คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง : JAILHOUSE ROCK ร็อกในตะรางของเอลวิส

เรือนจำ คุก ตะราง กรงขัง จะเลือกใช้คำไหนก็ไม่มีใครอยากเข้า แม้ที่ฟังเกือบดีอย่าง “มุ้งสายบัว” ก็คงไม่หลับลงอยู่ดี

ถึงจะเรียกให้ขำอย่างที่ฝรั่งโชคร้ายให้นิคเนมเรือนจำในกรุงเทพฯว่า Bangkok Hilton/บางกอกฮิลตัน ก็ยังเป็นโรงแรมฮิลตันแบบที่ไม่มีใครอยากไปพัก

ในภาษาอังกฤษ นอกจากคำพื้นๆ ที่นักเรียนไทยต้องท่อง มี prison (พริ-สั้น เรือนจำ) หรือ dungeon (ดัน-จัน คุกใต้ดิน) ยังมีคำยาวๆ อย่าง penitentiary ซึ่งออกเสียงว่า “เพนนิเท๊น-ฉะรี” แต่ดั้งเดิมหมายถึงสถานคุมขังผู้ที่กระทำผิดขั้นอุกฤษฏ์

นอกจากนี้ยังมีชื่อเล่นแปลกๆ ที่ตั้งกันตามท้องถิ่น อย่างทางใต้ของสหรัฐใช้คำว่า calaboose (คาลาบูซ) ซึ่งมาจาก calabozo (คาลาโบโซ) ในภาษาสเปน ฟังน่าเอ็นดูชวนให้นึกถึงตัวตลกโบโซหัวฟู แต่ดันแปลว่า “คุกใต้ดิน”

Advertisement

ยังมีคำอื่นๆ อีกมากที่พวกนักโทษตั้งให้เอง อย่าง “ห้องสุขา” หรือ “บ้านแม่ยาย” (แสดงว่าการอยู่บ้านแม่ยายต้องทรมานมาก) บางครั้งเรียก “ปราสาท” หรือ “บ้านใหญ่” ซึ่งเป็นภาษาไทยน่าจะใช้ว่า “บ้านหลายเสา”

บ้านใหญ่หรือ big house นั้นอเมริกันสมัยเศรษฐกิจตกต่ำใช้เรียกเรือนจำ เพราะมักมีพวก “ขาใหญ่” ทำผิดกฎหมายโดนเข้าไปอยู่ใน big house จำนวนไม่น้อย รวมทั้งขาใหญ่ชื่อดังอย่าง “อัล คาโปน” เจ้าพ่อเหล้าเถื่อนและอะไรเถื่อนๆ อีกมากมาย

แปลกแต่จริงชาวบ้านในครั้งนั้นไม่ค่อยรังเกียจพวกขาใหญ่ ออกจะชื่นชมว่าเก่ง กล้า แถมยังรวยได้ในยุคที่คนอื่นๆจนกรอบ

Advertisement

อย่าได้คิดเป็นอันขาดทีเดียว ว่า “คนดี” เท่านั้นที่ชาวบ้านชื่นชมนับถือ

เรือนจำที่มีชื่อเล่นว่า “ปราสาท” หรือ castle นั้น อยู่ในนิวยอร์ก บางครั้งเรียกเต็มๆ ว่า Castle on the Hudson River หรือปราสาทริมแม่น้ำฮัดสัน ฟังหรู น่าอยู่เอาการ แต่ก็ไม่มีใครอยากอยู่ ชื่อจริงของเรือนจำแห่งนี้คือ Sing Sing เป็น “ซิง ซิง” ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับการร้องเพลงเลยสักนิด ที่ใช้ชื่อน่ารักนี่ก็เพราะฝรั่งซื้อที่ดินแถบนี้มาจากชนพื้นเมืองเผ่า Sinck Sinck ตั้งแต่ก่อนที่กรุงอยุธยาจะแตกเสียอีก ส่วนใหญ่เขาเก็บชื่อเก่าไว้ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามชื่อผู้มีบุญในแต่ละยุคสมัย จนคนรุ่นเหลนโหลนเวียนหัว ลืมกำพืด ลืมประวัติศาสตร์ ท้ายที่สุดก็ลืมตัว สำคัญตนและเผ่าพันธุ์ตนผิดไปเป็นก่ายกอง

ไม่ได้พูดเล่น

อีกคำง่ายๆ ที่ยังไม่ได้พูดถึงในตอนต้นคือ jail (เจล หรือตะราง) สำหรับเด็กประถม บางทีครูไทยสอนคำว่า ail (เอล ป่วย) เสียก่อน แล้วให้เติม j ข้างหน้า กลายเป็น jail เด็กๆ จำได้โดยนึกภาพคนเข้าตะรางไปแล้วเลยป่วย เรียนทีเดียวได้สองคำ มารู้เอาเมื่อเป็นผู้ใหญ่ว่า คุกตะรางทำให้คนป่วยได้สารพัดโรค โชคร้ายอาจตายในคุก แต่สำหรับคนมีอิทธิพลหรือพวกขาใหญ่ในสาขาอาชีพต่างๆ เข้าตะรางไปแล้วป่วยแบบไม่จริงก็ได้ เพราะจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องเกือบธรรมดาในทุกประเทศ

jail หรือ jailhouse แปลอย่างเดียวกัน แต่ jailhouse ที่ไหนๆ ก็ไม่ดังและสนุกสนานอย่าง Jailhouse Rock ของร็อคราชัน เอลวิส เพรสลีย์ จากภาพยนตร์ชื่อเดียวกันที่ออกฉายปลายยุค 50s (ค.ศ.1957) สมัยที่คุณปู่คุณย่าเพิ่งเป็นทีนเอจหมาดๆ

สำหรับนักดนตรีและนักฟังร็อกทั้งโลก Jailhouse Rock มี intro ที่ยิ่งใหญ่มาก แสนง่าย แต่เท่ มีแค่เสียงกีตาร์และกลองแต๊ก ตึ่ง-ตึง ตึ่ง-ตึง ฟังแค่นี้ใครๆ ก็จำได้ว่า Jailhouse Rock มาแล้ว ผ่านมาเกือบ 60 ปี ได้ยินอินโทรโคตรเท่แค่สอง-สามวิ(นาที) คุณปู่ซึ่งเพิ่งครบหกรอบปีไปเมื่อปีกลาย ก็แทบจะแผ่แผงคอแล้วคำรามตามราวกับเป็นลีโอเดอะไลอ้อนของบริษัทภาพยนตร์เอ็มจีเอ็ม

Jailhouse Rock ไม่ได้แค่ฮิตระเบิดแล้วหายไปอย่างหลายพันเพลงในสมัยโน้น แต่กลายเป็นร็อกคลาสสิก สถิตอยู่ในหอเกียรติยศแห่งเพลงร็อก มีตำแหน่งแห่งความเป็นเพลงยิ่งใหญ่ยาวเป็นหางว่าว

ใครจะนึก

เพลงเลอะเทอะที่มีเอลวิสเต้นรูดเสาลงมา นานก่อนที่สาวบาร์ไหนในโลกจะรูดเสาให้คนดู

นอกจากทำนองกระแทกกระทั้นที่โดนใจแฟนร็อก เนื้อร้องของเพลงก็เอาสาระไม่ได้ คุณเจอร์รี ลีเบอร์ และคุณไมค์ สโตลเลอร์ สองผู้ประพันธ์หยิบชื่อต่างๆ มาใช้สมมุติว่าเป็นชื่อนักโทษ มีทั้งชื่อนักดนตรีดัง (Shifty Henry) ชื่อแก๊งอาชญากร (The Purple Gang) ฯลฯ เนื้อร้องเล่าว่าผู้คุมจัดงานปาร์ตี้ในคุก วงดนตรีของเรือนจำสวิงสุดเหวี่ยง บรรดานักดนตรี-นักร้องล้วนเป็นพวกนักโทษ (jailbirds) ทุกคนมาร็อคสนุกกันบรรลัย ขนาดคนหนึ่งบอกเพื่อนว่า “เฮ้ยๆ ไปเหอะ แหกคุกตอนนี้คงไม่มีใครเห็น” เพื่อนยังไม่ยอมไปด้วยเพราะกำลังมัน

ทั้งหมดที่เล่ามาขำดีไม่เป็นไร แต่ในทรรศนะของนักวิจารณ์บางคน เพลง Jailhouse Rock บอกถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างนักโทษชาย ตรงท่อนหนึ่งที่เนื้อร้องบอกว่า Number forty-seven said to number three: / “You”re the cutest jailbird I ever did see. / I sure would be delighted with your company / Come on and do the Jailhouse Rock with me.” (นักโทษ)หมายเลข 47 บอกกับหมายเลข 3 ว่า ยูนี่เป็น jailbird ที่น่ารักที่ซู้ดที่เคยเห็นมา จะปลื้มไม่น้อยหากหนูมาร่วม Jailhouse Rock กับป๋า…

เรื่องเซ็กซ์ในเรือนจำไม่ใช่ของใหม่ และในปัจจุบันเซ็กซ์ระหว่างคนเพศเดียวกันก็ไม่ใช่ของแปลก แต่ที่นักวิจารณ์สงสัยนักหนา คือเพลงนี้รอดเซ็นเซอร์รุ่นไดโนเสาร์มาได้อย่างไร เพราะสมัยโน้นกองเซ็นเซอร์ของสหรัฐเข้มงวดหยุมหยิม ดึงตรงนั้น เปลี่ยนตรงนี้ ตัดตรงโน้น พยายามให้ทุกเพลงกลายเป็นเพลงที่บรรดา “คนดี” ฟังแล้วทองไม่ลอก

ขนาดนี้แล้วปล่อยนักโทษเบอร์ 47 มาจีบนักโทษเบอร์ 3 ได้ยังไง้

แฟนร็อกลงความเห็นว่า เพลงมันฮิตจนฉุดไม่อยู่ เซ็นเซอร์เลยต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

ร็อกในตะรางจึงอยู่ให้ฟังกันโดยไม่แหว่งไม่วิ่นมาจนทุกวันนี้


JAILHOUSE ROCK : Elvis Presley 1957

หรือที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image