แกะรอยเส้นทางการค้าโบราณ ‘สิงขร-ตะนาวศรี-มะริด’

เกวียนยังเป็นพาหนะของคนตะนาวศรีมาแต่อดีตจนปัจจุบัน

เส้นทางจากด่าน ตม.สิงขร ต.คลองวาฬ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เข้าสู่ภาคตะนาวศรี ประเทศเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรัง ในฤดูฝนแบบนี้การเดินทางทุลักทุเลพอสมควร

ผมและทีมข่าวชายขอบ (www.tranbordernews.co.th) ลงเก็บข้อมูลผู้คนและวิถีชีวิตช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ใช้เส้นทางการค้าโบราณ ไล่ตั้งแต่หมู่บ้านมูดอง, หมู่บ้านสิงขร, หมู่บ้านสองช่อง, อ.ตะนาวศรี ปิดท้ายที่ จ.มะริด

แวะจุดแรกบริเวณช่องสันพราน หรือ “ด่านสิงขรเก่า” ช่องเขาธรรมชาติที่เตี้ยที่สุดของเทือกเขาตะนาวศรี ชาวบ้านเรียก “แดนน้อย” ขบวนคาราวานขนสินค้าไป-มาผ่านช่องนี้ มีศาลเจ้าที่ไทยและเจ้าที่พม่าตั้งไว้ให้ผู้ผ่านทางกราบไหว้ขอพรให้ช่วยคุ้มกันภยันตราย

จากช่องสันพรานผ่านบ้านทรายขาวเข้าสู่บ้านสิงขร อ.ตะนาวศรี หมู่บ้านแห่งนี้พูดภาษาไทยใต้แบบคนใต้บ้านเรา ด้วยเหตุผลทางการเมืองและการปกครองยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยุคอาณานิคม และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต เกิดการอพยพโยกย้ายไป-มา ในท้ายสุดพวกเขากลายเป็น “คนพม่าเชื้อสายไทย” แต่ทางการไทยเรียก “คนไทยพลัดถิ่น”

Advertisement

บางส่วนอพยพไปอยู่ฝั่งไทยที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะสื่อสารกันรู้เรื่อง มีวัฒนธรรมและประเพณีเหมือนกัน เช่น บุญเดือน 10 หนังตะลุง โนราห์ เป็นต้น

“อยู่ทางนี้ พม่าก็ว่าคนไทย ไปอยู่ทางไทย ตำรวจไทยบอกพม่า ทั้งๆ ที่พูดไทยได้ จะไปอยู่ไทยก็ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีเงินซื้อ อยู่ที่สิงขรมีที่ดินบรรพบุรุษให้ทำกิน มีญาติพี่น้อง เราเป็นคนไทยเหมือนกันหัวใจเป็นไทยอยู่” ยายเลียบ วัย 73 ปี กล่าวตัดพ้อ

ยายเลียบ

ถ้าไม่มีเส้นเขตแดนกั้น พวกเขาก็คนไทยดีๆ เรานี่เอง ยิ่งได้เดินฝ่าสวนหมากเข้าไปดูวัดร้าง ชมศาลาการเปรียญเก่าแก่ เขาเก็บหน้ากากไม้ที่ใช้เล่นโนราห์ เป็นหน้าพราน หน้ากากขาว และตัวตลก มีตำราสมุนไพรเขียนด้วยภาษาไทย “สุวรรณ ศรีสุวรรณ” ไทบ้านสิงขร ไกด์นำทางเล่าว่า วัดนี้เคยเป็นศูนย์กลางหมู่บ้านมากว่า 200 ปี มีแม่น้ำสิงขรไหลผ่าน ชาวบ้านเพิ่งย้ายออกไปอยู่ติดถนนใหญ่เมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

แม่น้ำสิงขรด้านหนึ่งไหลไปบรรจบแม่น้ำท่าแพ ขึ้นบกเดินข้ามช่องสันพรานไป อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีกด้านหนึ่งบรรจบกับแม่น้ำสองช่อง เชื่อมต่อแม่น้ำตะนาวศรี ก่อนไหลสู่อ่าวเมืองมะริด นี่เป็นโครงข่ายเส้นทางการค้าโบราณมาช้านาน

ริมแม่น้ำสองช่องยังเป็นที่ตั้งเมืองโบราณสิงขร ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันดูแลเส้นทางค้าในอดีต มีอายุย้อนหลังนับพันปี กว่าจะเข้าถึงได้ เราต้องเดินฝ่าสายฝน ผ่านทุ่งนา ป่าไผ่ และดงสาบเสือเข้าไปราวครึ่งชั่วโมง พบคูเมืองล้อมรอบที่ราบใหญ่ มีซากกำแพงซากอิฐหลงเหลือ หากนั่งเรือตามแม่น้ำสองช่องไปเมืองตะนาวศรีราว 15 กิโลเมตร จะผ่านท่าเรือโบราณชื่อ “แลดองยาง” เหนือท่าเรือเป็นภูเขาซึ่งประดิษฐานรอยพระพุทธบาท มีจารึกกำกับ เมื่อไม่นานมานี้มีผู้พบเศษถ้วยชามสมัยราชวงศ์ถังและเวียดนามยุคต้น พบแร่ก้อนใหญ่น้ำหนัก 20 กิโลกรัม จารึกภาษาอาหรับไว้ หลักฐานทั้งหมดถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองทวาย

ตะนาวศรีมีอายุราว 744 ปี เคยมีกษัตริย์ปกครองก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของกษัตริย์ไทยสลับกับพม่ามาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย กรุงศรีฯ และต้นรัตนโกสินทร์ กษัตริย์ไทยหลายสมัยทรงตั้งข้าราชการส่วนกลางไปเป็นเจ้าเมือง คอยควบคุมดูแลเส้นทางการค้าขายกับต่างชาติ ระหว่างเมืองหลวง เพชรบุรี กุยบุรี สิงขร ตะนาวศรี และมะริด

(ซ้ายบน) แม่น้ำตะนาวศรีเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างสิงขร-ตะนาวศรี-มะริดมาช้านาน (ขวาบน) ลุยป่ากลางสายฝน ดูคูเมืองโบราณสิงขร (ซ้ายล่าง) หน้ากากไม้โนราห์อายุนับร้อยปีในวัดร้างหมู่บ้านสิงขร (ขวาล่าง) อ.สมเกียรติอธิบายเรื่องใบเสมารอบอุโบสถวัดตะนาวศรีใหญ่

ตัวเมืองปัจจุบันมีคูเมือง กำแพงเมือง และภูเขาโอบล้อมอยู่ด้านหน้า ด้านหลังมีแม่น้ำตะนาวศรีต่างคูเมือง แสดงว่าสร้างทับซ้อนเมืองเก่ามาหลายยุค นอกเหนือจากเดินชมเมืองในรัศมีไม่กี่ตารางกิโลเมตรแล้ว อ.สมเกียรติ อองจิมิด นักวิชาการท้องถิ่น ในฐานะล่าม-ไกด์ชาวพม่า พาไปดูสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกรุงสยาม เช่น สระน้ำรัชมังคลาตั้งอยู่ข้างวังโบราณซึ่งปัจจุบันสร้างวัดทับไว้, ศาลหลักเมือง และวัดตะนาวศรีใหญ่

พระอุโบสถในวัดตะนาวศรีใหญ่มีพระประธาน พระพักตร์และพระเกศได้รับอิทธิพลสุโขทัย จีวรแบบอยุธยา แต่พระกรรณแบบพม่า (ยาวจรดไหล่) อายุราว 400-500 ปี นักวิชาการท้องถิ่นเรียก “ศิลปะแบบตะนาวศรี”

อ.สมเกียรติสันนิษฐานว่าวัดตะนาวศรีใหญ่เป็น 1 ใน 13 วัดไทยโบราณที่กษัตริย์สมัยกรุงศรีฯทรงมีรับสั่งให้สร้างเป็นวัดชั้นเอก

ประจำเมืองขึ้น และอยู่ในขอบเขตขัณฑสีมาของราชธานีสยาม ยังมีอีกแห่งหนึ่งที่เมืองมะริดชื่อ “วัดตอจาง” ในวันถัดมาเรานั่งเรือล่องแม่น้ำตะนาวศรีมายังเมืองมะริด ใช้เวลา 3 ชั่วโมง มาถึงแล้วขึ้นเขาชมวัดตอจาง เห็นใบเสมารอบพระอุโบสถ ลวดลายและรูปทรงร่วมสมัยอยุธยาเช่นเดียวกับที่ตะนาวศรี วัดนี้มีอายุ 328 ปี เจ้าอาวาสองค์ที่ 2 เป็นชาวสยามชื่อ “ปชูโฮเมียว”

มีหลักฐานโบราณคดีและบันทึกร่วมสมัยของชาวตะวันตกหลายฉบับบ่งบอกว่าการเดินเรือตัดแหลมมลายูผ่านทางเมืองมะริด ตะนาวศรี สิงขร มายังอ่าวไทยที่กุยบุรี เป็นเส้นทางที่นิยมใช้กันมากในหลายยุคหลายสมัย ว่ากันว่าเป็นอีกหนึ่ง “เส้นทางสายไหม” ที่สำคัญเชื่อมต่อการค้าโบราณระหว่างเปอร์เซีย อินเดีย กับจีน และเมืองต่างๆ ในสมัยทวารวดี กรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ดี หลักฐานต่างๆ ช่วยให้เห็นเพียงภาพกว้างๆ ผสมปนเปไปกับเรื่องเล่าและตำนานพื้นบ้าน ในอนาคตหากมีการศึกษาค้นคว้าจารึกต่างๆ มีการขุดค้นเมือง ท่าเรือ และชุมชนโบราณอย่างเป็นเรื่องเป็นราว น่าจะพบหลักฐานเชื่อมโยงและปะติดปะต่อจนสามารถอธิบายเรื่องราวบนเส้นทางการค้าโลกที่เป็นจริงได้กระจ่างชัดขึ้น แต่น่าเสียดายตรงทางการพม่าไม่สนใจเรื่องนี้เท่าไหร่ ขณะที่นักวิชาการท้องถิ่นยังไม่มีทุนรอนพอ

อ.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล นักวิชาการอิสระ ซึ่งร่วมคณะมาด้วยเล่าให้ฟังว่า ช่วงนี้ทำได้เพียงแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักวิชาการท้องถิ่นใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ตะนาวศรี และมะริด เพื่อนำไปสู่การร่วมมือกันศึกษาค้นคว้าในเชิงลึก ส่วนจะไปได้ไกลแค่ไหนขึ้นกับหลายปัจจัย โดยเฉพาะทุน

แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ทางการทั้งสองประเทศจะต้องเร่งปรับปรุงถนนสู่เส้นทางการค้าโลกโบราณให้เร็วกว่าเดิม ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเกิดการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนมากขึ้น ตามมาด้วยการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เกิดการใคร่รู้ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งปวงจะส่งผลต่อการเร่งพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการตามมา

รอยทางการค้าโลกสายนี้จะได้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image