โควิดก็ต้องแก้ เมืองก็ต้องพัฒนา กทม.ทุ่มปรับโฉม ‘คลองช่องนนทรี’ เทียบชั้น ‘ชองกเยชอน’

ผ่านมา 7 เดือนแล้วสำหรับปี 2564 แต่ดูเหมือนโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กลับมาแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนเมษายนยังไม่ทุเลาเบาบาง นับวันยอดป่วย เสียชีวิตยิ่งเพิ่มขึ้น จนเกินขีดความสามารถที่ทีมแพทย์และระบบสาธารณสุขจะรับไหว

ขณะที่ “ระบบเศรษฐกิจ” มีอาการไม่ต่างจากผู้ป่วยโควิด ที่ลมหายใจเริ่มรวยริน ทั้งผู้มีอันจะกิน ยันผู้มีรายได้น้อย

หากประเมินห้วงเวลา 5 เดือนนับจากนี้ถึงสิ้นปี 2564 “เศรษฐกิจประเทศไทย” จะไปต่ออย่างไร การลงทุนภาครัฐจะยังลื่นไหลหรือสะดุดตามการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวจากความไม่เชื่อมั่น

นักวิชาการหลายสำนักคาดการณ์ หากมาตรการ “ล็อกดาวน์” 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงยังไร้ผล กับการกระจายฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ไม่มาตามนัด อาจจะได้เห็นการประกาศ “ล็อกดาวน์” ซ้ำอีกหลายระลอก

Advertisement

อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินว่า

“มาตรการขยายล็อกดาวน์ 13 จังหวัดไม่ได้ผลเท่าไหร่นักและทำให้ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อยุธยา ซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมส่งออกได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชนเพิ่มขึ้น”

พร้อมแนะ “รัฐบาล ภาคธุรกิจและครัวเรือน ควรเตรียมเม็ดเงินสำหรับสถานการณ์ที่ประเทศต้องล็อกดาวน์เป็นระยะๆ ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมดควรเลื่อนออกไปก่อน เช่น การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่จำเป็น”

Advertisement
คลองช่องนนทรี ภาพถ่ายจากถนนนราธิวาสราชนครินทร์

‘กรุงเทพฯ’ บริหารงบประมาณ

เดินหน้าลงทุน คู่ขนานกู้วิกฤตโควิด

สำหรับ “กรุงเทพมหานคร” ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศแม้สถานการณ์โควิดยังวิกฤต แต่การขับเคลื่อนการลงทุน การพัฒนาโครงการที่ได้รับงบประมาณแล้วยังต้องเดินหน้าต่อ เพื่อให้เงินหมุนเข้าระบบเศรษฐกิจ

เป็นการเดินหน้าคู่ขนานไปกับการแก้ปัญหาโควิด หลังผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 1.4 แสนคน จน “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั่งไม่ติด จัดทีมผู้บริหารกระจายกำลังลงพื้นที่ รีเช็กการตรวจเชิงรุกชุมชน ขยายโรงพยาบาลสนาม เพิ่มเตียง ตั้งศูนย์พักคอย

แต่เพิ่มเท่าไหร่ก็ยังไม่พอรองรับผู้ป่วยใหม่ยังทะยานวันละหลักพัน

ล่าสุดร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ปรับตู้นอนรถไฟ 15 โบกี้ ภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์พักคอยแห่งใหม่ได้มาอีก 240 เตียง เปิดรับผู้ป่วยได้วันที่ 30 กรกฎาคมนี้

ถามว่าสถานการณ์โควิดหนักขนาดนี้ “กทม.” ต้องเตรียมงบประมาณหรือปรับลดเงินส่วนไหนมารองรับหรือไม่

ปรับภูมิทัศน์คลองให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับชุมชนและคนทำงาน

ชนะพนธิ์ ศรีรัตนพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กทม. กล่าวว่า กทม.คาดการณ์ในปีงบประมาณ 2564 จะจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 67,555 ล้านบาท เท่ากับปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 75,500 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ และการปรับลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ทำให้จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,000-8,000 ล้านบาท

“ภายใต้สถานการณ์โควิด กทม.พยายามบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่ให้ครอบคลุมทุกด้านทั้งจัดการโควิด ลงทุนโครงการใหม่ การพัฒนาเมือง ระบบความปลอดภัย ให้ทุกอย่างเดินหน้าไปด้วยกัน”

ชนะพนธิ์อธิบายว่า ปัจจุบัน กทม.มีเงินสะสมอยู่ 66,305 ล้านบาท แต่สามารถนำมาใช้ได้จริงประมาณ 20,000 ล้านบาท ปีนี้ได้ขอยืมเงินสะสมประมาณ 7,500 ล้านบาท สำหรับทดรองจ่ายเป็นเงินเดือน 4,000 ล้านบาท อีก
3,000 กว่าล้านบาท เป็นการพัฒนาโครงการผูกพันที่จำเป็นและดำเนินการเสร็จใน1 ปี โครงการไหนที่ชะลอได้ให้ของบประมาณปี 2566

“ยังได้ขอยืมเงินสะสมอีกกว่า 49 ล้านบาท ซื้อวัคซีนอีกด้วย ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯกทม.สามารถดำเนินการได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท”

ขณะเดียวขอจ่ายขาดเงินสะสมอีกกว่า 377 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปี 2564 สำหรับสำนักการแพทย์กว่า 214 ล้านบาท สำนักอนามัย 344,100 บาท สำนักการศึกษากว่า 57 ล้านบาท สำนักสิ่งแวดล้อมกว่า 61 ล้านบาท สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว 44 ล้านบาท เช่น ใช้ในการแก้ปัญหาป้องกันโควิด-19 งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัด กทม. จัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เป็นต้น

สภาพคลองช่องนนทรีบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีช่องนนทรี

ทุ่ม 980 ล้าน ปรับโฉม ‘คลองช่องนนทรี’

เนรมิต ‘สวนสาธารณะ’ ยาวที่สุด

ท่ามกลางการบริหารงบลงทุนโครงการให้ลงล็อกกับแผนที่เงินมีอยู่บนหน้าตัก มีหนึ่งโครงการที่น่าสนใจซึ่ง “กทม.” ตั้งเป้าจะให้แล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อรับการประชุมเอเปค หรือ “กรอบความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

โครงการปรับปรุงคลองช่องนนทรี คือโครงการที่กำลังกล่าวถึง ซึ่งโครงการนี้เป็นการพัฒนาแบบ “ทูอินวัน” มีปรับภูมิทัศน์คลองและระบบระบายน้ำอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน มีโมเดล “คลองชองกเยชอน” ประเทศเกาหลีใต้เป็นต้นแบบ

โครงการนี้ “พล.ต.อ.อัศวิน” พ่อเมืองเสาชิงช้า ตั้งเป้าจะให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางเมืองพ่วงไปด้วยอีกมิติ ตามโรดแมป “Green Bangkok 2030” จะเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวให้เป็น 10 ตารางเมตรต่อคน ภายในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.08 ตารางเมตรต่อคน ยังน้อยกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน

และน้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองต่างๆ ของโลก เช่น ปารีส 10.58 ตารางเมตรต่อคน นิวยอร์ก 16.97 ตารางเมตรต่อคน ลอนดอน 31.69 ตารางเมตรต่อคน กัวลาลัมเปอร์ 50 ตารางเมตรต่อคน สิงคโปร์ 66 ตรางเมตรต่อคน และซิดนีย์ 235.73 ตารางเมตรต่อคน

หลังประกาศเปิดตัวโครงการวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 จากจุดเริ่มต้นในวันนั้นมาถึงเดือนกรกฎาคม 2564 ข้อมูลอัพเดตจาก “ศักดิ์ชัย บุญมา” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักการโยธา กทม.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง มีระยะทาง 4.5 กิโลเมตร

บรรยากาศคลองช่องนนทรีผ่านย่านชุมชน การค้า

โครงการพาดผ่านพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตบางรัก เขตสาทร และเขตยานนาวา เริ่มจากถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนรัชดาภิเษก จรดถนนพระราม 3 และแม่น้ำเจ้าพระยา ค่าก่อสร้าง 980 ล้านบาท

จะแบ่งสร้าง 5 ช่วง ได้แก่ ช่วงถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ระยะทาง 800 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท ช่วงถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท

ช่วงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร วงเงิน 370 ล้านบาท ช่วงถนนจันทน์ถึงถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 1 กิโลเมตร วงเงิน 250 ล้านบาท และช่วงถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระราม 3 ระยะทาง 900 เมตร วงเงิน 200 ล้านบาท

รูปแบบโครงการจะขุดลอกตัวคลองเพิ่มไม่ให้ตื้นเขิน กำจัดสิ่งที่เป็นสิ่งกั้นทางน้ำไหลออก อุดท่อน้ำเสียจากบ้านเรือนและโรงงานที่ไหลมาลงคลองทั้งหมด พร้อมดึงน้ำดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ตัวคลอง และผลักน้ำเสียออกไปจากคลองเข้าสู่โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรีที่อยู่ใกล้บำบัดก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จะทำให้น้ำในคลองช่องนนทรีใสตลอดทั้งปี

ขณะที่ทางเดินเลียบคลองทั้ง2 ด้าน จะออกแบบเป็นสวนสาธารณะตลอดแนว มีจุดนั่งพักผ่อน ทางเดิน ทางวิ่งออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ยืนต้นให้ความร่มรื่น และไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อความสวยงามให้สอดรับกับสภาพอากาศแต่ละฤดู

“ปีนี้ได้งบ 80 ล้านบาท ช่วงถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร กำลังประกวดราคา จะได้ผู้รับเหมาและเริ่มดำเนินการเดือนสิงหาคมนี้ จะแล้วเสร็จต้นปี 2565 ที่เหลือจะของบปี 2565 เมื่อแล้วเสร็จทั้งโครงการจะเป็นสวนสาธารณะเลียบคลองที่ยาวที่สุดในกรุงเทพฯ”

รองผู้ว่าฯกทม.บอกอีกว่า กทม.ยังมีแผนปรับปรุงคลองสาทรที่เชื่อมต่อกับคลองช่องนนทรี ทำระบบการไหลเวียนของน้ำผ่านสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติคลองไผ่สิงโต ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางคลองพระโขนง

นอกจากจะช่วยฟื้นฟูระบบคลองแล้ว ยังช่วยแก้ไขน้ำเน่าเสียในพื้นที่ยานนาวา สาทร ปทุมวัน คลองเตย พระโขนง พร้อมทั้งจะปรับปรุงภูมิทัศน์สองฝั่งคลองเป็นจุดพักผ่อนและท่องเที่ยวสำหรับประชาชนด้วย

เพิ่มเส้นทางวิ่ง-จักรยาน ระยะทางไปกลับ 9 กม.

เปิดที่มา ทำไมต้อง ‘คลองช่องนนทรี’

อาจจะยังมีคำถามว่า ทำไม “กทม.” ถึงเลือก “คลองช่องนนทรี” เป็นต้นแบบ ทั้งที่เป็นคลองที่แคบที่สุด มีความกว้างช่วงปากคลอง 20 เมตร และช่วงที่เลียบถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มีความกว้าง 6-8 เมตรเท่านั้น

ย้อนไปเมื่อปี 2563 “พล.ต.อ.อัศวิน”กล่าวว่า กทม. มีนโยบายพัฒนาคลองให้ระบายน้ำได้ดี สะอาด มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งคลองช่องนนทรีมีศักยภาพในการพัฒนา เพราะอยู่ในพื้นที่เขตเมือง มีประชาชนสามารถเข้าถึงจำนวนมาก การคมนาคมสะดวก มีถนนตัดผ่านหลายสาย มีรถไฟฟ้า รถเมล์บีอาร์ที รวมทั้งภาคเอกชนในพื้นที่ยังพร้อมให้ความร่วมมือ ร่วมพัฒนาและปรับปรุง
ภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี

“จึงมีแนวคิดปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีให้เป็นคลองต้นแบบการจัดการเพื่อพัฒนาคลองต่างๆ ของ กทม. การพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นภารกิจที่สำคัญที่ กทม.ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม”

“พล.ต.อ.อัศวิน” ยังบอกอีกว่า สำหรับโครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีนับเป็นครั้งแรกของ กทม. ที่ได้ดำเนินการพัฒนาคลองในรูปแบบของ “สวนเลียบคลอง” หรือ Linear Park ภายใต้แนวคิด “เขียว คลอง คน ความรู้” ให้ตอบโจทย์คนเมือง

เขียว “สื่อถึงพื้นที่สีเขียวที่จะถูกพัฒนาขึ้นตลอดแนวริมคลองทั้ง 2 ฝั่ง”

คลอง “สื่อถึงความผูกพันระหว่างกรุงเทพฯ กับสายน้ำที่มีมาแต่โบราณ โดยในอดีตนอกจากบรรพบุรุษของเราจะใช้คลองเป็นปราการสำคัญในการป้องกันเมืองแล้วยังใช้เป็นเส้นทางสำหรับการสัญจรและการค้าขายอีกด้วย”

คน “สื่อถึงการเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ บางรัก สาทร และยานนาวา ตลอดเส้นทางที่คลองช่องนนทรีทอดตัวไหลผ่าน รวม 2 ฝั่งคลองเป็นระยะทาง 9 กิโลเมตร”

ความรู้ “คือ วางเป้าหมายให้สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เป็นพื้นที่กิจกรรมและการเรียนรู้และเป็นเส้นทางเชื่อมการสัญจรด้วยการเดินเท้า รับวิถีชีวิตยุคใหม่”

“เป็นการริเริ่มของโครงการ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง พัฒนาทางสาธารณะ ปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองช่องนนทรี เป็นสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกาย วิ่ง เดินปั่นจักรยาน จัดกิจกรรมต่างๆ แม้เป็นสวนสาธารณะที่แคบที่สุด แต่มีความยาวมากที่สุด”

พลิกฟื้นระบบนิเวศคลองเป็นแห่งแรกของไทย

ลุยต่อ ‘คลองผดุงกรุงเกษม-คลองบางลำพู’

บูมเส้นทางท่องเที่ยวรอบกรุงรัตนโกสินทร์

ไม่ใช่แค่ “คลองช่องนนทรี” ยังมีคลองอีกหลายสายที่ กทม.เตรียมแปลงโฉมใหม่ให้เป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวรอบกรุงรัตนโกสินทร์ ให้ประสบความสำเร็จเหมือนที่พลิกโฉม “คลองโอ่งอ่าง” กลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่
ได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้ว

ในเดือนกันยายนนี้จะปรับปรุง “คลองผดุงกรุงเกษม” นำร่องบริเวณหัวลำโพง ช่วงสะพานเจริญสวัสดิ์ 36 ถึงสะพานกษัตริย์ศึก จะปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้งทางบกและทางน้ำ รวมถึงบริเวณโบ๊เบ๊ ช่วงสะพานกษัตริย์ศึก ถึงสะพานเจริญราษฎร์ 32 ปรับภูมิทัศน์เฉพาะทางน้ำ ระยะทาง 1,700 เมตร ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

จากนั้นจะเป็นคิวของ “คลองบางลำพู” จะปรับปรุงภูมิทัศน์คลองระยะทาง 1.5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรอบ อาทิ พิพิธภัณฑ์บางลำพู  สวนสันติชัยปราการ เป็นต้น

ส่วน “คลองแสนแสบ” ระยะทาง 50 กิโลเมตร ที่พาดผ่านกลางเมืองพื้นที่ความรับผิดชอบ

กทม. ก็มีแผนจะฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ปรับภูมิทัศน์เช่นกัน ตั้งเป้าจะให้เสร็จในปี 2568

แม้อาจเป็นหนังม้วนยาว ต้องใช้เวลา งบประมาณ ทั้งยังต้องออกแรงผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปแบบ เพราะการจะเปลี่ยนภาพจาก “คลองน้ำเน่าเสีย” เป็น “คลองสวยน้ำใส” สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กรุงเทพฯ คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ประเสริฐ จารึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image