จับตารัฐ‘ปิดปาก’ประชาชน? เปิดบทเรียนทั่วโลก เมื่อกฎหมายสั่งให้เงียบ

ออกมาคอลเอาต์ถล่มทลาย ก่อนโดน ‘หมายเรียก’ กันระนาวเป็นการตอบแทน หลังเหล่าศิลปิน ดารา อีกทั้งมวลมหาเซเลบ พร้อมใจโพสต์วิพากษ์การทำงานของภาครัฐ โดยจัดหนักกรณี ‘วัคซีน’ นักแสดงบางรายเคยเป่านกหวีดอันส่งผลโดมิโนให้เกิดรัฐประหาร ก็ยังอดรนทนเชียร์ไม่ไหวแล้ว

บางราย เคยคอมเมนต์ประเด็นการเมืองจนถูกแบนจากวงการเมื่อกาลก่อน วันนี้ได้ใจประชาชนล้นหลาม เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีแนวคิดเหมือนเจเนเรชั่นก่อนหน้า

ในขณะที่บางรายลั่นพร้อมแจ้งความกลับในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีที่มีสิทธิแสดงความเห็น

ชวนให้ตั้งข้อสังเกตในความพยายามใช้กฎหมายกดทับมุมมองที่ตัวเองไม่พึงใจ

Advertisement
ชาวฮังกาเรียนหลายพันคนประท้วงรัฐบาลฮังการีกรณีออกกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม ณ กรุงบูดาเปสต์เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 (ภาพโดย Gergo Toth)

ครั้นมองภาพใหญ่ยิ่งไปกว่านั้น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.เอ็นจีโอ ซึ่งกำลังอยู่ในวาระการพิจารณาจากรัฐบาลในตอนนี้ ที่ภาคประชาสังคมมองว่าจะส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มของประชาชนในทุกรูปแบบอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสมาคม มูลนิธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตลอดจนคณะบุคคลที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย แต่ทำกิจกรรมโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหารายได้หรือกําไร เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความคลุมเครือและกว้างขวางมาก ทั้งยังมอบอำนาจให้รัฐบาลพิจารณาว่าจะยกเว้นองค์กรใดภายใต้การบังคับใช้กฎหมายนี้ด้วย อาจนำไปสู่การปิดกั้นการแสดงออกและการลงโทษจากภาครัฐในเวลาต่อมา

ไม่ได้พูดลอยๆ เพราะมีบทเรียนมาแล้วจากทั่วโลก ส่วนในไทยแฮชแท็ก #ไม่เอาพ.ร.บ.NGO ก็กลายเป็นเทรนด์ติดอันดับ

จับตา ผ่าน-ไม่ผ่าน

Advertisement

หวั่นช่องว่าง ‘ประชาชนกับรัฐ’ ยิ่งกว้าง

ไพโรจน์ พลเพชร

ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจในประเด็นเรื่องกฎหมายกับองค์กรไม่แสวงหากำไรในไทย ซึ่ง ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) อธิบายในเสวนาออนไลน์ “เมื่อรัฐสั่งให้ภาคประชาสังคมเงียบ: บทเรียนจากทั่วโลกถึงไทย” ว่าองค์กรประชาสังคมในไทย แบ่งออกเป็น องค์กรพัฒนาสังคม หรือเอ็นจีโอ ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากปัญญาชนที่อยากพัฒนาสังคม เคลื่อนไหวต่อกลุ่มเป้าหมายที่ตนสนใจ ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน เด็กหรือผู้สูงอายุ อีกประเภทหนึ่งคือ องค์กรของประชาชน และกลุ่มที่สามเป็น องค์กรชุมชน เป็นการรวมตัวเพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชนตัวเอง

“หลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2540 เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบภาครัฐ และทำให้องค์กรภาคประชาชนแข็งแรงมากขึ้น รัฐไม่อาจกำหนดทิศทางนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวอีกต่อไปแล้ว เป็นการสร้างสมดุลแห่งอำนาจใหม่ในสังคมไทย ตนคิดว่านี่เป็นเหตุผลให้มีการออกกฎหมายควบคุมภาคสังคม เนื่องจากระยะหลังรัฐถูกตรวจสอบบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐประชาธิปไตย หรือรัฐราชการแบบปัจจุบัน ย่อมต้องการกำกับควบคุมองค์กรเหล่านี้ รัฐจึงจำเป็นต้องออกกฎหมายเฉพาะขึ้นมายุติความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐว่าไม่ได้ใช้กฎหมายตามอำเภอใจ”

ไพโรจน์ ย้ำว่า รัฐอยากกำหนดกฎหมายกลาง กำกับซ้ำเข้าไปเพื่อคลุมองค์กรเอ็นจีโอทั้งหมดให้เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรนิติบุคคล มูลนิธิที่จดทะเบียนกับกฎหมายอื่นๆ ก็เข้ามาอยู่ใต้กฎหมายนี้ โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ขึ้นทะเบียน แต่รวมตัวกันเป็นคณะบุคคลตามรัฐธรรมนูญ โดยส่วนมากเป็นองค์กรประชาชนเล็กๆ หมายความว่าทุองค์กรที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนต้องมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวงว่าแต่ละองค์กรต้องมีจำนวนคนเท่าไหร่ทำกิจกรรมอะไร แต่หากไม่ยอมไปขึ้นทะเบียนจะไม่อาจทำกิจกรรมในประเทศไทยได้ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่รณรงค์เพื่อแก้ปัญหาน้ำเสีย ก็อาจทำกิจกรรมไม่ได้เลย กฎหมายเหล่านี้จึงจะทำให้กลุ่มชาวบ้านเล็กๆ เหล่านี้ล้มหายไป

“เชื่อว่าเป้าหมายที่แท้จริงของกฎหมายฉบับนี้คือ เพื่อจับตาการรับเงินจากต่างประเทศ ทั้งที่จริงๆ การรับเงินจากต่างประเทศก็ต้องถูกตรวจสอบ มีกระบวนการต่างๆ โดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่กฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อกำกับว่าจะให้ไปรับเงินหรือไม่ จึงเป็นการพยายามควบคุมกิจกรรม ควบคุมรายได้ของแต่ละองค์กร

หากกฎหมายนี้ผ่าน จะทำให้องค์กรทั้งหลายที่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะได้รับผลกระทบ ประชาชนต่างๆ จึงได้รับผลกระทบไปด้วย ตลอดไปจนสังคม และทำให้ช่องว่างระหว่างคนกับรัฐกว้างขึ้น และรัฐจะยิ่งเอียงข้างให้กลุ่มทุนและธุรกิจมากยิ่งขึ้น ประชาชนจึงเสียสิทธิต่างๆ เพราะไม่มีองค์กรภาคประชาสังคมคอยส่งเสียงเรียกร้องให้ ที่สำคัญมันคือการกีดกันคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วม” ไพโรจน์กล่าว

‘พ.ร.บ.เอ็นจีโอ’ พิจารณาไว

พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย แทบไม่คืบ!

ปิยนุช โคตรสาร

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้ได้รับการพิจารณาเร็วมาก ขณะที่กฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายกลับแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย

“พ.ร.บ.ดังกล่าวเต็มไปด้วยปัญหาในเชิงกระบวนการและเนื้อหา ทั้งยังทับซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่นๆ อยากเตือนรัฐว่าเพิ่งได้รับการลดระดับมาเป็นกลุ่มเทียร์ 2 เฝ้าระวังในรายงานการค้ามนุษย์ และนี่จะกระทบต่อรัฐโดยตรงทั้งภาครัฐ เศรษฐกิจ และภาคธุรกิจ หากรัฐผ่านกฎหมายตัวนี้จะไม่ทำให้สถานการณ์และความเชื่อมั่นต่างๆ ดีขึ้นเลย นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบในสังคมมากๆ ช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤตของโรคโควิด-19 หากสกัดไม่ให้องค์กรภาคประชาสังคมทำงาน ก็จะล้มกันทั้งหมด”

‘อินเดีย’ กฎหมายไม่เป็นธรรม

เสริมความเหลื่อมล้ำหนักหน่วง

ว่าแล้ว มาเข้าประเด็นบทเรียนทั่วโลกที่จะเป็นกระจกส่องให้ไทยแลนด์ได้มองเห็นว่าเหตุใด จึงไม่ควรเดินตามความผิดพลาดในอดีต

อาการ์ พาเทล

อาการ์ พาเทล อดีตผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดีย เล่าว่า ในอินเดียนั้นประเด็นหลักของกฎหมายฉบับนี้ คือ การที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือเอ็นจีโอ (NGO) ที่ต้องการได้รับเงินจากต่างประเทศต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐบาลกลาง โดยต้องอธิบายว่าต้องใช้เงินไปทำอะไร ต้องกรอกแบบฟอร์มต่างๆ มากมาย และจากนั้นรัฐบาลจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ หรือแม้แต่ไม่ตอบเลยก็ได้ เอ็นจีโอไม่อาจเดินเรื่องเพื่อไปรับเงิน ซึ่งทำให้ทำงานต่อไม่ได้ ส่งผลให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต้องประกาศยุติภารกิจในประเทศอินเดีย รวมทั้งเอ็นจีโออื่นๆ อีกจำนวนมาก

“เอ็นจีโอกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในอินเดียต้องเดินทางมายังเมืองนิวเดลีทั้งที่เป็นช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อมาทำกระบวนการด้านการเงินที่อยู่กลางเมืองหลวง ทำให้เอ็นจีโอที่อยู่ต่างจังหวัด และทุนน้อยได้รับความยากลำบากมาก ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะองค์กรเอ็นจีโอในนิวเดลีเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้”

“นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดว่า อนุญาตให้นำเงินไปใช้เพื่อการบริหารต่างๆ ในองค์กรได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นทั้งที่กิจการในองค์กรนั้นมีจำนวนมาก และไม่ได้จัดการได้โดยง่าย และยังทำให้กระจายเงินต่อองค์กรต่างๆ ได้อย่างยากลำบากด้วย ทั้งที่จริงๆ มีเอ็นจีโอทำงานท้องที่ และไม่มีสำนักงานในเมืองหลวง ไม่สามารถระดมทุนได้แบบองค์กรเอ็นจีโอระดับใหญ่ ทำให้องค์กรเล็กๆ เหล่านี้เกิดความยากลำบากมาก และไม่อาจสานต่องานของตัวเองได้”

อาการ์ ยังยกตัวอย่างงานวิจัยว่า กฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้นั้น ทำให้รัฐบาลอินเดียกำหนดให้ออฟฟิศเอ็นจีโอที่ต้องการเงินสนับสนุนจากต่างประเทศต้องมอบข้อมูลชีวภาพของตนให้รัฐบาล เช่น ลายนิ้วมือ ตลอดจนเป็นกฎหมายที่ทำให้องค์กรเอ็นจีโอหลายแห่งทำงานได้ยากมากขึ้น โดยองค์กรเอ็นจีโอที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ด้านการศึกษา จะไม่สามารถใช้เงินบริจาคจากต่างประเทศเพื่อใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ได้เลย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่องค์กรหลายแห่งไม่สามารถรับเงินมาซื้อถังออกซิเจนได้ หรือจัดทำกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากกิจกรรมที่ได้แจ้งรัฐบาลไว้

“เคยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาบุกรุกออฟฟิศในปี 2561 และองค์กรถูกยึดบัญชีธนาคาร ผมถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังต้องขึ้นศาล เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นไปตามที่ควรเป็น ตนต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมอย่างหนักหน่วง นี่เป็นสิ่งที่เอ็นจีโอในอินเดียต้องเผชิญหลังจากมีการผ่านกฎหมายนี้ หวังว่าคนไทยจะไม่ต้องเจอกับกฎหมายนี้เช่นเดียวกับอินเดีย”

จอร์จ โซรอส ในบทเรียนจาก ‘ฮังการี’

แอรอน ดิมิเทอร์

จากเอเชีย เขยิบไปดูประสบการณ์จากโลกตะวันตกกันบ้าง ดังเช่นที่ แอรอน ดิมิเทอร์ ผู้อำนวยการโครงการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮังการี บอกว่า ที่ผ่านมาฮังการีผ่านกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้ เมื่อปี 2560 โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 รัฐบาลพยายามปิดปากเอ็นจีโอที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองของรัฐบาล โดยกล่าวหาว่า แอมเนสตี้พยายามล้มรัฐบาลด้วยการรับเงินทุนจากต่างประเทศ โดยตอนนั้นถูกรัฐบาลฮังการีกล่าวหาหลายข้อหา เช่น ข้อหาหลบเลี่ยงภาษีโดยไม่มีหลักฐานใดๆ

ต่อมาในปี 2559-2560 เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรป และประเทศฮังการี มีระบบให้การลี้ภัยแย่ที่สุด เพราะว่าหากเอ็นจีโอองค์กรใดต้องการรณรงค์ประเด็นผู้ลี้ภัยจะถูกรัฐบาลเพ่งเล็งอย่างมาก ทั้งรัฐบาลยังอ้างว่าองค์กรเอ็นจีโอเหล่านี้รับเงินมาจาก จอร์จ โซรอส นักธุรกิจที่ทำมูลนิธิด้านสิทธิมนุษยชน สนับสนุนให้กลุ่มประเทศยุโรปรับผู้อพยพ และมักบริจาคเงินให้องค์กรไม่แสวงผลกำไร จนรัฐบาลฮังการีออกแคมเปญ Stop Soros เพื่อหาทางเอาผิดเอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ โดยต่อมามีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ และกำลังรอคำสั่งจากศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปด้วยว่าจะพิจารณาประเด็นแคมเปญกับข้อกฎหมายนี้อย่างไร

“ในปี 2563 ฮังการีผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.ความโปร่งใสขององค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยมีการตั้งมาตรฐานขั้นต่ำของเงินที่ได้รับจากต่างประเทศ ราว 970,000 บาท หากองค์กรใดได้มากกว่านี้ต้องจดทะเบียนว่าเป็นองค์กรที่ได้รับเงินจากต่างประเทศและต้องทำเรื่องรายงานข้อมูลส่วนตัวของคนที่ให้เงินมาด้วย ซึ่งแอมเนสตี้ ฮังการีออกมาประกาศว่าจะอารยะขัดขืนต่อกฎหมายฉบับนี้ และอาจเป็นไปได้ว่าอาจต้องไปต่อสู้คดีที่ศาล ซึ่งที่ยุโรปมีศาลยุโรปเข้ามาช่วยตัดสินว่ากฎหมายเป็นไปตามรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศหรือไม่ โดยต่อมากฎหมายฉบับนี้ศาลยุโรปได้แถลงว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของศาลยุโรป และให้รัฐบาลฮังการียกเลิกกฎหมายในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น

ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคม หากสามารถนำกฎหมายไปยื่นศาลทั้งในระดับประเทศ หรือภูมิภาคก็เป็นสิ่งที่ควรทำ รวมทั้งต้องเคลื่อนไหวในช่องทางอื่นๆ เพื่อตอบโต้การถูกคุกคามต่างๆ เหล่าองค์กรเอ็นจีโอที่เข้มแข็งควรจะสร้างเครือข่ายขึ้นมา เพื่อสื่อสารต่อประชาชนในสังคมว่ากฎหมายนี้มันส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วนอย่างไร” แอรอนกล่าว ก่อนย้ำว่า

หากเราล้มเลิกทำในสิ่งที่รัฐบาลอยากให้เราล้มเลิก เท่ากับว่าเราไม่ได้ชนะ และปล่อยให้รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะในที่สุด

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image