แดน-คณิน อุดมมะนะ อาสาพาเพลงคลาสสิก ‘จีบ’ คนไทย

“เคยคิดไว้ว่าอยากอยู่ที่เวียนนา ทำงานด้านดนตรี แต่เรารู้สึกว่าเมืองไทยยังตามหลังคนอื่นเยอะในด้านดนตรีคลาสสิก ซึ่งเรามีโอกาสได้ไปเรียนในต่างประเทศ เป็นคนหนึ่งที่ได้ไปเอาประสบการณ์จากเมืองนอก เพื่อกลับมาพัฒนาด้านนี้ในบ้านเมืองเรา”

ประโยคข้างต้น เป็นความตั้งใจของ คณิน อุดมมะนะ หรือแดน นักไวโอลินหนุ่มวัย 29 ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านดนตรีแชมเบอร์จาก University of Music and Performing Arts – Kunstuniversität Graz เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย

หลังทราบว่านักดนตรีหนุ่มเดินทางกลับประเทศไทย จึงนัดสัมภาษณ์เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ

แดน เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่ 5 ขวบ ตามคำแนะนำของแม่ซึ่งเป็นคนชอบดนตรี โดยเครื่องดนตรีชนิดแรกที่เขาเริ่มเล่นคือเปียโน

Advertisement

เขาเกิดวันที่ 27 มีนาคม 2530 เป็นลูกคนเดียวของ พ่อ-ธนเดช อุดมมะนะ แม่-ดวงดาว สถาปนุกูล เจ้าของเนิร์สเซอรี่เด็กญี่ปุ่น

“เรียนไปประมาณ 4-5 ปี ตอนนั้นโรงเรียนของบีเอสโอเปิดโรงเรียนสอนเครื่องสายของวง เป็นแห่งแรกที่สอนในประเทศไทย แม่เห็นโฆษณาจึงส่งไปให้เรียนไวโอลิน ตอนนั้นประมาณ 9 ขวบ แต่ก็ไม่ได้จริงจัง เล่นไปเรื่อยเปื่อย จนอายุ 12-13 ปี เริ่มรู้สึกสนุกกับมัน รู้สึกชอบ เลยฝึกซ้อมจริงจังขึ้น”

นั่นทำให้แดนได้เป็นหนึ่งในสมาชิกนักดนตรีวงวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (BSO) ที่เด็กที่สุดด้วยวัย 15 ปี

เวลาว่างของเขาอาจต่างจากเด็กวัยเดียวกัน ขณะที่คนอื่นใช้เวลาไปกับการเรียนพิเศษ แต่แดนกลับมีความสุขกับการซ้อมไวโอลินและการดูวิดีโอบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตของวงออเคสตราจากเวียนนา เพราะเขาใฝ่ฝันว่าจะได้เข้าเรียนที่ University of Music and Performing Arts Vienna กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

ในวัย 18 ปี หลังจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จึงมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงของเพลงคลาสสิกโลกทันที พร้อมความมุ่งมั่นว่าจะได้เรียนการแสดงไวโอลิน (Violin performance) เขาใช้เวลาเตรียมตัว 2 ปี ทั้งการเรียนภาษาเยอรมันที่แทบต้องเริ่มต้นใหม่ และเพิ่มทักษะด้านไวโอลินซึ่งต้องปรับให้เข้าที่เข้าทาง

กระทั่งสามารถสอบเข้าสถาบันดนตรีระดับท็อปของโลกได้สำเร็จ และได้เรียนกับศาสตราจารย์ไรเนอร์ คูเชิ่ล (Prof.Rainer Küchl) อาจารย์ที่เป็นทั้งนักดนตรี และหัวหน้าวงเวียนนาฟีลฮาร์โมนิกออเคสตราซึ่งกินเนสส์บุ๊กเวิลด์ออฟเรคคอร์ด บันทึกไว้ว่าเป็นหัวหน้าวงที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดคือ 45 ปี โดยคูเชิ่ล ทำหน้าที่หัวหน้าวงตั้งแต่อายุ 20 ปีเท่านั้น จากนั้น ศึกษาปริญญาโทด้านดนตรีแชมเบอร์ที่มหาวิทยาลัยดนตรีและศิลปะการแสดง เมืองกราซ (University of Music and Performing Arts) ซึ่งห่างจากกรุงเวียนนาราว 200 กม.

ขณะใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน คณินได้ช่วยงานสถานทูตไทยทั้งที่กรุงเวียนนา กรุงเบอร์ลิน อีกทั้งยังติดต่อและจัดแสดงดนตรีเล็กๆ กับเพื่อนนักดนตรีที่โตด้วยกันมาอยู่เสมอ กระทั่งปี 2012 จึงเกิดความคิดว่าน่าจะรวมตัวกันทำกิจกรรมบางอย่าง

แล้วก็เกิด โครงการเพลงคลาสสิกจีบคนกรุงเทพ (CLASSICS JEEB BANGKOK) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 7 คน คือ ทวีเวท ศรีณรงค์ (เป้) ไวโอลิน, มิติ วิสุทธิ์อัมพร (เมฆ) วิโอลา, เอกชัย มาสกุลรัตน์ (ปาล์ม) เชลโล, ณัฐพล เลิศวนัสวงศ์ (ยู) ดับเบิ้ล เบส, คริสโตเฟอร์ จั้นวอง แมคคิแกน (คริส) เปียโนและเรียบเรียงเสียงประสาน, ทฤษฎี ณ พัทลุง (พิซซ่า) คีย์บอร์ด ผู้ทำหน้าที่ประพันธ์และเรียบเรียงเพลง

และ แดน ที่สมาชิกวงจีบต่างลงความเห็นว่าเป็นนักไวโอลินฝีมือเยี่ยม ที่จะเป็นหนึ่งในนักไวโอลินผู้ยืนแถวหน้าของไทย

ปัจจุบัน แดน เป็นอาจารย์ประจำที่โรงเรียนดนตรีบางกอกซิมโฟนี (Bangkok Symphony Music School หรือ BSS) และเป็นอาจารย์พิเศษภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยปลายปีนี้ 22 ธันวาคม แดนจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ร่วมกับสมาชิกวงจีบ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

Music is Everywhere หมายถึง ดนตรีดีๆ เกิดขึ้นได้ทุกที่ในกรุงเทพฯหรือทุกแห่งในประเทศไทย เพราะพวกเขามองว่าการฟังเพลงคลาสสิก ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเกินจำเป็นอีกต่อไป “ง่ายกว่าที่คิด สนุกกว่าที่เคย”

ด้วยความตั้งใจพัฒนาดนตรีคลาสสิกในไทย พวกเขาทั้ง 7 คน จึงอาสาเป็น “พ่อสื่อ” พาเพลงคลาสสิกมาให้คนกรุงเทพฯได้ทำความรู้จัก ในรูปแบบใหม่ที่เข้าใจง่าย-เข้าถึงง่าย

 KV 1

เส้นทางสู่เวียนนา

เริ่มจริงจังกับไวโอลินตอนอายุ 12 ได้เรียนกับ พล.ร.ต.วีระพันธ์ วอกลาง และ อ.ทัศนา นาควัชระ หัวหน้าวงบีเอสโอขณะนั้น พออายุ 15 ก็เป็นนักดนตรีอาชีพของวงบีเอสโอ สมัยนั้นใส่กางเกงนักเรียนขาสั้นไปซ้อมกับพี่ๆ

ตอน ม.4 ได้ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปเข้าค่ายฤดูร้อนที่เยอรมนี ตอนนั้นได้เปิดโลกทรรศน์ ได้เจอคนเก่งๆ จากยุโรป ทั้งรัสเซีย ออสเตรีย เยอรมนี โปแลนด์ จำนวนมาก เกิดความรู้สึกอยากไปเรียนยุโรป ขณะเดียวกันเราได้ซื้อวิดีโอคอนเสิร์ตมาดู ทั้งวงเวียนนาซิมโฟนี และวงเวียนนาฟีลฮาร์โมนิกออเคสตรา รู้สึกว่าอยากไปเวียนนา หลังจากนั้น 1 ปีมีเพื่อนไปเที่ยวออสเตรียกับครอบครัว เลยติดสอยห้อยตาม ถือโอกาสไปดูที่ทาง ตอนนั้นยังไม่เลือกว่าอยากไปเวียนนา แต่เลือกว่าจะเดินมาสายนี้ ไม่คิดว่าจะเรียนต่อในไทยอยู่แล้ว

เมื่อไปถึง มันก็ไม่เหมือนที่เราคิดไว้ทุกอย่าง ที่เวียนนาการแข่งขันสูงมาก ต้องใช้เวลาพัฒนาตัวเองเกือบ 2 ปี เพราะระบบการสอนต่างกับไทยในเชิงระดับการเล่น เรายังสู้ไม่ได้ ต้องพัฒนาฝีมืออีกมาก

อีกอุปสรรคสำคัญคือ “ภาษา”

ที่ออสเตรียใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลัก ก่อนเดินทางไปได้เรียนภาษาเยอรมันกับอาจารย์พิเศษจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ แต่พอไปถึงที่นั่นต้องเริ่มเรียนใหม่ทั้งหมด ใช้เวลา 1 ปีกว่าจะสอบได้ระดับที่ต้องใช้

ระหว่างเรียนภาษาก็ฝึกทักษะไวโอลินไปด้วย วันละ 8-10 ชั่วโมง ตื่นเช้าไปเรียน 9 โมงถึงเที่ยง เสร็จแล้วกินข้าวกลางวัน กลับมาซ้อมไวโอลินถึง 3-4 ทุ่ม เป็นอย่างนี้ทุกวัน แต่ช่วงนั้นดีตรงที่ไม่มีอะไรกวนให้สมาธิหลุด ไม่มีไลน์ ไม่มีเฟซบุ๊ก ชีวิตอยู่กับตรงนั้นจริงๆ (ยิ้ม)

เมื่อสอบเข้าเรียนได้อย่างที่ตั้งใจแล้ว ทุกอย่างสอนเป็นภาษาเยอรมันหมดเลย แล้วเป็นเยอรมันสำเนียงออสเตรียน ช่วงแรกๆ จับได้แต่คำว่า He She It ต้องเอาเทปเข้าไปอัดเสียงไว้ บางทีมีศัพท์เฉพาะทางดนตรีที่ในดิกชันนารีไม่มี ก็ต้องซื้อพวก มิวสิก ดิกชันนารี เป็นภาษาเยอรมันเพื่อมาเปิด เรียกว่าใช้ความพยายามพอสมควรในการเรียน

จุดเริ่มต้นของวง “จีบ”

เรา 7 คนเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยขาสั้น โตมาด้วยกัน เล่นวงมาด้วยกัน จัดคอนเสิร์ตเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่สมัยนั้น แล้วต่างคนก็แยกย้ายไปเรียน ทั้งสิงคโปร์ ออสเตรีย เนเธอแลนด์ สหรัฐอเมริกา ไม่ได้เจอกันนานมากกระทั่งปี 2555 จึงได้คุยกัน คุณเมฆ (มิติ วิสุทธิ์อัมพร) มีไอเดียว่าอยากทำอะไรเป็นกลุ่ม โดยมีกรณีศึกษาจากเกาหลีที่มีนักดนตรีคลาสสิก 5-6 คนรวมตัวกันเล่นดนตรีคลาสสิกแต่ดูทันสมัย เราเลยได้ไอเดียจากตรงนั้น แล้วปรับเข้ากับวัฒนธรรมและตลาดดนตรีบ้านเรา จึงเกิดโครงการเพลงคลาสสิกจีบคนกรุงเทพฯ เมื่อปี 2556 หลังจากนั้นก็แยกย้ายไปเหมือนเดิม ผมก็กลับไปเรียนต่อ

ส่วนชื่อวง จริงๆ แล้วชื่อโครงการเพลงคลาสสิกจีบคนกรุงเทพฯ แต่จนถึงวันแรกที่มีรายการสัมภาษณ์ เรายังไม่รู้เลยว่าจะใช้ชื่ออะไร (หัวเราะ) ก็นั่งคิดกันนานมากว่าจะชื่ออะไร เคยใช้ชื่ออะไรสักอย่างเป็นภาษาต่างประเทศ ใช้ไปประมาณ 2 รายการก็จำไม่ได้แล้ว แล้วพิธีกรก็พูดอะไรว่า จีบ จีบ ขอเชิญวงจีบอะไรสักอย่าง ก็เลยใช้ “จีบ” ไปเลย เป็นชื่อที่ผู้ชมเป็นคนเรียกเรา ตรงตัวดี ตรงกับจุดมุ่งหมายและเป้าหมายของวงเราด้วย แล้วมันก็สามารถเล่นกับคำได้เยอะ

ปีแรกผลตอบรับดี คนมีความสุขกับเพลงคลาสสิกมากขึ้น

ทำไมอยากเอาเพลงคลาสสิกกับคนกรุงเทพฯใกล้ชิดกัน

ไม่จำกัดว่าเฉพาะคนกรุงเทพฯ แต่เราเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุดแล้วค่อยๆ ขยายออกไป อย่างที่บอกว่าคนชื่นชอบดนตรีคลาสสิกเยอะพอสมควรแต่ไม่มีสื่อให้เสพ หรือมีก็เข้าถึงได้น้อย เราจึงอยากเป็นทางเลือกหนึ่งในการเสพดนตรี เพราะเหมือนทุกวันนี้สังคมยัดเยียดเพลงป๊อป เพลงร็อก เพลงเกาหลีให้คนฟัง ซึ่งเขาอาจไม่อยากฟังแบบนั้นก็ได้ แต่วิทยุก็ไม่มีอะไรให้ฟังนอกจาก 3-4 อย่าง

จริงๆ แล้วเพลงคลาสสิกเป็นรากเหง้าของดนตรีทุกประเภท เกิดก่อนดนตรีทุกประเภทในโลกนี้ เพลงป๊อปก็ต้องใช้ทฤษฎีบางส่วนของดนตรีคลาสสิก ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันอาจฟังยากกว่าเพลงแบบอื่นเพราะเป็นการบรรเลง ต่างกับดนตรีสไตล์อื่นที่มีคำร้องมาให้ ทำให้คนฟังทราบทันทีว่าเพลงนั้นต้องการสื่ออะไร “ฉันจะจีบคุณ ฉันรักคุณ ฉันไม่ชอบคุณ” แต่เพลงคลาสสิกทำให้คนจินตนาการได้มากกว่า ไม่จำกัดว่าเพลงนั้นต้องเป็นอย่างไร คนฟัง 10 คน อาจตีความหมายได้ 10 อย่าง ไม่มีกรอบตายตัว

ที่ชอบพูดกันว่าเพลงคลาสสิกยาก ต้องปีนบันไดฟัง ส่วนตัวคิดว่ามันไม่สำคัญอะไร อยู่ที่ว่าเราฟังแล้วมีความสุขหรือเปล่า อย่างผมรู้สึกว่าเพลงคลาสสิกให้อิสระในความคิดมากกว่า เราจึงจับจุดด้อยมาทำใหม่ เช่น “แก่/เชย” ทำให้เป็นวัยรุ่น ดูทันสมัย “ปีนบันไดฟัง” เราก็เอาบันไดออกแล้วลงไปหาคนฟังในสถานที่ต่างๆ เหมือนเอาดนตรีคลาสสิกมาแต่งตัวให้เข้ากับยุคสมัยและวัฒนธรรมบ้านเรา

fun01180959p1

บางคนบอกว่าดนตรีคลาสสิกเข้าถึงยาก

จริงๆ ดนตรีคลาสสิกก็อยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว เพลงประกอบโฆษณาบ้าง เพลงประกอบละครบ้าง แต่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร ใครแต่ง เพลงเต็มๆ เป็นอย่างไร บางทีฟังแล้วชอบก็หาฟังต่อไม่ได้เพราะไม่รู้จะฟังที่ไหน บ้านเราสื่อด้านนี้น้อยมาก หาฟังในวิทยุได้ยาก หากไม่ใช่รายการที่เช้ามากก็เป็นรายการดึกๆ เราก็พยายามจับตรงนี้มา แล้วพัฒนาให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น สร้างการเข้าถึงโดยนำเพลงคุ้นหูมาทำในแบบของเรา แล้วให้คนดูสนุกไปด้วย

อย่างปีแรก นำเพลง The Carnival of the Animals ประพันธ์โดยการ์มีลล์ แซงต์-ซองส์เป็นโปรแกรมมิวสิกคือดนตรีที่มีเรื่องราวในการเล่า เพลงนี้แต่ละท่อนจะเป็นสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งคาแร็กเตอร์จะต่างกันไป จึงมีลูกเล่นให้สามารถนำมาเล่นกับการแสดงได้

ส่วนปีนี้ เราเอาเพลงโฟร์ซีซั่นส์ (The Four Seasons) ของวิวาลดิ (Antonio Vivaldi) ก็รู้จักกันอยู่แล้ว กับผลงานของ Astor Pantaleon Piazzolla นักประพันธ์ชาวอาร์เจนตินาที่เรียบเรียงโฟร์ซีซั่นส์ออกมาในสไตล์แทงโก้ จึงหยิบ 2 อันนี้มารวมกันทำให้มีอะไรให้เล่นเยอะมาก คอนเสิร์ตปลายปีจะเป็นธีม “The Seasons” มีศิลปินรับเชิญมาร่วมด้วย อย่างปีแรกได้ พี่ป๊อด โมเดิร์นดอก มาช่วยเรียกเสียงเฮฮาในคอนเสิร์ต ส่วนปีนี้จะมีใครมานั้นขออุบไว้ก่อนครับ (ยิ้ม)

จากการเป็นอาจารย์พิเศษที่ ม.เกษตรศาสตร์ เห็นพัฒนาการทางดนตรีของเด็กรุ่นใหม่บ้านเราอย่างไรบ้าง

พัฒนามาจากแต่ก่อนเยอะมาก เด็กเก่งเต็มบ้านเต็มเมือง ทำให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่รุ่นพี่เราได้ทำไว้ เราก็อยากเป็นรุ่นต่อไปที่เข้ามาพัฒนาเด็กแล้วส่งเด็กขึ้นไปให้สูงๆ ถ้าพูดกันตามตรง ตอนนี้บ้านเราน่าจะตามเกาหลี จีน ญี่ปุ่น 10-20 ปี กว่าเราจะมีคนไปสร้างชื่อเสียงในระดับโลกได้ ต้องใช้เวลา

อย่างผมตอนที่ไปเรียนที่เวียนนานั้น อาจเป็นคนไทยเพียงคนเดียวในยุโรปที่เรียนไวโอลิน หากเทียบเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนในรุ่นปีเดียวกัน มีนักเรียนจากเกาหลีกว่า 20 คน ซึ่งไม่รวมมหาวิทยาลัยอื่นและเมืองอื่นที่มีนับพันคน นั่นทำให้เห็นว่าระดับการเล่นยังต่างกันเยอะ ถ้ามีโอกาสก็อยากทำให้เมืองไทยผลิตคนออกไปสู้กับเขาได้มากขึ้น เพราะสามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมส่งออกได้ อย่างทุกวันนี้ เกาหลี ญี่ปุ่น อุตสาหกรรมด้านนี้เยอะมาก ศิลปินดนตรีคลาสสิกของเขาเยอะแยะไปหมด อยากให้เมืองไทยเป็นแบบนั้น ซึ่งคงต้องใช้เวลา 10-20 ปี

ประสบความสำเร็จกับเส้นทางนี้หรือยัง

มันได้ทำตามความฝันของตัวเองในจุดหนึ่ง แต่จะเป็นอย่างไรต่อไปไม่รู้

อย่างที่บอกว่าแต่ก่อนนั่งดูวิดีโอคอนเสิร์ตของวงต่างๆ แล้วจะมีนิวเยียร์คอนเสิร์ตที่วงเวียนนาฟีลฮาร์โมนิกออเคสตรามีการแสดงทุกปี เราก็ดูมาตั้งแต่เด็ก เห็น ศ.ไรเนอร์ ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าวงตั้งแต่อายุ 20 กระทั่งเกษียณตอนอายุ 65 ปี เขาเป็นหัวหน้าวงที่เก่ง และอยู่ในตำแหน่งนานที่สุดจนได้บันทึกในกินเนสส์บุ๊ก ดูวิดีโอเขาบ่อยมาก พอได้ไปเวียนนาจึงมีความคิดว่า ถ้าได้เรียนกับคนนี้คงดีนะ เป็นเป้าหมายหนึ่งของการเข้าเรียนที่นั่น

แล้ววันหนึ่ง เราก็ได้เรียนกับเขา แต่กว่าเราจะเบียดเข้าไปนั่งเรียนในคลาสของเขาได้ก็ต้องใช้ความพยายามมาก ตอนนั้นอาจารย์คนแรกคือโวล์ฟกัง (Wolfgang David) เป็นศิษย์ของ ศ.ไรเนอร์ จนวันหนึ่งเขาจัดให้เราไปเล่นให้ ศ.ไรเนอร์ ดู จึงได้เข้าไปเรียน

การเรียนกับ ศ.ไรเนอร์ ทำให้รู้ว่าคนเรานั้น เมื่อฝีมือถึงอยู่ในจุดจุดหนึ่งแล้วเราต้องรักษาระดับให้อยู่ในมาตรฐานของตัวเอง แล้ว ศ.ไรเนอร์ เป็นคนที่มีวินัยมากๆ ในแต่ละวันเขาจะทำชีวิตเดิมๆ ไม่ใช่ว่าฉันเก่งแล้วฉันไม่ต้องซ้อม แต่ว่าเขาตื่นมาก็ไปวิ่ง กลับมาซ้อม ซ้อมเสร็จออกไปทำงาน ซ้อมวง แล้วไปสอน สอนเสร็จก็ซ้อม ตารางชีวิตเขาเป็นอยู่อย่างนี้ 40-50 ปี เหมือนเป็นลักษณะหนึ่งของคนออสเตรียนรวมทั้งคนเยอรมัน

คนไทยอาจนึกภาพไม่ออกว่า “เวียนนา คือเมืองหลวงของเพลงคลาสสิก” นั้นเป็นอย่างไร

มันสามารถสัมผัสได้ในชีวิตประจำวัน โดยสถาปัตยกรรมโดยรอบของเมืองมันยังคงความคลาสสิกอยู่มาก ยุค 1800-1900 เป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น โดยมีกฎหมายห้ามเปลี่ยนแปลงภายนอกอาคารเด็ดขาด ลวดลายที่คนสมัยก่อนปั้นไว้ ต้องรีโนเวทให้เหมือนเดิม ห้ามทุบแล้วสร้างใหม่ ทำให้คงความคลาสสิกไว้

บวกกับวัฒนธรรมการเสพดนตรีคลาสสิกของเขา เหมือนอยู่ในชีวิตประจำวันของคน อย่างคลื่นวิทยุก็สามารถเลือกได้เลยว่าอยากฟังคลื่นไหน มี 3-4 คลื่นที่เปิดเพลงคลาสสิกทั้งวัน และวันหนึ่งยังมีคอนเสิร์ตเยอะมาก มีฮอลล์คอนเสิร์ตเยอะ คนสามารถเลือกได้ว่าวันนี้อยากดูโปรแกรมไหน คนไทยอาจคิดว่าคอนเสิร์ตคลาสสิกเป็นสเปเชียลอีเวนต์ แต่ที่นั่นการฟังดนตรีคลาสสิก การเสพโอเปร่า เหมือนกับบ้านเราที่ชวนกันไปดูหนัง

ประเทศที่เจริญแล้วจะดูง่ายๆ จากศิลปะ ประเทศไหนมีมิวเซียมเยอะๆ มีคอนเสิร์ต มีศิลปะให้เสพเยอะๆ มันแสดงถึงความเจริญของประเทศนั้น แต่เมืองไทยยังคิดว่าการมีตึกสูง มีห้างสรรพสินค้า มีอะไรที่ฟู่ฟ่ามันแสดงถึงความเจริญของประเทศ ซึ่งมันไม่ใช่ ประเทศที่เจริญแล้วต้องพัฒนาจากความคิดคน เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่คนไม่เห็นความสำคัญ

 

ติดตามข่าวและกิจกรรมของ ‘แดน’ และเพื่อนๆวงจีบได้ที่

IG : kaninchen27

https://www.facebook.com/JEEB.Bangkok

และ https://www.youtube.com/user/JeebBangkok

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image