สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทวงคืนพร้อมแบ่งปัน

กลุ่มสำนึก 300 องค์ ร่วมกับชมรมจักรยาน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนลาว อ.ละหานทราย อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.โนนดินแดง อ.ปะคำ และอ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ กว่า 300 คน

ร่วมกันจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน จาก อบต.ยายแย้มวัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ ผ่านหมู่บ้านต่างๆ พร้อมทั้งติดป้ายและจัดเสวนาเพื่อปลุกกระแสให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนคนไทย ร่วมทวงคืนพระโพธิสัตว์และพุทธปฏิมาสำริดปลายบัด 2 รวมถึงทับหลังปราสาทหนองหงส์ ซึ่งขณะนี้พบจัดแสดงอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ในหลายประเทศทางอเมริกาและยุโรป (ข่าวสด ฉบับวันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2559 หน้า 11)

ทวงคืนโบราณศิลปวัตถุที่เคยอยู่ในไทย แต่ถูกโจรกรรมไปต่างประเทศ เป็นหน้าที่ร่วมกันของรัฐและประชาสังคมไทย โดยผ่านระบบราชการของกระทรวง ทบวง กรม

งานทวงคืนทุกชิ้นอย่างนี้ต้องทำทันทีและสม่ำเสมอ แม้ความหวังได้คืนไม่มาก แต่ต้องไม่ท้อถอย หรือหยุด เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องอ้างอิงหลักฐานในการทวงถาม ขณะเดียวกันต้องทำเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม

Advertisement

กรณี ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากปราสาทพนมรุ้งที่ได้คืนมา ไม่ได้สำเร็จในคราเดียว แต่ครั้งแรกกับครั้งหลังห่างกันนานนับสิบปี

ที่ต้องทำพร้อมกันไปด้วยอย่างเอาจริงเอาจัง ได้แก่ แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับโบราณศิลปวัตถุเหล่านั้น เกี่ยวข้องผู้คนนานาพันธุ์ กับดินแดนแถบนั้นอย่างไร?

โดยไม่ฟูมฟายแต่วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและศาสนาจนไม่พูดเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญมากกว่า ได้แก่ข้อมูลความรู้ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ราบสูงกับคนที่ราบลุ่ม ที่มีพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมจนปัจจุบันเป็นคนลาว, เขมร, ไทย, และอื่นๆ

Advertisement

เฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล หรืออีสานใต้ เป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของวงศ์กษัตริย์ที่สร้างปราสาทในนครวัดกับนครธม ขณะเดียวกันก็เป็นเครือญาติวงศ์กษัตริย์รัฐละโว้-อโยธยา หรือกรุงศรีอยุธยา

ปัญหาอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรมให้ความสำคัญการแต่งตัวชุดไทยมากกว่าอย่างอื่น กิจกรรมแบ่งปันความรู้จึงไม่มี

นี่แหละความเป็นไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image