คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน : การเดินทางของญาติเล่มหนึ่ง

ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ที่บ้านของผมมักจะมีนิตยสารติดบ้านอยู่ 3-4 ฉบับ คือ สตรีสาร, ขวัญเรือน, กุลสตรี และสกุลไทย

ส่วนใหญ่เป็นนิตยสารผู้หญิง

เพราะแม่ของผมชอบซื้อหนังสือเหล่านี้ติดบ้าน เราในฐานะเด็กผู้ชาย ก็เปิดอ่านบ้าง แต่ก็อ่านแบบตามช่วงวัย เด็กๆ ก็ชอบดูพวกการ์ตูนต่างๆ ที่อยู่ในนิตยสารเหล่านั้น

วรรณกรรมเยาวชนบ้าง หรือดูรูปถ่ายสวยๆ ของงานเขียนสารคดี

Advertisement

แต่ไม่ค่อยได้อ่านอย่างจริงจัง

แต่เมื่อโตขึ้น เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 6-7 แล้ว ผมมักชอบอ่านสารคดีท่องเที่ยวต่างประเทศ เรื่องสั้นบ้าง และนวนิยายบ้างบางครั้ง

เพราะไม่ค่อยชอบอ่านนวนิยาย

Advertisement

เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องครอบครัว ความรัก ความทุกข์ และความสุขของตัวละครต่างๆ ที่นักเขียนหญิงเป็นผู้รังสรรค์ขึ้นมา

ผมเชื่อมาจนทุกวันนี้ว่าที่ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็มาจากการที่ผมมีโอกาสอ่านนิตยสารเหล่านั้นดังที่กล่าวมา เพียงแต่ไม่ได้อ่านทั้งเล่ม

แต่ดูทั้งเล่ม

บางทีผมยังชอบคอลัมน์ที่เกี่ยวกับการปักผ้าครอสติช ถักนิตติ้งเลย หรือบางทีผมก็ชอบคอลัมน์กลอนของนิตยสารเหล่านี้ด้วย

แต่ไม่เคยเขียนกลอนส่งไป

แต่เคยมีความคิดหนึ่งที่อยากจะส่งเรื่องสั้นไปลงในนิตยสารสกุลไทย และเคยมีความคิดหนึ่งที่ทำให้ผมอยากเป็นนักเขียนสารคดีต่างประเทศ

เพราะผมอยากเป็นเหมือนอย่าง “คุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ” ผู้เขียนสารคดีในสกุลไทย เพราะเขาได้เดินทางไปโน่นมานี่ ได้ถ่ายรูปสวยๆ ตามสถานที่ต่างๆ จนทำให้ผมเกิดความคิดว่าวันหนึ่งถ้าผมโตขึ้นผมจะต้องเป็นนักเขียนสารคดีให้ได้

อันเป็นความฝันของเด็กชั้นประถมปลายคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากการอ่านสกุลไทย

ที่ไม่นานจากนี้จะปิดตัวลงฉบับสุดท้ายในวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2559

ความคิดเห็นส่วนตัว ย่อมรู้สึกเศร้าเป็นธรรมดา เพราะนิตยสารสกุลไทยเสมือนเป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เดินทางมาถึงช่วงมัชฌิมวัยที่ 61 ปี

ที่ยังไม่แก่เท่าไหร่นัก

แต่จะต้องหยุดทำงานเสียแล้ว

แต่กระนั้น ก็พยายามเข้าใจว่าทุกอย่างล้วนเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจขณะนี้ กอปรกับโลกของการอ่านหมุนเข็มนาฬิกาเข้าหาโลกออนไลน์ยี่สิบสี่ชั่วโมง

จากที่เคยขายได้สูงสุด 2 แสนกว่าเล่ม ปัจจุบันขายได้เพียง 5 หมื่นกว่าเล่ม และจากสื่อโฆษณาที่เคยมียอดสูงสุดถึง 80% ก็ลดลงเหลือเพียง 20%

ทั้งๆ ที่ผ่านมา “นรีภพ สวัสดิรักษ์” บรรณาธิการบริหารนิตยสารสกุลไทยพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดมา แต่สุดท้าย อย่างที่ทุกคนทราบจากการประกาศของทางนิตยสารสกุลไทยเองว่าจะต้องปิดหนังสือในที่สุด

“นรีภพ” บอกว่าสกุลไทยคือหัวใจของเธอ

โดยส่วนตัว ผม,เองรู้จัก และสนิทสนมกับ “นรีภพ” พอสมควร เพราะเคยเป็นกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยด้วยกัน ทั้งในสมัยของ “ชมัยภร แสงกระจ่าง” และ “เจน สงสมพันธุ์” อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ผมเองยังเคยเล่าให้ “นรีภพ” ฟังว่าเกิดมาผมก็เห็นสกุลไทยแล้ว เพราะแม่ชอบอ่าน และมีติดบ้านอยู่ประจำ

เธอยิ้มชอบใจ และขอบคุณผม

ผมจึงบอกเธออีกว่า…และครั้งหนึ่งผมเคยสัมภาษณ์คุณแม่ (สุภัทร สวัสดิรักษ์-อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสกุลไทย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ของเธอด้วย

ตอนสกุลไทยครบ 40 ปี

ผมนัด “อาจารย์สุภัทร” ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพราะเธอไปประชุมอะไรสักอย่างที่นั่น ผมก็เลยขอสัมภาษณ์ และถ่ายรูปเธอบริเวณเก้าอี้ด้านนอกของหอสมุดแห่งชาติด้วย

จากนั้นผมก็นำรูปเธอมาทำกราฟิกประกอบ ใส่โลโก้สกุลไทย และเลียนแบบคำโปรยปกให้เหมือนฉบับจริง โดยมีคำว่า 40 ปีสกุลไทยในคำโปรยด้วย

เธอบอกเคยอ่าน และเคยเห็น แต่ไม่รู้มาก่อนว่าผมเป็นคนสัมภาษณ์

แล้วเราก็หัวเราะพร้อมกัน

นั่นเป็นเพียงความทรงจำหนึ่ง ที่ผมมีต่อนิตยสารเล่มนี้ ที่แม้จะไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไรมากมาย เมื่อเทียบกับคนที่เป็นแฟนประจำ แต่ผมกลับคิดในฐานะญาติ

เสมือนคนรู้จัก

เพราะเคยเห็นหนังสือหัวนี้มาตั้งแต่จำความได้

และยิ่งมารู้จักบรรณาธิการแม่ และบรรณาธิการลูกในเวลาต่อมา ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าด้วยเหตุนี้กระมัง นิตยสารเล่มนี้ถึงมีแฟนคลับมากมาย

แม้ตอนหลังพวกเธอจะไม่ค่อยได้อ่านแล้ว

หรือว่าหันไปสนใจเรื่องอื่นๆ

แต่กระนั้น ก็ไม่น่าเชื่อว่านิตยสารเล่มนี้จะปิดตัวลงจริงๆ เหมือนอย่างนิตยสารบางกอกก็เหมือนกัน เพราะผมเองเชื่อตลอดมาว่ายังไงๆ นิตยสารบางกอกก็ต้องอยู่ได้

เพราะมีกลุ่มแฟนคลับทั้งในประเทศ และต่างประเทศมากมาย

แต่สุดท้ายอย่างที่ทราบๆ กัน

แม้จะได้ยินข่าวว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งจะนำหัวบางกอกมาทำอีกครั้ง แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าว่าจะออกมาอย่างไร ผม,ในฐานะคนทำสื่อทำได้ก็แต่ให้กำลังใจกันและกัน

และหวังว่าข่าวร้ายๆ แบบนี้จะหมดไปเสียที

แม้จะทราบความจริงอย่างหนึ่งว่าในโลกนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

อย่าไปยึดติด

อย่าไปคาดหวัง

แต่ผมก็ทำใจไม่ได้หรอกครับ ถ้าหากจะมีคนทำสื่อฉบับไหนต้องปิดตัวลงอีกครา

ขอให้กำลังใจทุกคนนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image