‘แม่ผู้ลี้ภัย’ ผลกระทบทางเพศสภาพ แผลที่ถูกทำร้ายซ้ำจากความขัดแย้ง

บทบาทของผู้หญิงในฐานะแม่เป็นบทบาทซึ่งถูกยกย่องทั่วโลก ในฐานะผู้ให้กำเนิดชีวิต ปกป้องเลี้ยงดูบุตรของตน

ยังไม่รวมถึงในบางวัฒนธรรมที่คาดหวังกับความเป็นหญิงหรือความเป็นแม่ให้เป็นผู้ดูแลครอบครัวเครือญาติไม่ใช่เฉพาะเพียงลูกของตัวเองเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ในสภาวการณ์ปกติก็ถือเป็นภาระหนักพอตัวอยู่แล้ว ยิ่งหาก “แม่” ต้องรับหน้าที่นี้ขณะเป็นผู้ลี้ภัยไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ย่อมนำมาซึ่งความยากลำบากสาหัส

โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยจากสงครามที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เหตุเพราะสามีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง

Advertisement

ชมรมวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดนิทรรศการ “Me My Mom Memo: a story of refugees” พร้อมบทสนทนาวงเล็กๆ

ฟังแง่มุมข้อมูลและประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับผู้ลี้ภัย

02
แม่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียพร้อมลูกนั่งอยู่ที่ท่าเรือบนเกาะ Kos ประเทศกรีซ เพื่อรอลงทะเบียนและเคลื่อนย้ายไปยังเรือ ‘Eleftherios Venizelos’ เมื่อ 15 ส.ค. 2558

วันรบ วราราษฎร์ เจ้าหน้าที่ประสานงานกิจกรรมเข้าถึงชุมชน Asylum Access Thailand อธิบายว่า ผู้ลี้ภัยคือผู้ได้รับผลกระทบจากความแตกต่างทางการเมือง ศาสนา เพศ โดยไม่สามารถได้รับความคุ้มครองโดยรัฐได้ หรือรัฐเป็นผู้กระทำความรุนแรงเอง

Advertisement

ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่ภาครัฐจึงใช้กฎหมายคนเข้าเมืองเข้ามาปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้ โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ได้ โดยเฉพาะความสมบูรณ์ของปัจจัยสี่

“ผู้ลี้ภัยในเขตเมืองส่วนใหญ่มาโดยไม่มีการเตรียมตัวที่ดีนัก เพราะไม่รู้ว่าต้องอยู่นานแค่ไหน ส่วนใหญ่เงินที่เตรียมมาจะหมด ต้องเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน มีปัญหาเรื่องสุขภาพทั้งกายและใจ จนถึงปัญหาการเข้าถึงระบบการศึกษาของบุตรหลาน เพราะประเทศเราไม่มีกลไกและกฎหมายรองรับผู้ลี้ภัย”

“ปัจจุบันผู้ลี้ภัยที่เป็นแรงงานนอกระบบมีเยอะมาก ส่วนใหญ่จะทำงานที่ไม่มีคนทำ ไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่มีการรับรองว่าจะได้เงินไหม ผมรู้จักผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานมีภรรยาและลูกสามคน ทำงานล้างรถได้รับวันละ 120 บาท เขาควรได้รับวันละ 300 บาทเช่นแรงงานอื่น แต่เนื่องจากเขาไม่มีทางเลือก”

ส่วนกรณีคุณแม่ผู้ลี้ภัย วันรบมองว่า กลุ่มที่เปราะบางที่สุดคือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยมีสองกรณีคือ 1.คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมาจากประเทศต้นทางเพราะหัวหน้าครอบครัวโดนทำร้าย 2.คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หัวหน้าครอบครัวโดนจับในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการผลักดันกลับ

“ผมเจอคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวบางครอบครัวต้องยอมทิ้งลูกไว้กับเพื่อนบ้าน แต่งตัวสวยออกไปข้างนอกตอนกลางคืน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเข้าสู่การค้าประเวณี คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหลายท่านต้องดิ้นรนเอาตัวรอด บางครอบครัวคุณพ่อทำงานใช้แรงงานรายได้ดี แต่พอโดนตำรวจจับเข้าสถานกักตัวคนต่างด้าว คุณแม่จึงต้องหาเงินแทน”

03
Jamila หญิงซีเรียวัย 19 กับลูกสาวแบเบาะและลูกชายที่จะกรีดร้องเมื่อเห็นเครื่องบินบินอยู่เหนือหัว “บ้านของเราถูกเผา สามีของฉันทำงานไม่ได้อีกต่อไป เราทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากรอความตาย หลายค่ำคืนเราต้องทนนอนโดยปราศจากอาหารและน้ำ อีกทั้งกังวลเรื่องชีวิตของพวกเรา”

ส่วนการขอสถานะผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ความง่ายหรือยากในการขอสถานะไม่ได้อยู่ที่ขนาดครอบครัว แต่มีเกณฑ์ว่ากรณีไหนที่จะให้ความสำคัญลำดับต้นๆ เช่น คนที่มีปัญหาสุขภาพระดับรุนแรง หรือกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มาโดยไม่มีผู้ปกครอง ส่วนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ถือเป็นกลุ่มอ่อนไหวเปราะบาง สมควรได้รับการจัดลำดับต้นๆ ในการพิจารณาเช่นเดียวกัน

วันรบเล่าว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยในเขตเมืองราวแปดพันกว่าคน มาจาก 52 ประเทศทั่วโลก จากการทำงานพบว่ามีอยู่ประเทศหนึ่งซึ่งเป็นประเทศมุสลิม ผู้หญิงที่มาจากประเทศนั้นหลายรายถูกละเมิดทางเพศ จากการเก็บข้อมูลทำให้ทราบว่าหลายประเทศที่มีความขัดแย้งทางเผ่าพันธุ์หรือกลุ่มชน ใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือทำร้ายคนอีกฝ่าย

“สุดท้ายคนที่ถูกละเมิดทางเพศจะกลายเป็นคนขาดความมั่นใจ รู้สึกว่าเสียงของตนไม่มีพลัง บางคนมีลูกติดจากการถูกละเมิด ยิ่งทำให้ถูกดูถูกซ้ำซ้อน ถูกทำร้ายจากต้นทางแล้ว มาประเทศที่ขอสถานะผู้ลี้ภัยยังถูกคนในชุมชนดูถูกว่าเด็กไม่มีพ่อ คนกลุ่มนี้จะได้รับการสัมภาษณ์เป็นลำดับต้นๆ ด้วย” วันรบกล่าว

อีกมุมเรื่องผลกระทบทางเพศสภาพจากสถานการณ์ความรุนแรง

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วงการวิชาการมีการศึกษาเรื่อง เพศสภาพกับผู้ลี้ภัย (Gender and Refugee) เยอะมาก แต่มักมองว่าคนทำงานให้ความช่วยเหลือปฏิบัติกับผู้ลี้ภัยผู้หญิงโดยมีภาพที่นิ่งและแคบมาก มักให้ภาพผู้ลี้ภัยผู้หญิงในฐานะ “เหยื่อ” และมีแนวโน้มจะมองว่าหญิงผู้ลี้ภัยเป็น “แม่” เพียงอย่างเดียว นำไปสู่ปัญหามากมายในการคำนึงถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ โดยที่ผู้ลี้ภัยที่มีเพศสภาพหญิงอีกมากมายจะถูกมองข้าม

ในสถานการณ์ความรุนแรง คนจะได้รับผลกระทบจากแง่มุมเพศสภาพอย่างไรบ้าง?

DSCF47488
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์อธิบายว่า 1.เมื่อมีการบาดเจ็บล้มตาย ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากสูญเสียผู้เป็นที่รัก ฟังดูอาจเป็นเรื่องอารมณ์อย่างเดียว แต่เด็กหญิงผู้ลี้ภัยที่สูญเสียคนในครอบครัวแล้วต้องไปอยู่ที่อื่น ในหลายวัฒนธรรม การไม่มีผู้ชายมาปกป้องเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง เช่นสังคมแอฟริกัน

2.ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ คนมากมายในโลกนี้ไม่ได้มีทรัพยากรตุนเยอะ ทำมาหากินแบบวันต่อวันย่อมลำบากแน่นอน และในหลายวัฒนธรรมผู้หญิงมีบทบาท “Care Giver” ดูแลลูกหลาน พ่อ-แม่ และคนแก่ ยิ่งลำบากถ้ามองไม่เห็นว่าอนาคตผลกระทบด้านเศรษฐกิจนี้จะดีขึ้นได้อย่างไร

“สถานะผู้ลี้ภัยหลายที่รับไปแล้วกลับไม่ได้ทำให้เขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ กรณีซีเรียมีบทความบอกว่า วิธีจัดการผู้ลี้ภัยที่ดีที่สุดคือ คุณต้องกลืนเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะไม่มีใครสามารถอุ้มใครได้อยู่แล้ว แต่แนวทางรัฐทั่วไปจะให้เขาอยู่ลอยๆ โดยไม่จัดการ”

3.ความรุนแรงทางเพศ (Sexual violence) เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กติกาสังคมถูกทำลายจะเกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศ โดยเฉพาะเรื่องการข่มขืน เด็กหญิงอายุน้อยยิ่งถ้าไม่มีผู้ชายปกป้องจะยิ่งเสี่ยงที่ต้องเผชิญความรุนแรงทางเพศตั้งแต่ที่เหตุการณ์ความรุนแรงปะทุขึ้นในสังคม

DSCF47500
“ปัญหาคือความรุนแรงในเรื่องนี้มักไม่ถูกมองเห็น ถ้ารัฐไหนไปสู่จุดเลิกสู้รบกันแล้วมีกระบวนการสันติภาพมักไม่ค่อยได้นำเอาปัญหาความรุนแรงทางเพศนี้รวมเข้าไป คนมากมายที่ถูกกระทำจะถูกทอดทิ้ง ยิ่งผู้ลี้ภัยไม่มีรัฐสังกัดยิ่งจะไม่ถูกคุ้มครอง”

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์บอกว่า เหตุผลข้างต้นฟังดูแล้วอาจรู้สึกว่าผู้หญิงช่างอ่อนแอหรือเป็นเหยื่อ แต่เรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ อย่าลืมว่าผู้หญิงจำนวนไม่น้อยในสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงก็เป็นผู้กระทำความรุนแรง หรือทำงานเคลื่อนไหวต่อสู้ประเด็นต่างๆ รวมถึงประท้วงเรื่องความรุนแรงทางเพศนี้ได้เช่นเดียวกัน อย่าลืมผู้หญิงเหล่านี้

“เวลาที่กติกาในสังคมหายไป กำแพงที่กันความรุนแรงเหล่านี้หายไป คนจะได้รับผลกระทบ คนที่อยู่ในสังคมไทยต้องระมัดระวังเวลามุ่งเอาชนะทางการเมืองจนกระทั่งไม่แคร์ว่ากติกาหายไป เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างกลับคืนมาได้ง่ายๆ” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว “แม่ผู้ลี้ภัย” อาจไม่ได้ต้องการความสงสารหรือเห็นใจในฐานะผู้หญิง เพียงแต่ต้องการการเปิดใจยอมรับกันอย่างเพื่อนมนุษย์ เพื่อให้ได้โอกาสการใช้ชีวิตในสังคมอย่างเท่าเทียม

DSCF47577

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image