Megalith “วัฒนธรรมนับถือหิน” ศาสนาผีในพุทธศาสนาของไทย

Megalith “วัฒนธรรมนับถือหิน” ศาสนาผีในพุทธศาสนาของไทย

Megalithวัฒนธรรมนับถือหิน”

ศาสนาผีในพุทธศาสนาของไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในวัฒนธรรม “Megalith” ซึ่งควรจะแปลตรงตัวว่า “หินใหญ่” ตามรากศัพท์ในภาษากรีก แต่ชื่อเรียกอย่างนี้มักจะถูกเข้าใจผิดอยู่เสมอว่า เป็นวัฒนธรรมที่บูชาเฉพาะหินก้อนใหญ่ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ในวัฒนธรรมนี้มีทั้งการบูชาหินก้อนใหญ่, หินธรรมชาติรูปทรงแปลกตา, หินตั้ง (standing stone/menhir), หินก้อนเล็ก และเศษหินที่ถูกนำมาก่อเป็นรูปทรง, ลานหิน และอะไรอีกสารพัดอย่างที่เกี่ยวพันกับหิน ในที่นี้จึงขอแปลว่า วัฒนธรรมการนับถือหิน เพื่อให้เข้าใจไม่คลาดเคลื่อน

Advertisement

หลักฐานของวัฒนธรรมการนับถือหิน พบอยู่ในศาสนาผีของอุษาคเนย์ และมีอยู่ในประเทศไทยมาก่อนการเข้ามาจากศาสนาใหญ่จากอินเดีย คือ ศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ฮินดู เมื่อราว พ.. 1000

หลังจากที่ศาสนาใหม่เหล่านี้แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ก็ได้มีการปรับตัวเข้าหากัน ทั้งตัวของศาสนาผีที่นับถือหินเอง และศาสนาพุทธ, ศาสนาพราหมณ์ฮินดูที่เข้ามาใหม่ด้วย ซึ่งก็ปรับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ที่ปรับ “หลักการ” ร่วมกันบางอย่างเข้าหากันได้นั้น วัฒนธรรมการนับถือหินก็ได้กลืนกลายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาใหม่เหล่านี้อย่างแนบเนียน

หินตั้งประเภทเนินหิน “ร่างกายทดแทน” ของผีบรรพชน ที่เมืองอู่ทอง

Advertisement

คำว่า “หินตั้ง” นั้น นักโบราณคดีไทยจำนวนมากมักจะแปลตรงตัวมาจากคำว่า “standing stone” ซึ่งก็หมายถึงหินก้อนใหญ่ที่ถูกจับตั้งขึ้นจนผิดธรรมชาติ ในวัฒนธรรมการนับถือหินจริงๆ ดังนั้นจึงมักจะเข้าใจกันว่า หินตั้งมีความหมายตามที่แปลมาจากภาษาอังกฤษคำดังกล่าวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักฐานคำว่าหินตั้งใช้กันอยู่ทั่วไป ดังปรากฏเป็นชื่อบ้านนามเมืองในสถานที่ต่างๆ หลายท้องที่ ซึ่งมีการค้นพบสิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมหินใหญ่หลงเหลืออยู่ คำคำนี้ยังเป็นศัพท์พื้นเมือง ไม่ได้แปลมาจากภาษาอื่นที่ไหน ดังมีหลักฐานว่าเป็นคำเก่า มีปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณคือ พงศาวดารเหนือ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ไว้ในเรื่องพระยาแกรก โดยปรากฏชื่อ “เขาหินตั้ง” รวมอยู่ในบรรดาเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสุโขทัย ที่มหาเถรไลยลาย (ไหล่ลาย) แจกพระบรมสารีริกธาตุไปให้

นอกจากนี้ในกลุ่มตระกูลภาษามลายู เช่นในภาษาบาฮาซา อินโดนีเซีย เรียกหินเหล่านี้ว่า “batu berdiri” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “หินยืน หรือ หินตั้ง คำว่า หินตั้ง จึงเป็นคำศัพท์เก่าแก่คำหนึ่งของอุษาคเนย์ ที่ใช้เรียกสิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมหินใหญ่ ศาสนาผีพื้นเมือง ดังนั้นในข้อเขียนชิ้นนี้จึงขอใช้คำว่า “หินตั้ง” เพื่อหมายความถึง สิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมหินใหญ่ประเภทต่างๆ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงถึงหินที่ถูกนำมาตั้งขึ้นจนผิดธรรมชาติอย่างที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “standing stone” หรือ “menhir” เท่านั้น

ที่เมืองอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี “หินตั้ง” ที่พบกระจายตัวอยู่มากบนเทือกเขารางกะปิด ที่ประกอบไปด้วยเขา 5 ลูก ได้แก่ เขาพระ เขาพุหางนาค เขาทำเทียม เขารางกะปิด และเขาถ้ำเสือ (บ้างก็เรียก เขาคอก) ที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี โดยมีการพบกระจายตัวออกไปทางรอบนอกของเมืองอู่ทองด้วย เช่น เขาดีสลัก และเขาไข่เต่า เป็นต้น

สิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมหินใหญ่แบบที่พบกระจายอยู่บนเขารอบเมืองอู่ทองนั้น เป็นหินตั้งแบบที่ในโลกภาษาอังกฤษเรียกกันว่า “cairn” ซึ่งนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญสมัยก่อนประวัติศาสตร์คนแรกๆ ของไทยอย่างศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เคยควงศัพท์เอาไว้ว่า “เนินหิน” แต่ไม่เป็นที่รู้จักกันนัก แม้กระทั่งในแวดวงโบราณคดีไทยเอง

หินตั้งประเภทเนินหินที่ว่านี้ สร้างขึ้นบนผังรูปทรงกลม กรุขอบนอกด้วยหิน ก่อสูงขึ้นไปในรูปทรงคล้ายผลส้มผ่าครึ่ง จากการสำรวจโดยตัวผู้เขียนเองในช่วงระหว่าง พ.. 2555-2556 พบว่ามีหินตั้งประเภทเนินหินจำนวนไม่น้อยกว่า 38 แห่งที่สำรวจพบ แต่ไม่มีแห่งไหนเลยที่ไม่มีร่องรอยการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุมาก่อน

กรมศิลปากรได้เคยดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่หินตั้งกลุ่มนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ที่หินตั้งบนยอดเขาสูงสุดบนเทือกเขารางกะปิด โดยกรมศิลปากรเรียกหินตั้งแห่งนี้ว่า “โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข 1” แล้วได้สรุปผลการขุดค้นออกมาว่า เป็นโบราณสถานที่สร้างในสมัยทวารวดี ส่วนบนที่เหนือฐานที่กรุด้วยหิน เคยก่อด้วยอิฐ เป็นสถูปทรงกลม แต่พังทลายลงมา อีกทั้งยังมีการขุดพบชิ้นส่วนสถูปจำลอง และพระพิมพ์ ดังนั้นกรมศิลปากรจึงระบุว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นเจดีย์ยุคทวารวดี

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานที่ว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็น “เจดีย์” ในพุทธศาสนาตั้งแต่แรกสร้าง เพราะนอกจากโบราณสถานแห่งนี้จะถูกลักลอบขุดหาโบราณวัตถุจนไปรบกวนชั้นดินธรรมชาติ (natural stratum/layer) จนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ง่ายในการอ่านชั้นทางวัฒนธรรม (cultural stratum/layer) แล้ว การพังทลายลงของยอดเจดีย์ยังอาจทำให้มีการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างแห่งนี้ และนำพระพิมพ์, ชิ้นส่วนของสถูปจำลอง หรืออะไรอื่นๆ นำไปบรรจุไว้ภายในหินตั้งแห่งนี้เมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้นก็ได้

ที่สำคัญคือยังไม่เคยมีตัวอย่างของเจดีย์ในวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งก่อด้วยหิน และยิ่งไม่เคยพบตัวอย่างของเจดีย์ที่ก่อขึ้นจากหินแบบเรียงตัวกันอย่างไม่มีระเบียบแบบแผนชัดเจน อย่างที่พบบนเขาบริเวณโดยรอบเมืองอู่ทองเลย ในขณะที่การนำความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาใหม่เข้าไป “สวมทับ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาเดิมกลับเป็นสิ่งพบเห็นอยู่ได้บ่อยครั้งไปทั่วทั้งโลก จึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไรเลย ถ้าเมื่อชนชั้นนำในวัฒนธรรมทวารวดีที่อู่ทอง ยอมรับเอาศาสนาพุทธเข้ามาแล้วจะจับหินตั้งเหล่านี้บวชให้เป็นพุทธด้วยการปักยอดเจดีย์ไว้ที่ส่วนยอดของหินตั้ง

หินตั้งแบบเนินหินยังถูกพบกระจายตัวอยู่ในอีกหลายแห่งของอุษาคเนย์ เช่น ที่ แหล่งโบราณคดีเมียวถา (Myotha) ทางตอนล่างของแม่น้ำฉิ่นวิน ประเทศพม่า, หมู่บ้านโฮลิ (Holi) บนเกาะนีอาส (Nias) ใกล้เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และที่ภูอาสา โดยเฉพาะหินตั้งที่เกาะนีอาสนั้น มีหลักฐานว่าถูกนับถือในฐานะที่เป็น “ร่างกายทดแทน” (substitute body) ของหัวหน้าชุมชนที่เสียชีวิตไปแล้ว พูดง่ายๆ ว่า “หินตั้ง” เป็นที่สิงสถิตของอะไรคล้ายๆ กับที่เรียกกันในภาษาไทยว่า “ขวัญ” ของชนชั้นนำของชุมชน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อดีตที่ปรึกษาของรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ควบตำแหน่งผู้สนใจเรื่องอุษาคเนย์ศึกษาอย่างควอริตซ์ เวลส์ (Quaritch Wales) ได้เคยศึกษาหินตั้งประเทศเนินหินในทวีปเอเชียไว้ และเสนอในหนังสือ Prehistory and Religion in South-East Asia (ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และศาสนา ในอุษาคเนย์) ว่า หินตั้งประเภทเนินหินที่พบกระจายตัวทั้งในจีน อินเดีย และอุษาคเนย์นั้น ต่างก็เป็น “ร่างกายทดแทน” ที่ผู้นำชุมชนจะไปรวมเข้ากับ “บรรพชน” และ “ผีดิน” ซึ่งก็คือ “อำนาจแห่งชีวิต” ที่ช่วยสร้างความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์ให้กับชุมชน

หินตั้งประเภทเนินหินที่พบเรียงรายอยู่บนเขาที่เมืองอู่ทองนั้น จึงเป็นหินตั้งในศาสนาผีมาก่อนที่จะถูกปักฉัตรที่ยอดแล้วบวชเข้าเป็นเจดีย์ในพุทธศาสนา

หินตั้งจากเขาไข่เต่า ตั้งอยู่ในปริมณฑลของเมืองอู่ทอง (. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) มีเจดีย์พื้นบ้านก่อจากซีเมนต์สร้างครอบไว้เมื่อไม่นานมานี้

หินตั้งประเภทเนินหินที่ใช้เป็น “ร่างกายทดแทน” ของผู้นำชุมชนหลังเสียชีวิต บนเกาะนีอาส ประเทศอินโดนีเซีย [ภาพจาก: F. M. Schnitger (1989), Forgotten Kingdoms in Sumatra, reprinted (Singapore: Oxford University Press) Pl. XXXIV.]

พระพุทธรูปประทับนอน ที่เมืองเสมา อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา:

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานในแหล่งหินตั้ง

เอกสารของกรมศิลปากรที่ชื่อทำเนียบพระพุทธไสยาสน์ในเขตกรุงเทพมหานคร (พิมพ์เมื่อ พ.. 2558) ได้ระบุถึงคติการสร้างพระพุทธรูปประทับนอนในวัฒนธรรมทวารวดีที่วัดธรรมจักรเสมาราม อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา เอาไว้ว่า

มีลักษณะคล้ายกับการสร้างพระพุทธรูปอิริยาบถนอนในศรีลังกา ที่แสดงถึงพุทธจริยาวัตร 5 ประการ ในวัฏจักรหนึ่งวันหรือกิจวัตรประจำวันของพระพุทธองค์…”

ส่วนหลักใหญ่ใจความที่ทางกรมศิลปากรให้เหตุผลว่า พระพุทธรูปที่เมืองเสมานี้ สร้างขึ้นตามคติเรื่องพุทธจริยาวัตรในแต่ละวัน เป็นเพราะว่าพระพุทธรูปองค์นี้ประทับนอนสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงขวาอยู่ในอาคาร ต่างไปจากพระพุทธรูปประทับนอนองค์อื่นๆ ในวัฒนธรรมทวารวดีที่มักจะสร้างอยู่ในถ้ำหรือเพิงผา ดังนั้นผู้รู้ของกรมศิลปากรจึงเห็นว่าควรจะเทียบเคียงกับคติการสร้างพระพุทธรูปประทับนอนในวิหาร อันเป็นสัญลักษณ์ของคันธกุฎีตามอย่างที่นิยมอยู่ในลังกา

อย่างไรก็ตาม การสร้างพระพุทธรูปประทับนอนในคันธกุฎีจำลองของศรีลังกานั้น มักจะนิยมสร้างอยู่เป็นกลุ่มร่วมกันกับพระพุทธรูปที่แสดงอิริยาบถอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพุทธจริยวัตรต่างๆ ในแต่ละวันของพระพุทธเจ้า ทำนองเดียวกันกับที่เรียกคติการสร้างพระพุทธรูปแบบนี้ว่า “พระสี่อิริยาบถ” ในวัฒนธรรมสุโขทัย

ที่สำคัญก็คือ นักประวัติศาสตร์ศิลปะต่างก็ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าพระพุทธรูปที่เมืองเสมาองค์นี้สร้างขึ้นราว พ.. 1200-1400 ในขณะที่คตินิยมในการสร้างพระพุทธรูปประทับนอนในคันธกุฎีอย่างลังกานั้น เพิ่งจะมานิยมเอาเมื่อศูนย์กลางของอำนาจในเกาะลังกาอยู่ที่เมืองโปลนนารุวะ เมื่อระหว่าง พ.. 1598-1779

ในกรณีนี้ สิ่งที่ควรจะนำมาพิจารณามากกว่าก็คือ บริเวณรอบเมืองเสมานั้นเป็นแหล่งวัฒนธรรมหินใหญ่มาก่อน ไม่ต่างอะไรไปจากองค์ธมบนเขาพนมกุเลน หรือพระพุทธรูปประทับนอนที่สร้างอยู่ใกล้ปริมณฑลของพระแท่นดงรัง นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีชื่อบ้านนามเมืองปรากฏอยู่ในชื่อ “บ้านหินตั้ง” ซึ่งตั้งอยู่ติดกับเมืองเสมา โดยเฉพาะวัดธรรมจักรเสมารามที่ประดิษฐานของพระนอนองค์นี้อีกด้วย

เมื่อคราวที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสอย่างเอเตียน อายโมนิเย่ร์ (Etienne Aymonier) ได้มาสำรวจเมืองเสมาในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านหินตั้งกับเมืองเสมาเอาไว้ว่า

บ้านหินตั้ง ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านของหินตั้ง (ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษใช้คำว่า the village of the standing stones) ที่พบอิฐและก้อนหินที่ผ่านการขัดแต่งรูปทรงเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับแผ่นหินตั้งที่ทำขึ้นจากหินทรายแดงที่บางชิ้นยังคงตั้งอยู่ ส่วนบางชิ้นก็ล้มลงกับพื้นเสียแล้ว

กำแพงเมืองโคราชเก่า หรือเมืองเสมาเก่า ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งหินเสมาอย่างที่ชาวสยามเรียก ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านหินตั้งที่ว่านี้…”

ดังนั้น “หินตั้ง” ในที่นี้จึงหมายถึงหินตั้งในศาสนาผี และที่สำคัญก็คือในวิหารที่พระพุทธรูปประทับนอนที่วัดธรรมจักรเสมารามนั้นมีแผ่น “หินตั้ง” ที่ถูกจับบวชเข้ามาอยู่ศาสนาพุทธ แล้วเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้เรียกว่า “ใบเสมา” ตั้งล้อมอยู่ด้วย

ควรจะสังเกตด้วยว่าพระพุทธรูปประทับนอนรุ่นก่อน พ.. 1500 ในอุษาคเนย์นั้น มักจะมีหลักฐานแวดล้อมร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีวัฒนธรรมการนับถือหินเจริญอยู่ก่อนที่ศาสนาใหม่จากอินเดียจะแพร่กระจายเข้ามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพระพุทธรูปนอนที่เขางู จ. ราชบุรี ที่ปริมณฑลของพระแท่นดงรัง หินใหญ่ในศาสนาผีที่ถูกจับบวชเป็นพระแท่นปรินิพพานของพระพุทธเจ้า หรือองค์ธม พระพุทธรูปประทับนอนแกะสลักจากหินใหญ่รูปทรงแปลกตาตามธรรมชาติที่เขาพนม กุเลนในกัมพูชา เป็นต้น

เราจึงเห็นได้ถึงการเลือกที่จะปรับตัวเข้าหากันระหว่างศาสนาผีและศาสนาพุทธ จากการสร้างพระพุทธรูปปางปรินิพพาน โดยเฉพาะการนำปกรณัมปรัมปราคติในศาสนามาปรับใช้ให้เข้ากับความเชื่อดั้งเดิมในวัฒนธรรมการนับถือหิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความตายที่มีอยู่เดิม พระพุทธเจ้าจึงสามารถปรินิพพานในแหล่งของหินตั้งที่ไม่ได้เป็นพระนิพพาน แต่เป็นเรือนร่างทดแทนหลังความตายที่เป็นอำนาจแห่งชีวิต และสามารถบันดาลชุมชนให้มั่นคงและอุดมสมบูรณ์ได้อย่างไม่เคอะเขิน


พระพุทธรูปประทับนอน ในวัฒนธรรมทวารวดี อายุราว พ.. 1300-1500 ที่วัดธรรมจักรเสมาราม เมืองเสมา อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา

พระแท่นดงรัง (. กาญจนบุรี) มีตำนานเล่าว่าเป็นพระแท่นที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน แต่เดิมเป็นหินใหญ่ที่เฮี้ยนมาก่อนในวัฒนธรรมหินใหญ่ ศาสนาผี


ผี, พราหมณ์, พุทธ

ประจำชาติ “ศาสนาไทย”

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ผีพราหมณ์พุทธ ในศาสนาไทย หนังสือรวมบทความของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, วิจักขณ์ พานิช, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (บรรณาธิการ) พร้อมบทความเกียรติยศเรื่อง “พุทธพราหมณ์ผี หรือ ผีพราหมณ์พุทธ” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ โดยสำนักพิมพ์นาตาแฮก (ขายออนไลน์)


ผี, พราหมณ์, พุทธ ในศาสนาไทย” (ตามชื่อหนังสือของสำนักพิมพ์นาตาแฮก) หมายถึงศาสนาที่คนนับถือในประเทศไทย ประกอบด้วยศาสนาผี, พราหมณ์, พุทธ ผสมปนเปกันจนแยกไม่ได้ จึงสมมุติเรียกว่าศาสนาไทย

ดยทั่วไปเชื่อว่าคนในประเทศไทยส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ แต่วิถีชีวิตจริงไม่พบว่านับถือศาสนาพุทธอย่างโดดๆ เหมือนที่มีในพระไตรปิฎก แต่กลับพบว่านับถือปนกันเป็นเนื้อเดียวระหว่างศาสนาผี, พราหมณ์, พุทธ จึงเรียก “ศาสนาไทย” (ที่บางกลุ่มอาจยกเป็นศาสนาประจำชาติก็ได้) ซึ่งมีลักษณะดังนี้

(1.) ศาสนาไทยมีศาสนาผีเป็นฐานรากอันแข็งแกร่ง (2.) ต่อมาจึงเลือกรับสิ่งละอันพันละน้อยของศาสนาพราหมณ์ฮินดู กับศาสนาพุทธ ส่วนที่ไม่ขัดหลักผีเข้ามาประดับศาสนาผี (3.) ทำให้ศาสนาผีดูดีและมีสง่าราศีทันสมัย น่าเลื่อมใสศรัทธาขึ้นจากการประดับประดาด้วยศาสนาพราหมณ์ฮินดูกับศาสนาพุทธ โดยศาสนาผีรักษากฎเกณฑ์ทางสังคม ส่วนพราหมณ์, พุทธ รักษากฏเกณฑ์ทางจิตวิญญาณของบุคคล [สรุปจากบทความเรื่อง “ศาสนาผี” (มี 2 ตอน) ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ตุลาคมพฤศจิกายน พ.. 2554)]

ผี หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น ศาสนาผีไม่มีวิญญาณ ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด (เหมือนพุทธกับพราหมณ์) ไม่มีนรก, สวรรค์ แต่มีดินฟ้า ศาสนาผีมีความเชื่อเรื่องขวัญว่าคนตาย ขวัญไม่ตาย แต่อยู่ต่างมิติ เรียก “ผีขวัญ” ดังนั้น ขวัญจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น สิงอยู่ในคน, พืช, สัตว์, สิ่งของ, สถานที่

ความเชื่อผี มีบางคนคิดว่าไม่เป็นศาสนาด้วยเหตุผลต่างๆ แต่ทางสากลแล้วความเชื่อผีถูกจัดเป็นศาสนา เรียกศาสนาผี (เหมือนศาสนาอื่นๆ ที่มีในโลก) โดยมีพิธีกรรมรองรับความเชื่อนั้น ได้แก่ เลี้ยงผี, เลี้ยงขวัญ (ทำขวัญ) ฯลฯ ศาสนาผีเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก มีคนนับถือทั่วไปทั้งโลกก่อนศาสนาพุทธ, คริสต์, อิสลาม, พราหมณ์, ซิกข์ ฯลฯ

ผี, พราหมณ์, พุทธ เริ่มแรกสุดผสมกันตั้งแต่เมื่อไร? ไม่พบหลักฐานตรงๆ แต่คาดเดาได้ว่ามีขึ้นหลังศาสนาพราหมณ์, พุทธ ถูกเผยแผ่จากอินเดียถึงสุวรรณภูมินับพันๆ ปีมาแล้ว เมื่อถึงสุวรรณภูมิครั้งแรกพราหมณ์, พุทธได้ปะทะกับผีเนื่องจากไม่ยกย่องผี โดยแสดงออกอย่างเหยียด เรียกคนพื้นเมืองนับถือผีและไม่นุ่งห่มแบบอินเดียว่านาค เป็นภาษาตระกูลอินโดยุโรป แปลว่าเปลือย เมื่อทำพิธีบวชคนพื้นเมืองเพศชายให้เป็นพระสงฆ์ไม่เรียกบวชคน แต่เรียกบวชนาค หมายถึงบวชคนเปลือย แต่อำนาจของพื้นเมืองมีมากทำให้พุทธยอมผีด้วยการรับพิธีทำขวัญตามความเชื่อของผีก่อนเข้าพิธีบวชเป็นพระสงฆ์แล้วเรียกทำขวัญนาค ขณะเดียวกันก็ยอมให้มีแห่นาคซึ่งประเพณีเหล่านี้ไม่พบในพุทธบัญญัติ ในที่สุดพุทธต้องยอมอยู่ในความคุ้มครองของผี ดังพบตามโบสถ์วิหารการเปรียญมีนาคเป็นผู้พิทักษ์บนหลังคา แต่ถูกเรียกช่อฟ้าและหางหงส์เป็นต้น แม้พระพุทธรูปก็ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเข้าสิงของผีแล้วถูกเรียกว่าหลวงพ่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image