อาศรมมิวสิก : ศิลปินใหญ่เสียชีวิตจากโควิด อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์

อาศรมมิวสิก : ศิลปินใหญ่เสียชีวิตจากโควิด อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์

อาศรมมิวสิก : ศิลปินใหญ่เสียชีวิตจากโควิด อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เวลา 14.45 น. ทราบข่าวว่า อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ ศิลปินใหญ่ ได้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร ในวัย 81 ปี อาจารย์แนบได้ล้มป่วยลงด้วยโรคหัวใจกำเริบ มีอาการเจ็บหน้าอก เข้าไปรักษาในห้องผู้ป่วยรวม ระหว่างวันที่ 2-5 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เมื่อดีขึ้นแพทย์ก็ให้กลับบ้าน อาจารย์แนบก็รู้สึกว่ายังแน่นหน้าอกอยู่ ในวันที่ 8 กรกฎาคม ลูกสาวพาไปตรวจอีกครั้งที่โรงพยาบาลเอกชนที่พิษณุโลก พบว่าอาจารย์แนบติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนไม่รับผู้ป่วยโควิด จึงต้องส่งตัวกลับโรงพยาบาลกำแพงเพชร ในวันที่ 12 แพทย์พบว่าโควิดได้ลามลงไปที่ปอดและทรุดหนัก แพทย์พยายามช่วยชีวิตใส่เครื่องช่วยหายใจ อาจารย์แนบเคยสั่งไว้กับลูกสาวว่า หากจะต้องปั๊มหัวใจ “ขอให้ไม่ต้องปั๊มหัวใจ”

ทางโรงพยาบาลกำแพงเพชรได้ประสานกับวัดคูยาง เทศบาลเมืองกำแพงเพชร เนื่องจากผู้ป่วยได้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 จึงต้องจัดการฌาปนกิจเลย เวลา 2 ทุ่มในวันเดียวกัน โดยที่ลูกสาวผู้ดูแลก็ยังถูกกักตัวอยู่และญาติพี่น้องก็ไม่สามารถจะไปร่วมงานศพได้ ศพของอาจารย์แนบต้องเผาโดยที่ไม่มีญาติพี่น้องและมิตรสหาย ทางครอบครัวหวังจะเอากระดูกมาเข้าพิธีทำบุญอีกครั้ง อาจจะครบ 50 วันหรือครบ 100 วัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด ทั้งนี้ ก็เพื่อให้โอกาสครอบครัวและญาติมิตรทั้งหลายได้ร่วมทำบุญ รวมพลังส่งกระแสจิต เพื่อส่งดวงวิญญาณอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ สู่สรวงสวรรค์

อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2482 ที่อำเภอระโนด สงขลา มีพี่น้อง 6 คน เป็นผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 2 คน ทุกคนมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะดนตรี อาจารย์แนบเข้าเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นที่ระโนด ชอบงานช่าง ชอบวาดรูปหนังตะลุง พ.ศ.2500 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมศิลปากร มีอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) เป็นอาจารย์ใหญ่ ปี พ.ศ.2503 เข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นคณบดี

Advertisement

อาศรมมิวสิก : ศิลปินใหญ่เสียชีวิตจากโควิด อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์

อาจารย์แนบเรียนจบศิลปากรในปี พ.ศ.2510 ซึ่งใช้เวลาเรียนอยู่ 10 ปี อาจารย์แนบนั้นชอบเล่นดนตรีมาก โดยฝึกหัดเล่นเปียโน เชลโล ไวโอลิน และร้องเพลง ชีวิตเติบโตมาจากครอบครัวนักดนตรี พ่อเป็นครูสอนดนตรีไทย ชื่อครูนิตย์โสตถิพันธุ์ ซึ่งพ่อเป็นทั้งนักดนตรี มีวงดนตรี และท่านสามารถเล่นดนตรีไทยได้รอบวง

ตระกูลโสตถิพันธุ์ เป็นตระกูลเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงทางด้านศิลปะและดนตรีของเมืองระโนด สงขลา ซึ่งถือเป็นตระกูลสำคัญประจำเมือง ทุกเมืองในโลกนี้ก็จะมีบุคคลสำคัญประจำเมือง มีนักปราชญ์สำคัญประจำเมือง แม้ว่าจะย้ายไปอาศัยอยู่ที่อื่นแล้วก็ตาม เมื่อพูดถึงตระกูลโสตถิพันธุ์ ก็จะนึกถึงตระกูลศิลปินที่ระโนด สงขลา

Advertisement

ขณะที่เรียนอยู่ที่ศิลปากร อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ เป็นลูกมือของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้เรียนดนตรีและเล่นดนตรีอยู่กับพี่ชายคนโตคือ อาจารย์นพ โสตถิพันธุ์ ซึ่งเป็นนักดนตรีรุ่นใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อน พี่ชายนั้นเล่นดนตรีอาชีพทุกชนิด ตั้งแต่ “หมอลำยันเพลงคลาสสิก” ผลงานชุดสำคัญของอาจารย์นพ โสตถิพันธุ์ คือวงเยื่อไม้ โดยการนำเอาเพลงไทย เพลงสมัยนิยม มาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นเพลงบรรเลง ถือว่าเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือชั้นครูทีเดียว อาจารย์นพเป็นผู้ที่ได้ปลุกชีวิตเพลง “ค้างคาวกินกล้วย” ให้ฟื้นขึ้นใหม่ที่โด่งดังมาก

มีเรื่องเล่ากันว่า อาจารย์นพ โสตถิพันธุ์ (พี่ชาย) ขณะเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อพวกนักดนตรีไทยตั้งวงขึ้น ซึ่งมีเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นแกนนำ เล่นเป็นวงเครื่องสาย ก็มีนักดนตรีที่ชื่อนพ โสตถิพันธุ์ เป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์เหมือนกัน เดินมาร่วมเล่นในวงดนตรีไทย โดยเอาไวโอลินมาสีเพลงไทยกับวงด้วย

“ไอ้อ้วนคนนี้เป็นใคร เอาไวโอลินมาตัวเดียว เล่นเพลงไทยได้ดีเสียด้วย สีเสียงดังมาก คนเดียวเล่นกลบเสียงวงดนตรีไทยหมดทั้งวง เราต้องยกวงหนี” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เล่าให้ฟัง

เมื่ออาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ เรียนจบศิลปากร พ.ศ.2510 ได้ทำงานศิลปะในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 6 ปี ในปี พ.ศ.2516 จึงได้บรรจุเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา เพราะสงขลาเป็นบ้านเกิด ซึ่งอาจารย์แนบเข้าใจดีว่า อาชีพราชการและระบบราชการนั้นเป็นตัวทำลายอุดมคติ ทำลายความคิดสร้างสรรค์ ทำลายเสรีภาพ ทำลายรสนิยม รวมทั้งทำลายจินตนาการหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจชีวิตอาจารย์แนบ เมื่อได้ทำงานทดลองครบตามความปรารถนาของครอบครัวแล้ว เวลาที่เหลือก็เป็นเส้นทางชีวิตที่จะเลือกเดินเอง คือการเดินทางในฐานะนักวาดภาพ เล่นดนตรี และแสดงนิทรรศการ โดยลาออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ.2521 อยู่ได้ 6 ปี

ผมเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ สมัยที่เรียนหนังสืออยู่ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา เมื่อ พ.ศ.2516-2517 ขณะนั้นอาจารย์อายุ 34-35 ปี เป็นปีแรกที่อาจารย์แนบเข้าไปทำงาน สอนวิชาความซาบซึ้งในศิลปะและวิชาความซาบซึ้งในดนตรี ทั้ง 2 วิชา เวลากลางวันก็เรียนหนังสือกับอาจารย์ ตกตอนกลางคืนก็ไปเล่นดนตรีกับอาจารย์ที่โรงแรมในสงขลาหรือเดินทางไปเล่นที่หาดใหญ่ อาจารย์แนบแต่งตัวเปรี้ยวมาก เสื้อผ้าสีฉูดฉาด กางเกงส้ม เสื้อเขียวปี๋ รองเท้าเหลืองอ๋อย ไว้หนวดงามเฟี้ยว แตกต่างจากอาจารย์คนอื่นๆ นักศึกษาตื่นเต้นกับการแต่งกายของอาจารย์แนบอย่างมาก เพราะเป็นสีสันที่มีอยู่จริงในสถาบันการศึกษา

อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ มีวงดนตรีของตัวเอง รับแสดงงานทั้งงานจรและงานประจำ โดยมีนักดนตรีที่เป็นสมาชิกในครอบครัว ตัวอาจารย์แนบเองเล่นไวโอลินและร้องเพลง น้องชาย (แนว) เป็นนักดนตรี (วินัย) เป็นนักร้องและเป็นนักดนตรี ส่วนภรรยา (ดารา ปุษยะนาวิน) เป็นนักร้องเสียงดีมาก ลูกศิษย์ก็เป็นแค่กำลังเสริม

เพื่อนๆ ผมที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ เมื่อรู้ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์แนบต่างรู้สึกเสียใจอย่างยิ่ง บางคนก็ส่งข้อความมาให้ แต่ก็ไม่มีงานศพ จึงไม่สามารถแจ้งความรู้สึกให้แก่ศพและญาติได้

อาจารย์จงดี ฉลาดแฉลม ลูกศิษย์ของอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ ได้บันทึกความรู้สึกว่า “อาจารย์แนบเป็นอีกคนหนึ่งที่เรียกว่าเป็น ‘ครู’ ได้อย่างสนิทใจ ไม่เคยเห็นอาจารย์โกรธใครเลย ทั้งๆ ที่พวกเรานักศึกษาซึ่งบางคนไม่เคยตั้งใจเรียนเลย ไม่เคยซาบซึ้งและเข้าถึงความงามของศิลปะที่อาจารย์พร่ำสอน ไม่รู้ได้เกรดจากวิชาความซาบซึ้งในศิลปะและดนตรีมาได้อย่างไร”

อาศรมมิวสิก : ศิลปินใหญ่เสียชีวิตจากโควิด อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์

อาจารย์จินดา ธรฤทธิ์ ลูกศิษย์อาจารย์แนบอีกคนหนึ่ง “รู้สึกมีความประทับใจ เมื่อเห็นอาจารย์ครั้งแรกรู้สึกได้เลยว่า อาจารย์เป็นศิลปินแท้ๆ ที่เป็นพลังภายในของอาจารย์ สามารถสยบพวกเราที่เรียนได้ อาจารย์มีความตั้งใจและท่านมีสมาธิสูงมาก”อาจารย์เพลินพิศ รัตนกรัณฑ์ “ชอบเรียนวิชาความซาบซึ้งศิลปะของอาจารย์มาก ตั้งใจเรียนตลอดและชอบวิธีการถ่ายทอดของอาจารย์ ที่ทำให้ซาบซึ้งกับความเป็นศิลปะได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้รู้จักรูปอวโลกิเตศวร อาจารย์นั่งวาดภาพไปด้วย นอกจากนี้อาจารย์มีความสนิทสนมกับเพื่อนนักศึกษาคือ นเรศ รัตนกรัณฑ์ มาก พี่นเรศเขาเป็นนักร้องเพลงละติน อาจารย์แนบก็ชอบเพลงละติน”

นเรศ รัตนกรัณฑ์ เรียนที่สงขลา ชอบร้องเพลงละติน บ้านเดิมอยู่ที่ปะนาเระ ปัตตานี เรียนมัธยมอำนวยศิลป์ธนบุรี แล้วออกไปเป็นนักร้องเพลงละตินแถบสุโหงโก-ลก เมื่ออยากเป็นครูก็สอบเทียบบรรจุเป็นครู ต่อมาเมื่อไปเรียนต่อที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา เพื่อจะทำงานร้องเพลงในหาดใหญ่ ทั้งอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ และลูกศิษย์นเรศ รัตนกรัณฑ์ มีความสนิทสนมกันมาก เพราะทั้งคู่หลงใหลเพลงละติน

นเรศชอบนักร้องชาวมาเลย์ชื่อ พี. รัมลี (P. Ramlee) โดยเอาเพลงละตินมาใส่เนื้อภาษามาเลย์และร้องเพลงต้นฉบับ เพลงที่ชอบ อาทิ คาชิโตมิโอ (Cachito Mio) เบซาเมมุโช (Besame Mucho) เป็บปิโต (Pepito) ควอนโด (Quando) คีซัส (Quizas) อะรีเวเดชิโรมา (Arrivederci Roma) เปอร์ฟิเดีย (Perfidia) ฟอร์เดอะกูดไทม์ (For the good time) ซึ่งเพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ ชอบร้องเป็นพิเศษ

เมื่อเบื่อระบบราชการ การสอนนักศึกษาที่ไม่ใช่เอกศิลปะ ความกระหายงานศิลปะดนตรี ลมหายใจที่เรียกหาเสรีภาพ การหาพรรคพวกที่ชอบเล่นดนตรี การหาพื้นที่แสดงงานศิลปะ สถาบันการศึกษาไม่ใช่คำตอบ ชีวิตราชการไม่ตื่นเต้นอีกต่อไป ในที่สุด อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ ตัดสินใจลาออกจากราชการไปแสวงหาวิถีชีวิตใหม่ที่หัวใจต้องการ โดยเซ็นสัญญาเล่นดนตรีที่ภูเก็ตและย้ายไปกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ วิถีชีวิตอาจารย์ศิลป์ พีระศรี อยู่ที่ศิลปากร มีอิทธิพลต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ได้รับอุดมการณ์และรสนิยมทั้งทางตรงและทางอ้อม พบว่าลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์มีบทบาทในด้านศิลปะต่างๆ อาทิ นักเขียน วรรณกรรม จิตรกรรม ศิลปกรรม วรรณคดี โบราณคดี การ์ตูน ประวัติศาสตร์ การละคร และดนตรี อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ ท่านได้เรียนศิลปะจากศิลปากร แต่ก็ไม่ได้เรียนดนตรี โดยชีวิตจริงเล่นดนตรีเป็นอาชีพ ร้องเพลงได้ไพเราะ อาศัยการร้องเพลงและเล่นดนตรีเลี้ยงครอบครัว

อาศรมมิวสิก : ศิลปินใหญ่เสียชีวิตจากโควิด อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์

มีบันทึกไว้ว่า ชีวิตอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ขณะที่ทำงานศิลปะจะร้องเพลง (ฮัมเพลง ผิวปาก) อยู่ 2 เพลง คือ คัมแบ๊กทูเซอร์เรนโต (Come back to Sorrento) ทำนองเพลงบุหลันลันตู ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง แต่บุหลันลันตูนั้นได้รับอิทธิพลมาจากเพลงภาษามาเลย์ ของพี. รัมลี อีกทอดหนึ่ง อีกเพลงหนึ่งคือ เพลงซันตาลูเชีย (Santa Lucia) ต่อมาได้กลายเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นทำนองเดียวกับเพลงย่ำสนธยา
ซึ่งขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง ก็ใช้ทำนองเพลงซันตาลูเชีย ซึ่งที่ศิลปากรนั้น “ดนตรีและศิลปะทำหน้าที่ส่องทางกัน”

ใจหายเมื่อรู้ว่าอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ศพต้องรีบเผา อย่างไร้ญาติขาดมิตร ทั้งๆ ที่มีญาติและมีมิตรที่เคารพรักอีกจำนวนมาก เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์สอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ระมัดระวัง เพราะชีวิตที่เหลืออยู่อาจจะมีเวลาสั้นๆ เมื่อวานเราก็ใช้ไปหมดแล้ว วันนี้กำลังใช้อยู่ พรุ่งนี้จะมีหรือเปล่าก็ไม่รู้ มาเร็วและไปเร็ว เร็วจนไม่มีโอกาสแม้จะบอกลาใครได้เลย

อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ ได้จากไปแล้ว ท่านได้สอนไว้ว่า “ให้เรานึกเอาไว้เสมอว่า เราทำงานศิลปะ เราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เราต้องมีคุณธรรม มีจริยธรรม และเราต้องมีมนุษยธรรมที่มีความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม”

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image