ขาดทุน หยุดวิ่ง คนหาย รายได้ไม่มี เสียงสะอื้นจาก‘ธุรกิจรถทัวร์’ ในวันที่มรสุม‘โลว์คอสต์-โควิด’ถาโถมหนัก

จับชีพจร “ธุรกิจรถทัวร์” ขวัญใจรากหญ้า ลมหายใจเริ่มรวยริน หลังถูกพิษ “เศรษฐกิจ-โควิด” ซ้ำเติมต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจรถทัวร์ทั้งระบบทรุดยาว

จากเดิมธุรกิจรถทัวร์ถูกสายการบินราคาประหยัด หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ตีตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สภาพปัจจุบันของผู้ประกอบการรถทัวร์ จึงไม่ต่างจากคนป่วยนอนซมพิษไข้ในห้องไอซียู ใครที่ทนพิษไม่ไหว ก็ต้องยอมยกธงขาว เบนเข็มไปทำธุรกิจอย่างอื่น ปิดกิจการไปโดยปริยาย

กรณี “สยามเฟิสท์ทัวร์” แม้จะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด แต่สะท้อนให้เห็นสัจธรรมธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะแม้จะดำเนินการธุรกิจมายาวนานถึง 41 ปี ยังต้องเลิกกิจการ หันไปลุยธุรกิจโลจิสติกส์ขนส่งพัสดุอย่างเต็มตัว แทนธุรกิจรถทัวร์ที่ตกอยู่ในห้วง “ขาลง” แถมการแข่งขันสูง

Advertisement

ขณะที่รายใหญ่ เจ้าตลาดก็สะบักสะบอม ต้องปรับตัวอุตลุด บางรายรวมตัวแชร์เที่ยววิ่ง แชร์ผู้โดยสาร หวังลดการขาดทุน พยุงธุรกิจสู้กับวิกฤตในครั้งนี้

ท่ามกลางวิกฤตซ้อนวิกฤตปัญหายิ่งหนักหน่วง รถโดยสารจำนวนมากหายไปจากระบบ พลิกดูข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พบว่าจำนวนรถโดยสารประจำทาง ณ เดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 72,891 คัน แต่ล่าสุดเดือนมิถุนายน 2564 ลดลงเหลือ 67,167 คัน เบ็ดเสร็จลดลง 5,624 คัน คิดเป็น 7.85%

Advertisement

ขณะที่รถโดยสารไม่ประจำทาง ณ เดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 78,601 คัน ล่าสุด เดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 65,114 คัน ลดลง 13,487 คัน หรือลดลง 17.15%

บขส.เปิดเดินรถทั่วประเทศ 29 เส้นทาง ผู้โดยสารเหลือวันละ 20,000 คน

“สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น ทำให้มีผู้โดยสารใช้บริการลดลงเหลือ 20,000 คนต่อวันจากช่วงก่อนมีการระบาดของโควิดมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 100,000 คนต่อวัน ทำให้ขณะนี้ บขส.เดินรถไม่ถึง 10%

โดยเปิดให้บริการ 29 เส้นทางทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคเหนือ 7 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ทุ่งช้าง, กรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์, กรุงเทพฯ-แม่สอด, กรุงเทพฯ-แม่สาย, กรุงเทพฯ-หล่มเก่า และกรุงเทพฯ-คลองลาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก 10 เส้นทางได้แก่ กรุงเทพฯ-หนองบัวลำภู, กรุงเทพฯ-นครพนม, กรุงเทพฯ-เลย-เชียงคาน, กรุงเทพฯ-สุรินทร์, กรุงเทพฯ-บุรีรัมย์, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-มุกดาหาร, กรุงเทพฯ-รัตนบุรี, กรุงเทพฯ-ตราด และ กรุงเทพฯ-สระบุรี

และภาคใต้ 12 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ยะลา, กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก,กรุงเทพฯ-สงขลา, กรุงเทพฯ-หาดใหญ่-สงขลา, กรุงเทพฯ-ตรัง, กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช-ปากพนัง, หมอชิต 2-หาดใหญ่, หมอชิต 2-ตรัง-สตูล, หมอชิต 2-กระบี่, หมอชิต 2-พังงา-โคกกลอย, หมอชิต 2-เกาะสมุย และหมอชิต 2-ตะกั่วป่า-โคกกลอย

โลว์คอสต์-เศรษฐกิจ-โควิด ตัวแปรฉุด‘ธุรกิจรถทัวร์’ขาลง

“สัญลักข์” วิเคราะห์ถึงสาเหตุทำให้ธุรกิจรถทัวร์อยู่ในช่วงขาลงว่า มาจาก 2 ปัจจัย คือ จากการระบาดของโควิดที่ระบาดหลายระลอกทำให้ผู้โดยสารไม่เดินทาง และจากสถานการณ์เศรษฐกิจ โรงงานปิดตัว ทำให้ผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารถเดินทางได้ ส่วนผลกระทบจากโลว์คอสต์มีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด

“เมื่อปี 2562 แม้จะมีโลว์คอสต์ แต่ผลประกอบการของ บขส.ยังมีกำไร แต่พอมีโควิด ปีที่แล้วขาดทุนกว่า 500 ล้านบาท ปีนี้จริงๆ เหมือนจะดีขึ้น แต่พอเจอโควิดระลอก 3 คาดว่าจะขาดทุน 800-900 ล้านบาท มีรายได้ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท”

จากผลกระทบรอบด้าน “กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.” ยอมรับว่ามีผู้ประกอบการรถร่วมทยอยยกเลิกสัญญาแล้วประมาณ 5 ราย ส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก เช่น สายกรุงเทพฯ-ชุมพร มี 2 ราย แต่ที่ยกเลิกกันมาก
จะเป็นผู้ประกอบการถตู้โดยสารวิ่งระหว่างจังหวัด มียกเลิกไปแล้ว 10-20 ราย เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก (รถมินิบัส) ตามที่กรมการขนส่งทางบกให้รถตู้มีอายุใช้งานเกิน 10 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส

“ทุกคนได้รับผลกระทบหมด แต่ยังสู้กันอยู่ มีลดเที่ยววิ่งลง เพื่อพยายามประคับประคองธุรกิจ แต่ไม่ถึงกับปิดบริษัทกันไปเป็นจำนวนมาก ยังรอจังหวะเปิดประเทศ ตอนนี้ทุกคนเดินรถตามขั้นต่ำที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ให้วิ่งวันละเที่ยวใน 1 เส้นทางเพื่อช่วยผู้ประกอบการ”สัญลักข์กล่าว

สอดรับกับแหล่งข่าวจากวงการรถทัวร์ ระบุว่า ที่ยกเลิกกิจการไปส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว จากสถิติช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2563 เกิดการระบาดโควิดระลอกแรก มีผู้ประกอบการรถร่วมเลิกกิจการ 4-5 ราย

และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงมิถุนายน 2564 มียกเลิกไป 4 ราย ขณะที่รายใหญ่ยังอยู่ครบ แต่ลดเที่ยววิ่งลง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ประเมินว่าธุรกิจรถทัวร์น่าจะกลับมาเดินรถปกติได้ น่าจะหลังกลางปี 2565 เป็นต้นไป แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดด้วยเช่นกัน

‘เจ๊เกียว’ยอมขาดทุน ทำนายปี 2565-2566 หนักกว่านี้อีก

แม้ธุรกิจรถทัวร์โดยภาพรวมยังไม่ล่มสลายไป แต่ก็หายใจกันรวยรินถ้วนหน้า

“ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงปัจจุบัน รถโดยสารเรามีอยู่กว่า 300 คัน ช่วงโควิดต้องหยุดวิ่งชั่วคราว เหลือวิ่ง 20% เพราะวิ่งไปคนก็ไม่มี แต่ก็นำรถออกมาวิ่งสลับหมุนเวียน ไม่ให้รถจอดทิ้งไว้นาน ทางกรมการขนส่งทางบกได้ช่วยผ่อนปรนผู้ประกอบการให้ใน 1 สัปดาห์ ต้องวิ่งเส้นทางละ 1 เที่ยว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ตั้งแต่มีโควิดผู้ประกอบการแย่กันหมด ขอให้รัฐบาลช่วย ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ”

เป็นเสียงตัดพ้อของ “เจ๊เกียว-นางสุจินดา เชิดชัย” นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารขนส่ง เจ้าของอู่รถเชิดชัย และบริษัท เดินรถเชิดชัย ที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 60 ปี

สำหรับ “เชิดชัยทัวร์” เจ๊เกียวเล่าว่า ได้ปรับลดเที่ยววิ่งลงให้สอดรับกับสถานการณ์ ภาคเหนือวิ่งอยู่ 4-5 เส้นทาง ภาคอีสาน 4 เส้นทาง ภาคตะวันออก 2-3 เส้นทาง แต่ละเส้นทางวิ่งวันละ 1-2 เที่ยว ทำให้รายได้ลดลงมาก ขณะที่รายจ่ายก็ยังสูง จึงได้หารือกับพนักงาน และมีความเห็นร่วมกันว่าจะลดเงินเดือน 40% และลดวันทำงานเหลืออาทิตย์ละ 4-5 วัน จากปกติหยุดวันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เพื่อ “ให้เขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”

“มันเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเจอปัญหา ขอให้มีใจที่จะต่อสู้ ฉันยอมขาดทุน เพื่อเลี้ยงลูกน้อง ให้เขามีงานทำ ธุรกิจรถทัวร์ไม่ใช่ธุรกิจหลักของกลุ่มเชิดชัย ธุรกิจหลักเราคือรับจ้างต่อตัวถังรถ ซ่อมรถโดยสาร ตอนนี้ไม่มีออเดอร์เลยตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะไม่มีคนเดินทางไม่มีนักท่องเที่ยว พนักงานเขาก็เห็นใจเรา ขอหยุดงานเองจาก 1,000 คน ตอนนี้เหลือ 400-500 คน เมื่อธุรกิจดีขึ้น ก็ให้เขากลับมาทำงานใหม่”

ก่อนระบายต่อว่า “ธุรกิจรถทัวร์ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2560 จากโลว์คอสต์ ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2563 เจอโควิดระบาด ทำให้พฤติกรรมการเดินทางของคนเปลี่ยนมาใช้รถส่วนตัว ไม่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ”

ไม่ใช่แค่โลว์คอสต์กับโควิดเท่านั้น “เจ้าแม่รถทัวร์” ประเมินในปี 2565-2566 ธุรกิจรถทัวร์จะได้รับผลกระทบอีกระลอก จากการเปิดใช้มอเตอร์เวย์สายใหม่บางปะอิน-นครราชสีมา รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

‘นครชัยแอร์’กัดฟันออกวิ่ง

แม้ผู้โดยสารเหลือวันละ 2,000 คน

ด้าน “นครชัยแอร์” ที่อยู่แวดวงธุรกิจนี้มากว่า 30 ปี เป็นอีกรายที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน

“สุดาวรรณ สุวัตถิพงศ์” หัวหน้าคณะผู้บริหารสายงานบริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อธุรกิจเดินรถโดยสารสาธารณะเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ยอดผู้โดยสารลดลงกว่า 80% ซึ่งนครชัยแอร์เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ปัจจุบันเรายังเปิดให้บริการทุกเส้นทาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้จำเป็นต้องเดินทาง จากเดิมมีผู้ใช้บริการวันละ 8,000-10,000 คน ตอนนี้เหลือวันละ 2,000 กว่าคน จึงปรับลดเที่ยววิ่ง เหลือ 40% ของเที่ยววิ่งปกติ”

โดยยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด ทั้งด้านตัวรถ และพนักงานทุกภาคส่วน ให้สวมหน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา ใส่ถุงมือขณะเสิร์ฟบริการเลี่ยงการสัมผัส ปรับผังที่นั่งบนรถเว้นระยะห่างตามประกาศกรมการขนส่งทางบก จัดที่นั่งไม่เกิน 70% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมดต่อคัน หรือจัดที่นั่ง 2 ที่เว้น 1 นั่ง ในอัตราค่าโดยสารเท่าเดิม

จัดจุดจอดพักรับประทานอาหารเลี่ยงการรับประทานอาหารบนรถโดยสาร ให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เร่งฉีดวัคซีนให้กับพนักงานด่านหน้าครบ 100% เพื่อสร้างความมั่นใจผู้ใช้บริการ

ปรับกลยุทธ์ ต้องเป็นมากกว่า‘รถทัวร์’ ผุดบริการส่งพัสดุด่วน-ฟู้ดเดลิเวอรี่

นอกจากธุรกิจรถทัวร์ “สุดาวรรณ” บอกว่า นครชัยแอร์ยังมีธุรกิจบริการส่งพัสดุด่วน ขนส่งของไปกับรถทัวร์ จุดเด่นคือเร็ว รถออกทุกวัน วันละหลายเที่ยวหลายเส้นทาง ให้บางเส้นทางต่างจังหวัดส่งพัสดุไปต่างจังหวัดได้เร็วถึงภายในวันเดียวกัน มีระบบเช็กสถานะการส่ง บริการดิลิเวอรี หรือเลือกมารับเองที่สถานีก็ได้

ยังมีบริการฟู้ดดิลิเวอรีส่งอาหารข้ามจังหวัดส่งถึงบ้านใน 1 วัน ลูกค้าสามารถสั่งของอร่อยจากต่างจังหวัดที่รถนครชัยแอร์ให้บริการ เลือกเมนูจากที่เรามีหรือหาร้านที่ต้องการ แจ้งพนักงานที่รับออเดอร์เพื่อไปซื้อและจัดส่งให้ลูกค้าถึงบ้านหรือบริการส่งพัสดุ และมีดิลิเวอรีสั่งอาหารของ “บ้านสวน คิทเช่น” ด้วย

นับถอยหลังปิดฉาก‘ออลไทยแท็กซี่’

อีกธุรกิจที่ต้องพูดถึงคือ “ออลไทยแท็กซี่” แท็กซี่ในฝัน ที่นครชัยแอร์เปิดตัวไปเมื่อปี 2558 หวังปฏิวัติวงการแท็กซี่ไทย โดยทุ่มเงิน 700 ล้านบาท ซื้อรถโตโยต้า พริอุส ไฮบริด จำนวน 500 คัน ทำเป็นแท็กซี่ เรียกบริการผ่านแอพพลิเคชั่น

“ปัจจุบันรถออลไทยแท็กซี่ให้บริการอยู่ 137 คัน เตรียมขายเป็นรถยนต์ส่วนบคุคลในสภาพพร้อมใช้งาน จำนวน 119 คัน ราคาเริ่มต้น 280,000-300,000 บาท ขึ้นอยู่กับรุ่นรถ” สุดาวรรณอัพเดตสถานะ

และยอมรับว่า “ธุรกิจออลไทยแท็กซี่ เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับธุรกิจแท็กซี่ทั่วไป เพราะผู้ใช้บริการรถแท็กซี่เพื่อการเดินทางลดลงจากการแพร่ระบาดโควิด แต่รถออลไทยแท็กซี่ยังคงให้บริการตามปกติจนกว่ารถจะหมดอายุการใช้งาน”

สำหรับแผนการลงทุนใหม่ บริษัทยังไม่มีแผนซื้อรถใหม่หรือเปิดเส้นทางใหม่เพิ่ม ยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญการบริการ นำนวัตกรรมใหม่มาใช้ เช่น เพิ่มช่องทางชำระเงินผ่าน QR Code ลดการสัมผัสเงินสด เปิดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า 5 วัน

นำรถโดยสารรุ่นใหม่ New NCA First Class รุ่น Social Distancing มาให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเปลี่ยนกับรถที่ครบอายุการใช้งานในเส้นทางปัจจุบัน ในอัตราค่าโดยสารปกติ เปิดบริการแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เส้นทางกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ และบุรีรัมย์-กรุงเทพฯ วันละ 2 เที่ยว

เป็นรถโดยสารชั้นเดียว มี 23 ที่นั่ง ภายในห้องโดยสารมีประตูกั้นห้องพักพนักงานขับรถและพนักงานต้อนรับแยกออกจากห้องผู้โดยสาร เพื่อความเป็นส่วนตัว จัดเบาะเป็นเบาะเดี่ยว 3 แถว สลับฟันปลา เบาะโดยสารทรงแคปซูลรูปแบบใหม่ใช้ระบบนวดไฟฟ้า ปรับเอนนอนได้มากขึ้น พร้อมช่องเสียบ USB ชาร์จแบตฯ โทรศัพท์

ขณะเดียวกันนครชัยแอร์ยังเกาะติดการเปิดประเทศ 120 วัน โดย “สุดาวรรณ” บอกว่า เตรียมพร้อมให้บริการในทุกส่วนทั้งรถ บุคลากร ซึ่งมองว่าเมื่อธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาเปิดให้บริการ จะมีกลุ่มแรงงานที่ต้องเดินทางไปทำงานมาใช้บริการมากขึ้น

นำ‘รถโดยสารเปิดเช่าเหมา’ราคาพิเศษ

ล่าสุดนครชัยแอร์นำรถโดยสารเปิดเช่าเหมาสู้โควิด “เครือวัลย์ วงศ์รักมิตร” ประธานกรรมการ บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด กล่าวว่า แม้โควิดทำให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวลดลง แต่ยังมีผู้ใช้บริการอีกหลายกลุ่ม จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ต้องการความปลอดภัย สะดวกสบาย และความเป็นส่วนตัว บริษัทจึงนำเช่าเหมารถโดยสารขนาด 16-40 ที่นั่ง ให้บริการในราคาพิเศษ เปิดจองถึง 30 กันยายน และเดินทางได้ถึง 15 ตุลาคม 2564 โดยลูกค้าสามารถกำหนดแผนการเดินทางได้ด้วยตัวเอง ทั้งจุดหมายปลายทาง จุดแวะพักระหว่างทาง และโรงแรมที่พัก

มีให้เลือกหลายรุ่น หลายราคา ไม่ว่ารถมินิบัสเช่าเหมาToyota Coaster ขนาด 16 ที่นั่ง จากราคาปกติ 9,900 บาท/วัน เหลือ 6,900 บาท/วัน Mercedes Benz ขนาด 18 และ 20 ที่นั่งจาก 12,000 บาท/วัน เหลือ 8,900 บาท/วัน รถบัสเช่าเหมา ขนาด 18 ที่นั่ง จาก 19,500 บาท/วัน เหลือ 14,500 บาท/วัน รถบัสเช่าเหมา ขนาด 21 และ 32 ที่นั่ง จาก 19,500 บาท/วัน เหลือ 14,500 บาท/วัน และรถบัสเช่าเหมา ขนาด 40 ที่นั่ง จาก 16,500 บาท/วัน เหลือ 14,500 บาท/วัน

“เครือวัลย์” ย้ำจุดยืนของนครชัยแอร์ แม้จะประสบภาวะวิกฤตโควิดอย่างต่อเนื่อง “นครชัยแอร์” ยังตอบสนองความต้องการผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง ควบคู่ไปกับเตรียมความพร้อมรับมือทุกสถานการณ์และเคียงข้างประชาชนผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เมื่อธุรกิจหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องกัดฟัน ปาดน้ำตา ฝ่าวิกฤต ให้รอดจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ถดถอยและโควิดที่ไม่มีวันหายไปไหน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image