คอลัมน์ ประสานักดูนก : เตรียมตัว… ต้อนรับเหยี่ยวอพยพ

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น อพยพผ่านเขาเรดาร์ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 3 กันยายน ศกนี้ เหยี่ยวชนิดนี้เป็นเหยี่ยวอพยพหลัก ชนิดแรกที่จะเดินทางย้ายถิ่นผ่านภาคใต้ หลังจากนั้นจะเป็น เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน และ เหยี่ยวนกเขาชิครา

แม้ว่าจะเป็นเหยี่ยวนกเขาในสกุล Accipiter เหมือนกันทั้ง 3 ชนิด แต่ยังมีรายละเอียดของรูปแบบการอพยพที่ต่างกัน เช่น เจ้ายุ่นและหนุ่มชิค จะอพยพเป็นรายตัว อาจพบร่อนลมร้อนมาด้วยกัน ไม่เกิน 2-3 ตัว เรียกว่า solitary migrant แต่หนุ่ม-สาวจากเมืองจีน จะอพยพมาเป็นฝูงหลายร้อยตัว เรียกว่า flock migrant

นอกเหนือจากเหยี่ยวนกเขาข้างต้น และ เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวหน้าเทา และ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ แล้ว ยังมีเหยี่ยวและนกอินทรีอพยพอีกมากกว่า 20 ชนิดที่มีรายงานผ่านภาคใต้ บางชนิดเป็นนกหายาก แต่อาจพบได้ง่ายๆ ขณะอพยพผ่านจุดชมเหยี่ยวอพยพ เช่น เขาเรดาร์ หรือเขาดินสอ นับว่าการดูเหยี่ยวน่าสนุกตื่นเต้น ต่างไปจากการเดินดูนกป่า เพียงแค่ยืนบนลานชมเหยี่ยวอยู่เฉยๆ ก็ว่าธรรมชาติจะจัดสรรเหยี่ยวชนิดไหนมาให้ส่องดูบนฟ้า

หากความสนุกจะยิ่งเพิ่มขึ้น ถ้าเราเตรียมตัวทำการบ้าน จึงสามารถจำแนกชนิด เพศและอายุของเหยี่ยวที่ร่อนลมอยู่ต่อหน้าได้ด้วยตนเอง เพราะความสนุกประการหนึ่งของการดูนก คือ name game ด้วยการขานชื่อนกที่เราพบเห็น

Advertisement
fun08110959p1
ตัวอย่างของแอพพ์จำแนกชนิดเหยี่ยวอพยพ

หน่วยวิจัยนกนักล่าและอายุรศาสตร์การอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จัดทำแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ให้นักดูนกที่สนใจศึกษาเรื่องนกนักล่า ดาวน์โหลดฟรี ชื่อ Thai Raptor Guide แอพพ์นี้ใช้ผ่านระบบแอนดรอยด์และไอโฟนได้ทั้ง 2 ค่าย เป็นเครื่องมือง่ายๆ และสะดวก ไว้ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองก่อนฤดูกาล หรือขณะส่องเหยี่ยวอพยพ

ในแอพพลิเคชั่น Thai Raptor Guide มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับหลักการและวิธีจำแนกชนิดเหยี่ยวอพยพเบื้องต้น สำหรับมือใหม่หัดขับว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร กับนกนักล่าที่เป็นกลุ่มท้าทาย 1 ใน 3 กลุ่มของกิจกรรมดูนก ร่วมกับนกชายเลนและนกกระจิ๊ด และรายละเอียดของชนิดหลัก 7 ชนิดที่พบได้จำนวนมาก ณ จุดชมเหยี่ยวอพยพหลักๆ ในประเทศ คำอธิบายสั้นๆ มีภาพสีของเหยี่ยวขณะบินและขณะเกาะคอน ประกอบให้เห็นตัวอย่างได้ชัดเจน เมื่อรู้จักชื่อเหยี่ยวกันแล้ว คงจะน่าสนใจขึ้น ถ้าได้รู้ว่านกนักล่าเหล่านี้มีวิถีอย่างไร เรื่องอาหารการกิน ถิ่นอาศัยและรูปแบบการอพยพอีกด้วย

นึกภาพขณะยืนอยู่บนเขาเรดาร์ มีเหยี่ยวอพยพ 1 ตัวบินผ่านมา เมื่อส่องสังเกตรายละเอียดได้แล้ว หรือบันทึกภาพได้ ยังคาใจ ขานชื่อเหยี่ยวไม่ได้ ก็เปิดแอพพ์ อ่านจุดแยกสำคัญสำหรับจำแนก หรือนำภาพถ่ายมาเปรียบเทียบกับภาพสีของเหยี่ยวที่เข้าข่ายในแอพพ์บนโทรศัพท์มือถือส่วนตัวได้ทันที สมัยนี้ความรู้หาได้ที่ปลายนิ้ว!

Advertisement

ถ้าอยากรู้จักเหยี่ยวอพยพให้มากขึ้น นอกเหนือจากเหยี่ยวอพยพชนิดหลักในแอพพ์มือถือ มี หนังสือคู่มือเหยี่ยวและนกอินทรี รวบรวมรายละเอียดของนกนักล่าไทยในเวลากลางวัน ประกอบด้วยเหยี่ยว นกอินทรีและอีแร้ง จำนวน 55 ชนิด ไว้เป็นหนังสืออ้างอิง ยามว่างไว้ทำการบ้าน หรือค้นคว้าเพิ่มเติมหลังจากกิจกรรมชมเหยี่ยวอพยพ

หนังสือคู่มือเหยี่ยวและนกอินทรี มีจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้สนใจในต่างจังหวัด สามารถสั่งซื้อหนังสือคู่มือเหยี่ยวและนกอินทรี โดยสอบถามวิธีการสั่งซื้อได้ที่เพจของกลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรี “www.facebook.com/ThaiRaptorGroup.TRG” ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image