พิษ‘ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว-เวิร์กฟรอมโฮม 100%’ ทุบการเดินทางร่วงทุกโหมด

บรรยากาศ ล็อกดาวน์ หวนกลับมาอีกครั้ง หลังการระบาดของโควิด-19ระลอกใหม่เกินจะต้านไหว ยอดผู้ป่วยสะสมทะยานไปไกลใกล้แตะ 400,000 ราย ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนยังห่างไกลจากเป้า 100 ล้านโดส ลิบลับ

จากสถานการณ์ที่วิกฤต เอาไม่อยู่ จึงนำไปสู่การยกระดับมาตรการคุมการระบาดของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564

ประกาศ ปิดบางกิจการ-สถานที่เสี่ยง พ่วงด้วย เคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. คุมการระบาดพื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด กรุงเทพมหานคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เป็นระยะเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-25 กรกฎาคม 2564 ควบคู่ให้ทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home 100% และระดมตรวจคัดกรองเชิงรุกมากขึ้น

Advertisement

คงต้องลุ้นกันต่อ ว่า ล็อกดาวน์ รอบนี้จะสกัดการระบาดไวรัสร้ายได้ผลชะงัดแค่ไหน เมื่อ ยิ่งตรวจยิ่งเจอ ผู้ติดเชื้อก็เพิ่มทุกวัน หลังล็อกดาวน์ได้ไม่กี่วันยอดติดเชื้อเพิ่มจากหลักพันทะลุหลักหมื่น

จากยอดพุ่งไม่หยุด เป็นไฟต์บังคับให้รัฐบาลขยายพื้นที่ล็อกดาวน์อีก 3 จังหวัด เพิ่ม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ยกระดับมาตรการให้เข้มข้น
เต็มรูปแบบ งดออกจากบ้าน สู้กับ สงครามโควิด เพื่อให้ครั้งนี้ เจ็บแล้วจบลบคำปรามาส เจ็บแต่ไม่จบ ที่ภาคธุรกิจหวั่นสถานการณ์จะลากยาวข้ามปี

สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ระบุว่า “จากสถานการณ์ในขณะนี้คาดการณ์ว่าหากยังไม่ทำมาตรการอะไรเพิ่มเติมมากกว่านี้ จะทำให้ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากไปอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน) ทำให้ต้องมีการยกระดับมาตรการเพื่อป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะการจำกัดการเดินทาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดการแพร่ระบาดของโรค”

Advertisement

“นอกจากนี้ต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล และเร่งรัดควบคุมการฉีดวัคซีน ลดการป่วยหนักและเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ความร่วมมือ
จากประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังมีระดับสูงมากกลับมาดีได้ในเร็ววัน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากมาตรการ ล็อกดาวน์ กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ไปจนถึงคนหาเช้ากินค่ำ ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินล็อกดาวน์รอบนี้กระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามากถึง 50,000-100,000 ล้านบาท

โหมดการเดินทาง ลดลงทุกระบบ

‘ทางราง-ทางอากาศ’หนักสุด

เมื่อบรรยากาศที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ถนนย่านเศรษฐกิจจากภาพจอแจก็มีรถวิ่งบางตา ลานจอดติดรถไฟฟ้า “สถานีหมอชิต” ที่ให้จอดฟรี ปกติจะมีรถจอดแน่นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางก็โล่งผิดตา

จากข้อมูลของกระทรวงคมนาคมเก็บสถิติการเดินทางหลังมาตรการบังคับใช้วันที่ 12 กรกฎาคม โดยภาพรวมลดลงทุกโหมด

ระบบราง ลดลง 54.36% เมื่อเทียบช่วงก่อนการระบาดระลอก 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 17 เมษายน 2564 มีผู้โดยสารรวมทุกระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 790,931 เที่ยวคนต่อวัน กับการระบาดตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนถึงปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 360,944 เที่ยวคนต่อวัน หรือลดลง 429,987 เที่ยวคนต่อวัน

มากที่สุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลดลง 58.63% จาก 36,158 เที่ยวคนต่อวัน เหลือ 14,957 เที่ยวคนต่อวัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ลดลง 56.40% จาก 36,854 เที่ยวคนต่อวัน เหลือ 16,067 เที่ยวคนต่อวัน รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสีม่วง ลดลง 54.78% จาก 246,553 เที่ยวคนต่อวัน เหลือ 111,485 เที่ยวคนต่อวัน รถไฟฟ้าบีทีเอส ลดลง 53.66% จาก 471,366 เที่ยวคนต่อวัน เหลือ 218,435 เที่ยวคนต่อวัน

พลิกดูยอดรายวันของแต่ละระบบ ในวันที่ 13 กรกฎาคม รถไฟมีผู้โดยสารอยู่ที่ 9,317 เที่ยวคน แอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่ที่ 11,908 เที่ยวคน สายสีม่วงอยู่ที่ 12,574 เที่ยวคน สายสีน้ำเงินอยู่ที่ 76,571 เที่ยวคน รถไฟฟ้าบีทีเอสอยู่ที่ 166,323 เที่ยวคน ส่วนสายสีทองคาดตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม จะมีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 500-1,000 เที่ยวคนต่อวัน

ทางน้ำ เก็บสถิติวันที่ 15 กรกฎาคม เรือให้บริการพื้นที่กรุงเทพฯ ลดลง ยกเว้นส่วนภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น แยกเป็น เรือด่วนเจ้าพระยาให้บริการ 48 เที่ยว มีผู้โดยสาร 2,635 คน เรือโดยสารข้ามฝากเจ้าพระยาให้บริการ 866 เที่ยว มีผู้โดยสาร 10,801 คน เรือโดยสารคลองแสนแสบให้บริการ 84 เที่ยว มีผู้โดยสาร 5,142 คน เรือไฟฟ้าเจ้าพระยาให้บริการ 10 เที่ยว มีผู้โดยสาร 459 คน และเรือโดยสารส่วนภูมิภาคให้บริการ 873 เที่ยว มีผู้โดยสาร 32,851 คน

ทางอากาศ ในส่วนของสนามบินภูมิภาค 28 แห่งของกรมท่าอากาศยาน ส่วนใหญ่ไม่มีเที่ยวบิน สถานะวันที่ 15 กรกฎาคม มีไฟลต์บินเพียง 9 สนามบิน จำนวน 12 เที่ยวบิน มีผู้ใช้บริการ 764 คน ได้แก่ พิษณุโลก 1 เที่ยวบิน 56 คน ขอนแก่น 1 เที่ยวบิน 82 คน เลย 1 เที่ยวบิน 22 คน สกลนคร 1 เที่ยวบิน 52 คน อุดรธานี 1 เที่ยวบิน 66 คน อุบลราชธานี 2 เที่ยวบิน 92 คน กระบี่ 1 เที่ยวบิน 102 คน นครศรีธรรมราช 3 เที่ยวบิน 224 คน และสุราษฎร์ธานี 1 เที่ยวบิน 68 คน

ขณะที่สนามบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ทางกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” เปิดเผยว่า ทั้ง 6 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวง เชียงราย และหาดใหญ่ ผู้โดยสารลดลงกว่า 80% เหลือไม่ถึงวันละ 10,000 คน

สำหรับธุรกิจการบินจะมีการเยียวยาให้แอร์ไลน์ตามที่คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) มี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน อนุมัติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นการขยายมาตรการต่อเนื่องระยะที่ 3 นับจากการระบาดเมื่อต้นปี 2563

อาทิ ยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบิน ลดค่าบริการขึ้นลง 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ ยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน สำหรับสายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราว ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ยกเว้นค่าปรับกับสายการบินที่ส่งค่าธรรมเนียมเข้าหรือออกประเทศล่าช้าในไตรมาสที่ 3 เป็นต้น

ด้าน กรมทางหลวง ระบุปริมาณรถบนถนนมอเตอร์เวย์ช่วงเวลา 21.00-04.00 น. จากปกติอยู่ที่ 47,000 เที่ยวคันต่อวัน หลังปิดให้บริการตามมาตรการเคอร์ฟิว ลดลงไป 70% เหลือประมาณ 14,000 เที่ยวคันต่อวัน โดยอธิบดีกรมทางหลวง สราวุธ ทรงศิวิไล กล่าวย้ำ “รายได้ลดลงไม่มาก ในห้วงเวลาแบบนี้
ก็ต้องช่วยรัฐ”

ขสมก.ผู้โดยสารหายวันละ 1 แสนคน

ขอ‘ประชาชน’กลับบ้านก่อน 6 โมงเย็น

มาดูโหมดการเดินทางด้วยรถเมล์ ขวัญใจคนรากหญ้า ต้องปรับสปีดการวิ่งแข่งเวลา ส่งคนกลับบ้านก่อนเคอร์ฟิว

สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขสมก.ได้ปรับเวลาเดินรถใหม่ตั้งแต่วันที่ 12-25 กรกฎาคม 2564 เริ่มให้บริการเวลา 05.00-21.00 น. จะปล่อยรถคันสุดท้ายออกจากท่าปลายทางเวลา 20.00 น. เนื่องจากต้องนำรถเข้าอู่จอดรถ และเผื่อเวลาให้พนักงานเดินทางกลับบ้านก่อนเวลา 21.00 น.

โดยเพิ่มความถี่ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า 05.00-08.00 น. และช่วงเย็นถึงเวลาก่อนรถโดยสารหยุดให้บริการ 16.00-21.00 น. และปรับเพิ่มความถี่ 3 คันสุดท้ายให้มีระยะห่างกันประมาณ 5-10 นาที พร้อมมีป้ายบอกหน้ารถว่า “เหลือรถ 2 คันสุดท้าย เหลือรถ 1 คันสุดท้าย และรถคันสุดท้าย”

สำหรับรถโดยสารที่ให้บริการ ในวันธรรมดามีรถให้บริการ 18,000-20,000 เที่ยว วันเสาร์-อาทิตย์ให้บริการ 16,000 เที่ยว หรือจัดเดินรถให้สอดรับกับความต้องการของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา

“ขสมก.ยังคงมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด มีเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะให้บริการ หากเต็มต้องรอใช้บริการคันถัดไป ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการเตรียมตัวกลับบ้านก่อนเวลา 18.00 น. เพื่อลดความแออัดบนรถโดยสาร”

ผอ.ขสมก.บอกอีกว่า จากมาตรการทำให้รายได้ลดลงจากเดิมวันละ 5 ล้านบาท เหลือไม่ถึง 4 ล้านบาท เป็นไปตามผู้โดยสารที่ลดลงไป จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 410,000-450,000 คน ตอนนี้ผู้โดยสารลดลงเรื่อยๆ ประมาณ 20-25% เหลือประมาณ 260,000-360,000 คน หายไปอย่างน้อย 100,000 คนต่อวัน

“มีผู้ใช้บริการน้อยเพราะเวลาการให้บริการหายไป 4-5 ชั่วโมง จากเดิม 16-17 ชั่วโมง ขณะที่คนทำงานที่บ้าน นักเรียนเรียนออนไลน์ ร้านค้าหยุด ห้างปิดเร็วขึ้น”

บขส.เหลือไม่ถึง 10,000 คน

‘สมบัติทัวร์’หยุดวิ่งทุกเส้นทางชั่วคราว

สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า บขส.ปรับตารางเดินรถใหม่ให้สอดคล้องกับมติ ศบค.ตั้งแต่วันที่ 13-25 กรกฎาคม 2564

เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก จากเดิมเปิดบริการ 10 เส้นทาง ปรับลดเหลือ 5 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครพนม, กรุงเทพฯ-เลย-เชียงคาน, กรุงเทพฯ-สุรินทร์, กรุงเทพฯ-สังขะ-ขุขันธ์-กันทรลักษ์-เดชอุดม-อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ-รัตนบุรี ให้บริการวันละ 1 เที่ยววิ่ง

เส้นทางภาคเหนือ ให้บริการเดินรถ 3 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-คลองลาน, กรุงเทพฯ-หล่มเก่า, กรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ให้บริการวันละ 1 เที่ยววิ่ง

ส่วนเส้นทางภาคใต้หยุดให้บริการเดินรถทุกเส้นทาง เนื่องจากใช้เวลาวิ่งหลายชั่วโมง หากเปิดบริการไปจะไม่สอดคล้องเวลาเคอร์ฟิว และไม่คุ้มกับต้นทุนต้องตีรถเปล่ากลับเพราะไม่มีผู้โดยสาร

สำหรับผู้โดยสารที่จองตั๋วล่วงหน้า เดินทางระหว่างวันที่ 13-25 กรกฎาคม ขอเลื่อนการเดินทาง หรือคืนตั๋วได้เต็มราคา โดยไม่หักค่าธรรมเนียม ได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วก่อนเวลารถออกไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ส่วนผู้ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่สามารถขอคืนเงินค่าตั๋วได้ แต่แจ้งเลื่อนการเดินทางได้ก่อนเวลารถออกไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงเช่นกัน

“เดิมมีผู้โดยสารมาใช้บริการไปและกลับวันละ 20,000 คน ตอนนี้ลดเหลือวันละ 8,000 คน ซึ่ง บขส.รับภาระขาดทุนเดือนละ 40-50 ล้านบาท”

สัญลักข์ กล่าวอีกว่า ส่วนรถร่วมขณะนี้มี 2-3 บริษัทขอหยุดให้บริการชั่วคราวถึงวันที่ 25-31 กรกฎาคม เช่น สมบัติทัวร์ ส่วนนครชัยแอร์ ยังเปิดให้บริการแต่ลดเที่ยววิ่งลง ขณะที่เชิดชัยทัวร์เหลือวิ่งเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

“การขอเยียวยาจากรัฐ บขส.ไม่สามารถขอได้ ในส่วนของรถร่วม เราช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เท่าที่ช่วยได้ เช่น ค่าธรรมเนียม ให้ลดเที่ยววิ่งหรือหยุดวิ่งได้โดยไม่เสียค่าปรับ”

ผู้ค้าตลาดนัดกลางวัน ร้องระงม

เคอร์ฟิว-เวิร์กฟรอมโฮม คนหาย รายได้ไม่มี

อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ “พ่อค้าแม่ขาย” ตลาดนัดกลางวัน ย่านแหล่งงานกลางเมือง จากเมื่อก่อนเป็นทำเลทอง ปัจจุบันแทบไม่มีคนเดิน

จากการสอบถามร้านค้าใน ตลาดนัดเพลินจิต ซอยต้นสน ข้างธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดขายช่วงกลางวันทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ซึ่งลูกค้าจะเป็นพนักงานออฟฟิศย่านเพลินจิต ชิดลม และใกล้เคียง ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “เงียบมาก คนขายก็ไม่มี คนซื้อก็ไม่มา”

ป้าติ๋ม อายุ 59 ปี เปิดร้านข้าวแกงน้ำแข็งไสในตลาดนี้มาตั้งแต่ปี 2553 เล่าว่า หลังมีประกาศล็อกดาวน์ ให้คนทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้บรรยากาศค้าขายในตลาดนัดยิ่งเงียบมากขึ้นไปอีก พ่อค้า แม่ค้าก็ไม่มาเปิดร้านขาย คนซื้อก็ไม่มี เพราะเปิดไปก็ขายไม่ได้ จากเดิมบรรยากาศการค้าขายจะเงียบอยู่แล้ว ตั้งแต่เกิดโควิดระบาดระลอก 3 ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงปัจจุบัน

“คนหายไปเยอะ ส่วนหนึ่งเพราะเขาทำงานที่บ้าน บางส่วนคงจะกลัวโควิด แต่ป้าก็ต้องมาเปิดร้านขายเพราะยังไงก็ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน เจ้าของให้ย้ายจากร้านที่อยู่ข้างในมาตั้งโต๊ะขายด้านนอกแทน เพราะแม่ค้ามาน้อย และลดค่าเช่าให้ 30% จากเดือนละ 14,000 บาท เหลือ 9,800 บาท”

จากปรากฏการณ์ที่คนหาย ป้าติ๋ม บอกอีกว่า ต้องลดการซื้อวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารลง 50% เพราะทำมากก็ขายไม่ค่อยดี เหลือก็ต้องเอาไปแจกชาวบ้าน ถามว่าได้อะไรไหมที่ต้องมาเปิดร้านขาย ไม่ได้เลย มีแต่ “ขาดทุนมากหรือขาดทุนน้อยมากกว่า” บางวันได้พอค่าแรงจ่ายให้ลูกจ้างวันละ 400-500 บาท

“ตอนนี้ป้าก็เปิดขายเร็วขึ้น ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง ขายได้วันละ 1,000-2,000 บาท จากเดิมขายได้วันละ 4,000 บาท แต่เมื่อหักต้นทุน ค่าจ้าง ค่าเช่าก็ขาดทุนอยู่ดี มาตรการคนละครึ่งก็ช่วยได้ไม่มาก”

ประภาศรี ทับทิมลี อายุ 52 ปี เจ้าของร้านขายน้ำผลไม้ปั่นเล่าให้ฟัง ตั้งแต่มีล็อกดาวน์ ตลาดเงียบและค้าขายแย่กว่าก่อนหน้านี้มาก ลูกค้าหายไปมากกว่า 50% เพราะลูกค้าที่เป็นพนักงานออฟฟิศในย่านนี้ทำงานที่บ้านกันหมด

“เมื่อก่อนช่วง 11 โมง คนจะเริ่มเยอะแล้ว ยิ่งช่วงเที่ยงไม่ต้องพูดถึง คนจะมาเข้าคิวรอซื้อกัน ตอนนี้ขายได้วันละ 50 แก้ว หรือประมาณ 1,000 บาท จากปกติขายได้วันละ 200 กว่าแก้ว หรือ 4,000-5,000 บาท ถึงมีคนละครึ่งก็ไม่ช่วยอะไรเลย เพราะคนอยู่บ้านกันหมด เราจะหยุดก็ไม่ได้ เพราะเสียค่าเช่าทุกเดือน อย่างน้อยก็ยังมีรายได้ แม้จะขาดทุนก็ตาม โชคดีที่ทางตลาดลดค่าเช่าให้ 30% จากเดือนละ 12,000 บาท เหลือเดือนละ 9,000 กว่าบาท”

แม่ค้าน้ำปั่นระบายต่อ “ยิ่งมีเคอร์ฟิวเราก็ต้องปรับตัว เปิดร้านเร็วขึ้นตั้งแต่ 8 โมงเช้า ปิดบ่ายโมง จากเดิมปิดบ่าย 3 โมง เพราะไม่มีลูกค้ามาเดิน เราก็ต้องเผื่อเวลาเก็บของและกลับบ้านด้วย อยากจะให้รัฐมีมาตรการช่วยเหลือและทั่วถึงมากกว่านี้”

ประทุม รู้เกณฑ์ วัย 48 ปี เป็นคนต่างจังหวัด แต่มายึดอาชีพขายขนมครกย่านกลางเมืองเลี้ยงครอบครัว กล่าวว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้คนมาจับจ่ายซื้อของน้อยลง เนื่องจากไม่มีคนมาทำงาน ลูกค้าหายไป 70% ต้องลดปริมาณวัตถุดิบลง ไม่ให้เหลือกลับบ้าน หากวันไหนขายไม่หมดจะแจกให้คนกินฟรี สถานการณ์แบบนี้เป็นมานานแล้วตั้งแต่มีโควิดระบาด แต่ช่วงนี้จะหนักมากขึ้น

“บ้านพี่อยู่ต่างจังหวัด มาเช่าบ้านอยู่ย่านมักกะสันเดือนละ 2,000 บาท ตอนนี้จะกลับต่างจังหวัดก็ไม่ได้ ต้องกักตัว เพราะเราไปจากพื้นที่สีแดง ต้องอดทนขายของไป ถึงจะขาดทุนก็ตาม ขายเท่าที่ขายได้ ตอนนี้เปิดขายเร็วขึ้นตั้งแต่ 6 โมงเช้า บ่ายๆ ก็เก็บแล้วเพราะไม่มีคนเดินเลย ยอดขายเหลือวันละ 400-500 กว่าบาท จากปกติขายได้วันละ 1,000-2,000 บาท ขอให้รัฐเยียวยาพ่อค้าแม่ค้าที่รายได้เขาหายไปด้วย เพราะต้องเสียค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟอีก”

ขณะที่บรรยากาศตลาดนัดกลางวันย่านอื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน อย่างเช่น “ตลาดนัดรัชดา” ข้างเมืองไทยคอมเพล็กซ์ในช่วงนี้มีพ่อค้า แม่ค้า มาขายไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นร้านขายเสื้อผ้า แต่ร้านขายอาหาร ของกินต่างๆ ยังมีเปิดขายอยู่บ้าง

ส่วนคนมาเดินซื้อของก็น้อยลง ไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากคนทำงานที่บ้าน ซึ่งทางตลาดมีการลดค่าเช่าให้กับผู้ค้ารายวัน 50% จาก 600 บาทต่อแผงต่อวัน เหลือ 300 บาทต่อแผงต่อวัน ส่วนรายเดือนลดค่าเช่าให้ 30%

เป็นเสียงสะท้อนบนความยากลำบาก กว่าคนไทยจะหายใจได้โล่งปอด คงใช้เวลาอีกนานที่ทุกอย่างจะคืนกลับสู่สภาวะเดิม

ประเสริฐ จารึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image