ฟังความ 2 ด้าน ป้อมมหากาฬ-พอช. วิบากกรรมใหม่ในวันที่น้ำตายังไม่แห้ง

ฟังความ 2 ด้าน ป้อมมหากาฬ-พอช. วิบากกรรมใหม่ในวันที่น้ำตายังไม่แห้ง
17 มีนาคม 2562 ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ นำโดย ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชน และพรเทพ บูรณะบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชน ร่วมกันทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนที่ดินย่านพุทธมณฑลสาย 2 หวังสร้างเรือนไม้จากไม้เก่าส่วนหนึ่งที่รื้อถอนจากเรือนเดิมในชุมชน บนที่ดิน 106 ตารางวา

คราบน้ำตายังไม่ทันแห้งสนิท แม้ผ่านมานานถึง 3 ปี สำหรับกรณีรื้อชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อ พ.ศ.2561 ผู้คนกระสานซ่านเซ็นแตกญญ่ายพ่ายกระเจิงจากอำนาจรัฐ หอบเสื้อผ้ากระเตงลูกหลานย้ายสู่บ้านหลังใหม่ที่ไม่ว่าอย่างไรความผูกพันทางใจก็ไม่เหมือนเดิม

ทว่า กลางเดือนสิงหาคม 2564 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็เกิดฟ้าผ่าขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีประเด็นคำสั่งศาลยึดทรัพย์ คือที่ดินผืนใหม่ย่านพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งหลายครอบครัวอดีตชาวป้อมมหากาฬทั้ง ‘กู้เงิน’ และ ‘ลงขัน’ ซื้อหาร่วมกัน หวังเป็นชุมชนป้อมมหากาฬแห่งใหม่ที่แม้พิกัดจะห่างไกล แต่จิตวิญญาณของผู้คนยังคงอยู่

เมื่อครั้ง ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนก้มกราบขอบคุณกำลังใจ แม้พ่ายแพ้ ที่ลานกลางชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2561 ก่อนถึงวันปิดฉากชุมชน เมื่อวันที่ 25 เมษายน ปีเดียวกัน

สาเหตุโดยสรุปคือหนึ่งในเจ้าของที่ดินร่วม โดนคำพิพากษา บังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด และที่น่าสนใจคือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้กู้เงินซื้อที่ดินผืนใหม่นี้ เป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาล จากปมกองทุนมิยาซาว่า ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ให้ตามโครงการแก้ไขปัญหาด้านการเงินและสินเชื่อเพื่อปลดหนี้นอกระบบ

กลายเป็นเหมือนวิบากกรรมครั้งใหม่ที่ต้องเผชิญหน้า พร้อมกันนั้น ด้าน พอช.ก็ไม่รอช้า ออกมาชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่ต้องฟังให้ครบถ้วนทั้ง 2 ด้าน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป

Advertisement

ร่วมกู้นับล้าน แต่โดนยึดซ้ำ เพราะ 1 คนถูกฟ้องคดี

เริ่มต้นด้วยฝ่ายป้อมมหากาฬ ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชน เปิดเผยเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมว่า หลังการย้ายออกจากชุมชนป้อมมหากาฬ ถนนมหาไชย เขตพระนคร ก่อนมีปรับพื้นที่เป็นสวนสาธารณะ เมื่อ พ.ศ.2561 ตนและชาวชุมชนส่วนหนึ่งรวม 8 ครอบครัวได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. โดยได้ยื่นขอกู้ยืมเงินราว 2 ล้านบาท จาก พอช. และได้รับการอนุมัติ พร้อมสัญญาผ่อนชำระเป็นเวลา 20 ปี

ด้วยการอนุมัติกู้ยืมเงินราว 2 ล้านบาท จาก พอช. รวมถึงลงขันเพิ่มเติม ชาวป้อมมหากาฬซื้อที่ดินครองโฉนดร่วมกัน แต่ล่าสุด สิงหาคม 2564 ถูกบังคับคดีขายทอดตลาด เพราะ 1 ในเจ้าของร่วมถูกพิพากษายึดทรัพย์

นอกจากนี้ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้รวบรวมเงินอีกกว่า 1 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท นำไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่งย่านพุทธมณฑลสาย 2 โดยเพิ่งทำสัญญาจ้างช่างก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พบว่าสมาชิกชุมชนป้อมมหากาฬ 1 ราย (ยังไม่ขอเปิดเผยนาม) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือครองโฉนดที่ดินดังกล่าว ถูก พอช.ฟ้องร้องจากกรณีกองทุนมิยาซาว่า ศาลพิพากษาตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2561 และบังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 โดยเจ้าตัวไม่เคยทราบมาก่อน ไม่มีโอกาสเข้ากระบวนการต่อสู้ทางคดี

Advertisement

จากเหตุดังกล่าว ตนและชาวชุมชนป้อมมหากาฬรายอื่นๆ ซึ่งถือครองโฉนดที่ดินร่วมกัน จึงเกิดความสงสัย

“การบังคับคดีกระทำโดยประกาศขายทอดตลาด ที่ดินแปลงที่ชาวชุมชนป้อมหากาฬพลัดถิ่นถือครองร่วมกัน โดยรายชื่อสลักหลัง มีรายชื่อจำเลยที่ถูกฟ้องเพียงคนเดียวเท่านั้น และในการฟ้องร้อง โจทก์ก็คือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ขณะเดียวกัน ที่ดินแปลงที่ชาวบ้านถือครองร่วมกันก็มีเงินส่วนหนึ่งจากการกู้ยืมเงินภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หมายบังคับคดี ก็กลับถูกส่งไปที่สมาชิกคนอื่นในชุมชน ไม่ใช่ผู้ถูกฟ้อง ที่ผ่านมา 3 ปีกว่า เราต้องระหกระเหินจากถิ่นฐานบ้านเกิด

เส้นทางการก่อร่างตั้งชุมชนป้อมมหากาฬพลัดถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากจัดซื้อที่ดินเรียบร้อย ก็เผชิญกับปัญหาอีกสารพัด ตั้งแต่การเปลี่ยนสิทธิการถือครองของชาวบ้านบางครัวเรือนที่มีเหตุจำเป็นต้องถอนตัว จนชาวบ้านที่เหลือต้องแก้ปัญหาทั้งด้วยการจัดสรรขนาดที่ดินใหม่และระดมเงินสมทบเพิ่ม เพิ่งได้ตอกเสาเข็ม ทำสัญญาจ้างช่างก่อสร้าง แต่ยังไม่ได้ลงมือทำเพราะอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาเรื่องการขอกู้ยืมเพิ่มจากโครงการบ้านมั่นคง วันนี้กลับมีเรื่องการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดขึ้นมาอีก” ธวัชชัยเปิดใจ

พอช.แจงเป็นไปตามกฎหมาย ไกล่เกลี่ยแล้ว 3 ครั้ง

เมี่อข่าวข้างต้นเผยแพร่ออกไป สมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการ พอช. ออกมาชี้แจงว่า

ในการฟ้องคดีกับสมาชิกหนึ่งคนของชุมชนป้อมมหากาฬดังกล่าวจากกองทุนมิยาซาวา ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ให้ตามโครงการแก้ไขปัญหาด้านการเงินและสินเชื่อสำหรับคนจนในเมืองเพื่อนำไปปลดหนี้นอกระบบให้กับสมาชิกนั้น ก่อนที่จะมีการฟ้องคดี พอช. ได้มีการเจรจากับลูกหนี้และอนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง

ส่วนในการพิจารณาคดีในชั้นศาล ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยไปแล้ว 3 ครั้ง เพื่อให้โอกาสสมาชิกที่ถูกฟ้องทุกคนได้เข้าเจรจาและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันที่ 23 มีนาคม 2561 โดยสมาชิกที่ถูกฟ้องคดีท่านนี้ได้ไปศาล 2 ครั้ง แต่ด้วยคดีนี้มีลูกหนี้หลายรายไม่ให้ความร่วมมือในการเจรจาหาทางออกร่วมกัน จึงไม่สามารถไกล่เกลี่ย หรือหาทางออกได้ ดังนั้น ประเด็นสมาชิกที่ถูกฟ้องคดีไม่ทราบว่าตัวเองถูกฟ้องมาก่อนและไม่มีโอกาสเข้ากระบวนการต่อสู้คดีนั้น จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

รอขาย แต่ยังไม่ได้ขาย ชี้เป้ายื่นศาลขอ ‘กันส่วน’ ที่ดิน

ผู้อำนวยการ พอช.ยังอธิบายด้วยว่า เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าสมาชิกที่ถูกฟ้องทั้งหมด ทั้งที่มาศาลและไม่มาศาล ไม่ชำระหนี้ตามคำสั่งศาล พอช.จึงต้องบังคับคดีไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เมื่อ พอช.สืบทรัพย์พบที่ดินของสมาชิกจึงทำเรื่องยึดที่ดินของสมาชิกเพื่อขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้ แต่ปรากฏว่าที่ดินไม่ได้เป็นของสมาชิกที่ถูกฟ้องคนเดียว แต่มีสมาชิกจากชุมชนป้อมมหากาฬอีก 8 คน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันอยู่ด้วย

เรือนไม้หลังกำแพงป้อมมหากาฬ เมื่อถูกรื้อ ชาวบ้านส่วนหนึ่งเตรียมนำไม้เก่าไปสร้างบ้านบนที่ดินใหม่ย่านพุทธมณฑลสาย 2 แต่ถูกบังคับคดียึดทรัพย์โฉนดร่วม
พลัดถิ่นทั้งคนทั้งแมว เมื่อรถแบ๊กโฮกวาดบ้านเรือนในชุมชนจนสิ้นซาก

ดังนั้นในทางกฎหมาย สมาชิกที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกันทั้ง 8 คน ยังสามารถที่จะไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอกันส่วน ซึ่งหมายถึงการขอแยกส่วนที่ดินในกรรมสิทธิ์ของตนออกมาจากสมาชิกที่ถูกฟ้อง เพื่อไม่ให้ พอช.บังคับคดีกระทบส่วนของสมาชิกทั้ง 8 คน ปัจจุบันการบังคับคดีที่ดินแปลงนี้ยังอยู่ระหว่างรอการขายทอดตลาด โดยยังไม่ได้ขายทอดตลาดแต่อย่างใด

“ในเรื่องนี้แม้ว่าสมาชิกที่ถูกฟ้องคดีดังกล่าวจะมีหนี้สินเดิมที่อยู่ระหว่างการแก้ปัญหา แต่เมื่อมีความเดือดร้อนที่อยู่อาศัยก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ พอช.ยังให้ความช่วยเหลือได้ โดยพิจารณาไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินเดิมกับการสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะต้องได้รับความร่วมมือจากลูกหนี้นั้นๆ ด้วย จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายไปพร้อมกัน และเนื่องจากเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายประเด็น รวมถึงแผนการก่อสร้างบ้านของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินด้วย การเจรจาหาทางออกและแนวทางที่จะดำเนินการร่วมกันในระยะต่อไป จึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด”

คาใจ ผลักภาระ ‘7 คนไม่เกี่ยวคดี’ แนะหาทางออกด้วยกระบวนการสังคม

จากคำชี้แจงข้างต้น อินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมด้านสังคมที่เคลื่อนไหวร่วมกับชุมชนป้อมมหากาฬตลอดมา ยิงคำถามสำคัญที่ว่า ทำไมผลักภาระให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ? กล่าวคือ รายชื่อจำเลยที่ถูกบังคับคดี 19 คน มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่เป็นชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ถนนมหาไชย เขตพระนคร ส่วนอีก 17 คนที่เหลือ คนชุมชนป้อมมหากาฬไม่รู้จักว่าพวกเขาคือใคร

กรุงเทพมหานคร ปรับภูมิทัศน์ชุมชนเป็นสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ โดยถูกวิพากษ์หลายครั้งว่าไม่คุ้มค่ากับการไล่รื้อ โดยเฉพาะเมื่อปรากฏภาพหุ่นลองเสื้อห่มดอกไม้กลางสวน เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563

“ปัญหาสำคัญของคำชี้แจงดังกล่าวคือ ประเด็นเรื่องที่ดิน แปลงที่ศาลบังคับคดี ยึดขายทอดตลาด ด้วยที่ดินแปลงนี้ มีชื่อผู้ถือครองร่วมกัน 8 คน จำเลยที่ศาลบังคับยึดทรัพย์ เป็นเพียง 1 ใน 8 เท่ากับว่า 7 คน ไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่กลับได้รับผลกระทบจากการบังคับยึดทรัพย์ และ พอช.ชี้แจงว่า ให้คนเหล่านี้ยื่นร้องต่อศาล

ประเด็นคือ 7 คนไม่ได้เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบโดยยึดที่ดินที่เขาเป็นเจ้าของร่วมด้วย ซ้ำร้ายหากจะรักษาที่ดินไว้ ก็ต้องไปจัดการยื่นร้องต่อศาลเอง แล้วชาวบ้านจะหาทางยื่นร้องต่อศาลได้ยังไง ต้นทุนอะไรในเชิงการจัดการก็ไม่มี ไม่ได้มีหน่วยงานในมือ เงินในมือ ที่จะติดต่อให้ใครมาจัดการให้ได้เลย จึงคิดว่าวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ผลักภาระมากๆ” อินทิรากล่าว

ในขณะที่ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล แวะ ‘คอมเมนต์’ ผ่านเฟซบุ๊กในวงที่กำลังถกเถียงถึงประเด็นดังกล่าวว่า พอช.เป็นที่พึ่งคนจนมานาน ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง ควรใช้กระบวนการทางสังคมแก้ปัญหาขัดแย้งจะดีกว่า ทำมาดีแล้วก็ขอให้พยายามต่อไปอีก

“อย่าบังคับใช้กฎหมายกับคนจนที่ด้อยโอกาสและส่งผลกระทบคนอื่นให้ต้องมาพึ่งกระบวนการยุติธรรมเลย เขาถูกไล่ต้อนจนจะไม่มีที่ซุกหัวนอนแล้ว ยังต้องดิ้นรนทำมาหากินเลี้ยงชีวิตครอบครัวอีก อกเขาอกเรา อยากให้ พอช.ทบทวนวิธีการทำงานด้วยการฟ้องบังคับคดีชาวบ้านด้วยนะครับ ด้วยความเคารพอยากแนะนำว่าไม่ควรทำ ต้องหาทางเลือกที่ดีกว่า เพราะยิ่งจะซ้ำเติมชาวบ้าน ผลักภาระที่หนักหนาสาหัสแก่เขา และไม่เฉพาะกรณีพี่น้องเก่าป้อมฯซึ่งจมอยู่กับความทุกข์ที่รัฐก่อกับเขาอย่างไม่เป็นธรรมมากว่า 30 ปี แล้วเท่านั้น ขอให้ร่วมกันคลี่คลายปัญหาอุปสรรคให้สำเร็จไปได้ด้วยดีกันทุกฝ่ายครับ” ดร.เพิ่มศักดิ์แนะ

ล่าสุดแว่วมาว่าจะมีการนัดหมายพูดคุยระหว่างบุคคลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกร่วมกัน นับเป็นปมปัญหาต้องติดตามไม่วางตา บนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์หลังการไล่รื้อที่ยังมีวิวาทะใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image