‘เดลต้า’ถล่มโลก สุขภาพเสี่ยง เศรษฐกิจทรุด ขีดเส้นใต้วัคซีน‘เหลื่อมล้ำ’

‘เดลต้า’ถล่มโลก สุขภาพเสี่ยง เศรษฐกิจทรุด ขีดเส้นใต้วัคซีน‘เหลื่อมล้ำ’
นักระบาดวิทยาชี้ อินโดนีเซียมีสิทธิติดโควิดถึง 1 แสนคนต่อวันในปลายเดือนนี้ ขณะที่รัฐบาลยืนยันพร้อมรับมือ (รอยเตอร์)

‘เดลต้า’ถล่มโลก
สุขภาพเสี่ยง เศรษฐกิจทรุด
ขีดเส้นใต้วัคซีน‘เหลื่อมล้ำ’

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า สถานการณ์โลกในขณะนี้ โควิดสายพันธุ์ใหม่ นาม “เดลต้า” อาละวาดไปทั่วโลก นับแต่พบครั้งแรกในอินเดีย ก่อนเข้าแทนที่ “อัลฟ่า” โควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า โดยเฉพาะในไทยซึ่งพบเชื้อสายพันธุ์เดลต้าที่ว่านี้เป็นครั้งแรกที่บ้านพักคนงานย่านหลักสี่ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564

ไม่เพียงสุขภาพที่ต้องสุ่มเสี่ยง ทว่า เศรษฐกิจก็ร่วงหนัก ไม่ว่าจะฟากฝั่งตะวันตก มาจนถึงตะวันออก

ทีมข่าวต่างประเทศ มติชน เกาะติดสถานการณ์รายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ สะท้อนภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติในวันนี้ ที่ต้องสู้รับกับเดลต้า กองทัพไวรัสที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่อานุภาพสูงมาก สร้างความสั่นสะเทือนไปทุกมิติของชีวิต

Advertisement

สหรัฐชี้วันนี้‘เดลต้า’ยึดครองโลก

เมื่อไม่กี่วันมานี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทางการสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 26% โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 70% (ข้อมูลเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง ได้แก่ รัฐอาร์คันซอ ฟลอริดา ลุยเซียนา มิสซูรีและเนวาดา โดยรัฐเหล่านี้มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐ ระบุว่า ขณะนี้กลายเป็นการแพร่ระบาดในหมู่ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน โดย 97% ของผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

ในขณะที่ แอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อของสหรัฐ ระบุว่า สายพันธุ์เดลต้าสามารถติดต่อกันได้ง่ายกว่าโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม โดยพบการแพร่ระบาดใน 100 ประเทศทั่วโลกและจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลก

‘แอฟริกา’ดับพุ่ง43%จาก‘เดลต้า’
เตียงไม่พอ วัคซีนขาดแคลน

ผู้ป่วยโควิดที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ (เอเอฟพี)

จากสถานการณ์ในสหรัฐ ตัดภาพไปยังแอฟริกา ซึ่งล่าสุด สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เปิดเผยจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับโควิด-19 ในแอฟริกา ว่าเพิ่มขึ้นถึง 43% ในช่วงเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ เนื่องจากสภาพขาดแคลนออกซิเจนสำหรับเครื่องช่วยหายใจและเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยผู้เสียชีวิตในแอฟริกาเพิ่มขึ้น 6,273 ราย ระหว่างวันที่ 5-11 กรกฎาคม เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้นซึ่งอยู่ที่ 4,384 ราย

จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นจากสาเหตุ เพราะการขาดแคลนวัคซีน รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายพันธุ์เดลต้า ซึ่งพบแล้วในแอฟริกาแล้ว 21 ประเทศ ท่ามกลางบรรยากาศที่ประชาชนเหนื่อยล้ากับมาตรการป้องกันโควิดแล้ว

นักลงทุนเท! ทำดาวโจนส์ร่วง725จุด หนักสุดในรอบปี

พิษเดลต้า ทำดาวโจนส์ร่วง 725 จุด หนักสุดในรอบปี นักลงทุนเทขายครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบทั่วโลก
พิษเดลต้า ทำดาวโจนส์ร่วง 725 จุด หนักสุดในรอบปี นักลงทุนเทขายครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบทั่วโลก

ไม่เพียงความเสี่ยงว่าจะถูกพรากลมหายใจ ภาวะเศรษฐกิจ ปากท้องของชาวโลกก็เข้าข่ายน่าหวาดหวั่น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดกลายพันธุ์เดลต้าที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกรวมถึงในสหรัฐ ทำให้นักลงทุนพากันเทขายหุ้นครั้งใหญ่ โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลงถึง 725 จุด หรือลดลง 2.1% เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ไปปิดที่ 33,962.04 จุด ถือเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนที่ลดลงไป 943 จุด และเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในวันเดียวของปีนี้ แต่ยังดีกว่าปีก่อนที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลงมากกว่า 1,000 จุดถึง 6 ครั้ง และเคยปรับตัวลดลงสูงสุดถึงเกือบ 3,000 จุดเมื่อวันที่ 16 มีนาคมปีก่อน

ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 68.67 จุด หรือ 1.6% ไปอยู่ที่ 4,258.49 จุด ส่วนดัชนี Nasdaq ลดลง 1.1% หรือ 152.25 จุด ไปปิดที่ 14,274.98 จุด หุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือหุ้นของสายการบและบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่การแพร่ระบาดเพิ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน อาทิ หุ้นของสายการบินอเมริกาแอร์ไลน์ลดลง 5.5% หุ้นของบริษัทเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยวคาร์นิวัลที่ลดลง 5.7% เช่นเดียวกับหุ้นของบริษัทเชฟรอนและเอ็กซอนโมบิล บริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่ลดลง 8%

การเทขายหุ้นดังกล่าวยังส่งผลกระทบไปทั่วโลก อาทิ ตลาดในยุโรปหลายแห่งที่หุ้นก็พากันร่วงลงไปเฉลี่ยที่ราว 2.5% แต่ตลาดหุ้นในเอเชียลดลงไม่มากนัก

ด้านราคาน้ำมันในสหรัฐก็ลดลงมากกว่า 7% หลังจากโอเปคและชาติพันธมิตรเห็นชอบที่จะยังคงราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูงในปีนี้ต่อไป

เดลต้าทำทรุดทั้ง‘อาเซียน’
เชื่อ สิงคโปร์-มาเลย์ ฟื้นก่อนเพื่อน

‘เดลต้า’ถล่มโลก สุขภาพเสี่ยง เศรษฐกิจทรุด ขีดเส้นใต้วัคซีน‘เหลื่อมล้ำ’
นักระบาดวิทยาชี้ อินโดนีเซียมีสิทธิติดโควิดถึง 1 แสนคนต่อวันในปลายเดือนนี้ ขณะที่รัฐบาลยืนยันพร้อมรับมือ (รอยเตอร์)
เวียดนามประกาศล็อกดาวน์ภาคใต้ 2 สัปดาห์ หลังผู้ป่วยโควิดพุ่งมีผลตั้งแต่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา (เอพี)

ขยับมาใกล้ตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานว่า โกลด์แมนแซคส์ วาณิชธนกิจระดับโลก เผยแพร่ การปรับปรุงการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2021 รอบใหม่ ที่ต้องปรับลดลงจากการประเมินครั้งที่ผ่านมาลงเกือบทุกประเทศ จากสาเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศเหล่านี้ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งหนึ่ง

โกลด์แมนแซคส์ ปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 5.0 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 3.4 เปอร์เซ็นต์, มาเลเซีย จาก 6.2 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 4.9 เปอร์เซ็นต์, ฟิลิปปินส์จาก 5.8 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 4.4 เปอร์เซ็นต์ สิงคโปร์ จากเดิมขยายตัว 7.1 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 6.8 เปอร์เซ็นต์ และไทย จากเดิมที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะขยายตัว 2.1 เปอร์เซ็นต์ ถูกปรับลดลงเหลือเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีเพียงสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้นที่สามารถจะเปิดประเทศและฟื้นเศรษฐกิจได้ในปีนี้ โดยประเทศอื่นๆ ที่เหลือรวมทั้งไทย กว่าจะเปิดประเทศได้ก็ต้องรอถึงครึ่งปีแรกของปี 2565 ในขณะที่ปริมาณการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นจนต้องมีมาตรการยับยั้งที่เข้มงวดกว่าเดิมขึ้นตามมา จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อย่างมีนัยสำคัญกว่าเดิม

สำหรับเหตุผลปัจจัยที่ว่าทำไมสิงคโปร์และมาเลเซียจึงจะฟื้นได้ไวกว่าเพื่อนบ้าน นั่นก็เพราะทั้งสองอิงอยู่กับการค้าระหว่างประเทศมากกว่า ทำให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าโดยได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางการค้าทั่วโลกมากกว่า โดยมาเลเซียยังจะได้ประโยชน์จากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

หันมามองไทย รวมถึงอินโดนีเซีย พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่มากกว่า มีการค้าระหว่างประเทศต่ำกว่า ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายเพื่อป้องกันผลกระทบที่จำกัดกว่า ทำให้ได้ประโยชน์น้อยกว่าจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผลกระทบจากการขยายตัวในระดับโลกส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์น้อยกว่าที่คาดไว้มาก

โกลด์แมนแซคส์ ยังระบุด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นก็คือ สัดส่วนการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในภูมิภาคที่ยังคงต่ำอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศในตะวันตก ยกเว้นเพียงสิงคโปร์ซึ่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรครบ 2 เข็มแล้วกว่า 41 เปอร์เซ็นต์ จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดของโลก ในขณะที่มาเลเซียฉีดครบ 2 เข็มไปเพียง 12.4 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด, อินโดนีเซียฉีดครบ 2 เข็มเพียง 5.7 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ฟิลิปปินส์และไทย ฉีดอยู่ในอัตราใกล้เคียงกันคือ ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์

เกาหลีใต้ขยายคุมเข้มโควิดทั่วประเทศ ห้ามรวมตัวเกิน 4 คน มีผลถึง 1 ส.ค.นี้ (รอยเตอร์)

อนามัยโลก-กาชาดสากล
ย้ำปมวัคซีนไม่เท่าเทียม

ในขณะที่หลายชาติในเอเชียกำลังต้องรับมือกับการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ท่ามกลางปัญหาการกระจายวัคซีนที่ทั่วโลกต้องประสบ แม้ว่าในระยะหลังจะเริ่มมีการส่งมอบวัคซีนต้านโควิด-19 เพิ่มขึ้นบ้างแล้วก็ตาม

เวียดนาม ไทย และเกาหลีใต้ ต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์หรือมาตรการคุมเข้มประชาชนครั้งใหม่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ไม่สามารถทำได้รวดเร็วสักเท่าไหร่

ในเกาหลีใต้ซึ่งได้รับคำชื่นชมเกี่ยวกับการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรก ทั้งจากการลุยตรวจหาผู้ติดเชื้อและระบบติดตามตัว กำลังประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนจนทำให้ประชากรราว 70% ของประเทศยังคงต้องรอที่จะฉีดวัคซีนเข็มแรก

สำหรับอินโดนีเซีย ซึ่งกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดในโลกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา วัคซีนโมเดอร์นา 1.5 ล้านโดสเพิ่งถูกส่งไปถึงในช่วงบ่ายของวันที่ 15 กรกฎาคม ตามหลังการส่งมอบวัคซีนจากสหรัฐ 3 ล้านโดสเมื่อวันอาทิตย์ และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอีก 11.7 ล้านโดสที่ได้รับผ่านโครงการ COVAX นับตั้งแต่เดือนมีนาคม

องค์การอนามัยโลกได้ออกออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เท่าเทียมทางด้านวัคซีนในโลก โดยระบุว่าชาติร่ำรวยจำนวนมากมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส ขณะที่ประชาชนในประเทศที่มีรายได้ต่ำยังคงรอคอยที่จะได้รับวัคซีนโดสแรก

เช่นเดียวกับสภากาชาดสากลที่ออกมาเตือนว่า ช่องว่างในความแตกต่างทางด้านวัคซีนในโลกกว้างขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาติร่ำรวยเพิ่มปริมาณการบริจาควัคซีนตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสภากาชาดสากลระบุว่า เป็นเรื่องน่าละอายที่การแบ่งปันวัคซีนไม่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้หรือเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ อย่างไรก็ดีไม่มีคำว่าช้าเกินไปกับการฉีดวัคซีนให้กับผู้คน แต่ยิ่งวัคซีนมาช้าเท่าไหร่ผู้คนจะยิ่งล้มตายมากขึ้นเท่านั้น

นี่คือสถานการณ์โลกในรอบครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคมใต้ศึกเดลต้า ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ ศัตรูผู้เปิดสงครามกับมนุษยชาติที่ยังรอวันฉีดอาวุธหนักในนามวัคซีนเป็นเกราะกำบังชีวิตที่คนมากมายราวกับถูกแขวนไว้บนเส้นด้ายใต้ความเหลื่อมล้ำอันไม่สิ้นสูญ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image