โควิดพลิกชีวิต ‘เจ้าพ่อสวนลุม’ ไพโรจน์ ทุ่งทอง หนี้ท่วม พร้อมกลับมาสู้ใหม่

โควิดพลิกชีวิต ‘เจ้าพ่อสวนลุม’ ไพโรจน์ ทุ่งทอง หนี้ท่วม พร้อมกลับมาสู้ใหม่

จังหวะชีวิตคนเรา ไม่มีใครรู้หนทางข้างหน้าจะเจออะไร เหมือนโรคระบาด “ไวรัสโควิด-19” ที่กำลังถล่มโลกทั้งใบ ไม่มีใครคาดคิดจะมีวันนี้ วันที่มีคนป่วยและตายจากโรคระบาดเหมือนใบไม้ร่วง

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดใน “ประเทศไทย” อยู่ในระดับวิกฤตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านานาประเทศ

ทั้งยังกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลไทยแก้ไม่ตก ซ้ำเติมระบบบเศรษฐกิจที่เปราะบางจนแทบ ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เวลานี้ “โควิด” ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า ยิ่งธุรกิจที่พึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยิ่งเจ็บตัวหนัก แม้แต่ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ยังต้องลุ้นระทึกหลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม หากแผนเปิดประเทศฟื้นการท่องเที่ยวทำได้เร็วยิ่งดี แต่ต้องมั่นใจว่าจะสกัดโควิดได้อยู่

Advertisement

หนทางเดียวจะอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตซ้ำซ้อนจึงต้องปรับตัว ปรับใจ ดิ้นหารายได้ทุกวิถีทาง ประคองตัวฝ่าพายุโควิด

เช่นเดียวกับเจ้าพ่อสวนลุมไนท์บาซาร์ “ไพโรจน์ ทุ่งทอง” วัย 61 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก จำกัด ผู้ปลุกปั้นตลาดนัดกลางกรุง “สวนลุมไนท์บาซาร์” ในอดีตและโครงการ “สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก” ในปัจจุบัน ที่โควิดทำให้จังหวะชีวิตพลิกผันอีกครั้ง

“ไพโรจน์” หรือเสี่ยเต่า เป็นอดีต ส.ว.จังหวัดอุทัยธานี ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของร้านอาหาร และนักการเมือง

เขาเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 23 ปี ด้วยการผลิต “ถุงใจดี” ขายในช่วงน้ำท่วมหนักกรุงเทพมหานครในปี 2526 จนสร้างรายได้หลายสิบล้านบาท จากนั้นนำเงินกำไรมาต่อยอดทำธุรกิจรับเหมาซ่อมบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

ก่อนเข้าสู่วงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรโปรเจ็กต์แรก “นวนคร วิลล่า” สร้างโรงงานสำเร็จรูปขาย พัฒนาคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน อพาร์ตเมนต์อีกหลายโครงการ

โดย “ไพโรจน์” ออกแบบและก่อสร้างเองทั้งหมด รวมถึงโครงการ “สารินเพลส” หลังเมเจอร์รัชโยธิน แม้จะขายต่อให้ “กลุ่มสาริน พร็อพเพอร์ตี้” แต่ได้กันพื้นที่ดาดฟ้าสร้างบ้าน 3 ชั้นไว้พักอาศัยกับครอบครัวจนถึงปัจจุบัน “ไพโรจน์” เลิกทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 โดยมีหนี้สินติดตัวหลายร้อยล้านบาท แต่กำเงินก้อนสุดท้าย 30 ล้านบาท เช่าที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิมย่านสวนลุมพินีจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เปิดตลาดกลางกรุง “สวนลุมไนท์บาซาร์” เมื่อปี 2541 มีทั้งพื้นที่ร้านค้าและอพาร์ตเมนต์ให้เช่า

หลังหมดสัญญาได้มาเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยติดสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว 20 ไร่ เปิดตลาดนัดกลางกรุงอีกรอบ ชื่อว่า “ตลาดไนท์รัชดา” เป็นการทดสอบตลาด ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี จึงตัดสินใจลงทุนขึ้นโครงการ “สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก”

สร้างเป็น 2 อาคาร สูง 18 ชั้น และ 14 ชั้น มีพื้นที่ก่อสร้าง 165,000 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยร้านค้าย่อยประมาณ 200 ร้าน ยิมมวย โรงละคร ออฟฟิศให้เช่า อีเวนต์
ฮอลล์สำหรับจัดงาน ซุปเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมง โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก 800 ห้อง และที่จอดรถ 1,200 คัน

เป็นการกลับมาอีกครั้งของเจ้าพ่อสวนลุมบนที่มั่นใหม่ใช้เงินลงทุนไปร่วม 3,800 ล้านบาท ที่ตั้งใจจะให้เป็นแลนด์มาร์กของทำเลรัชดาภิเษก

แต่เหมือนโชคชะตาที่ไม่ได้ถูกลิขิตด้วยฟ้า จากสภาวะเศรษฐกิจ การระบาดโควิด-19 ยังเขย่าขวัญไม่เลิกรามาตั้งแต่ปีที่แล้ว บวกกับที่รัฐประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร

ทำให้ผู้ชายที่ชื่อ “ไพโรจน์” ถึงกับปลง หยุดพัก หยุดคิด หยุดทำ บอกตัวเองว่า “เงินที่หามาได้ทั้งชีวิต 2 ปีนี้ กินทุนไปหมดแล้ว” พร้อมอัพเดตความคืบหน้าโครงการนี้ในช่วงที่มรสุมหลายด้านถาโถม

⦁หลังเปิดสวนลุมไนท์บาซาร์รัชดาฯ เมื่อต้นปี 2559 ไม่ค่อยเห็นความเคลื่อนไหว?

ไม่ได้หายไปไหน หลังเปิดบริการโครงการได้ปีกว่าๆ พอโรงแรมอยู่ได้ ก็ลงทุนเปิดธุรกิจโรงยิมมวย ภายในโครงการด้วย เพราะเป็นคนชอบมวยไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ชื่อยิม “ทุ่งทองมวยไทยยิม” รองรับคนไทยและต่างชาติ และ “เดอะบาซาร์ มายไทยอะคาเดมี่” รองรับคนต่างชาติแถบยุโรป มีเขาทราย แกแล็คซี่ สามารถ พยัคฆ์อรุณ สมรักษ์ คำสิงห์ เป็นที่ปรึกษา ตอนนี้ก็ปิดบริการตามนโยบายรัฐบาล

นอกจากนี้ยังได้เช่าที่การรถไฟฯ อยู่ฝั่งตรงข้ามติดกับอาคารจอดรถสถานีลาดพร้าวรถไฟฟ้าใต้ดินและศาลอาญา เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ลงทุนไปกว่า 800 ล้านบาท ทำเป็นโรงแรม สร้างเป็นอาคารสูง 8 ชั้น จำนวน 550 ห้อง มีห้องจัดเลี้ยง และพื้นที่โชว์รูมให้เช่า

ปรับรูปแบบจากเดิมจะทำเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ พอมีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีสถานีจอดด้านหน้าโครงการ เลยปรับรูปแบบเป็นโรงแรม เราเห็นว่าโรงแรมที่เราทำโครงการแรก ผลตอบรับดีเลยปรับเป็นโรงแรม เพราะคืนทุนเร็วกว่า

⦁สถานการณ์ของโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดา ในขณะนี้?

ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เต็มๆ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะทัวร์จีน ตอนนี้ไม่มีเลยสักคน ก่อนมีโควิดมีลูกค้าเข้าพักโรงแรมเต็มทุกห้อง ส่วนร้านค้า ร้านอาหาร อยู่ด้านล่างตึกปิดสนิทหมด ตั้งแต่ 2 เดือนแรกที่เจอโควิดระลอกแรก ไม่ว่าเซเว่นอีเลฟเว่น แมคโดนัลด์

เพราะไม่มีคนเดิน บางร้านก็ขอฝากของไว้ก่อน เราไม่รู้จะไปเก็บค่าเช่าเขายังไงของเขาขายไม่ได้ เลยไม่ได้คิดค่าเช่า

เหลือแต่ส่วนของโรงแรมที่เราปรับเป็นสถานกักกันของรัฐ SQ (State Quarantine) ประมาณ 300 ห้อง รองรับต่างชาติและคนไทยที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย จะต้องกักตัว 14 วัน และทำ ASQ (Alternative State Quarantine) ประมาณ 100 กว่าห้อง เราเป็นโรงแรมแรกที่ทำ เริ่มทำตั้งแต่โควิดระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว เพิ่งเลิกไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะพอมีโควิดระลอก 3 การระบาดเริ่มรุนแรง ไม่มีคนเดินทางเข้าประเทศ ล่าสุดได้เปลี่ยนเป็นฮอสปิเทลร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท รักษาผู้ป่วยโควิด พักห้องละ 2-3 คน

เป็นการปรับตัวให้มีรายได้เลี้ยงลูกน้อง เพื่อไม่ให้เขาตกงาน แต่ไม่คุ้มกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องมีค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าไฟ ค่าแอร์ ต้องเปิด 24 ชั่วโมง เฉพาะค่าไฟตอนทำโรงแรมรับทัวร์ จ่ายเดือนละ 3-4 ล้านบาท พอทำ SQ และ ASQ เพิ่มขึ้นมาเป็นเดือนละ 4-5 ล้าน

ล่าสุดพนักงานที่มีอยู่ 600 คน มีลาออกไป 20% ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายขาย ที่เหลือให้ไปทำ SQ กับฮอสปิเทล เราจ่ายค่าแรงให้ 70-80% อีก 100 กว่าคน กระจายไปทำอย่างอื่นตามความถนัด เช่น เป็นช่าง ให้ทำรับเหมาก่อสร้าง รับออกแบบและก่อสร้าง เป็นธุรกิจเดิมที่เราเคยทำ แต่หยุดไปช่วงมาทำโรงแรม มาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งพนักงานก็คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว

ส่วนคนที่ไม่รู้จะไปไหนให้ไปทำเกษตรปลูกผัก ทำฟาร์มเลี้ยงไก่ รายได้ที่ได้แค่หลักแสนบาท แค่พอได้ค่ากับข้าวดีกว่าอยู่เปล่าๆ พนักงานเขารับสภาพได้ แทนที่ไม่มีเงินเดือนเลย ยังมีที่อยู่ที่กิน เผื่อโควิดหายก็กลับมาทำงานกันใหม่ พยายามรักษาสถานการณ์ให้รอดไปวันๆ ในช่วงระหว่างรอโควิดหาย และนักท่องเที่ยวกลับมา

โควิดพลิกชีวิต ‘เจ้าพ่อสวนลุม’ ไพโรจน์ ทุ่งทอง หนี้ท่วม พร้อมกลับมาสู้ใหม่

⦁ที่ดินนำมาทำเกษตรเป็นที่ดินของใครและอยู่ตรงไหน?

มี 2 แห่ง ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 3-4 ล้านบาท ไม่ได้ลงทุนอะไรมาก ซื้อแค่เครื่องจักร เพราะมีที่ดินอยู่แล้ว อยู่หลังวัดหลักสี่ เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ใกล้กับหมู่บ้านชวนชื่น เป็นที่ดินเก่าของบริษัทเตรียมไว้จะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมให้กับผู้มีรายได้น้อย

แต่ระหว่างวิกฤตโควิดเลยนำมาพัฒนาเป็นฟาร์มเกษตรก่อนเพราะรู้สึกว่าโควิดจะอยู่อีกนาน ทิ้งไว้จะรกร้างเปล่าๆ พนักงานจะได้มีงานทำ มีรายได้ เพราะพนักงานส่วนที่ทำงานโรงแรม พักอาศัยอยู่กรุงเทพฯอยู่แล้ว เดินทางไปกลับได้ ทำเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่กว่า 1,000 ตัว จะไปซื้อไก่ที่จะไข่อยู่แล้วมาเลี้ยง 1 เดือน แพงหน่อยแต่ได้ผลผลิตเร็วก็คุ้ม

อีกแห่งอยู่ที่ลำลูกกาคลอง 10 จังหวัดปทุมธานี มี 2 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ เป็นที่เช่านำมาทำเป็นเกษตรปลูกผักสวนครัว ปลูกกล้วย ฝรั่ง ถั่วฝักยาว พริก มะนาว มะกรูด มะระ ฟักทอง แตงกวา มะเขือ

ตอนนี้กระแสกระชายขาวกำลังมาแรง ได้ลงทุนปลูกไปเยอะเลย เดิมปลูกแค่กระชายดำเพราะคนจีนรับซื้อ และมีเลี้ยงไก่สวยงามด้วย ซึ่งของทุกอย่างที่ปลูกนำไปส่งที่โรงแรมเพื่อทำอาหารให้กับผู้กักตัว 3 มื้อ และมีนำไปขายให้พนักงานนำรายได้มาแบ่งกัน ไม่งั้นก็ตกงานกันหมด

⦁หลังเกิดโควิดรายได้หายไปเยอะแค่ไหน?

ก่อนมีโควิดมีรายได้ปีละ 460 ล้านบาท เป็นรายรับยังไม่หักค่าใช้จ่ายเพราะตอนนั้นโรงแรมเต็ม 100% แต่เมื่อโควิดมาไม่เหลืออะไรเลย มีรายได้แค่พอจ่ายไฟ ค่าน้ำ เฉพาะเงินเดือนพนักงานตกเดือนละ 5 ล้านบาท จากที่มีกำไรมา 4 ปี นับตั้งแต่เปิด โควิดมาทุนหายกำไรไม่เหลือ

ตอนนี้ต้องนำเงินที่เก็บสะสมไว้มาจ่ายไปก่อน สรุปเงินที่สะสมมาทั้งชีวิต ใน 2 ปีนี้ มันกินทุนไปหมดแล้ว ตอนนี้ไม่คิดทำอะไรแล้ว มีโควิดแบบนี้ธุรกิจไม่ต้องคิดว่าจะทำอะไร ถ้าทำใจได้ ก็ยังมีความสุขอยู่ ถ้าทำไม่ได้ก็เครียด ผมเลือกที่จะทำใจ ตื่นมาหายใจได้ ไม่เป็นโควิดก็พอ (หัวเราะ)

⦁ตอนนี้มีภาระหนี้อยู่เท่าไหร่?

….ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ที่ลงทุนในโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก หลังเปิดโครงการไป เพิ่งชำระหนี้คืนแบงก์ไปประมาณ 400-500 ล้านบาท ตอนนี้ขอแบงก์พักชำระหนี้เงินต้น หรือบางที่ก็ขอผ่อนจ่ายแค่ดอกเบี้ย น่าจะช่วยให้บรรเทาภาระไปได้บ้าง

ทุกวันนี้เงินได้มาก็จ่ายดอกหมด บางแบงก์ก็ลดให้ครึ่งหนึ่งของดอกเบี้ย และมีโปรแกรมมาให้กู้เพิ่มอยู่เรื่อยๆ แต่มีบางแบงก์ก็ทวงบ่อย จะฟ้องผม ผมก็บอกว่าอยากฟ้องก็ฟ้องเถอะ อย่างน้อยผมก็ไม่ได้ล้มละลายคนเดียว ล้มละลายกันทั้งประเทศ แต่ถ้าโควิดหาย ผู้ชายคนนี้ไม่มีทางยอมแพ้ แต่ถ้าโควิดยังอยู่ ผมไม่ได้แพ้ แต่ต้องแพ้ไปโดยปริยาย

วิกฤตครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อตอนปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง เจ็บตัวเฉพาะคนพัฒนาอสังหาฯ คนธรรมดาไม่เดือดร้อน แต่คราวนี้เดือดร้อนกันหมด มองไม่เห็นอนาคต ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งเจ๊งแต่ยังตั้งหลักได้ แต่โควิดมาเขาเรียกว่าไม่ได้เจ๊ง เรียกว่าหมดตัว

ตอนนี้หมดตัว แต่ยังมีหัวใจที่ต้องสู้ ไม่ให้ยอมแพ้ เราเคยจนมาก่อน ก็ไม่เดือดร้อน เคยเริ่มต้นจาก ‘0 บาท’ จนทำธุรกิจ 1,000 ล้านบาท ตอนต้มยำกุ้งเหลือเงินไม่กี่บาท ยังต่อยอดมาได้ธุรกิจโรงแรม ตอนนี้เรามีประสบการณ์มาเยอะแยะเราไม่ท้อหรอก แค่ขอให้โควิดหายไปเร็วๆ เราก็สู้ได้ ถ้ายังอยู่ ลำบากกันหมด

⦁โครงการตรงรัชดาฯ เห็นโครงการที่ 2 หยุดสร้าง?

โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใกล้จะแล้วเสร็จ เหลือตกแต่งภายใน พอมีโควิดจึงหยุดสร้างไปโดยปริยาย พอโควิดคลี่คลายค่อยคิดใหม่ ตอนนี้โควิดยังอยู่ ก็ไม่ได้คิดอะไร คือ หยุดสนิทเลย คงจะเป็นอาคารสร้างค้างอยู่อย่างนั้น เพราะผมเองก็อายุมากแล้ว โควิดไม่รู้จะจบใน 5-6 ปีนี้หรือเปล่า

⦁ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ จะถึงขั้นถูกแบงก์เจ้าหนี้ยึดมั้ย?

…จะยึดก็ต้องปล่อยไปแล้ว แต่คงไม่ยึดหรอก ถ้าหายโควิดเราก็คิดว่าเราสู้คนอื่นเขาได้ แต่ถ้ายังเป็นโควิดแบบนี้ แบงก์อยากยึดก็ต้องปล่อย ไม่เอาแล้ว แบงก์จะเอาไปทำอะไรก็แล้วเแต่ แต่ถ้าสภาพเป็นแบบนี้คงพอบรรเทาไปวันๆ ได้

ถ้าโควิดหนักกว่านี้ก็ไม่รู้จะว่ายังไง เราพยายามคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อหาเงินชำระหนี้แบงก์ด้วย แต่ก็ทำเต็มที่แล้ว ก็สู้ไปเรื่อยๆ หากโควิดหายจะไปเจรจากับแบงก์จะฟื้นฟูหรือเพิ่มทุนยังไงได้บ้าง

⦁อนาคตของโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดา?

คงจะไม่ปล่อยให้เป็นหนี้เสียหรอก อยู่ที่ดวง ผมดวงยังไม่เคยหนี้เสีย เพราะตั้งแต่ฟองสบู่แตกก็ไม่เสีย ถึงเวลาก็เอาตัวรอดโอนทรัพย์สินให้เขาหมด เรื่องหนี้ถึงเวลาจำเป็นจะต้องยกให้เขาก็ช่างมัน หาใหม่ง่ายกว่า ดีกว่าดินพอกหางหมู

อันไหนที่เป็นภาระแบกหนักก็ตัดไป อันไหนที่พอมีอนาคตก็เก็บไว้ ถ้าปลงได้ ทำใจได้ เคยหามาได้ หาใหม่ง่ายกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ เราคิดเสมอว่าอุปสรรคเป็นที่ลับสมอง ปัญหาเอาไว้ลองปัญญา ถ้าเราทำดีที่สุด จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่กลัวเลย พร้อมรับ

เรื่องธุรกิจไม่ต้องห่วง อยากเกิดอะไรก็เกิด อย่าไปทุกข์กับมัน ถึงเวลาขอให้มีชีวิตอยู่รอด หนี้ก็ปลอดภัยแค่นั้นแหละ ตอนนี้มีคนห่วงผม ธนาคารบ้าง ลูกน้องบ้าง โทรมาทุกเดือน ผมบอกว่ายังสบายดี ถ้าบอกว่าติดโควิดเมื่อไหร่ ธนาคารมีสะดุ้ง (หัวเราะ) อย่างน้อยก็มีความสำคัญ มีคนห่วง ถ้าโควิดหาย ผู้ชายคนนี้ไม่ยอมให้หนี้เสียแน่นอน ตอนนี้ก็หยุดพักยาว เพื่อเติมกำลัง สะสมพลังเมื่อโควิดหายไป ก็กลับมาสู้ใหม่ ไม่ถึงกับล้มละลาย แต่ลำบากหน่อยตอนนี้

⦁เพิ่งได้ต่อสัญญาเช่ากับการรถไฟฯ วิกฤตขณะนี้ลดค่าเช่าให้หรือไม่?

การรถไฟฯได้ต่ออายุสัญญาให้ รวมสัญญาเก่าที่ยังเหลือด้วยเป็น 30 ปี ได้ต่อสัญญาจ่ายเงินค่าต่อสัญญาไปพอดีเลยโควิดก็มา ดีใจได้ 3 วัน โควิดมาเลยระลอกแรก เราก็ยื่นเรื่องไปขอให้ผ่อนผันชำระค่าเช่า ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา ทั้ง 2 แปลง ต้องจ่ายปีละ 20 ล้านบาท ตั้งแต่มีโควิดก็ยังไม่ได้จ่ายเลย

มองว่ารัฐบาลมีการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดยังไง?

รัฐบาลอาจจะคิดช้าไปหน่อยกับการบริหารจัดการ ต้องมีหน่วยงานที่คิดไปข้างหน้า คิดแอดวานซ์ ไม่ใช่คิดแต่ best case ไม่มี worst case เพราะจริงๆ มันเลวร้ายสุดสุดเท่าที่เคยเจอมา เหมือนคนที่รู้ว่าน้ำจะท่วม เขาก็เตรียมเรือ ยกบ้าน แต่นี้รู้ว่าน้ำจะท่วม ท่วมแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก ไม่เตรียม พอมาพรึบ ที่นอนยังลอยน้ำไปเลย

ถ้าคนมีวิชั่นมองการณ์ไกล ถ้ารู้ว่าน้ำจะท่วม ต้องเตรียมเรือ เตรียมโน้นนี่กันไว้แล้ว

ประเสริฐ จารึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image