แท็งก์ความคิด : อยู่กับไวรัส

และแล้วก็มาถึงวันที่ 8 สิงหาคม วันสุดท้ายของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว

โอลิมปิกครั้งนี้แตกต่างจากโอลิมปิกครั้งก่อนๆ ตรงที่เจ้าภาพต้องควบคุมโรคระบาดด้วย

ก่อนจะถึงวันนี้ได้ ผู้บริหารญี่ปุ่นต้องใจแข็งกับการเดินหน้ากีฬาโอลิมปิกเพราะมีผู้คัดค้านมาก

หากจำกันได้ จะพบว่าก่อนหน้านี้ประชาชนชาวญี่ปุ่นไม่ต้องการให้จัด

Advertisement

สาเหตุเพราะกลัวโรคโควิด-19 จะระบาดไม่หยุด

เมื่อประชาชนไม่เห็นด้วย แต่ทางการยังเดินหน้าจัดโอลิมปิกต่อไป สปอนเซอร์ใหญ่ๆ ได้แสดงจุดยืนเข้าข้างประชาชน

หลายบริษัทไม่เข้าร่วมในพิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนี้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าภาพมั่นใจ และมีนานาชาติร่วมมือ ในที่สุดกีฬาโอลิมปิกซึ่งเลื่อนมาจากปีก่อนก็สามารถจัดขึ้นได้ในปีนี้

ผลจากการผลักดันดังกล่าวได้กลายเป็นตัวอย่างในการอยู่ร่วมกับไวรัส

เฉกเช่นกับก่อนหน้านี้ที่สมาคมแบดมินตันของไทยจัดการแข่งขันแบดมินตันนานาชาติขึ้น

นั่นก็จัดภายใต้สถานการณ์การระบาด และประสบความสำเร็จจนเป็นที่กล่าวขาน

จากเรื่องกีฬา ประเทศต่างๆ ในโลกน่าจะแสวงหาวิธีจัดกิจกรรมท่ามกลางสถานการณ์การระบาดได้

ทุกประเทศที่เผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 มานาน จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์

เมื่อกลยุทธ์ปราบปรามใช้กับไวรัสไม่ได้

จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์อยู่กับไวรัสให้ได้

ประเทศไทยก็เช่นกัน

แต่เดิมประเทศไทยมั่นใจว่าสามารถจัดการกับการระบาดได้ แต่เมื่อเชื้อกลายพันธุ์ การจัดหาวัคซีนได้มาไม่ทันเวลา การดำเนินชีวิตเกิด “การ์ดตก”

การระบาดกลับมาเป็นระลอก

จากระลอกหนึ่ง เป็นระลอกสอง และเป็นระลอกสาม

จำนวนผู้ติดเชื้อจากเดิมเป็นระดับร้อย ขยับเป็นระดับพัน และคาดว่าอาจพุ่งไปถึง 4 หมื่นต่อวัน ถ้าไม่มีการควบคุม

หรือแม้จะคุมดีๆ แล้ว ผู้ป่วยใหม่ก็จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2 หมื่นต่อวัน

สิ่งเดียวที่จะทำให้สู้กับไวรัสไวร้ายนี้ได้ คือ วัคซีน

แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ไทยต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าวัคซีนจะครอบคลุม

ขณะเดียวกัน หากทั้งประเทศต้องหยุดนิ่ง ไม่ทำกิจกรรม ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมจะเกิดขึ้นตามมา

ดังนั้น การแสวงหาวิธีดำรงอยู่ภายใต้สถานการณ์ไวรัสจึงน่าสนใจ

ทุกวันนี้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ต้องระลึกเสมอว่ามีอันตรายอยู่รอบตัว

การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

คนป่วยต้องกักตัวและนำเข้าสู่ระบบการรักษา

คนที่ไม่ป่วยต้องหาวิธีทำงาน เพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติให้เดินหน้า

ถ้าทุกๆ ภาคส่วนแสวงหาวิธีการ โดยมีภาครัฐสนับสนุน

แม้การระบาดจะหนักหน่วง แต่ประเทศไทยก็ยังก้าวเดินต่อไปได้

ก้าวเดินไปตามมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเคร่งครัด

อาทิ วันก่อน คณะกรรมการรางวัลพระปกเกล้าเปิดประชุม

การประชุมใช้ระบบซูมเข้ามาช่วย

กรรมการส่วนหนึ่งยังไปประชุมที่สถาบันพระปกเกล้า แต่กรรมการส่วนใหญ่ประชุมผ่านระบบซูม

เมื่อประชุมกันได้ ความคืบหน้าของการประกวดรางวัลพระปกเกล้าก็เกิดขึ้น

ปีนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมัครเข้าประกวดรางวัลพระปกเกล้าเป็นร้อย

หลายแห่งสมัครเข้าประกวดประเภทส่งเสริมการมีส่วนร่วม

หลายแห่งสมัครเข้าประกวดประเภทสร้างเครือข่าย

หลายแห่งสมัครเข้าประกวดประเภทลดความเหลื่อมล้ำ

และยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครเข้าประกวดประเภทสร้างเสริมสันติสุขตั้งแต่ปี 2563 แต่ไม่ได้พิจารณาอีก 10 แห่ง ซึ่งคณะกรรมการจะนำมาพิจารณาในปีนี้

การตัดสินใจเดินหน้าพิจารณา ทำให้การประกวดเดินหน้าได้

รางวัลพระปกเกล้าที่ต้องชะงักไปเมื่อปีก่อน ปีนี้จึงเดินหน้าต่อไป

หลังจากนี้กลุ่มนักวิจัยจะลงพื้นที่ประเมินผลไปประเมินผล

ใช้กลไกทางวิชาการเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากลงพื้นที่ไปใช้ระบบซูมมาช่วย

ผลคะแนนที่ผ่านการประเมินแล้ว จะนำเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง

ทุกอย่างเดินหน้า แม้จะมีข้อจำกัด

แม้รอบตัวจะมีไวรัสอยู่ทั่ว แต่ทุกคนรับทราบวิธีป้องกัน

แม้การดำเนินกิจการจะมีอุปสรรค แต่เราก็มีอุปกรณ์ช่วยให้ทำงานได้

การขับเคลื่อนโครงการ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงาน มีความพร้อม ไม่เสียโอกาส

เมื่อกลไกต่างๆ สามารถพิสูจน์ความสำเร็จจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้

เมื่อยังประเมินด้วยเกณฑ์เดิมได้ เมื่อมั่นใจว่าคุณภาพของรางวัลยังเหมือนเดิม

ทุกอย่างก็น่าจะดำเนินต่อไป

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนที่มีความสามารถ ตรงตามสเปกของรางวัลที่ตั้งไว้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นก็สมควรได้รับโล่

เชื่อว่ามาถึงเวลานี้ คนไทยต้องแสวงหาหนทางที่จะดำรงชีวิตต่อไป

ดำเนินชีวิตไปท่ามกลางการระบาด

ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องหาวิธีขับเคลื่อนกิจกรรม

ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ผลักดันกิจกรรมให้สำเร็จ

หากทำได้ เราอยู่รอด

อยู่รอวันที่รัฐบาลจะหาวัคซีนและยามาเพียงพอ

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image