สุจิตต์ วงษ์เทศ : วรรณกรรมไทยในอ่างใบเก่า

วรรณกรรม (หรือที่เคยเรียกวรรณคดี) ในการศึกษาไทยทั้งระบบยังวนเวียนในอ่างใบเก่า ราวกึ่งพุทธกาล เรือน พ.ศ. 2500 เพราะครูบาอาจารย์ยังต้องตักเตือนปัญหาเก่าๆ

โดยผมอ่านแล้วเดาจากหนังสือชื่อ วิวิธวารประพันธ์ ของ อ.กุสุมา รักษมณี [ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2559] อ่านด้วยความรู้สึกปนกัน 2 ด้าน ด้านหนึ่งดีใจยกย่องงานเล่มนี้ แต่อีกด้านหนึ่งกลุ้มใจแทนอย่างยิ่ง

เรื่องวรรณคดีไทย : การเรียนรู้และสร้างสรรค์ จากสังคมไทยสู่สังคมโลก (เรียบเรียงจากปาฐกถา เมื่อ 22 กรกฎาคม 2554) อ. กุสุมา ยังต้องเตือนแนะนำนักศึกษาเหมือนนักปราชญ์รุ่นกึ่งพุทธกาลเคยบอกไว้ แต่นักศึกษาไม่อ่าน จะคัดเฉพาะที่สำคัญมาดังนี้

“วิธีหนึ่งที่จะทำให้วรรณคดีไทยขยายพรมแดนไปยังสากลได้ ก็คือต้องมีการศึกษาวิจัย ทั้งของตนเอง และวรรณคดีต่างวัฒนธรรม จะได้รู้จักทั้งของเราและของเขา” (หน้า 374) “เราต้องรู้จักวรรณคดีต่างวัฒนธรรมด้วย ทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น พม่า ลาว เขมร หรือไกลไปถึงอินเดีย ตะวันออกกลาง และตะวันตก…” (หน้า 377)

Advertisement

“ในการศึกษาวรรณคดี ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องค่อยๆ ปรับแก้กันไป ข้อสำคัญเราต้องใจกว้างด้วย… (หน้า 375-376)

วรรณกรรมไทย มีประวัติความเป็นมา หรือมีพัฒนาการเป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์อย่างแยกจากกันไม่ได้ อย่างน้อยภาษาในวรรณกรรมไทยมีภาษาเพื่อนบ้านอยู่เต็มไปหมด

ประวัติศาสตร์ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ อย่างแยกออกจากกันมิได้ แม้บรรพชนไทยก็เป็นบรรพชนร่วมอุษาคเนย์

Advertisement

แต่ระบบการศึกษาไทยยังใจไม่กว้าง จึงวางตนแยกตัวออกโดดๆ เป็นเอกเทศ วนในอ่างใบเดิม ทั้งประวัติศาสตร์ไทย, ภาษาไทย, อักษรไทย, ดนตรีไทย ฯลฯ จนถึงวรรณกรรมไทย

อดีต ปัจจุบัน อนาคต อยู่ในอ่างใบเดียวกัน แต่บางพวกเอากะลามาคว่ำครอบเพิ่มอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image