เสียงสะท้อนนายกคอนโดฯ อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ‘สต๊อกเหลือเยอะ ซื้อตอนนี้ได้ของดีราคาถูก’

เสียงสะท้อนนายกคอนโดฯ อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ‘สต๊อกเหลือเยอะ ซื้อตอนนี้ได้ของดีราคาถูก’

ปี 2564 แม้จะผ่านมาครึ่งทางแล้ว แต่การเดินทางของตลาดที่อยู่อาศัย ยังคงตกอยู่ในสภาวะซึมต่อเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยและการระบาดของโควิด-19

ปี 2568-2570 เป็นห้วงเวลาที่ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC พยากรณ์ตลาดที่อยู่อาศัยจะกลับเข้าสู่ภาวะก่อนเกิดโควิด-19

เท่ากับว่าต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปี นับจากนี้ ขณะที่ดีเวลลอปเปอร์ ต้องปรับกลยุทธ์สู้กับกำลังซื้อที่ชะลอ เฟ้นหาตลาดใหม่ จากที่เคยโหมลงทุนคอนโดมิเนียมในช่วงที่ตลาดบูมสุดสุด หันมาบุก “แนวราบ” คู่ขนานระบาย “สต๊อกเก่า” มากกว่าลงทุนเติมซัพพลายใหม่เข้าไปในตลาด

เฉพาะ “กรุงเทพมหานคร” ศูนย์กลางเศรษฐกิจ มีสต๊อกคอนโดมิเนียมเหลือขายร่วม 40,000 ยูนิต เป็นระดับราคา 2.5 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมร่วมแสนล้านบาท

Advertisement

ขณะที่ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA เปิดตัวเลขสต๊อกที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีหน่วยเหลือขายอยู่ที่ 213,728 ยูนิต ในจำนวนนี้มีห้องชุด 86,734 หน่วย หรือ 41% เป็นภาพสะท้อนตลาดคอนโดมิเนียมยังขายยากในภาวการณ์แบบนี้

แล้วกำลังซื้อจะกลับมาเมื่อไหร่ ตลาดจะตกอยู่ในสภาพนี้ไปอีกนานแค่ไหน “ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) วันนี้สวมหมวกนายกสมาคมอาคารชุดไทยอีกใบ ไขคำตอบ ต้องเร่งฉีดวัคซีน สร้างความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องออกมาตรการลดภาษีค่าธรรมเนียมให้กับลูกค้าใหม่ ในสินค้าเดิม ที่ยังมีกำลังซื้อในเวลานี้

●ภาพรวมของตลาดคอนโดฯในปีนี้?
ในครึ่งปีแรกการเปิดขายใหม่ลดลงหลาย 10% ทำให้การขายก็ลดลง เริ่มหนักมากขึ้นในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เพราะมีผลเรื่องการขายใหม่ลดลง เป็นไปตามที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เก็บสำรวจมา แนวโน้มปีนี้โครงการเปิดใหม่จะลดลง 35% มาอยู่ที่ 43,051 หน่วย โดยเป็นอาคารชุดลดมากถึง 44.3% บ้านจัดสรรลดลง 27.4% จะเข้าสู่ช่วงปกติในปี 2568-2569

Advertisement

ถ้าพูดถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรอบ 20 ปี ถือว่าลำบากที่สุด ตั้งแต่ปี 2540-2544 หลังจากนั้นเริ่มฟื้นตัวก็ดีขึ้นมาตลอดถึงปีที่ผ่านมา ในแง่ของการโอนถือว่าดีขึ้นด้วย แต่ในเเง่ของการขายเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2562 เพราะเป็นสินค้าที่มีช่วงเวลาวันขายกับวันโอนเหลื่อมกันอยู่ 2-3 ปี

แม้การโอนถึงปัจจุบันจะยังดีอยู่ แต่การขายใหม่ตั้งแต่มีโควิดปีที่แล้วการขายใหม่เริ่มลดลงแต่จะไปส่งผลอีก 2-3 ปีถัดไปคือปี 2565-2566 ยอดโอนและรับรู้รายได้จะลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ จากยอดขายที่สะสมมา ถ้าปี 2565 เศรษฐกิจฟื้น สต๊อกคงเหลือจะขายออกมา จะมาช่วยได้ ทำให้ตกลงไม่มาก ต้องดูในสองมิติคือการขายกับการโอน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ตอนนี้ผู้ประกอบการรายไหน ถ้ามีสินค้าแนวราบจะมุ่งไปลงทุนพัฒนาแนวราบมากขึ้น ชะลอการขึ้นและซื้อที่ดินสำหรับการพัฒนาคอนโดมิเนียมไป เป็นไปตามอุปสงค์และอุปทาน

●สถานการณ์หลังมีโควิดทำให้หนักขึ้น?
ข้อมูลในทางปฏิบัติจะเป็นในทำนองนั้น เพราะมีการขายใหม่ลดลง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเราขอให้รัฐบาลต้องสร้างเครื่องมือออกมากระตุ้นความต้องการ กระตุ้นกำลังซื้อ รัฐบาลจะใช้ข้อมูลที่ประกาศในงบตลาดหลักทรัพย์จะคลาดเคลื่อน เพราะว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในอดีตเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มีการขายเป็นแบ๊กล็อกไว้เยอะ และโครงการมาเสร็จในปีที่แล้วหรือปีนี้แล้วเพิ่งมาโอนกัน

ดังนั้นยอดโอน รับรู้รายได้ เป็นยอดขายเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นตลาดบูมมาก แต่เนื่องจากคอนโดมิเนียมจะมีช่วงเวลาที่เหลื่อมกันอยู่ 2-3 ปี รายได้ที่เกิดขึ้นปีนี้เป็นรายได้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ถ้ารัฐบาลไปดูจากยอดโอนก็จะไม่ตรงกับสภาพการณ์ตลาดที่เป็นจริงในวันนี้

เพราะว่าคนจะไม่เข้าใจ ธุรกิจเราไม่เหมือนกับการบริการ ซื้อสินค้าวันนี้ก็ลงบันทึกรายได้วันนี้ แต่ของเราซื้อขายกันเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เพิ่งจะมาลงรายได้ปีนี้ เพราะเพิ่งสร้างเสร็จ เพิ่งโอน ต้องโอนแล้วถึงจะมีการรับรู้ ระหว่างทางที่ก่อสร้าง 2-3 ปี ที่รับจอง รับเงินดาวน์ ทำสัญญา ไม่ได้ให้ลงบันทึกเป็นรายได้ ธุรกิจเราแตกต่างจากธุรกิจคนอื่น ฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกร้องรัฐบาลว่าตอนนี้ตลาดซบเซา รัฐบาลยังเฉย ยังเงียบอยู่ จะไปส่งผลในช่วงต่อไปอีก

●จะขอรัฐออกมาตรการอะไรมาช่วยบ้าง?
จริงๆ เราเคยเรียกร้องรัฐบาลไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณาก็คือตลาดกลางถึงบนที่มีกำลังซื้ออยู่ ขอให้รัฐบาลกระตุ้นการพิจารณาการตัดสินใจซื้อ โดยการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง ปัจจุบันที่รัฐบาลลดให้เหลือ 0.01% เป็นสินค้าไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นตลาดกลางถึงล่าง ขณะนี้ถือว่าตลาดอิ่มตัวไปมากแล้ว กับสิ่งที่รัฐให้มาต่อเนื่องกันหลายปี ต้องหาลูกค้ากลุ่มใหม่ คือ ตลาดระดับกลางถึงบน ที่เกินกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน)

เพราะยังเป็นคนที่มีเงินอยู่ แต่รัฐบาลไม่พิจารณา ซึ่งซัพพลายก็มี ขณะเดียวกันดีมานด์ กำลังการจ่ายเงินยังมีอยู่ ถ้าหากว่าสร้างเครื่องมือขึ้นมากระตุ้นจะช่วยการซื้อขายและการโอนได้อีกจำนวนหนึ่งขึ้นมา

ขณะที่รัฐบาลจะได้ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% คือลดไปแค่ 2% จะได้กลับมา 3.3% หักลบกันแล้วรัฐบาลยังได้บวก 1.3% อยู่ คือภาษีค่าธรรมเนียมโอน 2% ถ้าหากเขาไม่ซื้อเลย รัฐบาลจะไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าหากว่ากระตุ้นแล้วเขาซื้อ เพราะเขายังมีเงินอยู่ รัฐบาลลดให้ 2% แต่บริษัทผู้ขายโครงการจะจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% หักลบแล้วรัฐบาลยังรับสุทธิที่ 1.3% เรื่องนี้ระดับนโยบายไม่รู้

ถ้าขอได้ขอลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนอง 3 ล้านแรกให้กับคอนโดฯทุกระดับราคา เช่น คอนโดราคา 5 ล้านบาท ช่วยลด 3 ล้านแรก ที่เหลือก็เสียภาษีไป เพราะระดับกลางและบนยังมีกำลังซื้ออยู่ ต้องจับปลาฝูงใหม่ จะอยู่กับฝูงเก่าได้อย่างไร ฝูงเก่ากินอิ่มไปแล้ว ทำไปเยอะแล้ว มันต้องเปลี่ยนฝูง

ตามทฤษฎีทางการตลาด กลยุทธ์คือต้องหาสินค้าใหม่ ตลาดใหม่ หรือลูกค้าใหม่ นี่คือกลยุทธ์ที่ 3 คือการหาลูกค้าใหม่ในสินค้าเดิม คือ สินค้าคอนโดฯ แต่หาลูกค้าใหม่กลุ่ม 3-20 ล้านบาท เมื่อลูกค้าเก่าอิ่มตัว ต้องหากลุ่มใหม่

และการอัดฉีดของรัฐบาลจะได้ผล จะเป็นการกระตุ้นกลาง-บนมาซื้อ รัฐจะได้ภาษี ลดน้อยเพื่อได้มาก นี่คือสิ่งที่ตรงกับปัญหาและจะกระตุ้นได้จริงๆ ส่วนมาตรการ LTV เคยขอแล้ว แต่เป็นมาตรการของแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่ง LTV ก็เป็นอีกปัจจัยฉุดตลาดคอนโด เพราะมีคนที่กู้ไม่ผ่าน ทำให้ต้องยกเลิกการจองการซื้อไป ขณะที่ภาษีเป็นเรื่องของกระทรวงการคลังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันอยากให้รัฐขยายการลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ออกไปอีก ถ้าครบกำหนดในเดือนธันวาคมนี้แล้ว เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ต้องลดภาษีไปอีก 3-5 ปี รอให้เศรษฐกิจฟื้นค่อยมาเก็บ จะถอนขนห่าน จะอะไรก็ทำไป ให้ชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจกลับมาดีเสียก่อน

เคยเรียกร้องไปหลายข้อ แต่รัฐบาลเองไม่ตอบสักข้อเลย (หัวเราะ) เลยคิดว่าไม่อยากจะขอเยอะ แต่จะขอสิ่งที่กระตุ้นใจผู้ซื้อได้จริง ขณะเดียวกันเราไม่ได้เรียกร้องลดให้กับผู้ประกอบการ ความจริงเราเป็นกลุ่มที่จ่ายภาษีอยู่ปีละแสนกว่าล้าน แต่เรายังไม่ได้เรียกร้องลดให้เรา ความจริงรัฐบาลจะช่วยเราก็ได้อีก เพราะเราคือคนที่สร้างงาน ถ้าเราอยู่ได้ จะเป็นการสร้างงาน จ้างงานต่อไป

●แนวโน้มตลาดคอนโดฯในครึ่งปีหลัง?
ถ้าหากว่ามีการระดมฉีดวัคซีนโควิดอย่างที่ผ่านมา ฉีดให้ได้วันละ 4-5 แสนกว่าโดส ก็ทำให้รู้สึกดี ได้กำลังใจขึ้นมา จากการที่หนึ่งเรามีวัคซีน สองเราได้บุคลากรการแพทย์ช่วยกันระดมฉีดแบบไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ทั้งที่ฉีดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว ยังไม่เหนื่อยไม่ล้า ก็ต้องขอบคุณทีมแพทย์ ที่ระดมฉีดในทันทีที่ได้รับวัคซีนเพิ่ม

ถ้าเป็นแบบนี้ใน 1 เดือน จะมียอดฉีดวัคซีนอยู่ที่ 10 กว่าล้านโดส ถ้าเป็นแบบนี้ไปถึงเดือนตุลาคม มีความรู้สึกว่าน่าจะดี มีจำนวนคนรับวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขการระบาดน่าจะได้รับการควบคุมที่นิ่งขึ้น ทำให้ในแง่จิตวิทยาการซื้อที่อยู่อาศัยก็คงจะดีขึ้น

พอจิตใจดีขึ้น ความรู้สึกของประชาชนจะดี ความเชื่อมั่นจะเกิดมากขึ้น ก็หวังว่าจะมีดีมานด์ และขายได้มากขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้ (พฤศจิกายน-ธันวาคม) เป็นการคิดในเชิงตรรกะที่เป็นบวก (หัวเราะ) แต่ไม่กล้าพูดว่าจะกลับมาดีเท่าก่อนหน้านี้ คาดหวังจะเห็นตะวันขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เราต้องพยายามคิดเชิงบวก แต่ไม่ได้เพ้อฝันมากเกินไป

ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องกลัวเจ็บ จะต้องเป็นหนี้กู้ 1 ล้านล้านบาท อย่างที่แบงก์ชาติแนะนำ ก็ต้องเป็นหนี้ เพื่อประชาชน คือ ยังไงก็ต้องกู้ สถานการณ์ตอนนี้มันลงเรือมาแล้ว ต้องพายเรือไปให้ถึงฝั่งให้ได้

เรื่อง QE (มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน) ในต่างประเทศเขาทำกันมาทุกประเทศ การที่รัฐต้องอัดมาช่วยเป็นเรื่องที่จะต้องทำ it’s a must ไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย ไร้สาระ เป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องไม่กลัวโดนด่า เพราะกำลังทำสิ่งที่ดี กระตุ้นการบริโภค การใช้จ่าย

●ช่วงนี้คอนโดจัดโปรโมชั่นลดราคากันเยอะมาก?
ใช่คะ เพราะผู้ประกอบการต้องการกระแสเงินสดกลับเข้ามา ต้องยอมตัดกำไรทิ้ง จริงๆ ก็เป็นโอกาส ซึ่งโครงการของเราเอง มีลูกค้าเดินเข้ามาหลายคนแล้วซื้อเราก็สัมภาษณ์ว่าทำไมถึงตัดสินใจซื้อ เขาบอกว่าติดตามข่าวมาตลอด รู้สึกว่าช่วงนี้เป็นจังหวะที่ได้ของดี ของถูก เลยตัดสินใจซื้อ พอสินค้าราคาถูกน้อยลงไปทุกที ราคาจะกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีก

ตอนนี้จากข้อมูลสต๊อกในมือของผู้ประกอบการก็เริ่มทยอยลดลงแล้ว เพราะว่าของใหม่มีเติมเข้ามาน้อยกว่าที่ขายออกไป จากข้อมูลของ AREA เทียบเดือนธันวาคม 2563 กับสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 พบว่าสต๊อกลดลงไป ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมีของใหม่มาเติมน้อย แต่ยูนิตคงเหลือในตลาดยังเป็นแสนหน่วย คิดเป็นมูลค่าเป็นแสนล้าน ส่วนใหญ่เป็นราคาเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป เพราะตอนนี้ราคาขายต่ำกว่าล้านมีส่วนน้อย

คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี ในการระบายสต๊อก ถ้าเกิดขวัญกำลังใจดีขึ้น ดีมานด์กลับมา เพราะบ้านไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย เป็นสินค้าปัจจัยสี่ของมนุษย์ ไม่มีบ้านก็อยากมีบ้านหลังเล็กๆ พอมีรายได้เพิ่มขึ้นก็เปลี่ยนเป็นหลังกลางๆ พอมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกก็เปลี่ยนเป็นหลังใหญ่ขึ้นไปอีก

ในช่วงชีวิตของคนเราอย่างน้อยต้องเปลี่ยนบ้าน 3 หลัง เพราะยังไงเศรษฐกิจจะต้องฟื้นตัว ดูจากประเทศตะวันตกมียอดติดเชื้อลดน้อยลง เศรษฐกิจก็กลับมาบวก ทุกคนกลับมาจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นวัคซีนจึงเป็นความหวังที่จะมีสัญญาณการซื้อที่อยู่อาศัยในโค้งสุดท้ายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ เพิ่มขึ้นสัก 5% หรือ 10% ก็ดีใจแย่แล้ว

●ซื้อคอนโดตอนนี้ถือว่าราคาถูกที่สุด?
ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ได้ของดีราคาถูก เพราะไม่มีใครกล้าลงทุน เน้นระบายสต๊อกเก่า ใครจะกล้าเอาเงินไปลงทุนใหม่ เมื่อซัพพลายยังเหลืออยู่ ยกเว้นมีการเปิดขายโครงการไปแล้ว ต้องเริ่มสร้าง

●ปีนี้เป็นปีที่ตลาดซบเซามากที่สุด?
ถ้าเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าแย่สุด แต่ถ้าเทียบกับต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ก็ยังดีกว่า ดูจากสถิติการขาย การโอนบ้าน ถือว่าสถิติตอนนี้ยังสูงกว่าตอนต้มยำกุ้ง เพราะว่าผลกระทบเที่ยวนี้ไปกระทบกับรากหญ้า ประชาชนเยอะ ทั้งเรื่องเจ็บป่วย เรื่องทำมาหากิน เลยรู้สึกว่ามันใหญ่ แต่ถ้าพูดในวงแคบเฉพาะที่อยู่อาศัย ถือว่ายังเยอะกว่าต้มยำกุ้ง เพราะต้มยำกุ้งกระทบคนใหญ่ รอบนี้กระทบคนตัวเล็ก เลยรู้สึกว่าใหญ่มาก จะเป็นคนละแบบ

●ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯระบุตลาดที่อยู่อาศัยจะกลับสู่ปกติอีก 5-6 ปี?
คงไม่นานขนาดนั้น เพราะตอนนี้เศรษฐกิจต่างประเทศก็ฟื้นแล้ว โดยเฉพาะประเทศจีนคู่ค้ารายใหญ่ของเราก็ฟื้นแล้วเช่นกัน เลยไม่คิดว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวนานมาก ปัจจุบันของริชี่ เพลซ ยังมีลูกค้าจีนมาซื้อคอนโดผ่านออนไลน์อยู่ ส่งเงินมาจอง ทำสัญญา 30% ยังขายได้อยู่ มีทั้งโครงการที่วุฒากาศ เอกมัย เพลินจิต-นานา แปลว่าเศรษฐกิจเขาไม่ได้ลำบากเหมือนเรา

เพราะคนที่มาซื้อที่อยู่อาศัยอยู่ต่างประเทศ จะเป็นนักลงทุน เป็นกลุ่มระดับกลางถึงระดับบน เข้าใจว่าไม่กระทบกระเทือนมาก เหมือนเราที่กลุ่มระดับกลางถึงระดับบนไม่กระทบกระเทือนมาก ดังนั้นจึงไม่คิดว่าจะใช้เวลา 5-6 ปี อย่างที่คาดการณ์ แต่ไม่ได้เป็นข้อถกเถียงนะ เพราะดีมานด์มีอยู่แล้ว เพียงแต่รอแค่นั้นเอง เพราะถ้าเรายอมให้ราคาพิเศษ โปรโมชั่นที่ดีดึงดูด เขาก็จะมาซื้อ ซึ่งความต้องการมีอยู่แล้ว

●ตอนนี้คอนโดยังโอเวอร์ซัพพลาย?
จะล้นเป็นทำเล บางทำเลอาจจะล้นมาก บางทำเลอาจจะล้นน้อย ที่ล้นมากๆ ในอดีตย่านรัตนาธิเบศร์ เพราะว่าสร้างมาก ดีมานด์รับไม่ทัน ในเมืองก็มีล้น เช่น ย่านจตุจักร รัชดาภิเษก ก็มีโอเวอร์ซัพพลายเยอะ ย่านพระราม 9 ยังดีอยู่ แต่พอถึงรามคำแหงก็มีโอเวอร์นิดๆ เป็นช่วงๆ ไม่ใช่ทั้งสาย ส่วนใหญ่ที่โอเวอร์ซัพพลายจะเป็นสินค้ากลุ่มระดับราคา 1-3 ล้านบาท เพราะเป็นสินค้าป๊อปปูลาร์ ทุกคนเลยสร้างออกมาเยอะ

●สถานการณ์ของบริษัทริชี่เพลซครึ่งปีหลัง?
มีโครงการที่ขายไว้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วสร้างเสร็จ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้กลับมาดีกว่าปีที่แล้วเยอะ เพราะมีแบ๊กล็อกรอโอนอยู่ ในปีนี้คาดว่ามีรายได้ 1,500 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเทียบกับปีที่แล้ว กำไรโตขึ้น 203%

สำหรับการลงทุนใหม่มี 3 โครงการ เป็นโครงการแนวราบ มูลค่า 1,800 ล้านบาท เป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่มาก 100 กว่ายูนิตต่อโครงการ ในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดขายโครงการสวนหลวง ร.9 เนื้อที่ 10 ไร่เศษ เป็นทาวน์โฮม 2-3 ชั้น สไตล์ยุโรป จำนวนกว่า 100 ยูนิต มูลค่าโครงการ 600 ล้านบาท ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 3-4 ล้านบาท เป็นบ้านสร้างเสร็จก่อนขาย พร้อมอยู่ พร้อมโอน

โครงการที่สองยังไม่มั่นใจว่าจะเปิดขายได้ทันเดือนธันวาคมนี้หรือไม่ เป็นผลจากปิดไซต์ก่อสร้าง จึงทำให้โครงการเลื่อน ถ้าไม่ทันจะเลื่อนเป็นเดือนมกราคมปีหน้า เป็นทาวน์โฮมสไตล์ยุโรป อยู่ถนนเพิ่มสิน เนื้อที่ 10 กว่าไร่ จำนวนกว่า 100 ยูนิต มูลค่าโครงการ 500 ล้านบาท ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 3-4 ล้านบาท อีกโครงการยังเจรจาซื้อขายที่ดินไม่จบ จะเป็นการลงทุนในปีหน้า

ส่วนคอนโดในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้จะเแกรนด์โอเพ่นนิ่งโครงการ “ริชพอยท์ วุฒากาศ” ติดสถานีบีทีเอสศูนย์เมตร เป็นอาคารสูง 32 ชั้น จำนวน 500 ยูนิต ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 1.86 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 1,800 ล้านบาท เปิดพรีเซลเมื่อปีที่แล้วกำลังจะเริ่มสร้างในปีนี้ เนื่องจากเพิ่งได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่ขึ้นอยู่กับยอดติดเชื้อโควิดด้วย ถ้าลดลงจะเปิดขายเร็วขึ้น ถ้ายังสูงจะขยับไปเล็กน้อย

ปีนี้มีคอนโดที่สร้างเสร็จกำลังทยอยโอน 2 โครงการ รวมมูลค่า 6,000 ล้านบาท จะเป็นสต๊อกเพื่อขาย โอนและรับรู้รายได้ปีนี้และปีหน้า มีโครงการเดอะริช เพลินจิต-นานา มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท

และเดอะริช ศรีนครินทร์-พระราม 9 มูลค่าโครงการ 2,500 ล้านบาท ติดรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) บริเวณนี้จะเป็นทริปเปิลสเตชั่นรถไฟฟ้า มีเวนคืนที่ดินเรา 80 ตารางวา สร้างบันไดขึ้นลงสถานีสายสีเหลือง และมีสกายวอล์กเชื่อมเป็นใยแมงมุมหน้าโครงการพอดี

ตอนนี้สร้างเสร็จแล้ว มียอดขายแล้ว 1,000 ล้านบาท แต่มีลูกค้าบางคนติดขัดขอเเลื่อนโอน หรือคนที่เป็นเอสเอ็มอี ธุรกิจมีปัญหา ขอยกเลิกบ้าง เราก็นำมาเปิดขายใหม่ ก็เป็นไปตามสภาพตลาด และเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีแผนจะลงทุนโครงการคอนโดฯพระราม 9 เนื้อที่กว่า 2 ไร่ มูลค่าเกือบ 3,000 ล้านบาท ใกล้เซ็นทรัลพระราม 9 แต่จากโควิดเลยเบรกไปลงทุนปีหน้าแทน รอให้ฟ้าใสก่อน ตอนนี้มีแต่มรสุม ไม่กล้าลงทุน เน้นระบายสต๊อกที่เหลือ 1,500 ยูนิต มูลค่า 7,500 ล้านบาท ยังตอบไม่ได้จะขายได้หมดเมื่อไหร่

●วางแผนปีหน้าไว้อย่างไรบ้าง?
ยังไม่ค่อยกล้าวาง เพราะสถานการณ์เปลี่ยนตลอด (หัวเราะ) ไม่ว่าการเมืองก็ไม่นิ่ง เศรษฐกิจ ถ้ามีเปลี่ยนรัฐบาลก็จะเปลี่ยนปัจจัยตัวใหม่ไปเยอะเลย

เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าดู เพราะมีปัจจัยผันแปรเยอะมาก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image