่าตัว

ความทรงจำที่ไม่ถูกต้องมีการวิจัยมากขึ้นเพื่อนำไปอธิบายปรากฏการณ์เมื่อเราพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวและอธิบายอย่างละเอียดเหมือนจำได้อย่างถี่ถ้วนแต่กลับไม่ถูกต้อง เช่น ตอนเป็นพยานเห็นเหตุการณ์ หรือจำเหตุการณ์ที่เลวร้ายในวัยเด็กทั้งที่เหตุการณ์เหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง ผลการศึกษานี้จึงสอดคล้องกับสามัญสำนึกของเราว่าถ้าเราจำรายละเอียดอะไรไม่ค่อยได้ เช่น อุบัติเหตุที่เกิดตรงหน้า ความทรงจำที่ไม่ถูกต้องก็จะไม่ติดเข้ามามากนัก แต่ถ้าเราจำได้อย่างละเอียดก็มีโอกาสที่จะจำเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงไปด้วย ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีก็คงยิ่งทำให้ความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นแย่ลงไปอีก

เคยมีผู้ป่วยถามเหมือนกันค่ะว่าถ้าเราจำได้แต่เรื่องดีๆ ของเหตุการณ์จะเป็นปัญหาไหมเพราะความจำที่เป็นจริงควรจะมีทั้งดีและไม่ดี ส่วนใหญ่เสนอไปว่าถ้าจำแล้วมีความสุขก็จำไปแบบนั้นเถอะค่ะ ใส่ของไม่จริงลงไปบ้างก็ไม่เสียหายเว้นแต่เป็นเรื่องที่ต้องการความถูกต้องแม่นยำก็ให้บันทึกไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะใครยืมเงินไปบ้างต้องบันทึกเลยค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image