This is Pop ทำไม‘สวีเดน’ถึงเป็นมหาอำนาจวงการเพลงป๊อปของโลก

This is Pop ทำไม‘สวีเดน’ถึงเป็นมหาอำนาจวงการเพลงป๊อปของโลก

This is Pop
ทำไม‘สวีเดน’ถึงเป็นมหาอำนาจวงการเพลงป๊อปของโลก

“This is Pop” หรือดนตรีวิถีป๊อปเป็นซีรีส์สารคดีวงการดนตรีป๊อปที่ดูสนุกเอาการ สารคดีที่มี 8 ตอนนี้ พาเราไปสำรวจความจริงเบื้องหลังเพลงป๊อปสุดฮิตที่เล่าเรื่องได้น่าติดตาม หนึ่งในตอนโปรดและสนุกเอาเรื่อง คือ การพิสูจน์สมมุติฐานว่าวงการเพลงป๊อปในสหรัฐอเมริกานั้นแท้จริงมี “สวีเดน” อยู่เบื้องหลัง ในระดับเป็นประเทศมหาอำนาจของดนตรีป๊อปเลยทีเดียว

ลองนึกภาพว่าถ้ารถยนต์เรายกให้ค่ายจากเยอรมัน ตำนานเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องค่ายญี่ปุ่น อุปกรณ์เทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา แล้วเพลงป๊อปดังๆ ระดับโลกเราอาจจะนึกถึงสหรัฐอเมริกา แต่จริงๆ แล้วบรรดาโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกาจำนวนไม่น้อยเป็นคนสวีเดน และหากย้อนไปดูตำนานเพลงดังหลายเพลงก็ถูกทำคลอดอยู่ในกรุงสตอกโฮล์มตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

สารคดี This is Pop ในตอนที่ชื่อว่า “สตอกโฮล์มซินโดรม” มาไขสูตรว่าทำไมประเทศสวีเดน ถึงกลายมาเป็นมหาอำนาจแห่งวงการดนตรีป๊อปได้ ผ่านการสำรวจเทรนด์วงการเพลงป๊อป ตั้งแต่การถือกำเนิดของวงดังอย่าง ABBA, Ace of Base, Roxette และที่สำคัญคือสวีเดนยังได้ผลิตโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลงหลายคนที่มีบทบาทให้กำเนิดเพลงป๊อปสุดคุ้นหูหลายเพลงที่ร้องโดยป๊อป
สตาร์ระดับโลก อาทิ บริทนีย์ สเปียร์, เคธี่ เพอร์รี่, เซลีน ดิออน, บองโจวี, แบ๊กสตรีทบอย, เทเลอร์ สวิฟท์, อารีอาน่า กรานเด้, เดอะ วีกเอนด์, เอ็นซิงค์, จัสติน บีเบอร์ เป็นต้น

Advertisement

หนึ่งในโปรดิวเซอร์ดาวรุ่งชาวสวีเดนที่กำลังเนื้อหอมอยู่ขณะนี้ ลุดวิก โกรานสัน เจ้าของรางวัลแกรมมี่จากการโปรดิวซ์เพลง “This is America” และรางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ “Black Panther” ให้มุมมองกับคำถามที่ว่า ทำไมคนสวีเดนถึงทำเพลงป๊อปเก่ง? คำตอบของลุดวิก แสนง่ายมาก เขาบอกว่า “ในสวีเดนเราจะไม่พูดเกี่ยวกับความสำเร็จของเรา แต่เราชอบฟังสิ่งที่คนอื่นพูดมากกว่า” แปลง่ายๆ ว่าไม่พูดมากเจ็บคอ แต่เมื่อสารคดีตอนนี้ต้องการไขคำตอบ นั่นทำให้ต้องย้อนรอยไปดูความสำเร็จของเพลงป๊อปสไตล์สวีเดนตั้งแต่ทศวรรษ 70 ซึ่งจุดเริ่มแรกก็ต้องเริ่มที่วงดนตรีสวีเดนที่ดังที่สุดในโลกวงหนึ่งอย่าง ABBA

เมื่อย้อนรอยดูจะพบว่าจุดสำคัญแรกคือวง ABBA ร้องเพลงภาษาอังกฤษแทนภาษาสวีเดน แต่ยังคงกลิ่นอายดนตรีแบบยุโรปจัดๆ อยู่ โดยเฉพาะการใช้ท่วงทำนองดนตรีเต้นรำสไตล์ยุโรปที่เรียกว่า “ชลาเกอร์” ซึ่งเป็นคำภาษาเยอรมันแปลว่า “เพลงฮิต” ซึ่งดนตรีสไตล์ชลาเกอร์จะเน้นที่ท่วงทำนองอ่อนหวานติดหูเป็นหลัก โดยแต่ละเพลงของ ABBA ก็มีความเป็นดนตรีชลาเกอร์อยู่ในเพลงแทบทั้งนั้น

กระแสของ “ABBA” ได้ส่งต่ออิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้คนในวงการดนตรีสวีเดนในการเดินตามรอย ทำให้เกิดวงป๊อปร็อกอย่าง “Roxette” ที่โด่งดังจากปลายยุค 80 ต่อยุค 90 ตามมาด้วยวงป๊อปแดนซ์กลิ่นอายยูโรแดนซ์อย่าง “Ace of Base” ที่มีเพลงติดชาร์ตในฝั่งอเมริกาอยู่ยาวนาน

Advertisement

มีการพูดกันราวกับเป็นสูตรวิธีเขียนเพลงป๊อปให้โด่งดังระดับโลกสไตล์สวีเดน คือ ต้องมีท่อนฮุกติดหู เข้าช่วงคอรัสได้เร็ว และท่วงทำนองภายในเพลงต้องลื่นไหลก่อนเป็นอย่างแรกจึงค่อยแต่งเนื้อเพลงตามมา โดยทำให้คำร้องนั้นง่ายเพื่อติดหูคนฟัง และเป็นที่จดจำ หนึ่งในโปรดิวเซอร์เพลงป๊อประดับตำนานชาวสวีเดนที่ชื่อ เดนนิส ป๊อป คือดีเจและโปรดิวเซอร์ผู้วางรากฐานรูปแบบดนตรีป๊อปสไตล์สตอกโฮล์มไว้ เขาอยู่เบื้องหลังเพลงป๊อปโด่งดังในอเมริกาหลายเพลง ผ่าน “เชรอนสตูดิโอ” ที่ตั้งอยู่ในกรุงสตอกโฮล์มและเป็นสถานที่เล็กๆ ที่มีศิลปินหน้าใหม่จากสหรัฐอเมริกาบินมาร้องเพลงที่แต่งโดยทีมสวีเดนในสตูดิโอแห่งนี้ พร้อมบันทึกเสียงที่นี่ก่อนที่จะกลับไปเผยโฉมเพลงป๊อปที่ขึ้นโด่งดังในเวลาต่อมา อาทิ วงบอยแบนด์ Backstreet Boys กับเพลงดัง “I want it that way” และเพลงขึ้นหิ้งระดับตำนานของ
บริทนีย์ สเปียร์ “Baby One More Time” และความสำเร็จนี้ก็ส่งผลให้ค่ายเพลงและศิลปินนักร้องจากสหรัฐบินมาทำเพลงกันที่สวีเดนกันเป็นว่าเล่น

ด้วยแนวคิดของเดนนิส ป๊อป ที่ว่า “ดนตรีไม่ควรน่าเบื่อ” ทุกอย่างที่ทำควรจะฟังแล้วสนุก จุดเด่นของงานสร้างเพลงของเดนนิส ป๊อป คือ การทำให้เพลงมีความเรียบง่าย มีท่วงทำนองที่ฟังแล้วติดใจ แล้วแน่นอนต้องสร้างความอัศจรรย์ และน่าสนใจเข้าไปอีกว่าเดนนิส ป๊อป ไม่ได้เล่นดนตรีคล่องอะไร แต่เขาทำเพลงโดยอาศัยสัญชาตญาณดีเจและสามารถผลิตเพลงฮิตได้ ซึ่งความสำเร็จของ เชรอนสตูดิโอ ยังได้ขยายต่อไปถึงการที่เดนนิส ป๊อป ดึงดูดโปรดิวเซอร์ฝีมือดีอายุน้อยๆ ในสวีเดนมาทำงานกับสตูดิโอของเขา บ้างก็มาฝึกงานกันที่นี่ ร่วมเป็นทีมโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง

จากจุดที่สวีเดนสร้างศิลปินและส่งออกไปอเมริกา ขยับสู่ยุคที่สวีเดนสร้างโปรดิวเซอร์เก่งๆ และนำเข้านักร้อง ศิลปินดังๆ เข้ามาทำเพลง บันทึกเสียงในสวีเดนแทน

ถัดจากยุคเดนนิส ป๊อป และตำนานของเชรอนสตูดิโอ ที่ได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง ส่งไม้ต่อมายังปัจจุบันที่เป็นยุคของ แม็กซ์ มาร์ติน เด็กปั้นของเดนนิส ป๊อป ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาและสร้างผลงานจนประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว จนขึ้นเป็นหนึ่งในกลุ่มนักแต่งเพลงที่โด่งดังและโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในวงการเพลงป๊อป
อเมริกา นอกจากนี้ ยังมีขบวนโปรดิวเซอร์นักแต่งเพลงคนอื่นๆ ชาวสวีเดนที่แจ้งเกิดตามมาอีกหลายคน และก็ขยับมาสู่ยุคที่สวีเดนส่งออกโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลงไปทำงานที่ลอสแองเจลิสกับศิลปินแทน ซึ่งมีหลายคนที่ขณะนี้ปักหลักทำงานดนตรีสร้างผลงานติดหูอยู่ในอเมริกา

สารคดี “This is Pop” เล่าถึงมหาอำนาจในโลกดนตรีป๊อปของสวีเดนไว้น่าสนใจ เมื่อถอดรหัสถึงอนาคตของนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์สวีเดนในวงการดนตรีอเมริกาที่ดูจะสดใส มีการหา “สูตรสำเร็จ” ถึงเหตุผลที่พวกเขาประสบความสำเร็จในวงการดนตรีที่อเมริกาและสรุปได้ว่า คนสวีเดนมีค่านิยมทัศนคติที่คล้ายกัน ที่เรียกว่า “ยานเตลาเก้น” (Jantelagen) หรือกฎแห่งยานเต คือ การไม่คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น ไม่ต้องออกไปป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าคุณเก่งแค่ไหน ไม่โอ้อวด แนวคิดการทำงานของโปรดิวเซอร์ ที่เชื่อว่า ปล่อยให้ศิลปินเป็นศิลปิน

และไม่มีใครพยายามเคลมความสำเร็จของตัวเอง พวกเขาเชื่อว่าต้องปล่อยให้ศิลปินเป็นจุดสนใจมากกว่าการชูภาพคนทำงานเบื้องหลังนั่นเอง

ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image