คอลัมน์ ประสานักดูนก : เหยี่ยวอพยพเขาเรดาร์

เหยี่ยวอพยพกลุ่มแรกเดินทางผ่านไทยไปถึงประเทศมาเลเซียแล้ว เมื่อวันที่ 13 กันยายน นักดูนกมาเลเซียส่งภาพของเหยี่ยวนกเขาชนิดหนึ่ง จากรัฐเคดะห์ มาสอบถามชนิด ปรากฏว่าเป็นเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เพศผู้ ซึ่งอพยพผ่านภาคใต้ของไทยไปตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม เดือนกันยายนนี้อาจยังไม่ตื่นเต้นเร้าใจนัก เพราะความหลากชนิดของเหยี่ยวอพยพยังไม่มาก ส่วนใหญ่จะพบ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและ เหยี่ยวนกเขาชิครา หรือ แจ็พ จีน และ ชิครา ชื่อเล่นๆ ที่นักดูเหยี่ยวเรียกขานสั้นๆ เป็นคำเฉพาะกลุ่มที่รู้กันยามส่องชมเหยี่ยวอพยพ

ปลายเดือนกันยายนนั่นแหละ จะปรากฏการณ์สายธารเหยี่ยวอพยพจะพบเห็นได้ง่ายๆ เมื่อเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนจำนวนมาก หลายหมื่นตัวยกทัพใหญ่ถึงภาคใต้ ปีนี้กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย จะสำรวจเหยี่ยวอพยพบน เขาเรดาร์ ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะสำรวจชนิดและจำนวน ติดต่อกัน 3 ปี เพื่อเปรียบเทียบประชากรของเหยี่ยวอพยพว่าคงที่ ลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน ถึง 10 พฤศจิกายน ศกนี้

ปีนี้จะมีอาสาสมัครจากต่างประเทศมาช่วยสำรวจด้วย 3 คน จาก 3 ประเทศ สลับกันมาคนละ 3 สัปดาห์ จากประเทศกัมพูชา ฮ่องกง และสิงคโปร์ นับว่าส่งเสริมความสัมพันธ์ของประชาคมอาเซียน เพื่อถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในการจำแนกชนิดเหยี่ยวอพยพ และการสำรวจในภาคสนามจากประเทศไทย สู่ประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นการช่วยต่อยอดองค์ความรู้ด้านนี้สู่สังคมเพื่อนบ้าน เพื่อรู้ และตระหนักแล้วย่อมง่ายที่จะชี้ชวนให้เห็นความสำคัญเพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ

ในอุษาคเนย์หรือภูมิภาคอาเซียนนี้ จัดว่าประเทศไทยพร้อมสรรพในเรื่องเหยี่ยวอพยพ ทั้งจำนวนเหยี่ยวมากหลายแสนตัว จำนวนชนิดที่หลากหลายกว่า 25 ชนิด และมีหนังสือคู่มือการจำแนกชนิดในธรรมชาติ เอื้อต่อบุคคลที่สนใจใคร่รู้ และหวังว่าโครงการสำรวจเหยี่ยวอพยพในปีนี้จะเป็นบันไดทอดยาวสู่อนาคตอีกหลายปีเพื่อเป็นเวทีให้นักดูนกรุ่นใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน อาสาเข้ามาเรียนรู้ และมีส่วนร่วมเพื่อนำทักษะที่ได้ ประสบการณ์ที่เพิ่มพูนกลับไปเผยแพร่ต่อในประชาคมของตน

Advertisement

เช่น นักดูนกชาวกัมพูชาที่เป็นอาสาสมัครสำรวจเหยี่ยวอพยพในปีนี้ ปัจจุบันเป็นไกด์นำดูนกให้กับหน่วยงาน Sam Veasna Center ซึ่งทำงานอนุรักษ์นกบิ๊กเนมหลายชนิดในประเทศของเขา เช่น พญาแร้ง อีแร้งเทาหลังขาว อีแร้งสีน้ำตาล นกช้อนหอยใหญ่และนกช้อนหอยดำ ในขณะที่องค์ความรู้เรื่องเหยี่ยวอพยพและเส้นทางยังน้อยนิดเมื่อเทียบกับบ้านเรา จึงเป็นโอกาสอันดีที่เขาจะนำความรู้และประสบการณ์จากการอาสาครั้งนี้กลับไปสำรวจ และสร้างความรู้ต่อยอดจากเดิมได้มากขึ้น

จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน ที่สนใจกิจกรรมชมเหยี่ยวอพยพ หากสนใจจะให้โอกาสตนเองได้เรียนรู้เกี่ยวกับเหยี่ยวอพยพ ว่าสนุกตื่นเต้นอย่างไร วันเสาร์-อาทิตย์ พบกันบนเขาเรดาร์ มีนักดูนกอาสาสมัครนับเหยี่ยว และชาวบ้านไชยราชที่สันทัดการดูเหยี่ยวอพยพเพราะช่วยงานสำรวจบนเขาเรดาร์มาหลายปี คอยให้คำแนะนำตลอดวัน เตรียมตัวป้องกันแดด ลมและฝน พกกล้องส่องทางไกลมาด้วย จะยิ่งเพิ่มอรรถรสการชมเหยี่ยวอพยพครับ

ข้อมูลการเดินทางไปเขาเรดาร์ http://birdsofthailand.org/content/radar-hill

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image