ครูเหนื่อย นักเรียนล้า ผู้ปกครองในภาวะ ‘จนเฉียบพลัน’

คาดการณ์ว่ามีนักเรียนที่อาจหลุดจากระบบการศึกษาในสิ้นปี 2564 ถึงราว 65,000 คน

ถูกเปิดแผลเกือบทั่วร่างมาตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด สำหรับแวดวงการศึกษาไทยทั้งจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนทั่วประเทศ จนถึงครูบาอาจารย์รุ่นใหม่ที่ไม่ไหวจะทนกับวัฒนธรรมครั้งเก่าก่อนที่บั่นทอนการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน

ครั้นสถานการณ์โควิดระบาดหนักจนตัอง (กึ่ง) ล็อกดาวน์ไม่รู้กี่รอบ ฝั่งนักเรียนก็เฝ้าหน้าจอฟังครูสอนผ่านออนไลน์ ฟากคุณครูก็นั่งหน้าจอรอสนทนาในห้องเรียนเสมือนจริง ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีวันเหมือน ส่วนผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในภาวะที่ยากลำบาก

หลังเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งลดค่าเทอม ช่วยค่าใช้จ่ายเรียนออนไลน์

ขอความร่วมมือให้ลด หรือชะลอการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชน

Advertisement

ต่อมา ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติ 2.2 หมื่นล้าน เยียวยาค่าเรียนคนละ 2 พันบาท ครอบคลุม น.ร.ทุกสังกัดรวมทั้งโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ยังมีหลากปมปัญหารอการแก้ไขในวันที่ภาครัฐต้องเอียงหูฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ออกมาตรการปิดปาก เพราะอยากฟังแต่สิ่งที่ถูกใจ

โรงเรียน‘สาธิต’อยู่ตรงไหน?
ในไทม์ไลน์‘ลดค่าเทอม’

Advertisement

หลังกระทรวงศึกษาธิการประกาศเยียวยาค่าเล่าเรียน ล่าสุดผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งสังกัดมหาวิทยาลัย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ออกมาตั้งคำถามว่า เหตุใดจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการปรับลดค่าเล่าเรียนจากทางโรงเรียน รวมทั้งคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ที่กำกับดูแลโรงเรียนสาธิตฯโดยตรง รวมถึงมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัย ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายในภาพรวมของมหาวิทยาลัย เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ในขณะที่นิสิต นักศึกษา ได้รับการดูแลภายหลังจากรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา โดยมหาวิทยาลัยหลายแห่งประกาศลดค่าเล่าเรียนให้นิสิต นักศึกษาแล้วสูงถึง 50%

ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียน สาธิตบางส่วนระบุว่า

มีเพียงคืนค่าอาหาร ค่านม ค่าแอร์ หรือค่ากิจกรรมต่างๆ เนื่องจากนักเรียนไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียนอยู่แล้ว โดยจะคืนให้เป็นเงินสด หรือหักเป็นส่วนลดให้ในภาคเรียนถัดไป ซึ่งเป็นจำนวนเงินหลักร้อยหรือหลักพันบาทเท่านั้น ในขณะที่ผู้ปกครองต้องรับภาระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์การเรียนผ่านออนไลน์ และค่าอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น

ทำเอาเพจเฟซบุ๊กของโรงเรียนสาธิตหลายแห่งถูกทวงถาม อาทิ

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

โดยผู้ปกครองเข้าไปสอบถามผู้บริหาร และขอให้ทางโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ช่วยพิจารณาลดค่าเทอม เนื่องจากโรงเรียนสาธิตบางแห่งจัดเก็บค่าเทอมค่อนข้างสูงโดยเฉพาะเด็กปฐมวัย ซึ่งเรียนผ่านออนไลน์แต่ละวันไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเต็มที่

แอดมินเพจของโรงเรียนสาธิตฯ บางแห่งตอบกลับว่า ได้แจ้งผู้บริหารไปแล้ว บางแห่งระบุว่าเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลด้านนโยบาย บางแห่งแจ้งว่าจะนำไปเป็นส่วนลดในภาคเรียนต่อไป

คำตอบสุดท้ายจะจบอย่างไร ต้องติดตาม

คนรอคิวรับแจกอาหารริมถนนราชดำเนินในช่วงโควิด ภาวะจนเฉียบพลัน ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก

‘จนเฉียบพลัน’
ทำนักเรียนเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา

2,000,000 คน คือตัวเลขนักเรียนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาจากภาวะวิกฤตที่คอยซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ

65,000 คน คือตัวเลขคาดการณ์ของนักเรียนที่อาจหลุดจากระบบการศึกษาในสิ้นปี 2564

นี่คือข้อมูลที่ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมาเปิดเผย ระหว่างการจัดทำโครงการริเริ่มความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมมือกับ คณะใกล้เที่ยงคืน จัดตั้งเครือข่าย #น้องฉันต้องได้เรียน เพื่อเป็นตัวกลางในการรับสมาร์ทโฟน ที่ไม่ได้ใช้จากพี่ๆ เพื่อส่งต่อให้น้องๆ ชั้นประถมปลายและมัธยมต้นตามโรงเรียนในชุมชนรอบจุฬาฯ ได้แก่ โรงเรียนในเขตปทุมวัน 6 โรงเรียน และโรงเรียนในเขตบางรัก 7 โรงเรียนในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยตั้งใจที่จะให้ชุมชนรอบจุฬาฯเป็นพื้นที่นำร่อง หากทำสำเร็จจะดำเนินการต่อและขยายพื้นที่ไปจนกว่าตัวเลขเด็กนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาเพราะไม่มีสมาร์ทโฟนจะเป็นศูนย์

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ระบุถึงสาเหตุว่า เพราะภาวะ ‘จนเฉียบพลัน’ จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนได้ สมาร์ทโฟนและค่าอินเตอร์เน็ตถือเป็นของราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ แนวทางการเรียนการสอนที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการกำลังบีบบังคับให้เด็กนักเรียนจำนวนมากต้องยุติการเรียน

ย้อนไปเมื่อเดือนมิถุนายน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยผลสำรวจพบว่าหลังเปิดเทอมใหม่ เด็กชั้นรอยต่อหลุดออกจากระบบการศึกษา 5,654 คน

ข้อมูลจาก อนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในกรุงเทพมหานครบนฐานภาคประชาสังคม กสศ. ระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. รุนแรงกว่าพื้นที่อื่นๆ คนจนในพื้นที่เผชิญกับความยากลำบาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการ มีแนวโน้มภาระหนี้สินนอกระบบเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้สินจากการศึกษา รายงานจากชุมชนพบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองบางรายต้องไปกู้เงินนอกระบบเพื่อซื้อมือถือให้บุตรหลานเรียนออนไลน์
กลายเป็นหนี้ระยะยาวดอกเบี้ยสูง เกิดความตึงเครียดในครัวเรือน หรือถ้าไปโรงเรียนได้ก็จะไม่มีเงินค่าเดินทาง แนวโน้มในอีกสองเดือนอาจนำไปสู่การหลุดจากระบบการศึกษาหลายหมื่นคน ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงขึ้น

กลางโควิด โลกที่มีกล้องวงจรปิด
ครูยังต้องอยู่เวร?

ไม่เพียงผู้ปกครองและนักเรียนที่ตกอยู่ในภาวะทุกข์ยาก ครูที่เหนื่อยกับการเตรียมสอนออนไลน์อยู่แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งภาระแม้กระทั่งในช่วงโควิดระบาด นั่นคือ การ ‘อยู่เวร’

ครูขอสอน เพจดังที่เป็นกระบอกเสียงของกลุ่มครูรุ่นใหม่ เปิดเผยว่า สิ่งหนึ่งที่อยู่กับหน้าที่ครูในสถานศึกษา นอกจากการสอนและภาระงานพิเศษแล้ว การอยู่เวรรักษาการณ์ไม่ว่าเวลากลางวันหรือกลางคืน เป็นสิ่งที่ครูทั้งชายหญิงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

ครูกว่า 6,000 คนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้งด ‘อยู่เวร’ ในช่วงโควิด โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ท่ามกลางคำถามของสังคมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครูในการอยู่เวรรักษาการณ์ ทั้งประเด็นความปลอดภัย ความคุ้มค่า ยุคสมัยและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงภาระของสถานศึกษาที่ข้าราชการครูมีจำนวนน้อย ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกระทบชีวิตส่วนตัว และแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน สถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ครูยังคงต้องมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

มีบางโรงเรียนที่มีครูลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องให้ผู้บริหารพิจารณา และได้รับการตอบรับแล้วด้วยเหตุความจำเป็นจากในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่อีกจำนวนมากที่คงปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ทักท้วงหรือตั้งคำถามถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ล่าสุด มีการล่ารายชื่อเตรียมยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่มีสถานศึกษา
ในสังกัด เพื่อให้มีการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา

ความว่า

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่มีสถานศึกษาในสังกัด

ด้วยสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีการแต่งตั้งให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ เพื่อรักษาความปลอดภัย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ตามหนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0206/ว107ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2542

เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ของครูและบุคลากรทางการศึกษานั้นมีความเสี่ยงต่อการติดต่อและแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 จากการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ และอีกทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์เวลากลางคืนนั้นต้องใช้ห้องนอนเวรเดียวกันที่สถานศึกษาได้จัดไว้ให้ แม้ว่าจะมีการทำความสะอาดประจำวัน แต่ยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรการและสถานศึกษาอาจมีบุคลากรและทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะทำความสะอาดห้องนอนเวรปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยสามารถใช้กล้องวงจรปิด สัญญาณกันขโมย และสัญญาณกันไฟไหม้ อีกทั้งสถานศึกษามีเวรยามรักษาความปลอดภัย โดยหลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ ข้อ 9 และ ข้อ 10 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่อ้างถึง ได้ระบุว่า กรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานใดมีหน่วยรักษาความปลอดภัยหรือมีการจ้างเอกชนให้บริการดูแลรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อย จะไม่จัดให้มีเวรรักษาการณ์และผู้ตรวจเวรก็ได้ และหากหน่วยงานมีความจำเป็นไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจตามความเหมาะสม

ในการนี้จึงขอให้ท่านพิจารณามาตรการในการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อสวัสดิภาพและลดความเสี่ยงในการติดต่อและแพร่เชื้อของครูและบุคลากรทางการศึกษา และพิจารณาเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและความจำเป็นของเวรรักษาการณ์ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานและประโยชน์ในทางราชการสูงสุดต่อไป

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรยากาศความปั่นป่วนในการศึกษาไทยในวันที่โควิดยังคงอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image