เลขาธิการ สปสช. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี กางแผนซื้อATKส่งถึงบ้าน ตรวจเองทุก 3-5 วัน

เลขาธิการ สปสช. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี กางแผนซื้อATKส่งถึงบ้าน ตรวจเองทุก 3-5 วัน

เลขาธิการ สปสช.
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
กางแผนซื้อATKส่งถึงบ้าน
ตรวจเองทุก 3-5 วัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย นับจากต้นปี 2563 ถึงวันนี้ยังคงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง พบการติดเชื้อใหม่รายวันทะยานหลักหมื่น ขณะที่ยอดป่วยสะสมทะลุหลักล้านไปแล้วในวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา
จากปรากฏการณ์สถิติการป่วยที่พุ่งต่อเนื่อง ทำให้ขีดความสามารถด้านการแพทย์และระบบสาธารณสุขเกินจะรับไหว ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่ไม่พอ เตียงล้น หรือแม้แต่การตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิดที่เข้าถึงค่อนข้างยาก

จึงนำไปสู่การรักษาวิถีใหม่ “การแยกกักตัวที่บ้าน” หรือ Home Isolation และการตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองด้วย Antigen Test Kit หรือ ATK จะเป็นเครื่องมือช่วยค้นหาและนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้ร็วขึ้น เป็นอีกทางเลือก ทางรอดในวันที่ “โควิด” ยังอยู่กับโลกนี้ไปอีกนาน

แต่ยังคงมีคำถาม Home Isolation คือทางรอดจริงหรือเปล่า? แล้วการตรวจด้วย ATK ผลออกมาเป็นบวกแล้ว จะต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR อีกหรือไม่ และสิทธิต่างๆ ที่จะได้เมื่อเข้าสู่ระบบการรักษาตัวแล้ว

Advertisement

วันนี้พาไปฟังคำตอบจาก นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในวงเสวนาออนไลน์ “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ในหัวข้อ “Home Isolation ทางรอดวิถีใหม่ ทำอย่างไรให้รอดจริง” จัดโดยเครือมติชนเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา

ความคืบหน้าการจัดซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด
การใช้ชุดตรวจ ATK เป็นกลวิธีหนึ่งในการค้นหาผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เมื่อเทียบในอดีตที่เราใช้ชุดมาตรฐานที่เราเรียกว่า RT-PCR บางครั้งต้องรอเป็นวัน ทำให้ผู้ป่วยหรือประชาชนเข้าถึงการบริการได้ยาก
เมื่อศูนย์ EOC กระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีนโยบายที่จะใช้ ATK เป็นชุดตรวจเบื้องต้นก่อน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีประกาศในการจะให้ผู้ป่วยสามารถหาซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจด้วยตัวเองได้
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมกันหารือกับ สปสช. เราควรจะมีชุดตรวจให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเข้าถึงการบริการที่ยากเพิ่มเติม จึงเป็นที่มาที่เราเสนอเรื่องให้กับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อนุมัติการจัดซื้อ โดยใช้งบประมาณจากเงินกู้ที่ได้รับจากรัฐบาลในการที่จะเตรียมการไว้ จริงๆ เราตั้งใจว่าจะทดลองนำร่องภายใน 2 เดือนนี้ (ส.ค.-ก.ย.) เราเชื่อว่าในเดือนหนึ่งจะใช้ประมาณ 4-5 ล้านชุด รวม 2 เดือน ประมาณ 8.5 ล้านชุด

ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ในระหว่างจัดหาขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) อย่างที่ทราบว่า สปสช.เราเป็นผู้เตรียมงบประมาณก็จริง แต่เราไม่มีอำนาจในการจัดซื้อจัดหา เราก็ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลราชวิถีช่วยดำเนินการให้ โดยผ่านองค์การเภสัชกรรม

Advertisement

ที่ผ่านมาอาจจะมีข้อคำถามในสังคมหรือในแวดวงถึงคุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์ ก็เข้าใจถึงความหวังดี แต่ขอให้ทางทีมวิชาการหรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องท่านได้ช่วยเราอีกสักนิดหนึ่งในการสร้างความมั่นใจ

ถ้าได้แล้วทาง สปสช.จะรีบกระจาย ตอนนี้เราได้ตั้งคณะทำงานเพื่อกระจายชุดตรวจ โดยมีนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน หลักๆ เรามีแผนในการกระจายแล้วว่าจะกระจายไปจุดใดบ้าง เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น แม้กระทั่งร้านขายยา เราก็มีแผนที่จะกระจายลงไป

นอกจากนั้น มีคำแนะนำว่า ถ้ากระจายอย่างนี้อาจจะยังเข้าถึงไม่สะดวก เราก็เตรียมไรเดอร์ ดิลิเวอรี ไปรษณีย์ส่งไปให้ หรือบางที่แนะนำว่าถ้าเป็นชุมชนแออัด ไม่ต้องให้เขาเดินมาให้เอาไปให้เลย เราก็เตรียมมาตรการนั้นอยู่ แม้ว่าตอนนี้ชุดตรวจจะยังไม่มา เราก็ถือเป็นโอกาสอันดีมีเวลาเตรียมการ ตอนนี้เราก็กำหนดจุด ชุมชนแออัดอยู่ตรงไหนบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สีแดงที่กระทรวงประกาศจะเป็นจุดตั้งต้นก่อน

ถ้าใช้ชุดตรวจ ATK ถ้าผลเป็นบวก สามารถเข้าสู่กระบวนการโฮมไอโซเลชั่นได้เลย โดยไม่ต้อง RT-PCR ซ้ำ?

การตรวจแบบ RT-PCR เป็นวิธีตรวจมาตรฐาน ดังนั้นการที่เราได้ RT-PCR คือสร้างความมั่นใจ ต้องยอมรับว่าการ ATK ไม่ใช่ 100% ตรวจแล้วจะถูกต้องทั้งหมด ดังนั้นใช้หลักง่ายๆ ว่า ถ้าเราต้องนำผู้ป่วยไปรวมกัน เราควรมีการยืนยันด้วย RT-PCR ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยบริการ

ถ้าโฮมไอโซเลชั่นอยู่ที่บ้านแล้ว ไม่ต้องไปคอนเฟิร์มด้วย RT-PCR ก็ได้ แต่ถ้าไปรวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นคอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น หรือโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลก็หวั่นใจผู้ที่อาจจะไม่ป่วยจากผลตรวจที่อาจจะยังไม่ถูกต้อง 100% ด้วย ATK ไปรวมตัวกัน จะต้องย้ำอีกครั้งด้วย RT-PCR

แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะต้องไปหาตรวจ RT-PCR เป็นหน้าที่ของหน่วยบริการที่จะรับเข้ารักษาให้บริการตรงนี้เพิ่มเติม สรุปก็คือถ้า ATK มีผลตรวจเป็นบวก จะเข้าโฮมไอโซเลชั่นก็เข้ารับบริการได้เลย โดยไม่ต้องตรวจซ้ำ

ถ้าใช้ ATK ตรวจแล้วผลออกมาเป็นบวก จะเข้าโฮมไอโซเลชั่น จะมีวิธีการอย่างไรบ้าง?

จริงๆ วิธีการของเราง่ายมาก ไม่ว่าจะตรวจที่ไหนมาเมื่อมีผลเป็นบวก ง่ายที่สุดให้โทรติดต่อไปยังหน่วยบริการที่เคยไปรับบริการใกล้บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งเราได้คุยกันแล้วถ้ามีบริการให้บริการได้เลย

แต่ถ้าต่อไปมีการแจกชุดตรวจ ATK ถ้ารับชุดตรวจ ATK ที่ไหนก็ให้โทรไปที่นั้น เพราะที่นั้นจะรู้ว่าจะนำเข้าระบบโฮมไอโซเลชั่นอย่างไร หรือถ้าไม่รู้อีกหรือซื้อมาตรวจเอง ก็ให้โทร 1330 ต่อ 14 ก็ได้ ตอนนี้สายโทรศัพท์ไม่มีสายล้น รับได้ตลอด หรือถ้าโทรศัพท์ไม่ติดก็เข้าเว็บไซต์หรือไลน์เราก็ได้

ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเข้าไปจองคิวในคลินิกชุมชนอบอุ่นหรือศูนย์บริการที่อยู่ในระบบเรา ซึ่งใน 1-2 วันนี้จะขึ้นแบนเนอร์ในเว็บไซต์ เมื่อคลิกเข้าไปให้กรอกข้อมูล เลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ จะปรากฏว่าขั้นตอนอยู่ขั้นตอนไหนแล้ว เช่น รอคลินิก

ฉะนั้น 4-5 วิธีที่กล่าวมาจะเป็นช่องทางนำเข้าสู่ระบบไฮมไอโซเลชั่นได้

สปสช.ซัพพอร์ตกระบวนการโฮมไอโซเลชั่นอะไรบ้างและกรณีที่ผู้ป่วยต้องกักตัวคนเดียว จะมีมาตรการช่วยส่งเสริมอย่างไรบ้าง?

จริงๆ ภารกิจหลักของเราก็คือสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยบริการ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สปสช.มีหน้าที่ลงไปสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น ในแต่ละวันถ้ามีการให้บริการเราจัดให้ 1,000 บาท สำหรับผู้ป่วย 1 คนต่อวัน รวมอาหาร 3 มื้อ บวกกับค่าวิดีโอคอล

ถ้ามีอุปกรณ์ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เราก็จัดสรรให้ 1,100 บาทต่อคน แล้วแต่ว่าจะซื้อมาในราคาที่เท่าไหร่ นอกจากนั้นจะมีเรื่องยา ซึ่งยาส่วนใหญ่ก็โชคดีที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ซื้อและช่วยกระจาย หรือยาฟ้าทะลายโจร หรือยาแผนไทย ก็สามารถเบิกได้ นี่คือหน้าที่หลักๆ ของเราในการสนับสนุน

แต่อย่างไรก็ตาม ภารกิจอย่างนี้ เราต้องสนับสนุนงานของกรม ของกระทรวงด้วย ดังนั้นทางกระทรวงได้มอบหมายว่าตอนนี้ถ้าผู้ป่วยมีเป็นผู้ติดเชื้อ อยากให้ใช้หมายเลข 1330 เป็นเบอร์คอลเซ็นเตอร์รับเรื่องและจับคู่กับคลินิกกับศูนย์บริการ

เนื่องจากขณะนี้เราเปลี่ยนนโยบายในการดูแลผู้ป่วยโฮมไอโซเลชั่นจากโรงพยาบาลมาเป็นระบบบริการปฐมภูมิ ดังนั้นคลินิกกับศูนย์บริการจะต้องเข้ามาช่วยเรา อีกด้านเราจะช่วยเรื่องการจับคู่ศูนย์บริการกับคลินิก จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาเราพยายามชักชวนคลินิกใหม่ๆ เข้ามาเสริมกำลังของเรา แม้กระทั่งกรมการแพทย์ก็สนับสนุนโรงพยาบาลต่างจังหวัดมาช่วย เพราะคำว่าวิดีโอคอลทำมาจากต่างจังหวัดก็ได้ เช่น การส่งอุปกรณ์ก็สามารถส่งไปได้

ในบางครั้งทางโรงพยาบาลหรือคลินิกอาจจะไม่คุ้นกับการส่งอาหาร เราก็พยายามติดต่อดิลิเวอรีต่างๆ มาพูดคุยกันว่าจะมาช่วยอย่างไรได้บ้าง เพราะเป็นของใหม่

นอกจากนั้นจะมีการสนับสนุนทางกรมในการส่งยาเบื้องต้น เพราะอธิบดีมีหนังสือเวียนแล้วว่า ถ้าคลินิกยังไม่ได้รับคนไข้ ให้ส่งยาก่อน ช่วงนี้เราก็มาเป็นหน่วยเสริม ถ้าใครแจ้งมาเราก็ประสานกับธนาคารออมสินเพื่อส่งยาเบื้องต้น เป็นบทบาทเสริม แต่หลักๆ เรายังทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณ

ยังมีหน้าที่ติดตามผู้ป่วย มีการโทรไปหาผู้ป่วยว่าได้รับอาหารจริงหรือไม่ มีการโทรหาจริงหรือไม่ ดังนั้นที่ได้รับร้องเรียนมาว่าไม่ได้รับอาหาร อันนี้มีความจริงหมดเลย ในอดีตมีค่อนข้างเยอะ แต่ตอนนี้จะเริ่มลดลง เพราะเรามีการกำกับว่า ถ้าเราโทรไปแล้วไม่ได้อาหาร เราจะประสานคลินิกหรือศูนย์บริการให้ช่วยในการเสริม

ขอให้มีความมั่นใจว่าในเรื่องของงบประมาณ ถ้าไม่มีการบริการให้กับผู้ป่วย เราก็ไม่จ่ายอยู่แล้ว เช่น อาหารไม่ได้ ก็ไม่จ่าย มีการหักไป สิ่งที่เราไม่สบายใจ คือใช่ว่าดีใจว่าเราหักเงินเขา เราไม่สบายใจว่าผู้ป่วยไม่ได้รับบริการมากกว่า

ดังนั้นจะทำยังไงเมื่อผู้ป่วยเข้าระบบแล้วจะเกิดบริการ งบประมาณไม่ต้องกลัว เราสนับสนุนแน่ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับบริการ ในระหว่างบริการเราจะช่วยเสริมให้คลินิกให้สามารถทำได้ แต่ถ้าจบ 14 วันไปแล้ว ผู้ป่วยอาจจะร้องเรียน หรือไม่สบายใจว่าทำไมเราไม่ได้รับบริการ ก็พยายามที่จะทำงานแข่งกับเวลาตรงนี้ ทั้งหมดเป็นบทบาทหลักๆ ของเรา

บอร์ 1330 ใครมีสิทธิโทรเข้าไปได้บ้าง ต้องมีสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือสิทธิอื่น?

สามารถโทรได้หมด แม้กระทั่งต่างด้าวก็มีโทรเข้ามา เรารับหมด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีให้บริการต่างด้าวแต่อาจจะโทรไม่สะดวกก็โทรมา 1330 เราก็ประสานให้ ขณะนี้เราเพิ่มสายรับเข้า 1330 จากเดิม 1,600 คู่สาย เป็น 3,000 คู่สาย และเพิ่มพนักงานรับโทรศัพท์จาก 300 คน เป็น 900 คน มีทาง SCB (ธนาคารไทยพาณิชย์) มาช่วย 100 คน ในการรับสาย เราแบ่งกำลัง 200 คน โทรกลับหาผู้ป่วยทุกวัน อีก 700 คน รับโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง

เท่าที่ติดตามในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สายที่หลุดไปมีเกือบเป็นศูนย์ คือไม่มีสายหลุด ขอให้มั่นใจว่าตอนนี้โทรได้ เพราะสายที่โทรเข้าเดิมสูงสุดถึง 2,700 สายต่อวัน ตอนนี้อยู่ประมาณ 12,000-13,000 สาย ยังรับได้สบายๆ โทรมาได้ทุกสิทธิทุกคน

ถ้าชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ประสบความสำเร็จ มีการกระจายและคัดกรองเชื้อได้มาก โอกาสในอนาคตจะเห็นแจกไปตามบ้านหรือไม่?

จริงๆ ตอนที่เราคิด เราคิดไปถึงระดับนั้น ถ้าเราได้ชุดตรวจในราคาที่ไม่แพงนัก กำลังงบประมาณพอมี เชื่อว่าจะเป็นวิถีใหม่ ของประชาชนอาจจะต้องมีการตรวจ ATK บ่อยๆ ทุก 3-5 วัน หรือก่อนออกจากบ้านหรือไปในพื้นที่แออัดก็อาจจะต้องตรวจ เหมือนอย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วเขายอมลงทุนตรงนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ

แต่เนื่องจากเรายังไม่มีงบประมาณมากมายนัก อาจจะต้องทดลองบางพื้นที่ก่อน เราคิดว่าถ้าได้ชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ถ้าเราได้ลองมาก่อน อาจจะเป็นบทเรียนหนึ่งในการที่จะขยาย

ตอนหารือกับกระทรวง อธิบดีกรมการแพทย์ ก็เป็นห่วงการที่จะให้ประชาชนทำอะไร ไม่รู้ว่าประชาชนจะเข้าใจหรือเปล่า มองว่าเราจะไปผลักภาระให้หรือไม่ แต่วันนี้ผมว่าโฮมไอโซเลชั่นและ ATK ประชาชนเข้าใจและไม่ได้รู้สึกว่าเราผลักภาระไป เป็นนิมิตหมายที่ดี เราเพียงจัดระบบให้เข้าถึงได้ง่าย อธิบายให้เข้าใจว่าการที่ท่านทำเองเป็นเรื่องของการที่เรามาเสริมในเรื่องทรัพยากรของเราที่จำกัด

ส่วนอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่ เราคิดไว้หมดแล้ว อาจจะติดขัดเรื่องกระบวนการ ธุรการ ข้อถกเถียง ไม่ต้องกังวล กระทรวงสาธารณสุขผมมั่นใจว่าเรามีวิชาการดีพอเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมแต่ละช่วงเวลาให้กับประชาชน ขอให้มั่นใจว่าเราคิดไว้แล้ว แต่ว่าจะทำได้อย่างไร รูปแบบอย่างไร ขอทดลองนำร่องก่อน

อยากฝากอะไรถึงประชาชนกับการรักษาในระบบโฮมไอโซเลชั่น?

ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงมีจำนวนสูงอยู่ อาจจะมีความจำเป็นที่ยังรบกวนพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมในการรักษาพยาบาล ที่ทางหน่วยงานรัฐต่างๆ เข้าไปร่วมสนับสนุนดูแลในกรณีที่เจ็บป่วย ถึงจุดหนึ่งอาจจะต้องตรวจเอง และกักตัวที่บ้าน

เพื่อให้เรามีเวลาทำงานดูแลผู้ป่วยมีอาการหนักให้เข้าสู่ระบบรักษาพยาบาล ถ้าประชาชนเข้าใจ ความสำเร็จทั้งเรื่องการควบคุมและการดูแลรักษาจะดีขึ้น ขอเน้นย้ำให้เกิดความเข้าใจว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เราออกมา ในแต่ละช่วงเวลา ดูถึงความจำเป็น สถานการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะออกมาตรการ

ประเสริฐ จารึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image