สุจิตต์ วงษ์เทศ : จารึกพ่อขุนฯ มีอินทรียภาพ

จารึกพ่อขุนรามคำแหง จะเปลี่ยนแปลงคำอธิบายเป็นอย่างอื่นมิได้ เพราะเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์การเมืองการปกครอง

อินทรียภาพ เป็นชื่อแนวคิดที่มองรัฐและสังคมเหมือนร่างกายของคนประกอบด้วย อวัยวะส่วนต่างๆ อันมีนัยถึงการแบ่งงานกันทำ มีอำนาจหน้าที่และความสำคัญเหลื่อมล้ำแตกต่างกันโดยธรรมชาติ ฯลฯ

แนวคิดแบบอินทรียภาพมีแล้วในสังคมไทย แต่พบหลักฐานครั้งแรกเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่ตอนท้ายพระราชนิพนธ์ ร.1 บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ว่า อันพระนครทั้งหลาย ก็เหมือนกับกายสังขาร ฯลฯ ทุกวันนี้ยังมีแนวคิดอินทรียภาพในสังคมไทย

ผมอ่านจากข้อเขียนของ อ.เกษียร เตชะพีระ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ผ่านมา เรื่องแนวคิดอินทรียภาพและพ่อปกครองลูกของไทย

Advertisement

ร.4 ทรงใช้แนวคิดอินทรียภาพในพระราชนิพนธ์จารึกพ่อขุนรามคำแหง เสมือนพระราชปณิธานการปกครองกรุงสยาม ที่รู้จักทั่วไปสมัยต่อมาว่าการปกครองแบบพ่อปกครองลูก หรือ พ่อขุน มีในประกาศ ร.4 ดังนี้

“พระเจ้าแผ่นดินคนทั้งปวงยกย่องตั้งไว้เป็นที่พึ่ง ใครมีทุกข์ร้อนถ้อยความประการใด ก็ย่อมมาร้องให้ช่วย ดังหนึ่งทารกเมื่อมีเหตุแล้วก็มาร้องหาบิดามารดา เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินชื่อว่าคนทั้งปวงยกย่องให้เป็นบิดามารดาของตัว แล้วก็มีความกรุณาแก่คนทั้งปวง ดังหนึ่งบิดามารดากรุณาแก่บุตรจริงๆโดยสุจริต”

ผมอ่านจาก อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ ในหนังสือจารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2547 หน้า 267)

Advertisement

พระราชดำรินี้สอดคล้องกับศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า “ปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจ มักจักกล่าวถึงเจ้าขุนบ่ไร้ไปลั่นกระดิ่ง”

อักษรไทยกับศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงจึงต้องอยู่ยุคสุโขทัยตามตำราแห่งชาติของไทย จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นมิได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image