10 ปี รัฐประหาร ’19 กันยา 49′ ทศวรรษแห่ง ‘ก้าวที่พลาด’

“รัฐประหาร” น่าจะเป็นคำที่คนไทยคุ้นเคยดี ด้วยสถิติประเทศที่มีการรัฐประหารมากที่สุดในอาเซียน และคว้าอันดับ 4 มาได้ในเวทีโลก (รองจากซูดาน, อิรัก และโบลิเวีย ตามลำดับ)

วันที่ 19 กันยายนนี้ ถือเป็นวันครบรอบเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำรถถังออกมายึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ขณะกำลังเตรียมแถลงต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

การรัฐประหารครั้งนั้นเกิดภายหลังจากที่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ออกมาเคลื่อนไหว “ชุมนุมขับไล่ทักษิณ”

ประกอบกับพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชน และพรรคชาติไทย ประกาศคว่ำบาตร ไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. 2549 แม้พรรคไทยรักไทยจะได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ

Advertisement

ผลจากการรัฐประหารครั้งนี้ ต่อมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาใช้

ผ่านมา 10 ปี ในความพยายามสร้างความสมานฉันท์ แต่เหมือนว่าความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่คลายความร้อนแรงลงเลยแม้แต่น้อย กระทั่งในที่สุดก็ลงเอยด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2557 อีกครั้งหนึ่งซึ่งใกล้ตัวเราที่สุด

มองภาพการเมืองจากนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ย้อนเวลาไป 10 ปีที่แล้วพวกเขาทำอะไรอยู่? จุดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้จุดยืนคนเปลี่ยนไปได้หรือไม่? เราเรียนรู้อะไรจากรัฐประหารครั้งนั้นบ้าง?

Advertisement
รังสิมันต์ โรม
รังสิมันต์ โรม

เกลียดชังนำสู่วิกฤต

จ่อไมค์ไปที่ รังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วเขาเรียนอยู่ชั้น ม.2 ที่ จ.ภูเก็ต รับรู้ว่าโทรทัศน์ทุกช่องใช้การไม่ได้

“ที่บ้านติดเคเบิล แล้วช่องบีบีซีก็ถ่ายทอดให้ดูจึงรู้ว่ามีเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้น แล้วญาติที่กรุงเทพฯก็บอกว่าเกิดการปฏิวัติขึ้นนะ ซึ่งตอนนั้นที่บ้านก็ดีใจกัน เพราะเขาไม่ชอบทักษิณ”

เป็นการรัฐประหารครั้งแรกในชีวิตของ ด.ช.รังสิมันต์ เกิดขึ้นในช่วงวัยที่เขายังสนใจการเมืองในระดับพื้นฐาน

กับการครบทศวรรษของการรัฐประหารโดย คมช. รังสิมันต์ออกความเห็นอย่างเรียบง่ายว่า “สิบปีที่ผ่านมาเหมือนเราย่ำกับที่ ตลกร้ายคือ ตอนนั้นผมรู้จัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนักการเมือง วันเวลาผ่านไป เราทุกคนถูกบังคับให้เกลียดทักษิณ เกลียดคนเสื้อแดง เกลียดใครก็ตามที่สนับสนุนประชาธิปไตย”
ความเศร้าที่เขาสัมผัสได้คือ สาเหตุของความเกลียดชัง สิ่งเหล่านั้นยังคงลอยค้างอย่างไร้ที่อยู่ที่ไปในสังคมไทย

“ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องเกลียด ทั้งที่แทบไม่รู้จักกันเลย” รังสิมันต์กล่าว และบอกอีกว่า “หลังปี 2550 เราก็มีรัฐธรรมนูญและมีรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามา ก่อนจะเกิดวิกฤตการเมือง พอเป็นรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีวิกฤตอีก มีอยู่เรื่อยๆ จนเราไม่สามารถจะมุ่งหวังหรือเดินไปข้างหน้าได้”

แม้ไร้หวัง แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาเขาก็เป็นอีกคนที่เอาตัวไปเสี่ยงกับการเคลื่อนไหวการเมือง

“เรารู้ว่ามีวิกฤต รู้ว่าทางออกคืออะไร เราจึงเสนอทางออกนั้น แต่เราก็ต้องยอมรับว่า เมื่อประชาชนตัดสินใจรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องยอมรับผลการตัดสินใจของประชาชน

“แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวกาลเวลาจะพิสูจน์เองว่าสิ่งที่เราเคยพูดไปนั้น มันเป็นเรื่องจริง” เป็นคำทิ้งท้ายที่มีความหวังของรังสิมันต์ โรม

 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

ความดีใจในวันที่ยังไม่เรียนรู้

ส่วนอีกหนึ่งหนุ่มในขบวนการเคลื่อนไหว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน กล่าวยอมรับว่าตอนนั้น “ดีใจ” เมื่อทราบว่ามีการรัฐประหาร

“ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นมัธยม ออกไปร่วมกับพันธมิตร ตอนนั้นเกลียดทักษิณมาก คิดแค่ว่าทำยังไงก็ได้ให้ไล่ทักษิณ ไม่คิดว่าจะจบที่การรัฐประหาร แต่ตอนรู้ก็ดีใจ เหมือนเราชนะทักษิณแล้ว”

ไผ่ยอมรับว่า ตอนนั้นไม่เชื่อเรื่องการเลือกตั้ง แต่พอได้มาทำกิจกรรมกับดาวดิน ทำให้เริ่มเข้าใจปัญหา เริ่มศึกษาการเมือง เห็นถึงผลพวงของรัฐประหาร 2549 และในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่นำมาสู่รัฐประหารปี 2557

“เพราะวัฒนธรรมในสังคมการเมืองไทยคือวัฒนธรรมแบบเลือกตั้งเสร็จแล้วก็รัฐประหาร” ไผ่ ดาวดินกล่าว

ด้วยความคิดในวันนี้ หากย้อนกลับไปในปี 2549 ได้ ไผ่ยืนยันว่าจะออกมาเคลื่อนไหวเหมือนเดิม แต่จะไม่รับอำนาจที่ใครหยิบยื่นให้จากกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง

“การต่อสู้ต้องเกิดขึ้นจากประชาชนเอง ไม่ใช่มีใครมาสู้ให้หรือมาทำให้ รู้สึกผิดว่าทำไมไม่ปล่อยให้ประชาชนเรียนรู้ ทักษิณโกงก็ตัดสินในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย เลือกตั้งแล้วทักษิณกลับมาอีก ก็เป็นการเรียนรู้ของเขา ต้องใจเย็นๆ” มองไปในอนาคต เขาคิดว่ามีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารได้อีกแน่นอน หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้จัดสรรอำนาจไม่ได้อย่างที่ต้องการหรือควบคุมอำนาจไม่ได้

“สังคมที่มีการรัฐประหารบ่อยๆ คุณภาพชีวิตของประชาชนก็ไม่ได้ดีขึ้น ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมการเมืองบนฐานการพูดคุยแลกเปลี่ยน เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ห้ามคิดต่าง ทำให้สังคมมืดมนไปอีก แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ได้เรียนรู้ ตอนนี้เขารู้ว่าโดนเอาเปรียบ แต่ยังไม่ได้โดนเหยียบหัวใจที่จะทำให้เขาลุกขึ้นมา ต้องเจอ ต้องโดนกระทำกับตัวเองถึงจะรู้”

สุดท้ายไผ่บอกว่า ถ้ามีบรรยากาศที่คนพูดคุยกันได้ จะทำให้สังคมเรียนรู้แลกเปลี่ยน ตั้งคำถามว่า สุดท้ายวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ถูกต้องไหม ไม่อย่างนั้น จะมีอำนาจฝ่ายเดียวที่บอกว่า “มันดี มันดี มันดี”

สมบัติ บุญงามอนงค์
สมบัติ บุญงามอนงค์

บ่มเพาะความคิด ‘ไม่เอา’ ประชาธิปไตย

ย้ายไมค์มาจ่อนักกิจกรรม “รุ่นพี่”
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ที่บอกว่า ทันทีที่เกิดรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาก็คิดอย่าง “ออโตเมติก” ว่าต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยคืนนั้น แชตคุยกับเพื่อนนักกิจกรรม และอีก 1 วันถัดมาก็ออกมาทำกิจกรรม ในนาม “เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร”

“รัฐประหารครั้งนั้นไม่ได้คาดไว้ก่อน ไม่คิดว่าประเทศจะมีการรัฐประหารอีก เพราะการรัฐประหารก่อนหน้านั้นคือ 23 ก.พ. 2534 เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาปี 2535 จากนั้นบทบาททหารก็อยู่ในร่องในรอยมากขึ้น ไม่ค่อยถูกนำมาโยงทางการเมืองนัก

“แม้จะมีเหตุการณ์ขบวนการพันธมิตรไล่ทักษิณ แต่ผมคิดว่าเป็นกระบวนการธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย และคิดว่าคงหาทางออกได้ด้วยการยุบสภา ใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการจัดการ พอเกิดเหตุก็ทำให้วิธีคิดเปลี่ยนไป” สมบัติกล่าว

นักกิจกรรมอารมณ์ดีผู้นี้มองว่า เหตุเกิดจากความเกลียดทักษิณและความไร้เดียงสาของการแก้ปัญหาทางการเมือง ทำให้ทหารซึ่งก่อนหน้านั้นวางตัวดี มีระยะห่าง กลับมามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเมืองไทย

สิ่งตกค้างจากรัฐประหารปี 2549 สมบัติว่า “เห็นขบวนการฝ่ายขวาที่เรียกว่าขวาใหม่เติบโตมาก ความคิดประเภทไม่เอาประชาธิปไตยเติบโตคือ ตอนปี’49 ผมไปอ่านว่าเขาต้องการประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่าระบบการเมืองที่เป็นอยู่ปัจจุบัน แต่ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ มวลชนกลุ่มดังกล่าวกลายเป็นมวลชนต่อต้านประชาธิปไตยไป ซึ่งแปลกมาก”

ส่วนความเกลียดทักษิณจากยุคนั้น สมบัติยืนยันว่ายังคงมีอยู่

“คนกลัวผีทักษิณมาก มีคนเปรียบเปรยไว้ว่า ประเทศเรามีคนไปเอาต้นไม้ต้นหนึ่งมาปลูกไว้ พอต้นไม้เติบใหญ่ให้ร่มเงาก็มีนกกามาเกาะ ไปขี้ใส่คนที่นั่งใต้ร่มไม้ เขาไม่รู้จะจัดการยังไงก็โค่นต้นไม้ เขาอาจจะมีปัญหากับนักการเมือง กับกาที่ขี้ใส่เขา แต่เขาโค่นต้นไม้ทิ้ง ก็คือระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่ทำลายสิ่งที่สำคัญกว่า

“หลายคนเรียนรู้ไปเยอะ อย่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองยุคแรกๆ ก็ข้ามฝั่งเยอะ ออกมายืนอีกบทบาทหนึ่งที่ไม่ใช่แดง พวกที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ก็มีไม่น้อย สังคมต้องมีกระบวนการเรียนรู้ไปว่าวิธีการแบบนี้แก้ปัญหาได้จริงไหม”

อธิคม คุณาวุฒิ
อธิคม คุณาวุฒิ

ข้ออ้างรัฐประหาร ใบอนุญาตออกบัตรเชิญ

อีกหนึ่ง “รุ่นพี่” ที่อยู่ฝ่ายสนับสนุนนักกิจกรรม
หัวเรือใหญ่นิตยสาร Way อย่าง อธิคม คุณาวุฒิ ระลึกความหลัง 10 ปีที่แล้วได้ว่า เขากำลังนั่งกินข้าวและดื่มน้ำหมักกับ ประภาส ปิ่นตบแต่ง ก่อนที่โทรทัศน์จะประกาศข่าวการรัฐประหาร

“ไม่ได้ตกใจ ไม่ได้เกินคาด เพราะมีกระแสที่ปูมาอยู่แล้ว” อธิคมเผย

บรรณาธิการบริหาร Way ให้ภาพการรัฐประหารว่า เป็นข้ออ้างที่คนจำนวนหนึ่งใช้บอกว่า มี เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกัน ซึ่งสำหรับเขาแล้ว รู้สึกว่าเป็นคำพูดที่มักง่ายไปหน่อย เขาไม่เคยคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีการที่ได้ผลสำหรับการแก้ปัญหา

อธิคมให้ภาพรวมของประเทศไทยว่า ไม่เคยหลุดออกไปสู่สถานการณ์ปกติ กระทั่งลากยาวมาอีก 10 ปีต่อมา ที่คนกลุ่มหนึ่งออกบัตรเชิญให้มีการรัฐประหาร

“อย่าทำท่าไม่รู้ไม่ชี้เลย ก็มีคนทำไปแล้ว ออกบัตรเชิญไปแล้วจริงๆ”

กับชีวิตที่ผ่านเกมล้มกระดานเช่นนี้มาทั้งหมด 6 ครั้ง เขามองว่า คนอีกจำนวนมากทีเดียวที่เคยชินกับการมอบอำนาจให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งรับเหมาอำนาจนั้นอย่างเต็มใจ และเป็นการให้บนความคาดหวังว่า ให้ไปแล้วก็ทำเสีย ทำอะไรก็ได้ ทำแทนไปเลย และตัวเองก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรด้วย

อาจจะรวมถึงการที่สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้บาดแผลที่เกิดจากการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นบ่อยเท่าไหร่ก็ตาม

“ถือว่าพัฒนาการในเชิงการเรียนรู้นั้นมีปัญหา อย่างที่บอกว่าสมาชิกร่วมประเทศเรายังมีความเชื่อว่า การคืนอำนาจให้คณะบุคคลใดรับเหมาทำแทนเป็นวิธีที่ใช้ได้” อธิคมกล่าว

ในความบ่อยและช้ำจากเหตุการณ์รัฐประหารในสังคม อธิคมเป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความเห็นต่อเรื่องราวเหล่านี้อยู่เป็นระยะ ขณะที่อีกหลายคนถอดใจเลิกแสดงความเห็นไปแล้วด้วยความเหนื่อยหน่าย ไปจนกระทั่งสิ้นหวัง

“เราจำเป็นต้องพูดบ้าง ไม่เช่นนั้น เราจะเป็นคนที่ตายแล้ว” อธิคมทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image