อาศรมมิวสิก : Fazil Say : เมื่อริมสกี-คอซาร์คอฟ กลับมาเกิดในภพชาติใหม่ อัจฉริยะแห่งสีสันดนตรีโลกตะวันออก

อาศรมมิวสิก : Fazil Say : เมื่อริมสกี-คอซาร์คอฟ กลับมาเกิดในภพชาติใหม่ อัจฉริยะแห่งสีสันดนตรีโลกตะวันออก

อาศรมมิวสิก : Fazil Say : เมื่อริมสกี-คอซาร์คอฟ กลับมาเกิดในภพชาติใหม่ อัจฉริยะแห่งสีสันดนตรีโลกตะวันออก

ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้นในโลก ย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 ในวันศุกร์ที่ 16 และวันเสาร์ที่ 17 ของเดือนนั้นเอง ทางวงดุริยางค์ TPO (Thailand Philharmonic Orchestra) ได้จัดการแสดงคอนเสิร์ตในรายการปกติ ณ หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร ซึ่งในครั้งนั้นใช้ชื่อรายการว่า “Turkish Delight” โดยบทเพลงที่น่าจะได้รับการพิจารณาว่าเป็น “เพลงเอกของรายการ” นั้นไม่น่าจะใช่ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของ เซอร์เกย์ โพรโคเฟียฟ (Sergei Prokofiev) ดุริยกวีชาวรัสเซียแห่งศตวรรษที่ 20 ที่นำมาบรรเลงปิดท้ายรายการ หากแต่มันเป็นบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตที่บรรเลงปิดท้ายครึ่งแรกของรายการที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์ดนตรีร่วมสมัยหนุ่มใหญ่ชาวตุรกีนามว่า “ฟาซึล ซาย” (Fazil Say) ในวัย 49 ปี (ในขณะนั้น) โดยเขาตั้งชื่อบทเพลงนี้เอาไว้ว่า “1001 Nights in Harem” (พันเอ็ดราตรีในฮาเร็ม) บรรเลงเดี่ยวไวโอลิน โดย “ฟรีเดอมันน์ ไอค์ฮอร์น” (Friedemann Eichhorn) ศิลปินเดี่ยวไวโอลินชาวเยอรมัน อำนวยเพลงโดย “โยฮันเนส คลุมพ์”(Johannes Klumpp) วาทยกรชาวเยอรมันเช่นเดียวกัน ศักยภาพของไวโอลินคอนแชร์โตบทนี้ ดูจะบดบังซิมโฟนีหมายเลข 5 ของโพรโคเฟียฟในครึ่งหลังไปโดยปริยาย บทเพลงไวโอลินคอนแชร์โต “พันเอ็ดราตรีในฮาเร็ม” ฉายสีสันดนตรีแห่งโลกตะวันออกอันเจิดจ้าน่าทึ่ง มันเป็นปรากฏการณ์อีกครั้งหนึ่งที่บทเพลงในโครงสร้างอันยิ่งใหญ่แบบนี้ สามารถสื่อสารกับผู้ชม-ผู้ฟังได้ตรงใจและตรึงใจ โดยไม่จำเป็นต้องฟังซ้ำหลายๆ รอบ ศักยภาพของสกอร์ดนตรีระดับนี้ เป็นสิ่งที่นักแต่งเพลงทั้งหลายปรารถนาจะครอบครอง สำหรับตัวผู้เขียนเองแล้ว มันเป็นประสบการณ์ราวกับได้ฟังบทเพลงชุด “Scheherazade” ของ “นิโคไล ริมสกี-คอร์ซาคอฟ” (Nicolai Rimsky-Korsakov) ในภพชาติใหม่, ในการกลับมากำเนิดใหม่ในศตวรรษที่ 21 ดนตรีที่มีสีสันเจิดจ้าและทรงพลังยิ่งกว่าเดิมด้วยทฤษฎีและเทคนิคการแต่งเพลงในยุคใหม่ที่ไม่เคยมีในศตวรรษที่ 19 มันได้จุดประกายแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนต้องไปค้นหาผลงานของนักแต่งเพลงผู้นี้เพิ่มเติม และก็ค้นพบในที่สุด เขาเป็นนักแต่งเพลงที่ผู้เขียนไม่ยั้งปากที่จะเรียกเขาว่า “อัจฉริยะ” (Genious) อย่างแท้จริง และบทความชิ้นนี้จะได้มาเล่าถึงผลงานประพันธ์สำหรับไวโอลิน ของเขาโดยรวม

ถ้าหากเราไปค้นชื่อ “ฟาซึล ซาย” ในระบบอินเตอร์เน็ต เราอาจจะพบว่าเขาเป็นศิลปินเดี่ยวเปียโน ที่สูงด้วยประสบการณ์คนหนึ่ง มีผลงานบันทึกเสียงเปียโนโซนาตา (Piano Sonata) ของโมซาร์ท (W.A.Mozart) และเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) ครบชุด และยังมีผลงานบรรเลงเดี่ยวเปียโนคอนแชร์โตของเบโธเฟนไว้อีกหลายแผ่น เขาเป็นศิลปินเดี่ยวเปียโนสังกัดค่ายวอร์เนอร์ (Warner) นั่นคือบทบาทระดับนานาชาติในฐานะศิลปินเดี่ยวเปียโน แต่ในวันนี้เราจะมาพูดคุยถึงอัจฉริยภาพของเขาในฐานะนักประพันธ์ดนตรี (Composer) ที่ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าศึกษาในทุกๆ มิติ ผู้เขียนไปพบแผ่นซีดี (CD) รวมผลงานการประพันธ์บทเพลงสำหรับไวโอลินของเขาทั้งหมดที่บันทึกไว้กับค่าย “นากซอส” (Naxos) ซึ่งศิลปินเดี่ยวไวโอลินที่มาบรรเลงบันทึกเสียงไว้ในครั้งนี้ก็คือ “ฟรีเดอมันน์ ไอค์ฮอร์น“ ผู้ที่เคยมาฝากฝีไม้ลายมือในการบรรเลงสดในเมืองไทยในปี พ.ศ.2562 (ปีเดียวกับที่ทำการบันทึกเสียงครั้งนี้ด้วย) และที่น่าประทับใจมากยิ่งขึ้นก็คือ “ฟาซึล ซาย” ดุริยกวีเป็นผู้บรรเลงเปียโนด้วยตนเอง ในบทเพลงโซนาตา (Sonata) สำหรับไวโอลินสองบทในแผ่นซีดีนี้อีกด้วย เราจึงมั่นใจได้อีกระดับหนึ่งว่านี่คือการตีความที่เป็นไปโดยความเห็นชอบของนักประพันธ์ดนตรีเองอย่างแท้จริง

อาศรมมิวสิก : Fazil Say : เมื่อริมสกี-คอซาร์คอฟ กลับมาเกิดในภพชาติใหม่ อัจฉริยะแห่งสีสันดนตรีโลกตะวันออก

Advertisement

อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า บทเพลงไวโอลินคอนแชร์โต “พันเอ็ดราตรีในฮาเร็ม” บทนี้มีแนวคิดบางอย่างที่ละม้ายคล้ายคลึงกับ “ซิมโฟนิกสวีท” (Symphonic Suite) ที่มีชื่อว่า “เชเฮราซาด” (Scheherazade) ของริมสกีคอร์ซาคอฟ อันเป็นที่โปรดปรานของแฟนๆ เพลงคลาสสิกทั่วโลก นั่นคือการใช้สีสันทางเสียง (Tone Colour) ของเครื่องดนตรีในวงออเคสตราวาดภาพทางเสียงดนตรีในโลกตะวันออกไปอย่างสุดทาง เสียงดนตรีที่ฟังดูให้ความรู้สึกเลี้ยวลดคดเคี้ยว, ลื่นไหลไปราวกับสายน้ำซึ่งนักประพันธ์ดนตรีที่เป็นชาวยุโรปทั้งหลายเขียนกันได้อย่างไม่สุดทาง ฟาซึล ซาย ดุริยกวีหนุ่มใหญ่แห่งตุรกีได้ใช้ทฤษฎีวิชาการประพันธ์ดนตรีตะวันตกมารับใช้บทเพลงอย่างทรงความหมาย ปัญหาอย่างหนึ่งในการประพันธ์ดนตรีคลาสสิกยุคใหม่ๆ แบบที่เราอาจเรียกโดยทั่วไปว่า “ดนตรีร่วมสมัย” (Contemporary Music) ก็คือปัญหาในการสื่อสารกับผู้ชม-ผู้ฟัง นักแต่งเพลงไม่สามารถสื่อความคิดทางดนตรีที่กำหนด หรือต้องการไปสู่ผู้ฟังได้ และบ่อยครั้งนักแต่งเพลงเหล่านี้ก็มิได้คำนึงถึงการสื่อสารมากนักโดยพวกเขาถือว่าให้ปล่อยมันไว้ให้เป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของผู้ฟังเองที่จะต้องตะเกียกตะกายเข้าหาความหมายกันเอง ดนตรีเป็นศิลปะทางเสียงซึ่งมีความเป็นนามธรรมโดยธรรมชาติในตัวสูงอยู่แล้ว ถ้าดุริยกวีไม่พยายามจะโน้มเข้าหาผู้ฟังให้มากพอการสื่อสารจึงยากที่จะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นไปอีก นักแต่งเพลงจึงเพียงใช้ความรู้, ทฤษฎีทางดนตรีสร้างสุ้มเสียงแปลกๆ ใช้การประสานเสียงที่เต็มไปด้วยความคม, กระด้างและระคายหู (Dissonance) เพื่อสร้างความเก๋ไก๋แปลกใหม่นำแฟชั่น โดยที่สุ้มเสียงเหล่านั้นก็มักจะสร้างขึ้นด้วยความเป็นอิสระเสรี ไม่ผูกพันกับทฤษฎีให้แน่ชัด-ตายตัวมากนัก ไม่จำเป็นต้องเกลาเสียงเพื่อนำไปสู่ความกลมกล่อม ไม่ผูกพันแนบแน่นกับฉันทลักษณ์ (Form) ทางการแต่งเพลง ไม่ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์คล้องจองทางแนวคิดดนตรีให้มาก สุดท้าย (และบ่อยครั้ง) ดนตรีเหล่านี้จึงไร้ทิศทาง, ไร้ความหมายสำหรับผู้ชม-ผู้ฟัง (โดยที่พวกเขามักอ้างว่าเขาเพียงต้องการให้ผู้ฟังเกิด “ความรู้สึก” เท่านั้นมิได้ต้องการความหมายใดๆ)

แต่สำหรับ “ฟาซึล ซาย” แล้วเขาก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคที่ว่านี้ได้อย่างเหนือชั้น เขาแสดงให้เห็นว่าความรู้-ทฤษฎีในการแต่งเพลงนั้นเป็นเพียงเบื้องต้นแห่งกระบวนการสร้างสรรค์ทางดนตรี มันเป็นเพียงสิ่งที่เรียนรู้กันได้ เสียงประสานอันสลับซับซ้อนทางโครงสร้างเป็นเพียงคณิตศาสตร์แห่งเสียงที่สามารถคำนวณกะเกณฑ์และกำหนดมันออกมาได้สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบทางเคมีแห่งเสียงที่จะใช้สร้างความรู้สึกต่างๆ สำหรับผู้ฟัง ทั้งหลายทั้งปวงมันจึงเป็นเพียงขั้นต้นที่จะต้องนำไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์ “ศิลปะทางเสียง” หรือที่เราเรียกว่า “ดนตรี” นั่นเอง บทเพลงสำหรับไวโอลินในซีดีแผ่นนี้ จึงนำเราไปสู่สุ้มเสียงสมัยใหม่ด้วยทฤษฎีการแต่งเพลงที่ก้าวหน้านำสมัยล้ำยุคโดยที่ “ไม่ทอดทิ้งผู้ฟังไว้ข้างหลัง”

อาศรมมิวสิก : Fazil Say : เมื่อริมสกี-คอซาร์คอฟ กลับมาเกิดในภพชาติใหม่ อัจฉริยะแห่งสีสันดนตรีโลกตะวันออก

อาศรมมิวสิก : Fazil Say : เมื่อริมสกี-คอซาร์คอฟ กลับมาเกิดในภพชาติใหม่ อัจฉริยะแห่งสีสันดนตรีโลกตะวันออก

ฟาซึล ซาย บรรยายถึงแนวคิดบทเพลง “พันเอ็ดราตรีในฮาเร็ม” โดยสารภาพว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจ “บางส่วน” มาจากซิมโฟนิกสวีท “เชเฮราซาด” ของ ริมสกี-คอร์ซาคอฟ ใจความจากแนวทำนองหลักของบทเพลงที่เปิดขึ้นมาอย่างลึกลับ, ระทึกใจ (โดยมีเครื่องประกอบจังหวะจากตุรกีมาบรรเลงประกอบ) เสียงไวโอลินเดี่ยวที่ร่ายนำขึ้นมา บรรยายถึงภาพแห่งฮาเร็มที่มากมายด้วยสาวงาม มันให้ความรู้สึกที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการเปิดตัวบทเพลงเชเฮราซาดของริมสกี-คอร์ซาคอฟ ผู้เขียนอดคิดจินตนาการไปไม่ได้เลยว่าสาวน้อยผู้นี้คือเหลน, นี่คือลูกหลานทายาทของนางเชเฮราซาดโดยแท้ (หรือนี่คือนางเชเฮราซาดที่กลับชาติมาเกิด) เธอยังคงแพรวพราวและทรงพลังอำนาจแห่งสตรีเพศที่พร้อมจะหลอมละลายความแข็งกร้าวของพลังแห่งบุรุษเพศได้ทุกเมื่อ ในอีกด้านหนึ่งมันก็เสมือนเสียงดนตรีเล่าเรื่องที่ราวกับจะบอกกับผู้ชม-ผู้ฟังว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” ถ้าเป็นคำพูดก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่ถ้าพูดได้ด้วยเสียงดนตรีมันจึงน่าประทับใจมากกว่าเป็นทวีคูณ

เมื่อผ่านจากท่อนแรกสั้นๆ ที่เปรียบเสมือนบทนำเกริ่นเข้าเรื่องจึงนำเข้าสู่การเริงระบำอันร้อนแรงในท่อนที่สอง ด้วยจังหวะและสุ้มเสียงที่อึกทึกครึกโครมมีชีวิตชีวาและสีสันที่เจิดจ้า เราไม่ต้องพูดถึงเทคนิคความยากในบทเพลงทั้งในส่วนของแนวบรรเลงเดี่ยวไวโอลินหรือส่วนของวงออเคสตรา มันเป็นความยากที่ ฟาซึล ซาย “ชงละลาย” หรือ “ปรุงสุก” มาเรียบร้อยแล้ว มันจึงไม่ยากต่อการย่อยสำหรับผู้ฟัง เราตื่นเต้น, เราเพลิดเพลินกับสีสันเนื้อหาทางดนตรีจนเรา (ผู้ฟัง) มองไม่เห็นความยากในการสร้างสรรค์นั้น ฟาซึล ซาย ย่อยสลายเทคนิค, ทฤษฎีทั้งหลายให้กลายเป็นรสแห่งความงามทางดนตรีสำหรับเรา เสียงกระด้างต่างๆ ยังคงมีอยู่มิใช่น้อย แต่เขาได้จัดวางมันให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่อันควร จนมันมิได้สร้างความรำคาญใดๆ ต่อโสตประสาทของผู้ฟัง เขาคือหนึ่งในนักแต่งเพลงที่สามารถสร้างเสียงกระด้างให้เกิดความกลมกลืนทางศิลปะได้อย่างน่าอัศจรรย์และน่าศึกษาเป็นแบบอย่าง

อาศรมมิวสิก : Fazil Say : เมื่อริมสกี-คอซาร์คอฟ กลับมาเกิดในภพชาติใหม่ อัจฉริยะแห่งสีสันดนตรีโลกตะวันออก

เมื่อมันเป็นบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โต เขาจึงไม่ทอดทิ้งธรรมชาติอันงดงามของเครื่องดนตรีชนิดนี้ นั่นก็คือศักยภาพแห่งการขับร้องแนวทำนองอันงดงามประดุจเสียงร้องเพลงของมนุษย์ ในท่อนที่สามเขาจึงหยิบยกแนวทำนองเพลงพื้นบ้านตุรกีมาเป็นทำนองหลัก และทำการพัฒนา-ผันแปรแนวทำนองนี้อย่างน่าสนใจ เป็นแนวทำนองเพลงพื้นบ้านที่ง่ายต่อการจดจำและร้องคลอตาม (เมื่อมันจะต้อง “โรแมนติก” บ้างจะต้องเหนียมอายไปไย) มันคือการคารวะต่อแนวคิดพื้นฐานอันเป็นธรรมชาติของศิลปะ “ไวโอลินคอนแชร์โต” ในท่อนที่สี่ซึ่งเป็นท่อนสุดท้าย มันคือการย้อนหวนคืนมาของใจความดนตรีจากท่อนแรก ทายาทนางเชเฮราซาด ย้อนกลับมาสรุปเรื่องราวทั้งหมดราวกับคำพูดในใจความว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” เสียงไวโอลินเดี่ยวบรรเลงในลีลา “ด้นสด” เลียนเสียงนกร้อง และแนวทำนองอันสงบร่มเย็นราวกับเพลงสวดอำนวยพรปิดท้าย เสมือนภาพแห่งความฝันที่ค่อยๆ เลือนหายไปในมิติแห่งกาลเวลา

 

สิ่งที่ ฟาซึล ซาย ให้บทเรียนกับเราก็คือว่า เปล่าประโยชน์ที่เราจะไปกำหนด, จัดวางว่าผลงานของเขาควรจะอยู่ใน “ISM” (อิซึม) สำนักไหน หรือยุคสมัยไหน ดนตรีก็คือดนตรีอยู่ตลอดไปในทุกห้วงแห่งกาลเวลา ศิลปะที่ไร้รูปธรรมหากแต่สื่อความจากใจถึงใจผ่านทางกระแสเสียง ความน่าทึ่งในอัจฉริยภาพทางดนตรีของ ฟาซึล ซาย ยังปรากฏอยู่ในบทเพลงไวโอลินโซนาตาทั้งสองบทในอัลบั้มชุดนี้รวมถึงบทเพลง “Cleopatra for Solo Violin” (ประพันธ์ในปี พ.ศ.2553) บทเพลงที่เขาได้รับมอบหมายให้ประพันธ์เพื่อใช้บรรเลงเดี่ยวไวโอลินในการประกวด-แข่งขันไวโอลิน ซึ่งมีความยากในระดับสุดโต่งเพลงหนึ่งแต่ก็เต็มไปด้วยรสชาติทางดนตรีที่ควรค่าแก่การฟังเช่นกัน อีกทั้งบทเพลงไวโอลินโซนาตา หมายเลข 2 (เพิ่งจะประพันธ์ในปี พ.ศ.2562) ที่อยู่ในลักษณะ “ดนตรีพรรณนา” (Program Music) มีชื่อว่า “Mount Ida” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภัยพิบัติจากการทำเหมืองทอง, การตัดไม้ทำลายป่าในตุรกี ซึ่งเขาใช้เครื่องดนตรีเพียงไวโอลินและเปียโนในการวาดภาพเล่าเรื่องได้อย่างมีสีสันอันหลากหลายและเจิดจ้า ราวกับวงออเคสตราวงใหญ่ เขาทำให้เราต้องตระหนักนึกถึงแนวคิด “Orchestration” (การจำแนกเสียงเครื่องดนตรีในวงออเคสตรา) ด้วยเครื่องดนตรีเพียงสองชิ้นนี้

เรื่องราวของ ฟาซึล ซาย และผลงานการประพันธ์ดนตรีของเขาสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็คือ การสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ๆ สำหรับวงการ ที่กว่าจะได้ชื่อว่าเป็น “ดุริยกวี” นั้นมิใช่เรื่องง่ายๆ นักแต่งเพลงคลาสสิกทุกยุคสมัยมิได้ประสบความสำเร็จจนเป็นที่จดจำได้ทุกคน ในอดีตมีนักแต่งเพลงนับร้อยคน แต่จะมีเหลืออยู่กี่คนที่ชื่อเสียงและผลงานยังดำรงอยู่ในความทรงจำของโลกดนตรี ปัญหาหลักจึงน่าจะอยู่ที่ว่าบทเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นนั้น “สื่อสาร” ได้หรือไม่ หรือมันเป็นเพียงแค่ตัวโน้ตที่อวดความซับซ้อนในเชิงทฤษฎีแห่งคณิตศาสตร์ทางเสียง นักแต่งเพลงสามารถหลอมละลายให้คณิตศาตร์แห่งเสียงอันซับซ้อนนั้นกลายเป็น “เสียงดนตรี” ที่สื่อสารไปยังจิตสัมผัสของผู้ฟังได้หรือไม่ นี่จึงชวนให้ผู้เขียนนึกไปถึงคำพูดของ “สตราวินสกี” (Igor Stravinsky) นักแต่งเพลงอัจฉริยะชาวรัสเซียแห่งศตวรรษที่ 20 ที่ในอดีตถือกันว่าเป็นดนตรีที่ยากมาก (และเท่มาก) สำหรับผู้ฟัง เขาคือผู้ขายความนำสมัยทางเสียงในยุคนั้น ที่ได้กล่าวสรุปไว้สั้นๆ ได้อย่างตราตรึงว่า “ผมไม่ได้ประพันธ์ดนตรีสมัยใหม่เลย ผมก็แค่เขียนดนตรีที่ดีเท่านั้นเอง” ใช่แล้วถูกต้องที่สุด มีคนแต่งเพลงที่เรียกกันว่า “คลาสสิก” มามากมายหลายร้อยปี มีเหลืออยู่แค่ “ดนตรีที่ดี” เท่านั้นแหละที่สามารถดำรงอยู่ผ่านมิติแห่งกาลเวลาได้

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image