อธิบดีกรมโยธาฯ ‘พรพจน์ เพ็ญพาส’ ถอดบทเรียน ‘หมิงตี้เคมีคอล’ เขย่าใหม่ผังเมือง ทำเลที่ตั้งโรงงาน

อธิบดีกรมโยธาฯ ‘พรพจน์ เพ็ญพาส’ ถอดบทเรียน ‘หมิงตี้เคมีคอล’ เขย่าใหม่ผังเมือง ทำเลที่ตั้งโรงงาน
(ภาพ AFP)

เมื่อ “ผังเมือง” ยังวิ่งตามหลังการพัฒนาเมืองที่รุดหน้าไปไกล จึงหนีไม่พ้นที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ล้าหลัง” และตกเป็น “จำเลย” ของสังคมแทบทุกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ

สดๆ ร้อนๆ คือ “โศกนาฏกรรมไฟไหม้” ถังเก็บสารเคมีของ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก สัญชาติไต้หวัน ในซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

เมื่อจู่ๆ เพลิงไฟลุกโชนขึ้นมาเมื่อกลางดึกวันที่ 5 กรกฎาคม แบบไม่มีใครคาดคิด สร้างความเสียหายอาคารบ้านเรือน ที่พักอาศัยที่อยู่บริเวณโดยรอบ นำมาซึ่งเหตุการณ์เศร้าสลดใจจากการเสียชีวิตของวีรบุรุษนักผจญเพลิง

ถึงวันนี้แม้เพลิงจะสงบแล้ว แต่ท่ามกลางซากปรักหักพังยังคงมีคำถามคาใจ ถึงตำแหน่งที่ตั้ง “โรงงาน”

Advertisement

เพราะแม้จะถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2532 หรือเมื่อ 32 ปีที่แล้ว ก่อนจะมีผังเมืองรวมบังคับใช้ แต่เพราะเหตุใด ผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ “โรงงานแห่งนี้” ถึงยังอยู่ในที่ตั้งเดิมได้

ที่สำคัญเหตุใดปล่อยให้มีการสร้างที่อยู่อาศัยล้อมรอบ “โรงงาน” ทั้งที่ผังเมืองรวมสมุทรปราการผ่านการปรับปรุงแก้ไขถึง 3 ครั้ง

“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้คุมกฎ ระเบียบ การพัฒนาของประเทศ จากบทเรียน “โรงงานหมิงตี้เคมีคอล” กับทิศทางวางผัง พัฒนาเมืองในอนาคต

Advertisement

  กรณีของโรงงานหมิงตี้เคมีคอลกับการวางผังเมือง?
โรงงานนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2532 ก่อนมีผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการบังคับใช้ครั้งแรกในปี 2537 ตามหลักการเมื่อโรงงานไหนตั้งมาก่อน ผังเมืองไม่สามารถไปรอนสิทธิประชาชนได้ ถ้าเป็นโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตตามผังเมืองใหม่ที่เราประกาศ เขาก็ถูก freeze (แช่แข็ง) อยู่แล้ว พูดง่ายๆ คือ ของเดิมเขาทำมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้น จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมไม่ได้ นี่คือหลักการ

ถามว่าที่ผ่านมามีการปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการหลายครั้ง ทำไมไม่เสนอให้เขาย้ายโรงงานออก ถึงเราเสนอไปเขาไม่ทำก็ได้ เราไม่มีสิทธิบังคับเขา เพราะกฎหมายไม่บังคับย้อนหลัง แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วจะให้เขาย้ายออกเลยได้ไหม กฎหมายผังเมืองทำไม่ได้ ต้องไปดูกฎหมายโรงงานอุตสาหกรรมประกอบด้วย

ขณะนี้กรมกำลังตรวจสอบว่า ที่ผ่านมามีการขยายกำลังการผลิตหรือไม่ ทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา) ก็เป็นห่วงให้กรมเช็กรายละเอียด ตอนนี้ประสานขอข้อมูลจากอุตสาหกรรมจังหวัดว่าที่ขอตั้งโรงงานในปี 2532 เป็นโรงงานจำพวก 3 ได้แจ้งกำลังการผลิตไว้ที่เท่าไหร่ และหลังจากมีการวางผังเมืองรวมแล้ว มีกำลังการผลิตเท่าไหร่ มีสต๊อกของไว้ในโรงงานมากแค่ไหน ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้กลับมา

  ต้องทบทวนการวางผังเมืองทั้งประเทศใหม่หรือไม่?
ในหลักการวางผังเมือง จะไม่นำโรงงานมาอยู่ในพื้นที่ชุมชนอยู่แล้ว เราแยกพื้นที่ชัดเจน เช่น พื้นที่สีม่วง (อุตสาหกรรม) สีแดง (พาณิชยกรรม) สีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) จะต้องไปอยู่ตรงไหน อย่างมากจะอนุญาตให้สร้างคลังสินค้าได้บ้างเท่านั้นเองในบางพื้นที่ แต่โรงงานที่มีการผลิตจะไม่ได้อนุญาตให้อยู่ใกล้ชุมชน

ผมเคยเจอสมัยรับราชการที่จังหวัดสระแก้ว มีโรงงานที่เขาสร้างมาก่อน พอผังเมืองรวมจังหวัดสระแก้วออกก็ถูก freeze แต่ไม่ได้เป็นโรงงานอันตรายอะไร แต่เมื่อ 10 ปีผ่านไป เขาต้องการขยายกำลังการผลิต เพราะเขาผลิตไม่ได้ ตรงนี้ก็ต้องดูเหตุผลความจำเป็น และปรับแก้ให้ขยายกำลังการผลิตได้ในบางพื้นที่ที่จำเป็น เช่น ถ้าเป็นผลผลิตทางการเกษตร ถ้าเขาขยายแล้วชาวบ้านได้ประโยชน์เราก็ดูเป็นกรณีไป แต่ไม่ค่อยมีโรงงานเป็นลักษณะเหมือนที่สมุทรปราการ

  เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ต้องรื้อผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการใหม่หรือไม่?
ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งรับถ่ายโอนผังเมืองรวมจากกรมไปดูแล อยู่ระหว่างปรับปรุงผังเมืองรวมฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2556 ให้สอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานที่กิ่งแก้วคงต้องมีการพิจารณารายละเอียดอย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาเมื่อทางจังหวัดวางข้อกำหนดผังเมืองเสร็จแล้ว จะต้องส่งมาที่กรมและคณะกรรมการผังเมืองพิจารณาเป็นด่านสุดท้ายก่อนจะออกประกาศบังคับใช้

เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ก็ต้องมาดูใหม่ เหมือนกับ “วัวหายแล้วล้อมคอก” ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ย้ำเลยว่าเรื่องพวกนี้เราควรต้องทำยังไง “ใครจะว่าเป็นเรื่องวัวหายแล้วล้อมคอกก็แล้วแต่” ต้องดูให้เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม พิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งกรมกำลังดำเนินการอยู่

โดยเฉพาะเรื่องของข้อกำหนดการอนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องดูให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เพราะมี case study (กรณีศึกษา) ขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่แค่สมุทรปราการ ต้องไปดูจังหวัดอื่นๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมลักษณะนี้ด้วย แต่ต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงอื่นด้วยตามที่มีกฎหมายบังคับใช้ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมที่ดู พ.ร.บ.โรงงาน ก็ต้องช่วยกัน

  สีการใช้ประโยชน์ที่ดินของโรงงานหมิงตี้มีการปรับใหม่หรือไม่?
ไม่ได้มีการขอปรับเปลี่ยนสีการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะเขาตั้งมาก่อน ในผังเมืองฉบับแรกกำหนดเป็นพื้นที่สีส้ม หลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบันกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรม กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย สถานที่เก็บสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า การขนส่งทางอากาศยาน และโรงงานบางประเภทได้ แต่ไม่ใช่โรงงานลักษณะนี้ เพื่อรองรับสนามบินสุวรรณภูมิ

ในด้านผังเมืองตอนที่มีโรงงานอยู่เราจะดูเรื่องมลภาวะอย่างเดียวว่าสร้างโรงงงานแล้ว จะปล่อยมลภาวะอะไรให้ชุมชนรอบๆ ข้างบ้างหรือไม่ เมื่อดูแล้วมันไม่มี ไม่ใช่เฉพาะโรงงานที่กิ่งแก้วที่ไฟไหม้แล้วกระทบชาวบ้านโดยรอบ ที่อื่นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาก็มีผลกระทบชาวบ้านหมด ต้องไปดูต่อเรื่องของการตรวจสอบโรงงาน ระบบป้องกันเพลิงไหม้ การตรวจสอบอาคารที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

  พอเกิดเรื่องทุกคนมองผังเมืองเป็นผู้ร้าย?
ผมก็เข้าใจอยู่ ก็ต้องยอม ข้อเท็จจริงเป็นแบบนั้นจริง แต่ก็ดีอยู่อย่างเป็น case study เรา เพราะว่าพูดตรงๆ ผังเมือง โดยทฤษฎี “อนุรักษ์กับพัฒนา” แปรผกผันกัน พัฒนามากอนุรักษ์ไม่เกิด อนุรักษ์มากการพัฒนาประเทศก็ไม่เกิด การวางผังเมืองจะเป็นการสร้างสมดุลตรงนี้

ตอนนี้เราก็ต้องดูเรื่องสมดุลตรงนี้ให้ดีๆ นิดหนึ่ง แต่เพียงว่าพื้นที่ย่านกิ่งแก้ว เป็นพื้นที่รองรับสนามบินสุวรรณภูมิ มีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ทำให้เมืองขยาย เดิมจะมีกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารคุม แต่เมื่อมีผังเมืองบังคับใช้ ต้องมายึดตาม พ.ร.บ.ผังเมืองเป็นหลัก

  มีข้อเสนอแนะให้ผังเมืองจัดโซนนิ่งพื้นที่โรงงานกับการอยู่อาศัย?
เราเคยทำมาแล้วที่ “มาบตาพุด” แก้ปัญหามลภาวะ มีกำหนดบัฟเฟอร์โซนจะบอกว่าโรงงานประเภทไหนจะต้องจัดให้มีบัฟเฟอร์โซน เช่น ในรัศมี 500 เมตร ต้องมีปลูกต้นไม้ เป็นไปตามกฎหมายใหม่ แต่กรณีของโรงงานที่กิ่งแก้ว เป็นกฎหมายเก่า และเป็นการเกิดเหตุจากโรงงานระเบิด ต่างจากมาบตาพุด จะต้องให้เขาออกไปตั้งอยู่ในพื้นที่สีม่วง แต่เขาสร้างมาก่อน เราจะไปรอนสิทธิเขาก็ไม่ได้ แต่ก็จะทำให้ดีที่สุด

  หากบริษัทจะก่อสร้างอาคารขึ้นมาใหม่สามารถทำได้เลยหรือไม่?
ถ้าเขาจะสร้างใหม่ อาจจะต้องทำประชาพิจารณ์และอาจจะไม่ผ่านชาวบ้านรอบๆ ข้างก็ได้ ขณะเดียวกันถ้ารื้อแล้วจะสร้างใหม่ ต้องทำตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารนอกจากนี้ทางท้องถิ่นต้องพิจารณาประกาศเป็นเขตปรับปรุงเพลิงไหม้เพื่อใช้พื้นที่เป็นระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ถ้ากำหนดให้เป็นต้องประกาศนับจากวันที่เกิดเพลิงไหม้ และทำรายละเอียดการปรับปรุงเสนอกรมพิจารณาใน 45 วัน

ถ้าหากเขาขอสร้างโรงงานแบบเดิม เราค้านเขาไม่ได้ เพราะมีการอนุญาตไปแล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนประเภทโรงงานเราค้านได้ ส่วนการก่อสร้างอาคารต้องยื่นขออนุญาตใหม่ ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น กฎหมายควบคุมอาคาร

  ความคืบหน้าการวางผังเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี?
ในส่วนของกรมกำลังจัดทำผังเมืองรวมระดับอำเภอ จำนวน 30 ผัง ครอบคลุม 30 อำเภอ แบ่งเป็นพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 11 ผัง ชลบุรี 11 ผัง และระยอง 8 ผัง จะให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 รองรับผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่เป็นผังนโยบายกำหนดการพัฒนาพื้นที่อีอีซี และเราต้องมาทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างละเอียดรองรับ

ตอนนี้เสร็จแล้ว 4-5 ผัง ผมเร่งอยู่เพื่อให้มีการพัฒนา เพราะล่าช้า จริงๆ ไม่มีแผนกำหนดว่าต้องประกาศแล้ว แต่เรามีแผนแจ้งไปทางอีอีซีว่าจะเสร็จทั้งหมดในปี 2567 ผมคุยอย่างไม่เป็นทางการกับทีมงานกรมว่าต้องเร็ว เพราะผังเมืองอีอีซีออกมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว แต่ผังระดับอำเภอยังไม่ออกรายละเอียดเลย ทางนักลงทุนเขาก็รอดูทิศทางการพัฒนาที่จะออกมา แม้ว่าตอนนี้เขาดูตามผังใหญ่เป็นหลักก่อนก็ตาม แต่เมื่อมีผังอำเภอออกมาก็ต้องยกเลิกผังใหญ่ทันที

  ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง มีโรงงานอยู่มาก จะจัดโซนนิ่งใหม่ด้วยหรือไม่?
เรื่องของการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ต้องอยู่ที่กฎหมายโรงงานด้วย ในส่วนของ 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี ตามผังเมืองอีอีซีที่ประกาศใช้ ส่วนที่เป็นโรงงานจะกำหนดเป็นพื้นที่สีม่วงหมด และกำหนดเป็นหมวดหมู่โรงงานชัดเจน ไม่น่าจะมีปัญหาเหมือนกรณีสมุทรปราการ

  มีข้อสรุปจากที่มีคนในพื้นที่อีอีซีคัดค้านการตัดถนนใหม่หรือยัง?
ยังไม่จบเนื่องจากถนนที่กำหนดในผัง 384 สายทาง เมื่อหัก 54 สายทางใหม่ออกไป จะเหลือ 330 สายทาง เป็นถนนที่เราประกาศไปแล้วในกฎกระทรวงผังเมืองรวม ชาวบ้านรับรู้ไปแล้ว แต่มี 54 สายทางที่ขีดขึ้นมาใหม่ ยังไม่เคยมีประชาพิจารณ์ และชาวบ้านยังไม่ได้รับรู้มาก่อน

กรมเสนอไปทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะปรับเป็นถนนเสนอแนะ ทางอีอีซีกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งที่ผ่านมามีการออกมาค้านว่าเป็นถนนใหม่ตัดผ่าเมือง จากการตรวจสอบดูแล้วมีการประกาศ ทำประชาพิจารณ์และชาวบ้านรับรู้ไปหมดแล้ว ส่วนความคืบหน้าการวางผังพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ยังรอความชัดเจนที่ตั้งสถานี

  การวางผังเมืองที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเพราะกฎหมายใหม่กำหนดให้ผังเมืองไม่มีวันหมดอายุ?
ไม่เกี่ยวกันถ้าดูตามกฎหมายผังเมืองใหม่ในมาตรา 34 บอกว่าเราต้องประเมินผลผังเมืองทุก 5 ปี ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ถ้าจำเป็นต้องปรับปรุงจะเสนอคณะกรรมการผังเมืองให้ปรับปรุงผังเมืองใหม่ ถ้ายังรองรับได้ก็ยังใช้ผังเมืองเดิมต่อ ซึ่งผู้วางผังเมืองจะต้องประเมินว่าผังเมืองเดิมจะยังรองรับได้หรือไม่ และได้อีกกี่ปี ซึ่งมีการประเมินอยู่หลายเรื่อง เช่น ดูอัตราการเติบโตของเมือง การจัดเก็บภาษี เป็นต้น

  แผนกำจัดผักตบชวาที่รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ?
ทางคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบ 3 หน่วยดำเนินการ มีกรมเจ้าท่า กรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง ดูแลแบ่งพื้นที่จัดเก็บผักตบชวาในลุ่มน้ำทางภาคกลาง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง

ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดในลุ่มแม่น้ำปิดหรือลุ่มแม่น้ำเปิดมอบให้ทางจังหวัดดำเนินการบูรณาการในเขตจังหวัดของตัวเอง แต่ว่าที่เกิดปัญหาจริงๆ จะอยู่แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง ทางพลเอกประวิตรให้รายงานผลให้ทราบทุกเดือน

นอกจากนี้ยังให้กรมศึกษาแปรรูปผักตบชวาและวัชพืชที่เก็บได้ปีละกว่า 10 ล้านตัน ให้เกิดประโยชน์ และหาช่องทางการทำตลาด กรมให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศึกษาการแปรรูป เช่น ทำปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จักสานอาหารเลี้ยงสัตว์ ตัวกันกระแทกในลัง

ผักตบชวามีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะโตเร็ว เก็บเท่าไหร่ก็ไม่หมด แต่เป็นการลดความเดือดร้อนการสัญจรทางน้ำและการเกษตร ช่วยระบายน้ำในหน้าฝนให้ไหลเวียนได้สะดวก และทำให้แม่น้ำลำคลองมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีหลายพื้นที่ทยอยเสร็จ ในเดือนกรกฎาคมพื้นที่อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะแล้วเสร็จ และในเดือนสิงหาคมพื้นที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จะแล้วเสร็จเช่นกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image