อาศรมมิวสิก : ดนตรีอาณาจักรศรีวิชัย คิดถึงศรีปราชญ์และศรีธนญชัย

ผมได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง “พื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีในชุมชน” เป็นการศึกษาเพลงพื้นบ้านในท้องถิ่น มีอยู่ 7 พื้นที่ ด้วยกัน ได้แก่ ล้านนา ภูไท ลาว เขมร สุพรรณภูมิ ศรีวิชัย และปาตานี เริ่มมาตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ.2563

ทำไมเลือกแสดงที่นครศรีธรรมราช เพราะคนส่วนหนึ่งยังเชื่อว่าเมืองนครฯเป็นพื้นที่สำคัญของศรีวิชัย ส่วนศรีวิชัยจะอยู่ที่ปาเล็มบัง สทิงพระ พัทลุง ไชยาก็ว่าไป นครฯยังเป็นสถานที่ตายของศรีปราชญ์ เมืองลิกอร์ (Ligor) ที่พวกโปรตุเกสเลือกพำนักก่อนจะขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา มีโบสถ์คริสต์ (แยกวัดคิด) มีวัวชนซึ่งยังคงมีอยู่ นครฯเมืองที่มีเกลือ มีที่ราบแหล่งเพาะปลูก มีอาหารสมบูรณ์ มีศาลาโกหกนั่งเล่านิทานลามก (สรรพลี้หวน) มีคนช็องด็อง (ทะลึ่งสัปดน) อาจเป็นพันธุกรรมศรีธนญชัยที่ซ่อนอยู่ในตัวตลกหนังตะลุง หนูนุ้ย เท่ง ยอดทอง ยังมีพระบรมธาตุ ภควัมปิดหูปิดตา จตุคามรามเทพ ไอ้ไข่วัดเจดีย์ ขุนพันธรักษ์ราชเดช และมีอังคาร กัลยาณพงศ์

อาณาจักรศรีวิชัยมีพิธีกรรมประโคมงานศพใช้วงกาหลอ วงกลองสี่ปี่หนึ่ง นายปี่จะเอาด้ายสายสิญจน์พันไว้ที่ปลายปี่เพื่อจะบอกว่าได้เป่ามากี่ศพแล้ว (ศพละหนึ่งเส้น) ปี่กาหลอเป็นปี่ชวา มีท่อปี่รูปกรวยทำให้เสียงดังนุ่มนวล กาหลอไปอยู่ที่สุโขทัย พิษณุโลก เรียกว่ามังคละเภรี อยู่ในพิธีกรรมอยุธยา มีในงานพระราชพิธีของรัตนโกสินทร์ มีอยู่ในวงบัวลอยงานศพ วงปี่กลองชกมวย นายปี่เป่าเพลง สรหม่า บุหลันชกมวย และเจ้าเซ็น

ตั้งใจจะแสดงที่ริมกำแพงเมืองนครฯ นำบทเพลงศรีวิชัย ซึ่งเรียบเรียงขึ้นใหม่เล่นโดยวงไทยวินซิมโฟนี (Thai Wind Symphony) เป็นวงเครื่องเป่า มีเพลงพัดชา บุหงารำไป สีนวล ลากูดูวอ ซำมาริซำ โจ๊ะปิซัง เลนัง มาศแมเราะห์ ซัมเป็ง บุหงาตันหยง โยสลัม เพลงเครือญาติทำนองโยสลัม อาทิ ยวนยาเหล (ยวนแหล) ชุมทางเขาชุมทอง น้ำตาโนราห์ เป็นต้น

Advertisement

สนุกนึกทะลึ่งคิด นักวิจัยมีหน้าที่ก่อกวนทางปัญญา สงสัยเรื่องพันธุกรรม (DNA) คนฉลาดของสยามว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งมีอยู่ 2 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ ปราชญ์กับโจร สายพันธุกรรมของศรีปราชญ์ผู้ที่มีสติปัญญาไหวพริบเป็นเลิศ ปัญญาชนสยามแต่ก่อนไม่มีโรงเรียน ไม่มีสถาบันการศึกษา คนฉลาดรับการศึกษาโดยไปอาศัยอยู่กับนักปราชญ์ เรียนรู้และรับใช้โดยตรง อาศัยอยู่กับฤๅษี โหราจารย์ พระมหาราชครู พระราชครู มีครูเป็นแบบ หากมีโอกาสเดินทางไกลก็ถือว่าได้เรียนมหาวิทยาลัย การเดินทางคือวิถีของความรู้และประสบการณ์

โดยเรียนวิชาเลียนแบบและทำซ้ำ ความรู้เริ่มต้นด้วยการท่องบ่นและจดจำ ทำตามกันหลายชั่วอายุคน คนเก่งคือคนที่มีความจำเป็นเลิศ จำได้หมดท่องได้ครบ การศึกษาของชาวสยามจึงเน้นความเหมือน การทำได้เหมือนคือความเฉลียวฉลาดขั้นสูงสุด แม้ความเหมือนจะเป็นแค่วิชาพื้นฐาน วิชาสามัญโหลๆ ของโลกสากล

หากมีคนที่คิดต่าง ถือว่าเป็นพวกที่คิดแหกคอก นอกกรอบ กลายเป็นพวกหัวล้านนอกครู พวกวัดรอยเท้าครู ไม่เคารพครู ขบถคือไม่เข้าพวกก็จะถูกลงโทษ ไล่ออกจากสำนัก คนเก่งไม่ยอมรับความแตกต่าง ซึ่งความแตกต่างเป็นวิชาที่สร้างสรรค์ มีจินตนาการ มีอยู่ในท้องถิ่นที่หลากหลาย มีชีวิตชีวา แปลกใหม่และเจริญ

Advertisement

สังคมสยามมีความเป็นมา 700-800 ปี ชาวสยามมีคนฉลาดหลักแหลมอยู่มาก คำถามมีอยู่ว่า ทำไมประเทศสยามจึงไม่เจริญ ทำไมชาวสยามที่ฉ้อฉลคดโกง จึงได้เป็นใหญ่เป็นโต

ศรีปราชญ์ “ปราชญ์จากนครศรี” เล่ากันว่ามีชีวิตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมชื่อว่าศรี ลูกของพระโหราธิบดี เป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม มีไหวพริบเป็นเลิศ ฉลาดปราดเปรื่อง ได้รับพระราชทานชื่อศรีปราชญ์ มีบทกวีที่แสดงถึงความสามารถ โต้ตอบกับผู้มีบุญบารมีทุกระดับ มีวรรณคดีกำสรวลศรีปราชญ์

ที่เมืองนครฯมีเรื่องเกี่ยวข้องกับศรีปราชญ์ด้วย กวีใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้แต่งกลอนเกี้ยวพาราสีนางใน จึงถูกเนรเทศลงไปอยู่เมืองนครฯ ต่อมาได้แต่งกลอนล่วงเกินนางในอีก เจ้าเมืองนครฯจึงสั่งให้ประหารชีวิต มีสระล้างดาบที่ประหารศรีปราชญ์ อยู่ภายในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ก่อนถูกประหารชีวิต ศรีปราชญ์ได้ใช้หัวแม่เท้าเขียนบทกวีไว้บนพื้น (ดิน) ทราย ว่า

“ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์อาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้ คืนสนอง”

ศรีปราชญ์เป็นเรื่องจริงหรือนิยายก็ไม่รู้ แต่ศรีปราชญ์เป็นตัวแทนของความกล้าหาญ กล้าสู้ กล้าคิด กล้าเถียง มีปฏิภาณไหวพริบ มีความซื่อตรงแข็งกร้าว มีรสนิยมชอบคนชั้นสูง เชื่อมั่นในหลักการ ศรีปราชญ์เป็นผู้มีโวหารเป็นเลิศ ความฉลาดของศรีปราชญ์ทำให้ชีวิตอยู่ในขีดอันตราย ศรีปราชญ์มีชีวิตที่ก้าวหน้าไปรวดเร็ว มีความใกล้ชิดเจ้านาย เป็นที่อิจฉาตาร้อนของคนรอบข้าง ทั้งแสบตา ปวดท้อง และหมั่นไส้ ศรีปราชญ์ได้พบกับจุดจบ ถูกเนรเทศและถูกประหารชีวิต ความตายของศรีปราชญ์เป็นความหวังของความเป็นธรรม

พันธุกรรมที่สอง สายพันธุ์ศรีธนญชัย จะมีตัวจริงหรือไม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เป็นบุคลิกที่ได้สั่งสมความกะล่อนปลิ้นปล้อน ฉลาดมีไหวพริบ เจ้าเล่ห์ ซับซ้อน ฉ้อฉลคดโกง เอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง ปรับตัวอยู่รอดได้ เป็นบุคคลไม่น่าไว้วางใจ ศรีธนญชัยเป็นพันธุกรรมที่ประสบความสำเร็จ ศรีธนญชัยเรียนรู้เวลาการต่อรอง ประจบสอพลอ ศรีธนญชัยมียศ มีเกียรติ มีเหรียญตรา มีความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน

ศรีปราชญ์และศรีธนญชัย เป็น 2 สายพันธุ์หลักของชาวสยาม พิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ แต่ความฉลาดของศรีปราชญ์และศรีธนญชัยได้สั่งสมอยู่ในพันธุกรรมของชาวสยาม ซึ่งเป็นลักษณะเด่นในการเอาตัวรอด โดยทรรศนะของฝรั่งที่พบว่าพันธุกรรมของชาวสยามมีลักษณะเด่น ได้บันทึกเอาไว้ ดังนี้

จดหมายเหตุลาลูแบร์ (พ.ศ.2230) ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรสยามบันทึกถึงชาวสยามไว้ว่า “ชาวสยามพูดปดเก่ง กล่าวเท็จอยู่ดกดื่น ชาวสยามเป็นขโมย เมื่อมีทรัพย์เอาไปฝังดิน ชาวสยามมีความพยาบาทรุนแรง เป็นคนดื้อรั้น ชอบใส่ร้ายป้ายสีกัน ชาวสยามเป็นคนเจ้าเล่ห์และกลับกลอกอยู่เสมอ ชาวสยามเป็นคนเกียจคร้านมาก ทำเพราะภาวะจำยอม ทำให้พ้นหวายเท่านั้น”

จาคอบ ไฟต์ (Jacob Feit พ.ศ.2387-2452) ชาวเยอรมันเข้ามาอยู่ในสยาม พ.ศ.2410-2452 เป็นครูสอนแตรวง เป็นพ่อของพระเจนดุริยางค์ สั่งสอนและกำชับลูกทั้ง 3 คน (พอล ลีโอ และปีเตอร์) สอนลูกให้เรียนดนตรีและเล่นดนตรีได้เก่งทุกคน แม้ว่าลูกจะมีฝีมือสูง เล่นเครื่องดนตรีได้อย่างยอดเยี่ยมก็ตาม พ่อที่เป็นฝรั่งอย่างจาคอบ ไฟต์ ได้วิเคราะห์แล้วบอกกับพระเจนฯ ว่า “สังคมสยามไม่มีใครเอาจริงเอาจังกับการทำงาน จึงได้กำชับลูกทุกคน ไม่ให้ยึดถือและอาศัยวิชาดนตรีที่ท่านได้ให้ไว้เป็นอาชีพเป็นอันขาด” โดยให้เหตุผลเอาไว้ว่า

“คนไทยเรานั้นไม่ใคร่สนใจในศิลปะการดนตรีเท่าใดนัก ชอบทำกันเล่นๆ สนุกๆ ไปชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็ทอดทิ้งไป” เมื่อพระเจนดุริยางค์เริ่มต้นทำงาน พ่อแนะนำให้ลูกเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ต่อมาได้ไปทำงานที่กรมรถไฟหลวง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานดนตรี

เฮนรี เบอร์นี (Henry Burney, พ.ศ.2335-2388) คนไทยเรียกว่า นายหันตรี บารนี เป็นเจ้าหน้าที่ทูตอังกฤษประจำประเทศสยาม ผู้ดูแลบริษัทอังกฤษที่ทำการค้าในเมืองสยาม บันทึกเมื่อปี พ.ศ.2365 มีข้อความว่า “อันชนชาวสยามนั้น มีอุปนิสัยขี้เกียจ ฉ้อฉล และคดโกง” เนื่องจากของกำนัลที่นำมาเพื่อถวายพระเจ้ากรุงสยามนั้น ใช้ในการติดสินบนระหว่างทางจนหมดสิ้นเสียก่อนที่จะไปถึงพระเจ้ากรุงสยาม

สายตาฝรั่ง (ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน) พบว่าอุปนิสัยของศรีปราชญ์และศรีธนญชัย ฝังอยู่ในพันธุกรรมชาวสยาม ดูตัวอย่างได้จากส่วนงานราชการก็มีคนฉลาดแบบศรีปราชญ์และศรีธนญชัย สุดท้ายพันธุกรรมแบบศรีปราชญ์ก็จะถูกเนรเทศให้ออกไปจากวงจรหรือออกนอกเส้นทาง ไม่ก็ถูกประหารชีวิต

ส่วนพันธุกรรมแบบศรีธนญชัย ยังอยู่ในระบบงานราชการต่อไป ได้พัฒนาก้าวหน้าและเจริญเติบโตในหน้าที่ รุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่ในอำนาจ มีตำแหน่งสูง สามารถที่จะชี้เป็นชี้ตาย ชี้นกเป็นไม้ ชี้ไม้เป็นนก “ชี้แล้วเชื่อ”

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม พันธุกรรมแบบศรีปราชญ์ก็ถูกเนรเทศหรือถูกประหาร พื้นที่ในสังคมสยาม ก็จะกลายเป็น “ยุคทองของศรีธนญชัย” เติบโตและเป็นใหญ่ ศรีธนญชัยอยู่ได้อย่างหน้าชื่นตาบาน ส่วนศรีปราชญ์นั้นก็นั่งท่องบทกวีในป่าช้า “เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้ คืนสนอง”

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงได้เลือกแสดงดนตรีที่เมืองนครฯเป็นพื้นที่อาณาจักรศรีวิชัย โดยวงไทยวินซิมโฟนี เพราะเชื่อว่าเมืองนครฯเป็นชุมชนที่มีเรื่องราวของผู้คน มีวัฒนธรรม มีการปกครอง มีวิถีชีวิตที่แตกต่าง มีความเจริญรุ่งเรือง มีความเชื่อพิธีกรรม มีศาสนาด้วย ดนตรีเป็นหุ้นส่วนอยู่คู่กับวิถีชีวิต สังคมและชุมชนที่แยกไม่ออก

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image