คอลัมน์แทงก์ความคิด : อ่าน‘วัคซีน วอร์’

คอลัมน์แทงก์ความคิด : อ่าน‘วัคซีน วอร์’

คอลัมน์แทงก์ความคิด : อ่าน‘วัคซีน วอร์’

“vaccine war” สมรภูมิวัคซีนโควิด-19 เป็นหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน
เขียนโดย ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ และ ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์

เป็นหนังสือที่ออกมาทันเหตุการณ์

ยิ่งเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดในประเทศด้วยแล้ว ยิ่งทันเวลา

Advertisement

เพราะทั่วประเทศต่างส่งเสียงร้องอย่างพร้อมเพรียงว่าต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
เอาวัคซีนที่สู้กับโควิดกลายพันธุ์ได้มาฉีดให้ที

หลายคนยอมจ่ายเงิน ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์แห่จองวัคซีนชนิด mRNA กันเนืองแน่น

แล้ววัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีกี่ชนิด แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

หนังสือ “vaccine war” มีคำตอบ

เป็นคำตอบที่อธิบายให้เข้าใจตั้งแต่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากวัคซีน

เมื่อพลิกไปดูบทที่ 4 ได้ความรู้เรื่อง “วัคซีน mRNA จับสารพันธุกรรมมาทำวัคซีน”

พลิกไปดูบทที่ 5 ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “วัคซีน DNA กับเทคโนโลยีเก๋ๆ ที่เรียกว่าปืนนำส่งวัคซีน”

และเมื่อดูบทที่ 6 ว่าด้วย “ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม วัคซีนเชื้อตายจากดินแดนม่านไม้ไผ่” ช่วยทำให้มองเห็นประเด็นที่สังคมกำลังถกเถียง

ทุกอย่างมีคำตอบ ทั้งวิธีการผลิตและความแตกต่าง

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

คนที่สนใจพลิกไปดูเนื้อหาในบทที่ 10 ชื่อว่า “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับดรามาทอล์กออฟเดอะทาวน์” ได้

และเมื่ออ่านไปถึงบทที่ 11 ความรู้เรื่องที่มาของ “วัคซีนโนวาแวกซ์” ก็ปรากฏ

ภายในบทมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่อง โปรตีนหนามสังเคราะห์จากโนวาแวกซ์กับอาวุธลับ “แมตริกซ์-เอ็ม”

หนังสือเล่มนี้ได้ให้รายละเอียดอธิบายที่มาของวัคซีนแต่ละยี่ห้อในปัจจุบัน

อ่านสนุก เข้าใจง่าย

ทั้ง ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม โนวาแวกซ์ ล้วนมีที่มา

รวมทั้งวัคซีนสันถวไมตรีจากแดนภาระ ชื่อ “ภารัต” ก็ปรากฏอยู่ในบทที่ 12

อ่านมาถึงบทนี้ มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับโครงการโคแวกซ์ที่มีการพูดถึงเป็นระยะๆ

ในบทที่ 13 พลิกไปอ่านแล้วได้ความรู้เกี่ยวกับ “โคแวกซ์” ซึ่งเป็นโครงการจัดการวัคซีนในแนวคิด “ทุกคนต้องชนะไปด้วยกัน”

สำหรับคนที่กำลังสับสนกับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ

หนังสือเล่มนี้มีข้อเสนอแนะ

เริ่มจาก “ประสิทธิภาพ” ที่วัดได้จากการทดลอง ตามด้วย “ประสิทธิผล” ที่วัดผลจากการใช้งานจริง

ดังนั้น แม้วัคซีนบางยี่ห้อจะมีประสิทธิภาพมากกว่าอีกยี่ห้อ แต่ก็ใช่ว่าวัคซีนนั้นจะมีประสิทธิผลดีกว่า

การนำเอาประสิทธิภาพของวัคซีนมาเปรียบเทียบกัน จึงไม่ใช่คำตอบเรื่องวัคซีนยี่ห้อไหนดีกว่ากัน

เพราะประสิทธิผลที่เกิดการใช้จริง ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เข้ามาประกอบ อาทิ อายุ เชื้อชาติ พันธุกรรม ฯลฯ

นักวิชาการยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถนำประสิทธิภาพมาเปรียบเทียบกันได้

ข้อสรุปนี้พอเข้าใจได้ เพราะทุกอย่างคือความใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้น

พลิกไปท้ายเล่ม พบบทที่ 16 ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับ “ภูมิคุ้มกันหมู่”

ก่อนหน้านี้เคยสงสัยว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ที่กำลังเป็นความหวังของคนทั่วโลกนั้นเป็นอย่างไร

ภูมิคุ้มกันหมู่ที่เชื่อกันว่าถ้าฉีดวัคซีน 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลก โลกจะปลอดภัย

ประเทศไทยกำลังเดินตามแนวทางนี้

รัฐบาลประกาศฉีดวัคซีนให้คนไทย ฉีดให้ได้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร

หวังว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้น

เมื่อภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น จะทำให้คนป่วยใหม่ลด การรักษาพยาบาลทำง่ายขึ้น และระงับการระบาดลงได้

แล้วภูมิคุ้มกันหมู่คืออะไร

หนังสือ “vaccine war” ได้อธิบายความถึงเรื่องนี้ได้อย่างเข้าใจ

มีสูตรการคำนวณภูมิคุ้มกันหมู่ที่ทำให้มองเห็นภาพ

จากเนื้อหา 288 หน้า และลีลาการเขียนที่น่าเชื่อถือ และเข้าใจง่าย

หากอ่านตั้งแต่เริ่มจนจบ

แต่ละบทแต่ละตอนได้นำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาเสนอ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสถานการณ์ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น

ความเข้าใจดังกล่าวทำให้มองการระบาดที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ

รู้ว่าการฉีดวัคซีนนั้นสำคัญ

รู้ว่าแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องระวังตัว เพราะมีโอกาสติดเชื้ออีก

เพียงแต่วัคซีนที่ฉีดจะช่วยทำให้โอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง

การลดจำนวนผู้ป่วยโคม่าและเสียชีวิต ย่อมนำไปสู่ชัยชนะในการปะทะกับโรคโควิด-19

รบชนะในสมรภูมิสงครามโรค

สงครามที่โลกทั้งใบร่วมกันต่อสู้มานาน 2 ปี

จากวันที่เรายังไม่มีวัคซีน จนถึงวันที่เรามีวัคซีนแล้ว

แต่ไวรัสมีการกลายพันธุ์มีผลต่อการสร้างภูมิของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ

ความแตกต่างนี้จำเป็นที่ต้องเข้าใจ

ต้องเข้าใจวัคซีน เพื่อเอาชนะโรคโควิด-19 ที่กำลังคุกคามเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image