อาศรมมิวสิก : การศึกษาดนตรีลอยฟ้า โลกเปลี่ยน วิธีการศึกษาเปลี่ยน

อาศรมมิวสิก : การศึกษาดนตรีลอยฟ้า โลกเปลี่ยน วิธีการศึกษาเปลี่ยน

อาศรมมิวสิก : การศึกษาดนตรีลอยฟ้า โลกเปลี่ยน วิธีการศึกษาเปลี่ยน

เวลามหาวิปโยคจากโรคระบาดโควิดทำให้คนไทยและสังคมไทยระส่ำ โดยเฉพาะโรงเรียนดนตรีที่สอนพิเศษในระบบเอกชน เมื่อระบาดรอบแรกตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2563 ครั้งนั้นยังพอรับไหว คนพอมีสายป่านอยู่บ้าง ผมและพวกได้ทำวงดนตรีไทยซิมโฟนี (Thai Symphony Orchestra, Thai Sym) ซึ่งให้นักดนตรีทุกคนอยู่บ้าน แล้วเล่นเพลงลาวดวงเดือน บันทึกเสียงแบบลอยฟ้า (ออนไลน์) เพื่อให้กำลังใจและต้องการฟื้นฟูด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เร็ว การบันทึกเสียงจากแต่ละบ้านนั้นยากมาก เพราะแต่ละคนก็มีเครื่องมือแตกต่างกัน บางคนมีเครื่องมือน้อย บางคนมีเครื่องมือมาก คุณภาพเสียงก็ไม่เท่ากัน เครื่องมือไม่ทันสมัย แถมแต่ละคนก็ไม่ค่อยมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือลอยฟ้า แต่ก็สามารถทำได้สำเร็จ ทำเพลงออกมาได้

ทุกคนกลัวโรคโควิดมาก ทำให้การป้องกันตัวเองได้ผล ทุกคนเก็บตัว แม้ศิลปินเดี่ยวจะเหี่ยวก็ตาม ส่วนศิลปินเครือข่ายกลายเป็นที่นิยมทำกันมากขึ้น ร้องเพลงลอยฟ้า กลางเดือนเมษายน พ.ศ.2563 ผมและพวกได้ทำเพลงสำหรับวงไทยซิมโฟนีบันทึกเสียง โดยเชิญชวนให้นักร้องและนักดนตรีทำงานร่วมกัน ได้เลือกเพลงบ้านของเรา เพื่อร้องและบรรเลงเพลงให้กำลังใจกับคนที่กักตัวอยู่บ้านได้มีโอกาสอยู่ในบ้านจริงจัง ทั้งนักร้องและนักดนตรีต่างก็บันทึกเสียงจากที่บ้าน ซึ่งก็ทำงานกันได้คล่องตัวมากขึ้น

มีงานก้าวสำคัญที่ได้โอกาสทดลองวิธีใหม่ เพื่อพิสูจน์ที่จะอยู่กับโรคโควิด ก็คือการใช้ดนตรีเป็นสะพานบุญ เพื่อช่วยนักดนตรีที่ป่วยติดเตียง เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 โดยมี อาจารย์ตปาลิน เจริญสุข ชวนเชิญพวกเพื่อนนักดนตรี เล่นดนตรีช่วยอาจารย์อกริต้า ลาคูติส ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยมีนักดนตรีจากหลายประเทศ ผลัดกันเล่นดนตรีคนละชั่วโมง รวม 24 ชั่วโมง ได้พบสิ่งใหม่ที่จะใช้เทคโนโลยีสอนดนตรีวิธีลอยฟ้าได้

Advertisement

เมื่อสังคมไทยประสบปัญหาโควิดยืดเยื้อและยาวนาน ยิ่งกว่ามหาวิปโยค ระลอกแล้วระลอกเล่า กระทั่งโรงเรียนดนตรีต้องปิดตัวกันยาวตั้งแต่มีนาคม พ.ศ.2563 ถึงปัจจุบัน กรกฎาคม พ.ศ.2564 (16 เดือน) ธุรกิจไม่มีรายได้ ทุกคนประสบภาวะ “สุดสายป่าน” ที่สุดวิธีการสอนดนตรีหรือเล่นดนตรีวิธีลอยฟ้าจึงกลายเป็นทางเลือกที่พอจะทำได้ แม้ว่าจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่ก็พอจะกล้อมแกล้มแก้ปัญหาชีวิตไปได้

โรงเรียนดนตรีเอกชนนั้นสอนเป็นชั่วโมง คือทำธุรกิจเป็นรายชั่วโมง เมื่อไม่มีการเรียนการสอน รายได้ก็จะไม่มี การศึกษาดนตรีก็ไม่ได้พัฒนาเพราะเด็กไม่ได้เรียน ครูดนตรีโรงเรียนเอกชนต้องเจ๋งเท่านั้น เพราะพ่อแม่และผู้ปกครองคอยประเมินคุณภาพทุกชั่วโมง การเรียนแบบลอยฟ้าก็เป็นตัวเลือกใหม่

อาศรมมิวสิก : การศึกษาดนตรีลอยฟ้า โลกเปลี่ยน วิธีการศึกษาเปลี่ยน

Advertisement

การเรียนรายชั่วโมงแตกต่างไปจากการศึกษาระบบเหมาจ่าย เหมาเรียนของโรงเรียนสายสามัญ ซึ่งการเหมาจ่ายก็จ่ายกันเป็นเทอม เมื่อไม่มีการเรียนการสอนเกิดขึ้นในโรงเรียน ครูและโรงเรียนก็ไม่เดือดร้อน เพราะเก็บเงินนักเรียนไปแล้ว ยกเว้นความเดือดร้อนตกไปอยู่ที่นักเรียนและผู้ปกครอง เพราะจ่ายเงินแล้วไม่ได้ความรู้และไม่ได้เรียนรู้ แม้จะมีเด็กออกมาโวยวายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถจะเรียกร้องเวลาที่เสียไปให้กลับคืน

มีอีกกิจกรรมดนตรีหนึ่ง เป็นรายการที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาดโควิด ก็คือการจัดประกวดดนตรีลอยฟ้า ซึ่งจัดการประกวดทุกเครื่องดนตรี จัดขึ้นเดือนละ 1 ชิ้น สามารถแบ่งการประกวดออกไปได้ถึง 7 ครั้ง ความยากก็คือ เป็นการประกวดดนตรีที่ไม่มีผู้สนับสนุนในการจัดแต่อย่างใด ไม่มีงบประมาณ ไม่มีองค์กรรองรับ แต่เป็นความท้าทายมาก เพราะถ้าจัดขึ้นได้ก็จะเป็นกิจกรรมการประกวดที่ยั่งยืน เพราะยืนอยู่บนขาของตัวเอง สิ่งที่สำคัญก็คือ โลกที่อยู่บนฟ้านั้นกว้างขวาง ไร้ขอบเขต ไม่มีพรมแดน การจัดประกวดดนตรีลอยฟ้าจึงสำคัญอยู่ที่ “ราคาความน่าเชื่อถือ” หมายถึง ความโปร่งใส ความยุติธรรม ความทันสมัย ตรงไปตรงมา มีกรรมการที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ร่วมรายการ วิธีจัดการโดยเอาเงินจากผู้สมัครมาจัดการ ซึ่งเป็นตลาดที่กว้างขวางมาก ดังนั้น โรคระบาดโควิดได้พัฒนาการจัดการประกวดดนตรีเพื่อมุ่งสู่ตลาดโลก โดยไม่มีทางเลี่ยง แม้จะไม่พร้อม ก็ต้องปรับตัวให้พร้อม

การเก็บค่าเล่าเรียนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่โรงเรียนดนตรีเอกชนมีความก้าวหน้า ก้าวไปเร็วทันกับการระบาดของโรคโควิด ก็คือความเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบเก็บเงินแบบของโรงพยาบาล กล่าวคือ โรคสามัญก็พบหมอสามัญประจำบ้าน เก็บเงินก็เป็นราคาสามัญที่ผู้ป่วยรับมือเตรียมตัวพร้อมได้ หากเป็นโรคเฉพาะทาง ก็ใช้หมอเฉพาะทาง ใช้ยาพิเศษ เครื่องมือพิเศษ ก็เป็นการจ่ายอีกราคาหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากโรคสามัญทั่วไป

ในกรณีของโรงเรียนดนตรีเอกชน ครูดนตรีทั่วไปก็สอนวิชาดนตรีพื้นฐาน ใช้เครื่องมือพื้นฐาน ก็เก็บค่าเล่าเรียนขั้นพื้นฐาน ส่วนครูดนตรีที่เก่งเป็นพิเศษ มีนักเรียนเข้าคิวต่อแถวเรียนเยอะ ก็ต้องตั้งราคาใหม่ ราคาที่เป็นมิตรและทุกฝ่ายรับได้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายบอกว่า การเรียนดนตรี ครูดนตรีที่เก่งก็มีราคาสูงขึ้น เป็นจุดที่ทำให้ครูดนตรีต้องพัฒนาตนเอง เพื่อให้สามารถเก็บค่าเรียนดนตรีที่มีราคาและเด็กก็ยังอยากเรียน

กิจกรรมดนตรีที่ลอยฟ้าท่องโลกได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูดนตรีจะต้องแสวงหาให้เด็กนักเรียนดนตรีได้เห็นและได้เรียนรู้ ได้ฝึกลงสนามประลองฝีมือผ่านการประกวดลอยฟ้า ในเมื่อสนามจริงยังทำไม่ได้ ก็ต้องลงสนามลอยฟ้าเพื่อจะได้ทดแทนในยามยากลำบาก ซึ่งพบว่าการประกวดนตรีลอยฟ้านั้นมีมากมายในโลก การเรียนรู้ให้ทันโลกทำได้ง่ายขึ้น มองเห็นสภาพโลกที่เปลี่ยนแปลงทางดนตรีได้ง่ายขึ้น เป็นตัวกระตุ้นให้ทั้งเด็กที่เรียนดนตรีและตัวครูดนตรีได้พัฒนา ไม่ตกขบวนล้าหลัง อย่างน้อยยังเห็นหน้าเห็นหลังอยู่

โรงเรียนดนตรีเอกชนนั้นจำเป็นต้องก้าวให้ทันโลก เพราะมีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่อยู่กับความเคลื่อนไหวของโลก พ่อแม่ผู้ปกครองกลุ่มนี้มองข้ามพรมแดนไปแล้ว เพราะโลกเล็กลง ไม่จำเป็นต้องเอาตัวไปอยู่จริง ก็สามารถเรียนได้ความรู้จากครูระดับโลกได้ แถมเรียนในสถาบันระดับโลกได้ด้วย

อาศรมมิวสิก : การศึกษาดนตรีลอยฟ้า โลกเปลี่ยน วิธีการศึกษาเปลี่ยน

อย่าไปหลงยุคกับการศึกษาในระบบสถาบันการศึกษาไทย เพราะการศึกษาไทยจัดการโดยเสมียน คือมีเสมียนเป็นใหญ่ เสมียนมีระเบียบแบบประถมศึกษา มีสติปัญญาแค่โรงเรียนมัธยม แต่รสนิยมเป็นมหาวิทยาลัย เสมียนนั้นใช้ความโง่อย่างมีหลักการ ทำให้ระบบการศึกษาล้มเหลวอย่างเป็นระบบ

ทางเลือกของการศึกษาแบบลอยฟ้า จะช่วยแก้ปัญหาให้เด็กไทยได้อย่างมาก เด็กได้เห็นการศึกษาของโลก เด็กได้พบกับครูระดับโลก เด็กได้เห็นเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันที่เล่นดนตรีในเครื่องดนตรีชนิดเดียวกัน เด็กได้ปรับตัวกับการใช้เครื่องเทคโนโลยีใหม่เพื่อเชื่อมโลกได้ นอกจากนี้ เด็กที่เรียนดนตรี ครูดนตรี และกิจกรรมในการเรียนดนตรี จำเป็นที่จะต้องอ้างอิงการศึกษาของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับพ่อแม่ที่มีทางเลือกให้ลูก ซึ่งก็มีช่องทางให้เลือกอยู่มาก วันนี้โลกมีครูดนตรีลอยฟ้า มีห้องเรียนดนตรีลอยฟ้า มีกิจกรรมดนตรีลอยฟ้า มีการประกวดลอยฟ้า มีวงดนตรีลอยฟ้า รวมทั้งมีวิทยาลัยดนตรีลอยฟ้า เด็กสามารถเรียนดนตรีเพิ่มเติมในสิ่งที่อยากเรียนจากบนฟ้า (ออนไลน์) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

วิทยาลัยดนตรีลอยฟ้านั้น ใช้เทคโนโลยีทันสมัย นั่งตรงไหนก็สามารถเรียนดนตรีได้ ครูดนตรีมีทักษะและมีความสามารถสูง ครูสามารถสร้างบทเรียนต้นแบบให้นักเรียนได้ดู ได้ฝึกทักษะ ครูสร้างปัญญาประดิษฐ์ บทเรียน บันทึกเสียง บันทึกภาพได้จากประสบการณ์ ครูอยู่ที่ไหนก็สอนได้ สื่อสารกันโดยใช้เทคโนโลยี ครูใช้ท้องฟ้าเป็นห้องเรียน ส่วนผู้เรียนสามารถเลือกวิชาดนตรีและเวลาเรียนได้ผู้เรียนสามารถดูข้อมูลและทบทวนบทเรียนได้ทุกวัน ครูดนตรีได้ฝากบทเรียนไว้กับเทวดา (iCloud) เรียบร้อยแล้ว เมื่อจะเข้าไป “เคาะประตูหยอดเหรียญก็ได้เรียนแล้ว”

ห้องเรียนดนตรีลอยฟ้า มีครูผู้ช่วยที่เป็นเอไอสมองกล (Artificial Intelligence, A.I.) มีศาสตราจารย์อีก 3 คน คือ ศาสตราจารย์ ดร.กูเกิล ศาสตราจารย์ ดร.วิกิพีเดีย และศาสตราจารย์ ดร.ยูทูบ เป็นอาจารย์ประจำห้องลอยฟ้า โดยอาศัยความรู้จากผู้รู้ทั่วโลก สื่อสารผ่านเครื่องสมองกล เพียงเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นไว้รองรับ

มหาวิปโยคโรคระบาดโควิด ทำให้ชีวิตตกอยู่ในภาวะวิกฤตได้พักหนึ่ง แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ก็ได้มองเห็นโอกาสที่อยู่ในวิกฤตนั้น มีครูลอยฟ้า ห้องเรียนลอยฟ้า อีกหน่อยก็จะมีมหาวิทยาลัยลอยฟ้าตามมา ยามเมื่อตกอยู่ในภาวะวิกฤตก็ต้องประคองตัว เมื่อใดที่สามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ก็จะมองโลกอย่างเท่าทัน ปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำได้ง่ายและทันสมัยขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะชีวิตยามวิกฤตถูกบังคับให้ต้องทำ

ดนตรีนั้นเป็นวิถีชีวิตที่เป็นวิถีการแสดงสด เล่นสด ร้องสด เพราะเสียงดนตรีสดทำให้มีชีวิตชีวา เมื่อเราสามารถอดทนกับวิกฤตครั้งนี้ได้ ผ่านวิกฤตไป โลกก็จะอยู่ในมือเรา

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image