อีกครั้งของ…‘กรุงเทพฯ’ ที่ไม่เคยเห็น 7 วัน ‘เคอร์ฟิว’ สกัดโควิดระลอกใหม่

สยามแสควร์แทบร้าง หลังมาตรการเข้มสกัดโควิดตั้งแต่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา

พุ่งสู่หมื่นราย ทำ “นิวไฮ” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับยอดผู้ติดเชื้อไวรัสแห่งศตวรรษนาม “โควิด-19”

แม้ประกาศล็อกดาวน์ที่ไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์มาแล้วถึง 1 สัปดาห์ นำมาสู่การชง “ยาแรง” ฉีกซอง ล็อกทุกกิจกรรมให้รัฐพิจารณา

ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม วันแรกตามข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกประกาศกึ่งล็อกดาวน์พื้นที่ 10 จังหวัด เป็นระยะเวลา 14 วัน รวมถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 เช่น ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดบริการได้ถึง 20.00 น. ห้ามนั่งรับประทานภายในร้าน อนุญาตให้ซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น รวมถึงการเคอร์ฟิวให้อยู่ภายในเคหสถานตั้งแต่ 21.00-04.00 น.

ก่อนจะมีคำสั่งปรากฏในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมประกาศห้ามชุมนุม มั่วสุมทั่วประเทศ ฝ่าฝืนเสี่ยงนอนคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 4 หมื่น

Advertisement

พอเหมาะพอดีก่อนม็อบใหญ่ 18 กรกฎาคม ในขณะที่ม็อบรายวันหน้ากระทรวงสาธารณสุข ก็แวะไปปราศรัย “ทวงวัคซีน” อยู่เป็นระยะๆ

เสียงร้องไห้ระงมผ่านโลกออนไลน์ สะท้อนภาพชีวิตอันจริงแท้ของคนไทยในห้วงเวลานี้ ความป่วยไข้เคาะประตูทักทายไม่เว้นรวย จน ยาจก หรือมั่งมี ครอบครัวสูญเสียผู้เป็นที่รักอย่างไม่มีวันกลับ หลายวงการสูญเสียบุคคลสำคัญ บริษัทใหญ่ประกาศยกเลิกประกัน ความโกลาหลบังเกิดขณะที่เศรษฐกิจทรุดฮวบ เงินในกระเป๋าที่สัมพันธ์กับปากท้องของผู้คนขัดสนมากขึ้นทุกที

“กรุงเทพเมืองฟ้าอมร” นครหลวงของไทยในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของการต่อสู้โรคระบาดซึ่งมากมายด้วยภาพที่ไม่เคยพบเห็น แม้เคยผ่านการล็อกดาวน์มาแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2563

Advertisement

นี่คือกรุงเทพฯ ณ ห้วงเวลาที่ความหวังในแววตาของผู้คนลดน้อยลงไปทุกที

‘สยามสแควร์’ เมื่อแหล่งวัยรุ่น
กลายเป็นย่าน (แทบ) ร้าง

ร้านอาหารชื่อดังหลายแห่งปรับตัวตั้งโต๊ะขายแบบห่อกลับ บางร้านเผยยอดแค่หลักสิบ

หนึ่งในย่านสำคัญที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมของคนรุ่นใหม่ ความทันสมัย สินค้าฟุ่มเฟือย อย่างสยามสแคร์ที่เคยคลาคล่ำด้วยผู้คนในทุกตรอกซอกซอย ในวันนี้ร้านค้ามากมายปิดบริการชั่วคราวตามประกาศของ ศบค. ไม่ว่าจะเป็นร้านดังอย่าง “ส้มตำนัว” รวมถึง Myungrang Sidae ก็แปะประกาศหน้าประตูว่าปิดบริการชั่วคราว ส่วนวันเวลาเปิดบริการจะแจ้งในเพจต่อไป ในขณะที่บางร้านแจ้งปิดกิจการไปจนกว่า ศบค.จะให้นั่งรับประทานที่ร้านได้

เมื่อสอบถามพนักงานร้านที่คนไทยคุ้นเคย “ก๋วยเตี๋ยวเรือท่าสยาม” ได้ความว่า หลังจากรัฐบาลไม่ให้นั่งกินในร้าน เจ้าของจึงปรับตัวมาขายแบบรับกลับบ้านแทน แต่ลูกค้าก็ลดลงไปมาก มีเพียงแกร็บ
ที่มาสั่ง แต่ละวันมีออเดอร์ไม่มาก ที่น่าตกใจคือ วันละไม่ถึง 10 ถุง บางวันเปิดมาจนบ่ายยังไม่มีลูกค้าเลย

สอดคล้องกับคำบอกเล่าของพนักงานร้านอาหารเกาหลีชื่อดังอย่าง “REDSUN” ที่เผยว่ามาตรการห้ามกินในร้านส่งผลกระทบมากพอสมควร หลังปรับมาขายแบบซื้อกลับบ้าน ลูกค้าหายไปมากเหลือไม่ถึงวันละ 10 ราย

“ช่วงล็อกดาวน์ ให้คนทำงานที่บ้าน เห็นชัดมากเพราะแทบจะไม่มีลูกค้ามาเลย ยิ่งวันไหนฝนตกยิ่งไม่มีเลย ทางร้านมีจัดโปรโมชั่น ลดราคา 30-50% และซื้อ 1 แถม 1”

เช่นเดียวกับร้าน “รสโปรด” ที่หันมาตั้งโต๊ะหน้าร้าน รับบริการทำข้าวกล่อง ส่งฟรี 5 กิโลเมตร

ด้าน “ร้านบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง” จัดโปรโมชั่นทุกราคาลดค่าของชีพขายราคาเดียว 39 บาทถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

เมื่อเห็นภาพในวันนี้ ก็ต้องย้อนไปเล่าถึงความซบเซาของร้านรวงในย่านสยามสแควร์ ส่อเค้าลางแจ่มชัดมาตั้งแต่ปลายปี 2563 เมื่อโควิดระบาดมาพักหนึ่ง โดยเฉพาะกิจการที่มีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ เช่น ร้านนวดแผนไทยที่ปิดกิจการไป 2 ร้าน ตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2563 ต่อมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังมีร้าน CHOICE SALON ที่ปิดป้ายหน้าร้านว่าปิดกิจการ ในขณะที่ “โคคา” ร้านสุกี้ชื่อดังปิดตำนาน 54 ปี สาขาสยามสแควร์ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังหมดสัญญาเช่า ทำเอาคนกรุงเทพฯ ใจหาย เมื่อนึกถึงความรุ่งโรจน์ครั้งวันวานของย่านอันเปี่ยมสีสันแห่งนี้

‘หมดแรง ไม่ต้องพูดเยอะ’
แม่ค้า ‘มือสอง’ ตลาดวังหลัง ซึม

ตลาดสินค้ามือสองย่านวังหลัง ใกล้รพ.ศิริราช ซบเซา หลังคนส่วนใหญ่ทำงานจากบ้านและเรียนออนไลน์

จากใจกลางเมือง ในย่านสินค้าและบริการเก๋ไก๋ไฮเอ็น มาสำรวจฝั่งธนบุรี ในย่านตลาดวังหลังใกล้โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งโด่งดังเรื่องสินค้ามือสอง ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และจิปาถะ ตั้งอยู่

“แม่ค้าด้วยกันมองตากันแล้วไม่ต้องพูดอะไรมาก หมดแรง ก่อนหน้านี้ปิดตลาด 18.00 น. ตอนนี้ 16.00 น. ก็กลับแล้ว เพราะไม่มีคนมาเดิน” คือความในใจจากปากแม่ค้ารายหนึ่งที่สาละวนจัดเก็บเสื้อผ้ามือสองเข้ากระสอบ ก่อนย้ำว่า ไม่ใช่ไม่พยายามดิ้นรน แต่โควิดระลอกนี้ หนักหน่วงมาก คนไม่มีเงินใช้ แล้วจะเอาที่ไหนมาจับจ่าย

“นี่ก็พยายามหารายได้หลายช่องทาง ไลฟ์ขายผ่านเฟซบุ๊กบ้าง แต่ก็ขายไม่ดีเท่าไหร่หรอก หน้าร้านไม่ต้องพูดถึง”

จากที่เคยคึกคัก แม้ในวันธรรมดา เพราะมีลูกค้าหลายกลุ่ม ไหนจะคนทำงาน ไหนจะนักศึกษาทั้งจากธรรมศาสตร์และศิลปากร ข้ามฝั่งมาจับจ่าย ไหนจะนักเรียนจากหลายโรงเรียนย่านบางกอกน้อย ไหนจะ
ผู้เดินทางมายังโรงพยาบาลศิริราช

ทว่า เมื่อเกิดโรคระบาด มีมาตรการให้ทำงานจากที่บ้าน สั่งเรียนออนไลน์ แล้วใครจะออกมาช้อปปิ้ง หลายร้านในตลาดของมือสองที่เคยมากมายด้วยสินค้าจึงถูกคลุมด้วยผ้าใบ

ตลาดย่านฝั่งธนฯ อาหารแห้ง น้ำสมุนไพร แคปซูลฟ้าทะลายโจรขายได้ ในขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยยอดตก

อย่างไรก็ตาม ร้านขายอาหารจำนวนมากในย่านวังหลัง ยังคงเปิดจำหน่ายโดยปรับตัวหันมาจำหน่ายแบบกล่องสำหรับซื้อกลับบ้าน มีลูกค้ามีสัญจรผ่านไปมาพากันเลือกซื้อ บางส่วนนำสมุนไพรคั้นน้ำ อย่างกระชาย รวมถึงแคปซูลฟ้าทะลายโจรวางขาย ของแห้ง ขนมปังกรอบ ขายดี สินค้าที่อำนวยความสะดวกในบ้านจากร้านแนว 20 บาททุกอย่าง ยังคงมีคนเลือกซื้อหา ยิ่งในช่วงเวลาที่คนต้องอยู่บ้านมากกว่าที่เคย

แห่ตรวจ ‘แอนติเจน เทสต์ คิท’ ทะลัก
หาเชื้อโควิดทั่วกรุง ตี 4 ก็รอ

ในขณะที่ตลาด ร้านรวง ชุมชน เงียบเหงา จุดที่คึกคักกลายเป็นสถานที่ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อ จนหวั่นจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่ นอกจากนี้ บริเวณชั้นล่างลานจอดอาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นจุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จับมือคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทีมตรวจโควิด-19 เชิงรุก ใช้ชุดตรวจ แอนติเจน เทสต์ คิท รู้ผลใน 30 นาที ปรากฏว่ามีประชาชนมาใช้บริการจำนวนมากทั้งแบบวอล์กอินและลงทะเบียนตั้งแต่เช้าตรู่ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนล่วงหน้า 1 วัน และแจ้งคิวผ่าน SMS หลังเปิดทดลองไปเมื่อวาน 500 ราย วันนี้มีประชาชนจองคิวล่วงหน้า จำนวน 1,200 ราย ขณะที่มีประชาชนวอล์กอินเข้ามาจำนวนมากแต่รับตรวจได้เพียง 300 ราย ตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

จุดตรวจโควิดฟรีใต้สะพานพระราม 8 คนมารอตั้งแต่ตี 4 เพิ่อรับบัตรคิวสำหรับตรวจในวันถัดไป

ตัดภาพที่ไปจุดให้บริการตรวจเชิงรุกโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 12-18 กรกฎาคมที่ผ่านมา จุดต่างๆ มีประชาชนมากมายไปเข้าคิว ดังเช่นบรรยากาศบริเวณลานใต้สะพานพระรามที่ 8 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ มีผู้ทยอยเดินทางมาตรวจหาเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยมีการติดตั้งป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ข้อมูลและขั้นตอนต่างๆ บริเวณหน้าประตูข้างสวนหลวงพระราม 8

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตบางพลัด ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 31- เอิบ-จิตร ทังสุบุตร อำนวยความความสะดวกอย่างแข็งขัน และรอให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดินทางมา โดยตอบคำถามอย่างใจเย็น ชัดเจน เข้าใจง่าย

หลายครอบครัวเดินทางมาพร้อมกัน บ้างนั่งกรอกเอกสารบนทางเท้า บ้างนั่งบนเก้าอี้ที่เคยใช้สำหรับนั่งพักผ่อนชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาปกติสุข แต่วันนี้ไม่เหมือนเดิม

ท้องถนนเงียบสงัด
พนักงานรถสาธารณะติดโควิด

ถนนพระรามที่ 2 ซึ่งเคยมีรถราขวักไขว่กลับเงียบสงัดหลังประกาศเคอร์ฟิวและคุมเข้มการเดินทางข้ามจังหวัด

ปิดท้ายด้วยบรรยากาศทั้งกลางวันและกลางคืนบนท้องถนนของกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยหลับ อย่างถนนพระรามที่ 2 อดีตถนนธนบุรี-ปากท่อ ซึ่งมีรถราวิ่งขวักไขว่ เมื่อการข้ามจังหวัดไม่อาจเป็นไปได้ตามปกติ ทั้งยังขีดเส้น 3 ทุ่มตรงงดออกนอกบ้าน ถนนสายดังกล่าวก็เงียบสงัดแทบไม่มีการสัญจร เช่นเดียวกับสี่แยกต่างๆ ที่รถเคยติดทำสถิติโลก ก็กลับโล่ง จนถึงร้าง ผู้คนรีบกลับบ้านให้ทันเวลาเคอร์ฟิว ในขณะที่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ออกประกาศคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID –19) ประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 พบพนักงานติดเชื้อ จำนวน 21 ราย กระตุ้นเตือนให้ผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะต้องระมัดระวังตัวเองแม้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็ตาม

สำหรับรายนามสายรถเมล์ ท่าปล่อยรถ และอู่ที่มีพนักงานติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร หรือกระเป๋ารถเมล์ พนักงานขับรถ หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการเดินรถ และพนักงานความสะอาด ได้แก่ รถปรับอากาศ สาย 140, รถปรับอากาศ สาย 4, รถปรับอากาศ สาย 77, รถโดยสารธรรมดา สาย 11, รถปรับอากาศ สาย 509, กลุ่มงานปฏิบัติการเดินรถ 1 เขตการเดินรถที่ 4 อู่คลองเตย, รถปรับอากาศ สาย 39, รถปรับอากาศ สาย 60, รถโดยสารปรับอากาศ สาย 63, รถโดยสารธรรมดา สาย 97, รถปรับอากาศ สาย 79, ท่าปล่อยรถโดยสาร สาย 60 ท่าปากคลองตลาด, อู่คลองเตย ,รถโดยสารปรับอากาศสาย 16, รถโดยสารธรรมดา สาย 24, อู่กำแพงเพชร, รถโดยสารธรรมดา สาย 23 และรถโดยสารธรรมดา สาย 25

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรยากาศในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ยุคโรคระบาด ท่ามกลางคืนวันที่ผู้คนต่างรอคอยให้เมฆหมอกแห่งความป่วยไข้ผ่านพ้นไปโดยเร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image