โลกวิถีใหม่ในภัยพิบัติ ‘การแพทย์อัจฉริยะ’ ของไทยต้องเป็นจริง

นับจากโควิด-19 อุบัติขึ้นบนโลก สร้างความสั่นสะเทือนครั้งประวัติศาสตร์ สุขภาพก็ขึ้นมานั่งแท่น “ความมั่นคงของประเทศ” ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังมากขึ้นทุกที ภายใต้โลกวิถีใหม่ที่กำลังเผชิญกับภัยพิบัติเช่นนี้

ระบบข้อมูลสุขภาพระดับชาติ คือสิ่งที่ประชาคมโลกขีดเส้นใต้เน้นย้ำ

หันมามองความคืบหน้าในไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ผนึกความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัท จันวาณิชย์ จำกัด โดยได้รับการส่งเสริมภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดีเดย์พัฒนา โครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย 5Gหรือ Thailand Health Data Space เพื่อใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกเครื่องระบบสุขภาพในทุกมิติ ตั้งแต่การส่งข้อมูลข้าม รพ. การวินิจฉัย บำบัดรักษา ติดตามฟื้นฟู ทำให้แพทย์สามารถบำบัดรักษาในภาวะฉุกเฉิน ช่วยชีวิตคนไข้ได้ทันเวลา คนไข้ได้รับบริการสุขภาพที่ดีในทุกจังหวัดของประเทศ ลดภาระความแออัดของ รพ. และความเสี่ยงของบุคลากรแพทย์ พัฒนาบริการที่มีประสิทธิภาพ พร้อมไปกับส่งเสริมป้องกันสุขภาพคนไทย

Advertisement

ถามว่า ทำไมต้องมีโครงสร้างข้อมูลสุขภาพของประเทศ?

คำตอบแบบเข้าใจง่ายคือ หลายคนคงมีประสบการณ์เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออยู่ในพื้นที่ต่างเมืองต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลแห่งใหม่ แพทย์จะไม่ทราบประวัติทางสุขภาพและข้อมูลการรักษาโรคจากโรงพยาบาลเดิมได้เลย ผู้ป่วยเองอาจจะหลงลืมประวัติการแพ้ยา หรือการรักษาที่ผ่านมา ทำให้การรักษาสับสนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือล้มป่วยฉับพลัน ผู้ป่วยอาจหมดสติไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ทำให้ทีมแพทย์ต้องใช้เวลาตรวจสอบกันใหม่ การรักษาอาจต้องล่าช้าออกไป ดังนั้น หากมีระบบกลางที่เชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาลทุกจังหวัดและข้อมูลสุขภาพบุคคลได้จะทำให้แพทย์รักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานต่างมีระบบข้อมูลของตนเอง และต่างคนต่างทำ ทำให้ข้อมูลสุขภาพมีความต่างกันและประเทศไทยยังไม่มีช่องทางให้ข้อมูลขนาดใหญ่ไหลเวียนและแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์มเดียวกันเลย

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย 5G (Thailand Health Data Space 5G) เป็นการพัฒนาโครงสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพ Big Data ของประเทศอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกของไทย มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ 1.Big Data Infrastructure แพลตฟอร์มข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลการแพทย์-สุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยและข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกัน 2.ระบบข้อมูลของเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งภายใน รพ.และระหว่าง รพ. หน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ ในพื้นที่ให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่มาจาก รพ.อื่นได้อย่างรวดเร็วโดยคนไข้จะกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตนได้ 3.แอพพลิเคชั่น ซึ่งจะรวบรวมเครือข่ายแอพพลิเคชั่นบริการด้านสุขภาพของไทย สตาร์ตอัพต่างๆ การให้คำปรึกษา บริการสุขภาพทางไกล (Telemedicine) ระหว่างแพทย์และคนไข้

Advertisement

โครงการที่ว่านี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาในระยะที่ 1 จากสำนักงาน กสทช. โดยมีแผนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จ ได้แก่ ระยะที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Big Data สารสนเทศการแพทย์ และตัวอย่างทดสอบ THDS Sandbox ในโรงพยาบาลเป้าหมาย ซึ่งจะเสร็จในช่วงกลางปี 2565 ระยะที่ 2 การพัฒนาให้ระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับเครือข่ายโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และ ระยะที่ 3 การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับบริการและเฮลท์เทคจากภาคีพันธมิตรที่ผู้ป่วยอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้

ดร.เคอิตา โอโน่ ผอ.ศูนย์บ่มเพาะและสนับสนุนนวัตกรรมคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ซึ่งนั่งเก้าอี้หัวหน้าโครงการ Thailand Health Data Space เล่าว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการจัดเวิร์กช็อปลงพื้นที่เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับแพทย์และบุคลากรสุขภาพให้เข้าใจถึงกระบวนการของงานการแพทย์ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนของแต่ละกลุ่มโรคและการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้การวางแผนและดำเนินโครงการนี้ตอบโจทย์ผู้ใช้ข้อมูลในทุกระดับอย่างแท้จริง แพลตฟอร์ม THDS ไม่เพียงเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพที่เกิดขึ้นใน รพ.เท่านั้นแต่ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพนอกรั้ว รพ.อีกด้วย เช่น อุปกรณ์แพทย์ที่บ้าน สมาร์ทวอตช์ ของผู้ป่วย เป็นต้น

“เราเชื่อมั่นว่าการผนึกความร่วมมือทั้ง 5 องค์กรครั้งนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบบริการทางการแพทย์และสุขภาพ เสริมความเข้มแข็งและยั่งยืนของสาธารณสุขของไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเฮลท์เทค ตอบรับสังคมและเศรษฐกิจยุคดิจิทัล” ดร.เคอิตากล่าว

ขณะที่ นายแพทย์อนันต์ กนกศิลป์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการนี้จะเสริมสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพและเข้มแข็งยั่งยืน โดยทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพของประเทศเชื่อมโยงข้อมูลกัน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประชาชนมีความอุ่นใจไว้วางใจ เพิ่มประสิทธิภาพให้แพทย์ทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง การไหลเวียนของข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรและหน่วยงานการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการพัฒนาโรงพยาบาลอัจฉริยะ ผู้ป่วยก็จะได้รับประโยชน์จากบริการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว มีคุณภาพ ความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน สามารถเก็บประวัติสุขภาพและนำมาใช้ประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพของตนและครอบครัวได้

อีกหนึ่งส่วนที่น่าสนใจคือ แอพพลิเคชั่น หมอรู้จักคุณ ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ทางไกล ผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง 5G จะเปิดให้บริการกับคนไทยทุกคนผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ผู้ใช้สามารถกำหนดได้ว่าจะอนุญาตให้ รพ.ใดส่งข้อมูลตนเองเข้าสู่ระบบได้บ้าง และสามารถแจ้งยกเลิกการอนุญาตได้ด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรมีบทบาทพัฒนาแอพพลิเคชั่น “หมอรู้จักคุณ (Med Care)” ซึ่งประกอบด้วย 4 บริการคือ 1.แอพพลิเคชั่น-แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบบการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ระยะไกล ผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยให้แพทย์ทำงานได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ ลดภาระของโรงพยาบาล 2.แอพพลิเคชั่น-ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนตัวและแหล่งบริการทางการแพทย์ 3.แอพพลิเคชั่น-
คลินิกหมอครอบครัว บันทึกข้อมูลทางการแพทย์สำหรับเครือข่ายเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และทีมแพทย์หมอครอบครัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ใช้ในการติดต่อผู้ป่วย ลงข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบง่ายขึ้น ไม่ต้องลงข้อมูลซ้ำซ้อน 4.แอพพลิเคชั่นหมอรู้จักคุณ- อสม. สำหรับการทำงานด้านเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค การฟื้นฟูสุขภาพ การติดตามคุ้มครองผู้บริโภค

ปิดท้ายที่ ธนพล กองบุญมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด ซึ่งเน้นย้ำว่า การส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนให้ระบบสาธารณสุขไทยที่เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงบริการสุขภาพและการแพทย์ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการรักษา โดยเกิดจากพลังความร่วมมือที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพและสาธารณสุขของไทย และข้อมูลสุขภาพได้รับการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบผ่านการเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลบนแพลตฟอร์มเดียวกันภายใต้มาตรฐานระดับโลกที่นานาประเทศยอมรับ

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image