ความทุกข์ที่ไม่ได้ ‘จัดฉาก’ ยุทธศาสตร์ ‘ปิดปาก’ ที่สังคมเห็นค้าน

ศิลปินเชียงใหม่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ประตูท่าแพ แสดงความอัดอั้นต่อการบริหารจัดการ‘โควิด’ของรัฐบาล (ภาพจาก We, The people)

นาทีที่ประชาชนร่วมสู้โควิดกันอย่างพัลวัน อยู่ดีๆ ทฤษฎี “จัดฉาก” ว่าจ้างคน (แกล้ง) ตายกลางถนนก็พรั่งพรูจากปาก อดีตผู้สมัคร ส.ส. (สอบตก) เขตจอมทอง พรรคพลังประชารัฐ อย่าง ทิพานัน ศิริชนะ เจ้าของวาทะ #ให้อ้นดูแล

เกิดการแชร์ต่อในโลกออนไลน์ในช่วงเวลาที่ภาครัฐประกาศฮึ่ม “เฟคนิวส์” โดยก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดเหตุร่อนหมายเรียกยังเหล่าเซเลบ ศิลปิน ดาราที่ออกมา “คอลเอาต์” ปมวัคซีนไประลอกใหญ่กว่า 20 ราย ทว่า แทนที่จะกลายเป็นเทปปิดปากสร้างความกลัว ดาราบางท่านหันมาแจ้งความกลับ ส่วนกระแส “แซะ” รายวันก็ไม่ได้ตกลงแต่อย่างใด

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง นัดหมายจุดเทียนที่บ้านแล้วโพสต์รำลึกผู้สูญเสียในคํ่าคืนวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา (ภาพโดย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์)

บรรยากาศเช่นนี้ดำเนินไปท่ามกลางการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ไม่ทนนิ่งเฉย 5 แนวร่วมบุคลากรการแพทย์ยื่นหนังสือต่อสถานทูตสหรัฐ ขอให้จับตาวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคมาให้ถึง “ด่านหน้า” อย่างแท้จริง, นักวิชาการเชิญชวนจุดเทียนที่บ้านโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ติดแฮชแท็ก #รัฐล้มเหลว #ร่วมรำลึกผู้สูญเสีย

ศิลปินเชียงใหม่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ประตูท่าแพพร้อมห่วงโซ่ที่รัดตรึง สะท้อนความอัดอั้นจนต้องกลั่นออกมาเป็นงานศิลปะแห่งความเจ็บปวด

Advertisement

ศพแล้วศพเล่าปรากฏบนสมาร์ทโฟนผ่านฟีดในช่องทางโซเชียล ที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตจริง ไม่ใช่ตัวแสดงแทน

โพสต์หาเตียง ขอความช่วยเหลือ กระทั่งแจ้งข่าวเศร้า รุมเร้า กัดกินหัวใจของผู้คนที่ยังมีความเป็นมนุษย์

นี่คือความทุกข์ที่ไม่ต้อง “จัดฉาก” คือความยากลำบากที่ไม่ใช่ฉากละครน้ำเน่า หากแต่เป็นเรื่องราวในชีวิตจริงของวันนี้

Advertisement

ขณะที่ภาครัฐไม่ได้ประกาศศัตรูกับเชื้อโควิดเพียงอย่างเดียว แต่เงื้อดาบฟัน “เฟคนิวส์” หรือ “ข่าวปลอม” ที่นิยามยังชวนสงสัย โดยกรณีภาพผู้เสียชีวิต พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย หากพบว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ หรือเป็นความผิดจริงจะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย หากพบเป็นเท็จ-สร้างสถานการณ์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับสูงสุด 1 แสนบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าสั่งการให้แต่ละกระทรวงแก้ปัญหาข่าวปลอมอย่างจริงจังและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยจัดตั้งฝ่ายที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและแก้ไขทันที ศูนย์ข่าวปลอมของกระทรวงและจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและประกาศลงสื่อของกระทรวงและหน่วยงานภายใน 24 ชั่วโมง เท่านั้นยังไม่พอ ยังให้ตัวแทนหน่วยงาน แจ้งความดำเนินคดี กับผู้กระทำผิดด้วย โดยเฉพาะผู้ปล่อยรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน คนดัง หรือเพจต่างๆ ไม่ใช่จับแค่ชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น

โลกโซเชียลเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ข้อความ‘จำนวนคนตายไม่ใช่ตัวเลขแต่คือชีวิตและเป็นคนในครอบครัวของใครสักคน’

ที่สำคัญคือ มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เรื่องข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) เนื้อหาโดยสรุปคือห้ามสื่อเผยแพร่ข่าวเฟคนิวส์ มิฉะนั้นจะระงับไอพีและดำเนินการตามกฎหมายตามลำดับขั้นตอน มีผลวันแรก 30 กรกฎาคม นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากนักวิชาการด้านกฎหมาย องค์กรสื่อ จนถึงประชาชนทั่วไป

พายุแถลงการณ์คัดค้านจากหลากสารทิศจึงพัดกระหน่ำ

6 องค์กรสื่อจับมือค้าน ถูกรัฐตีตราทั้งที่สื่อสารล้มเหลว

เมื่อมาตรการตามข้อกำหนด มาตรา 9 พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินเผยแพร่ออกมา

6 องค์กรสื่อ ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ก็ออกแถลงการณ์ร่วม เนื้อหาโดยสรุปเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพราะหวั่นจะเป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อ ขณะที่รัฐเองต่างหากที่ล้มเหลวในการสื่อสารกับประชาชน การอ้างว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ ในการจัดการกับปัญหาสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่า ข่าวปลอม เป็นการกล่าวอ้างที่ปราศจากความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของรัฐบาลในการสื่อสารกับประชาชน อันเป็นผลมาจากการบริหารราชการที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีเองทั้งสิ้น

ถึงแม้จะมีสื่อมวลชนบางส่วนได้เคยนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง แต่ก็มิใช่เป็นการจงใจสร้างข่าวปลอมตามที่รัฐบาล หรือปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ของฝั่งรัฐบาลตีตรา เนื่องจากการเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนาสร้างข่าวเท็จเพื่อหวังผลให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเกิดความเสียหาย หาก แต่เป็นความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในรายละเอียดของการนำเสนอเชิงวารสารศาสตร์ ซึ่งสื่อที่นำเสนอก็ได้รับผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตนเองเช่นกัน อีกทั้งการแสดงความรับผิดชอบและแก้ไขให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้

ท่าทีของทั้ง 6 องค์กรสื่อนี้ ธีร์ อันมัย อาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ในฐานะผู้สอนนักศึกษาที่จะเป็นสื่อมวลชนต่อไปยังบอกว่า ที่ผ่านมา องค์กรสื่อหลายองค์กร มีท่าที “สยบยอม” ต่ออำนาจรัฐอย่างชัดเจน ทว่า ครั้งนี้ถึงขนาดออกมาแถลงค้าน สะท้อนว่าวันนี้สุดทน แม้เคยยอมจำนนมาก่อน

ด้าน “ภาคีนักเรียนสื่อ” ซึ่งเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน ก็ออกมาล่ารายชื่อค้าน โดยเรียกร้องให้ยกเลิกทันที แถมดักคอว่ารัฐบาลแค่ “กลัวเสียหน้า” พร้อมย้ำว่า ขอให้ กสทช.เคารพสิทธิ เสรีภาพของประชาชน หยุดคุกคามสื่อ การ “ตัดเน็ต=เผด็จการ”

ตอนหนึ่งของถ้อยแถลงโดยภาคีนักเรียนสื่อ ระบุว่า

“ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต พวกเราถูกบังคับให้อยู่ในบ้าน อินเตอร์เน็ตคือหน้าต่างบานเดียวที่ช่วยให้มองเห็นความทุกข์ยากลำบาก เสียงร้องขอความช่วยเหลือ และความตายของเพื่อนมนุษย์ แต่คน ‘หน้าบาง’ กลุ่มหนึ่งยังพยายามจะปิดหน้าต่างบานนั้น เพื่อปั้นคำพูดสวยหรูที่ไม่ได้ช่วยปลอบประโลมใจแต่อย่างใด”

70 อาจารย์นิติศาสตร์ ฟันธง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แนะ‘พึงสังวรไว้ด้วยว่า….’

“ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกหรือแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวเสียใหม่ โปรดสังวรด้วยว่า มาตรา 17 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เฉพาะแต่กรณีที่กระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นเท่านั้น”

เป็นข้อความตอนหนึ่งจากแถลงการณ์ที่ลงนามร่วมกันโดยคณาจารย์นิติศาสตร์ทั่วประเทศ 70 ท่าน ซึ่งออกมาคัดค้านข้อกำหนดดังกล่าว โดยเปิดเผยรายละเอียดบ่งชี้แง่มุมทางกฎหมายว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ

บิลบอร์ดผุดกลางกรุง ‘วันนี้ประเทศไทยมีไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะถึงมือพวกเขาและกลุ่มเสี่ยงกี่โดส’

แถลงการณ์นี้ เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า

…ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แต่ก็ไม่สามารถระงับการใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างสิ้นเชิง การจำกัดสิทธิฯ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ภายใต้หลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีสภาพบังคับเป็นโทษทางอาญา และเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแจ้งชัด

การห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มี ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 29 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก

1.1 ความดังกล่าวมีลักษณะ คลุมเครือ ไม่ชัดเจน วิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปไม่อาจคาดหมายได้ว่า ข้อความใด อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว

ในช่วงวิกฤตนี้ ความหวาดกลัวย่อมเป็นปฏิกิริยาปกติของประชาชนทั่วไปต่อข่าวสารในทางลบ การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อให้ภาครัฐหรืออาสาสมัครเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย หรือเพื่อเตือนบุคคลอื่นให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค และการรายงานข่าวตามความเป็นจริงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง หากเป็นข่าวสารในแง่ลบ ก็อาจถูกตีความได้ว่าเป็น ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และเป็นความผิดตามกฎหมายได้

การออกข้อกำหนดที่มีเนื้อหาเช่นนี้ เท่ากับเป็นการห้ามประชาชนมิให้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และห้ามสื่อมวลชนมิให้ใช้เสรีภาพในการนำเสนอข่าว เพราะบุคคลดังกล่าวย่อมไม่แน่ใจว่า คำพูด การแสดงออก หรือการนำเสนอข่าวสาร จะผิดกฎหมายหรือไม่ ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนส่วนหนึ่งอาจเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่นำเสนอข่าวเลย (chilling effect) ทั้งๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยเกรงผลทางกฎหมายที่จะตามมา ดังนั้น ข้อกำหนดนี้จึงมิใช่มาตรการที่เหมาะสมแต่อย่างใด

“ปัจจุบันการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ห้า จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การระงับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยปราศจากเหตุผลที่แน่ชัด จึงเท่ากับเป็นการลงโทษที่เกินสัดส่วน เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร ด้วยเหตุนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวทั้งสองข้อ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ความหวาดกลัว‘ไร้มาตรวัด’
เสี่ยงใช้อำนาจ‘ตามอำเภอใจ’

เรื่องจริงไม่ได้จัดฉาก ศพชายติดเชื้อโควิดนอนเสียชีวิตริมถนราชดำเนินกลางหน้าศึกษาภัณฑ์ โดยวันเดียวกันยังพบผู้เสียชีวิตข้างถนนอีก 3 ราย

อีกหนึ่งมุมมองน่าฟังและเข้าใจง่าย มาจาก ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ที่กำหนดว่า หากสื่อมีการนำเสนอ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เพราะการให้ดุลพินิจแก่รัฐเป็นผู้ชี้ว่าเนื้อหาใดเป็นเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ฯลฯ นั้น ไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจนแน่นอน จนอาจนำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ “กำหนดเนื้อหาการใช้เสรีภาพของสื่อ” ได้ จึงย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อมากเกินสมควรแก่เหตุตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้แล้ว

ดังนั้น หากทาง กสทช.รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐใดดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงย่อมต้องรับผิดตามกฎหมายด้วย

นอกจากนี้ ผศ.ดร.พรสันต์ยังตั้งคำถามกลับด้วยว่า

“ผมขอถามว่า กรณีการแจ้งยอดผู้ติดเขื้อและผู้เสียชีวิตรายวันของรัฐเป็นข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวด้วยหรือไม่?”

‘ดีอีเอส’ยันดูที่‘เจตนา’
ฝ่ายค้านเปิดแผลเบื้องหลังที่แอบแฝง

ตัดภาพมายัง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยว่า กฎหมายปราบเฟคนิวส์ช่วยให้ทำงานเร็วขึ้น โดยเน้นฟันผู้เจตนาไม่หวังดีต่อบ้านเมือง หากไม่คิดดิสเครดิตก็ไร้ปัญหา ย้ำว่า “ดูที่เจตนาเป็นหลัก” ส่วนกรณีดาราคอลเอาต์จะเข้าข่ายไหม ก็ต้องดูสาระที่โพสต์ ถ้าเดือดร้อนจริง ไม่ผิด

นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนภาคีบุคลากรสาธารณสุข ยื่นหนังสือที่สถานทูตสหรัฐฯขอให้ร่วมจับตาวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสให้ถึงบุคลากรด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยง

ประเด็นนี้ ฟากฝั่งการเมืองก็ออกมาคอมเมนต์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ก้าวไกล อย่าง รังสิมันต์ โรม โดยย้อนถามว่า การที่รัฐงัดกฎเข้มเฟคนิวส์ปิดปากประชาขนเช่นนี้ เคยจัดการคนฝั่งตัวเองหรือไม่ที่ให้ข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปมา

“เรื่อง Rappid Antigen Test หรือ Antigen Test Kits แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเองที่บอกว่าตรวจแล้วไม่ถือเป็นการติดเชื้อ เพราะไม่อยู่ในระบบ ปรากฏว่าเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ต่อว่ารัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงไปมา หลายต่อหลายครั้ง ถามว่าเป็นความผิดของประชาชนหรือไม่ ที่ประชาชนรู้สึกไม่ไว้วางใจข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล” โรมซัด 1 ดอก

ตามมาด้วยการออกแถลงการณ์ของ พรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอให้ยกเลิกข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) โดยระบุว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข้อมูล ข่าวสาร และเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างร้ายแรง

เนื้อหาตอนหนึ่งว่า เหตุผลของการออกข้อกำหนดระบุไว้ชัดเจนว่า โดยที่มีการเผยแพร่โดยทั่วไปซึ่งข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนเกิดความกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ดังนั้น หากจะออกข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องจำกัดการเสนอข่าวว่าต้องเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จเท่านั้น การเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงไม่ควรถูกห้ามไปด้วย อย่างไรก็ดี กรณี การเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ก็มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดข้อห้ามซ้ำซ้อนอีก

เมื่อพิจารณา เหตุผลเบื้องหลังของการออกข้อกำหนดนี้จะเห็นได้ว่า รัฐบาล และ ศบค. บริหารงานล้มเหลวในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทุกภาคส่วน จนกระทบต่อสถานะการดำรงอยู่ของรัฐบาล โดยเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข …จึงเห็นได้ว่า เหตุผลที่แท้จริงในการออกข้อกำหนดนี้มิได้เกี่ยวกับความจำเป็นที่จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยุติลงโดยเร็ว หรือเพื่อป้องกันมิให้การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้นตามเงื่อนไขของกฎหมายแต่อย่างใด

แต่เป็นการดำเนินการโดยมีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝง…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image