มรดก ‘พระองค์วรรณฯ’ ศัพท์บัญญัติ วันนี้ของประชาชาติ พรุ่งนี้ของศูนย์นราธิปฯ

มรดก ‘พระองค์วรรณฯ’ ศัพท์บัญญัติ วันนี้ของประชาชาติ พรุ่งนี้ของศูนย์นราธิปฯ
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ‘พระองค์วรรณฯ’ พระบิดาแห่งการบัญญัติศัพท์ ผู้ก่อตั้ง นสพ.ประชาชาติ

“เมื่อฉันเด็กๆ น่ะ เป็นเด็กที่เงียบ ไม่ค่อยพูดค่อยจา เสด็จพ่อก็จะให้เป็นหมอ จึงประทานนามว่า ไวทยากร

ไวทยะ ก็แปลว่า แพทย์ แล้วอาการก็ที่เกิด บ่อเกิดแห่งวิชาแพทย์ ทีนี้เมื่อฉันสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้เมื่ออายุ 13 ปีเศษ ท่านก็บอกว่า ควรจะเลือกวิชาที่ปราดเปรื่องยิ่งกว่าการแพทย์ ก็ขอพระราชทานรัชกาลที่ 5 ให้พระราชทานนามแก่ฉัน ทีนี้ แทนที่จะเป็น ไวทยากร ท่านทรงเติม วรรณ ซึ่งแปลว่า หนังสือ ไวทยะ ที่ว่าแพทย์นั้น ก็เหมือนคำว่า Doctor แปลว่าจะเป็น Doctor วิชาการแพทย์ หรือ Doctor วิชาอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นก็เติม วรรณไวทยากร ก็เป็น หมอหนังสือ ตั้งแต่นั้น ฉันก็พยายามที่จะบำเพ็ญตนให้สมแก่ชื่อที่ได้พระราชทานนั้น”

คือพระดำรัสของ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ ‘พระองค์วรรณฯ’ จากการประทานสัมภาษณ์ถึงที่มาของพระนามเดิม ‘วรรณไวทยากร’ ในหนังสือประวัติบุคคลที่น่ารู้จัก ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2516

ต่อมา หนังสือพิมพ์ รวมประชาชาติ นำมาเผยแพร่อีกครั้งในต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2519 ช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องสูญเสียปูชนียบุคคลเฉกเช่นพระองค์ท่านอย่างไม่มีวันกลับ

Advertisement

 

เนื้อความข้างต้น สะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ระหว่างพระองค์วรรณฯ และหนังสือ ตั้งแต่พระนาม จนถึงการน้อมนำนามพระราชทานมาประพฤติปฏิบัติ

85 ปีแห่งพระชนม์ชีพ ทรงมีบทบาทสำคัญทั้งวงการทูต การเมือง การศึกษา และอีกมากมาย

Advertisement

ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ประธานสมัชชาสหประชาชาติ คนไทยคนแรก และคนเดียวจนถึงขณะนี้

พระองค์วรรณฯ ทรงประชุมหารือร่วมกับนักปราชญ์คนสำคัญของไทย โดยทรงเป็นนายกราชบัณฑิตสถานถึง 3 สมัย

25 สิงหาคม พ.ศ.2534 ในวาระคล้ายวันประสูติครบ 100 ปี ยูเนสโกประกาศให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม

ทว่า ไม่ว่าบทบาทใด งานอันเกี่ยวเนื่องกับ ภาษา หนังสือ และสิ่งพิมพ์ คือ จิตวิญญาณของพระองค์วรรณฯ

ทรงจัดตั้งแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ.2510 ท่ามกลางกระแสการเติบโตของหนังสือพิมพ์

ทรงบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่นับพันคำ เป็นมรดกทางภาษาแก่คนไทยสืบมายังปัจจุบัน จนได้รับการเทิดพระเกียรติให้ทรงเป็น พระบิดาแห่งการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย จากราชบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ.2559

คำศัพท์เหล่านั้น ทรงใช้ทั้งในการแถลงอธิบายในการประชุมรัฐสภา การร่างกฎหมาย รวมถึงในหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ ซึ่งทรงก่อตั้งขึ้นหลังอภิวัฒน์สยาม 2475 ก่อนปิดตัวลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อมา ประทานหัวหนังสือพิมพ์นี้ให้ ขรรค์ชัย บุนปาน แล้วมีพัฒนาการต่อมาเป็น ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ในเครือมติชนจนถึงทุกวันนี้ นับเป็นเวลานานกว่า 4 ทศวรรษ

พระองค์วรรณฯ ทรงออก นสพ.ประชาชาติหลังอภิวัฒน์สยาม 2475 ก่อนปิดตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

‘ประชาชาติ’ จากพระหัตถ์ ‘พระองค์วรรณฯ’ สู่มือ ‘ขรรค์ชัย’

ย้อนไปเมื่อครั้งหลังอภิวัฒน์สยามฯ 2475 พระองค์วรรณฯ ทรงออกหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ โดยมีนักคิดนักเขียนคนสำคัญ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ จำหน่ายได้มากกว่า 7,000 ฉบับในแต่ละวัน ทรงเขียนบทความทางการเมืองเป็นที่สนใจของคณะรัฐบาลอย่างมาก คนอ่านติดคอลัมน์ ‘ไขข่าว’ ของพระองค์ท่าน ซึ่งทรงใช้นามปากกา ‘ไววรรณ’ ดำเนินกิจการอยู่นานกว่า 10 ปี ปิดตัวลงใน พ.ศ.2488

วารุณี โอสถารมย์ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ค้นคว้าเรื่องราวดังกล่าว ระบุว่า ก่อนยุติกิจการ นสพ.ประชาชาติเผยแพร่ความเห็น ‘ต่อต้านการใช้อำนาจรุนแรง’ ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับกลุ่มความเห็นต่างทางการเมือง จน ‘ถูกบีบ’ ให้ทรงปิด นสพ.

พระองค์วรรณฯ ทรงมีข้อชี้แจงต่อคณะนักเขียนในสังกัด สะท้อนหลักการที่มั่นคง ความว่า

“เราต้องต่อสู้เพื่อชนะ ไม่ใช่เพื่อแพ้ เราต้องใช้ปัญญาเพื่อสู้ต่อไป การใช้ปัญญาก็คือ ต้องรู้จักถอยเพื่อสู้ต่อไปอีก และเราได้เดินทางมาถึงจุดถอยแล้ว ขอให้เราถอยชั่วคราว…ให้มองไปข้างหน้า ซึ่งจะเป็นของเรา”

อีกเกือบ 30 ปีต่อมา ขรรค์ชัย บุนปาน ทูลขอหัว นสพ. ‘ประชาชาติ’ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เนื่องจากยุคนั้น รัฐบาลไม่อนุญาตให้เปิดหัวใหม่

นับแต่นั้นประชาชาติรายสัปดาห์ รายวัน และรวมประชาชาติรายวัน ถือกำเนิดขึ้น มีพัฒนาการต่อมา จนกลายเป็น ‘ประชาชาติธุรกิจ’ เมื่อปี 2521 อายุยืนนานมาถึงวันนี้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 ภายใต้สโลแกน ‘เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว’

คำอวยพรจากพระองค์วรรณ เมื่อครั้งประทานหัว นสพ.ประชาชาติ แก่ขรรค์ชัย บุนปาน

ในห้วงเวลาแห่งการรำลึก 130 ปี วันคล้ายวันประสูติ 25 สิงหาคม 2564 ขรรค์ชัย เล่าถึงความทรงจำที่มีต่อพระองค์วรรณฯ เมื่อคราวเข้าเฝ้าเพื่อทูลขอหัวหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ ว่า ครั้งนั้นตนเป็นเพียงเด็กคนหนึ่ง แม้แต่รถยนต์ยังไม่มีขับ ต้องนั่งรถประจำทางสาย 25 ไปลงปากทาง แล้วเดินเท้าเข้าซอย นัดหมายเวลา 08.30 น. จริงๆ แล้วต้องไป 3 คน แต่อีก 2 คนยังมาไม่ถึง จึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ท่านที่ห้องรับแขกเพียงคนเดียว

“วันนั้น ท่านแต่งองค์เรียบร้อย ใส่สูท มีเสื้อกั๊กด้านใน รองเท้าหนัง ผูกเชือก พร้อมในหน้าที่การงาน แต่เราแต่งตัวแบบวัยรุ่น ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อพับแขน รีบเอาแขนเสื้อลงแทบตาย เพราะไม่เคยเจอคนใหญ่คนโตจริงๆ แทบลงไปกราบท่านเลย เราเคารพท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ แบบเด็กคนหนึ่งที่เจอบรมครู พหูสูตร ตื่นเต้น แต่ไม่เกร็ง เพราะคิดว่าท่านเปรียบเสมือนครูท่านหนึ่งที่เราเคารพมาก

แม้ไม่เคยพบท่านเป็นการส่วนตัว แต่เป็นลูกศิษย์ในทางหนังสือ ท่านยิ่งใหญ่มาก ทรงเป็นอัจฉริยะ มีข้อเขียนทางภาษามากมาย และยังเป็นอดีต รมว.ต่างประเทศ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เราชอบทั้งภาษา และการเมืองอยู่แล้ว ก็ติดตามอ่านงานท่านมาตลอด

ได้นั่งคุยกัน 2 คนตั้งแต่ 8 โมงครึ่ง กว่าจะออกจากตำหนักก็เกือบ 10 โมง คุยแบบธรรมดา ไม่ได้ใช้ราชาศัพท์ ทรงยิ้มแย้ม ไม่ถือพระองค์ เราเรียกท่านว่า เสด็จอาจารย์ ส่วนท่าน เรียกเราว่า เธอ

ทรงรับสั่งว่า ทราบเรื่องแล้ว ดีใจ ขอให้ทำให้ดี ข้อเขียนคำอวยพร ท่านเตรียมไว้ และประทานให้ตอนนั้นเลย แล้วยังนำสตางค์ใส่ซองเป็นขวัญถุงให้ 900 บาท เป็นธนบัตรใบละ 100 บาท 9 ใบ เป็นเคล็ด”

หัวเรือใหญ่เครือมติชน ในวันที่ชีวิตเดินทางไกลมาเกือบ 8 ทศวรรษพรั่งพรูความทรงจำอันแจ่มชัด ราวกับภาพเหตุการณ์ในวันนั้นฉายอยู่ตรงหน้า

ทรงมีบทบาทในการเจรจาให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ โดยทรงเจรจาเป็นผลสำเร็จ ไทยได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ต่อมา ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาในสมัยประชุมครั้งที่ 11 ระหว่างพ.ศ.2499-2500

ตัดภาพมายังปัจจุบัน ชื่อ ‘ประชาชาติ’ ของพระองค์วรรณฯ ยังอยู่บนแผงหนังสือ พร้อมๆ กับโลกออนไลน์ ในนาม ‘ประชาชาติธุรกิจ’

เด็กหนุ่มในวันนั้น ประธานค่ายมติชนในวันนี้ ยังเล่าถึงความประทับใจในคำว่า ‘ประชาชาติ’ ซึ่งไม่ใช่เพียงชื่อหัวหนังสือพิมพ์ หากยังเป็น ‘ศัพท์บัญญัติ’ ของพระองค์วรรณฯ อีกด้วย

“ชื่อประชาชาติ เหมือนประกาศที่หนักแน่น มีหลักฐานมั่นคง นับเป็นชื่อที่ดี และอายุยืนมาถึงวันนี้อย่างที่หลายคนนึกไม่ถึง ยุคนั้นขออนุญาตเปิดหัว นสพ.ใหม่ไม่ได้ รัฐไม่ให้เกิด เลยคิดว่า ลองไปทูลขอหัวประชาชาติดู ค่าหัว นสพ.แพง เป็นหมื่นเป็นแสน ถ้าเทียบกับค่าเงินยุคนี้ก็หลายล้าน แต่ท่านก็ประทานให้ ไม่ได้ถวายเงินท่านเลย ท่านคงทราบอยู่แล้ว ว่าเราไม่มีเงิน มีแต่ใจที่จะทำ ท่านคงเห็นความตั้งใจ”

ขรรค์ชัย กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากพระองค์วรรณฯ จะทรงเป็นอัจฉริยะในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการทูต กฎหมาย ภาษา และการประพันธ์ พระองค์ท่านยังทรงเป็นผู้มีอุดมการณ์สูง ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศ ทรงเป็นตัวของตัวเอง อ่อนนอก แข็งใน ยืนหยัดบนความถูกต้อง

ในวาระครบรอบแต่ละปีของวันคล้ายวันประสูติ ประธานค่ายมติชนแนะว่า ในการรำลึกถึงพระองค์วรรณฯ ระดับ ‘รัฐบาล’ ควรต้องมาดำเนินการ โดยเน้นให้คนไทยเจริญรอยในแง่ความรักในการอ่านหนังสือ และเผยแพร่เรื่องราวของพระองค์วรรณฯ ให้ ‘คนรุ่นใหม่’ ได้รับทราบผ่านช่องทางต่างๆ

‘วรรณไวทยากร’ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยพิมพ์ถวายเนื่องในโอกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มีพระชนม์ครบ 80 พรรษา 25 ส.ค.2514 ปกแข็ง 2 เล่มจบ จัดเป็นหนังสือดี 1 ใน 100 เรื่องที่คนไทยควรอ่าน

‘แทนที่จะสะสมลายคราม แต่ท่านพ่อสะสมหนังสือ’

จากมุมมองข้างต้นของขรรค์ชัยในประเด็นคนรุ่นใหม่ หากพิจารณากระแสจากโลกออนไลน์ท่ามกลางความสนใจในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วง 1-2 ปีมานี้ พบว่า ปรากฏการเผยแพร่เรื่องราวของพระองค์วรรณฯ โดยเฉพาะประเด็น ‘ศัพท์บัญญัติ’ ซึ่งทรงนำภาษาอังกฤษมาบัญญัติเป็นภาษาไทย เพื่อนิยามความหมายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

“ทุกๆ วัน เมื่อดิฉันได้ยินการใช้ศัพท์ท่านพ่อทางโซเชียลมีเดีย เช่น คำว่า สื่อสารมวลชน ปฏิรูป ปฏิวัติ รัฐธรรมนูญ วารสารศาสตร์ นวัตกรรม ประชาธิปไตย มลพิษ และศัพท์อื่นๆ ก็มีความปลื้มปีติที่สังคมไทยยังสืบสานผลงานของท่านพ่ออยู่ต่อไป ภูมิใจมากที่ท่านเป็นผู้คิดค้นศัพท์ให้คนไทยเราใช้มากกว่าพันคำ ใช้กันทั่วประเทศ พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์อันยาวไกล ทรงเห็นว่า คนไทยต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในภาษาไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเวลาที่สังคมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ท่านจึงได้ทรงบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ ไว้ให้คนรุ่นหลัง”

หม่อมพร้อยสุพิณ (ชายา), พระองค์วรรณฯ และท่านผู้หญิงวิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร
ท่านผู้หญิงวิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร ธิดาพระองค์วรรณฯ, หม่อมหลวงสุทธิ์ธรทิพย์ วรวรรณ นัดดา พร้อมด้วยชวิศ อ่องจริต และฐิตาภา วรวรรณ ปนัดดา

ในวัย 88 ปี ท่านผู้หญิงวิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร ทายาทพระองค์วรรณฯ ที่ยังรับทราบถึงเรื่องราวในโลกโซเชียล เล่าถึง ‘ท่านพ่อ’

ท่ามกลางความทรงจำมากมาย หนึ่งในนั้น คือการได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศของเหล่านักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เมื่อครั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติในยุคพระองค์วรรณฯ ยังดำเนินกิจการ

“ตอนนั้นดิฉันยังเด็ก อายุ 3-4 ขวบ พอจำความได้ ไปนั่งที่โรงพิมพ์ในตึกที่ท่านเช่าบนถนนหลานหลวง คุณแม่ (หม่อมพร้อยสุพิณ) ก็คุมอยู่โรงพิมพ์ ท่านพ่อพอเสร็จจากราชการแล้วก็แวะไป นักเขียนก็ไปชุมนุมกันที่นั่นทุกวัน”

ท่านผู้หญิงวิวรรณ ยังเล่าถึงความรักที่พระองค์วรรณฯ ทรงมีต่อหนังสือหนังหา อันเป็นแหล่งรวมวิชาความรู้ โดยเฉพาะด้าน ‘สังคมศาสตร์’ ซึ่งทรงเป็นผู้ผลักดันและวางรากฐานที่เข้มแข็งเมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ.2506-2514

“ท่านรักหนังสือมาก หนังสือเป็นชีวิตจิตใจของท่าน แทนที่จะสะสมลายคราม แต่ท่านสะสมหนังสือ ก่อนท่านสิ้น เคยบอกว่า อยากให้คนส่วนรวม ทุกระดับได้มีส่วนร่วมในการอ่านหนังสือที่ท่านเก็บไว้ พอท่านจากไปแล้ว คุณแม่จึงยกหนังสือให้กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร มีการก่อตั้งศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยสังคมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2522 ปัจจุบันตั้งอยู่ในอาคารราชบัณฑิตยสถานเดิมที่ท่านพ่อเป็นนายกฯ 3 สมัย”

พรุ่งนี้ของ ‘ศูนย์นราธิปฯ’ 4 ทศวรรษสู่โลกดิจิทัล

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยสังคมศาสตร์ 10 ตุลาคม พ.ศ.2522 ท่านผู้หญิงวิวรรณเฝ้าฯรับเสด็จ

จากวันนั้น ถึงวันนี้ นับเป็นเวลากว่า 40 ปีที่ศูนย์นราธิปฯ เป็นหนึ่งในแหล่งค้นคว้าข้อมูลด้านสังคมศาสตร์ ด้วยการสนับสนุนของสมาชิกราชสกุล ‘วรวรรณ’ ภายในประกอบด้วยพระนิพนธ์ และหนังสือส่วนพระองค์ของพระองค์วรรณฯ อีกทั้งเอกสาร หนังสือหายาก ตลอดจนของใช้ส่วนพระองค์ที่มิอาจประเมินค่าได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีพระนิพนธ์ โดยเฉพาะบทละครอันล้ำค่ายิ่งของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระบิดา งานเขียนของบุคคลในราชสกุลวรวรรณ พร้อมด้วยหนังสือทั่วไปทางด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง กฎหมาย และภาษาศาสตร์ เป็นต้น

ครั้นเมื่อ พ.ศ.2562 มีการปรับปรุงตัวอาคารและพัฒนาระบบให้มีความทันสมัย โดย หม่อมหลวงสุทธิ์ธรทิพย์ วรวรรณ มัณฑนากรหญิงเก่ง ผู้เป็นนัดดา รับหน้าที่หลักด้านการบูรณะ ซ่อมแซม ด้วยดีกรีปริญญาด้านการตกแต่งภายใน จากมหาวิทยาลัย Syracuse University และประสบการณ์การทำงานระดับนานาชาติ ศูนย์นราธิปฯ ในวันนี้ จึงยิ่งงดงาม สมพระเกียรติ ในขณะเดียวกันก็สะดวกสบายสำหรับผู้ค้นคว้า รอเปิดให้บริการหลังพ้นผ่านสถานการณ์โควิด

ศูนย์นราธิปฯ หลัง ‘รีโนเวต’ และพัฒนาระบบสู่โลกดิจิทัล เตรียมให้บริการอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น
เดิมกรมศิลปากรปรับปรุงสถานที่ส่วนหนึ่งของ ‘ตึกถาวรวัตถุ’ ให้เป็นที่ทำการศูนย์นราธิปฯ ต่อมาย้ายมายังอาคารราชบัณฑิตเดิม บนถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร ตั้งแต่ พ.ศ.2531 จนถึงปัจจุบัน

นอกเหนือจากการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัล ท่านผู้หญิงวิวรรณ ยังร่วมทำบรรณานุกรมทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทั้งยังวางแผนที่จะมอบหนังสือให้เพิ่มเติมในอนาคต

นับเป็นการสานปณิธานที่เอื้อประโยชน์ยิ่งต่อสังคมไทย ส่งมอบมรดกล้ำค่าจากพระองค์วรรณฯ สู่คนรุ่นหลังอันจะเป็นอนาคตของประเทศในวันพรุ่งนี้

ฉลองพระองค์ จัดแสดงบริเวณชั้น 1 ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยสังคมศาสตร์

“……ข้าพเจ้าจึงได้จัดตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อประชาชาติ และก็ได้เผชิญทันทีกับความจำเป็นที่จะคิดศัพท์ใหม่ เพราะในการที่จะเข้าสู่ประชาชน และเข้าถึงประชาชน เราจะใช้คำอังกฤษ ซึ่งยังไม่ได้ซึมซาบเข้าไปในระบบความคิดของเรานั้นไม่ได้…”

ข้อความตอนหนึ่งจากข้อเขียนของ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ ‘พระองค์วรรณฯ’ เรื่อง ‘การบัญญัติศัพท์ภาษาไทย’ อันเกี่ยวเนื่องกับการออก นสพ.ประชาชาติ ที่ทรงใช้ ‘ศัพท์บัญญัติ’ ของพระองค์เองมากมาย จนติดปาก ติดหู ติดอยู่ในสื่อและชีวิตประจำวันของผู้คน แม้หลังยุติกิจการ ก็ยังทรงบัญญัติศัพท์จนตราบจนช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ

คำสุดท้าย คือ มลพิษ มลภาวะ ทรงคิดขึ้นก่อนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2519 เพียงไม่กี่เดือน

พระองค์วรรณฯ ตรัสว่า คำว่า บริการ ที่ทรงบัญญัติจาก service คือคำที่ ‘ติดตา’ เร็วที่สุด

อุปสงค์ (demand) อุปทาน (supply) ทรงคิดอยู่นานถึง 14 ปี เพื่อหาถ้อยคำที่ตรงกับความหมายเดิมให้มากที่สุด

“ก็อย่างที่ว่าน่ะ ฉันก็สนับสนุนระบอบรัฐธรรมนูญ คำว่ารัฐธรรมนูญ นี้ก็มาจากฉัน ฉันคิดขึ้น ……..” ตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ.2516

ประชาชน ประเทศชาติ พลเมือง ปฏิวัติ ปฏิรูป รัฐศาสตร์ รัฐสภา พรรคการเมือง มติมหาชน ชนชาติ สัญญาประชาคม พระราชกฤษฎีกา ผลประโยชน์ ฯลฯ

นับพันคำศัพท์คุ้นหูคนไทย ด้วยความเป็นนักปราชญ์ของพระองค์วรรณฯ มีการรวบรวมไว้ในหนังสือ ‘ศัพท์บัญญัติพระองค์วรรณฯ’ พิมพ์ในวาระแห่งวันคล้ายวันประสูติ 125 ปี โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา 25 สิงหาคม พ.ศ.2559

นอกจากนี้ ในโอกาสครบ 100 ปี วันประสูติ เมื่อ พ.ศ.2544 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยยังจัดตั้งรางวัล ‘นราธิปพงศ์ประพันธ์’ ขึ้นโดยมอบโล่เชิดชูเกียรติให้นักเขียนอาวุโสอายุ 80 ปีขึ้นไป และต่อมาได้ปรับเป็นอายุ 75 ปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์วรรณฯ ผู้ทรงมีคุณูปการยิ่งต่อวงการสิ่งพิมพ์ไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน และเป็นรากฐานสืบมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image