แท็งก์ความคิด : ขาว-ดำที่เหมือนกัน

ช่วงนี้ netflix นำภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง “Green book” มาฉาย

ภาพยนตร์เรื่อง กรีน บุ๊ก ได้รับรางวัลหลากหลาย

ได้รับรางวัลออสการ์ 3 รางวัล

ทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม

Advertisement

ได้รับรางวัลออสการ์ประจำปี 2018

และยังได้รับรางวัลลูกโลกทองคำอีกต่างหาก

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเอาชีวิตจริงของนักเปียโนผิวสี ชื่อ “ดอน เชอร์ลีย์” มาบอกเล่า

Advertisement

ดอน เชอร์ลีย์ เป็นนักดนตรีผิวสีในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเหยียดผิว

โดยเฉพาะทางใต้ของสหรัฐนั้น เกลียดคนผิวสีหนักหนาสาหัส

แล้วสถานที่และเส้นทางที่ ดอน เชอร์ลีย์ จะไปแสดงก็มีความสาหัส

สาหัสขนาดที่ แนท คิง โคล (Nat King Cole) นักร้องนักดนตรีผิวสีที่เคยไปแสดงยังถูกทำร้าย

เหตุที่ถูกทำร้าย เพราะเล่นเพลงของคนผิวขาว

ไม่น่าเชื่อ !

ความสนุกของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ความกลมกลืนในความแตกต่าง

ดอน เชอร์ลีย์ เป็นคนผิวดำแต่มีรสนิยมสูง มีฐานะทางการเงิน มีดีกรีระดับด็อกเตอร์

เขาได้จ้าง “โทนี่ ลิป” ชาวอิตาลีผิวขาว เป็นคนขับรถจากนิวยอร์กไปตอนใต้อเมริกาเพื่อทัวร์คอนเสิร์ต

โทนี่ ลิป แม้จะผิวขาวแต่เติบโตบนวิถีมาเฟีย หยาบคาย ตกงาน ถือเป็น กลุ่มยากไร้

กลายเป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัด

ทั้งรูปกาย คือสีผิว ทั้งรสนิยม ทั้งฐานะการเงิน และระดับการศึกษา

เอาแค่ผิวขาวผิวสีนี่ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว

ยิ่งเป็นช่วงที่กระแสเหยียดผิวแผ่ซ่านไปทั่วแผ่นดินอเมริกา การตัดสินใจของ ดอน เชอร์ลีย์ ที่จะทัวร์คอนเสิร์ตในพื้นที่เหยียดผิวนั้นถือว่าเสี่ยง

แถมระยะเวลาการทัวร์คอนเสิร์ตก็ยาวนานเป็นเดือน

ความเสี่ยงที่ต้องเดินทางเข้าไปพื้นที่เสี่ยงเช่นนั้น ถึงขนาดต้องมี “กรีน บุ๊ก” เป็นคู่มือสำหรับการเดินทาง

คู่มือดังกล่าวมีข้อมูลแนะนำคนผิวสีในการเดินทางลงไปในพื้นที่เสี่ยง

เนื้อหาในหนังสือระบุถึงโรงแรมที่คนผิวสีพักได้ ร้านอาหารที่คนผิวสีเข้าไปใช้บริการได้

ความบันเทิงใจของการชมภาพยนตร์เรื่องนี้คือเหตุการณ์การเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้

เป็นเหตุการณ์ที่เริ่มต้น ณ ดินแดงที่เหยียดผิวน้อยแล้วค่อยๆ เหยียดผิวมาก

ขณะเดียวกัน ตัวละครที่มีความแตกต่างกันก็เริ่มมีปฏิสัมพันธ์

เริ่มจากความแตกต่างแล้วขยับลดช่องว่าง

ทั้งนักดนตรีผิวสีและคนขับรถผิวขาวต่างเปิดรับกันและกัน

ยอมรับว่า “ในดำมีขาว” และ “ในขาวมีดำ”

ยอมรับว่า “ในดีมีเสีย” และ “ในเสียมีดี”

ยอมรับว่าคนคนหนึ่งย่อมมีดีและมีข้อบกพร่อง ไม่เกี่ยวกับสีผิว ไม่เกี่ยวกับฐานะ และชาติกำเนิด

แม้จะเป็นคนผิวสีหากมีโอกาสได้รับการศึกษาก็สามารถสั่งสมภูมิความรู้

หากได้รับการฝึกฝนก็สามารถแสดงฝีมือระดับเยี่ยมออกมาได้

เช่นเดียวกับคนผิวขาว หากขาดโอกาสที่ดีในการดำรงชีวิต ก็อาจพลัดตกไปอยู่ในวังวนของอบายภูมิ

แต่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่เผ่าพันธุ์ใด มีสีผิวอะไรต่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในช่วงต้น มีบางฉากที่ตัวละครแสดงถึงการใช้เงินเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ของลูกจ้าง

แต่ลูกจ้างก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธข้อเสนอนั้น

ในช่วงท้ายๆ ของภาพยนตร์มีฉากสำคัญที่ตัวละครเอกปฏิเสธงานที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา

ในต้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนักดนตรีกับคนขับรถคือนายจ้างกับลูกจ้าง

ในท้ายเรื่องความสัมพันธ์เปลี่ยนเป็นเพื่อนกัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดีสมกับที่ได้รับรางวัล

ฉากสุดท้ายในเทศกาลคริสต์มาสคือ ความกลมกลืนกลมเกลียว

แม้จะอยู่ในกฎสังคมที่มีผลทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่ก็สามารถอยู่กันได้อย่างอบอุ่น

ความอบอุ่นเกิดจากความกลมเกลียว ผิวขาวผิวสีร่วมโต๊ะอาหารกันได้

สังคมยุคนั้นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนผิวสีกับคนผิวขาวถือเป็นของแปลก

แปลกแบบนั้นไปจนกว่าสังคมจะยกเลิกกฎแปลกๆ ที่ทำให้มนุษย์เป็นศัตรูกัน

ถ้าสังคมยกเลิกกฎหรือขนบแปลกๆ ดังกล่าวได้

ความอบอุ่นอันเกิดจากความกลมเกลียวก็จะเกิดขึ้นเป็นปกติ

ปกติ เพราะมองความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ

ปกติ เพราะมอง “ดี” หรือ “เลว” จากพฤติกรรม ไม่ตัดสินไปตามสีผิว และอื่นๆ

ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วรู้สึกจรรโลงใจ

ตอนท้ายๆ ยังมีรูปถ่ายตัวจริงของบุคคลทั้งสองคนที่เป็นเพื่อนกันจนเสียชีวิต

ยืนยันว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรบันทึกไว้เป็นบทเรียน

เป็นบทเรียนที่มีประโยชน์

เป็นบทเรียนที่ทำให้มองเห็นว่า แม้จะเป็น “ดำ” หรือ “ขาว” แต่ทุกชีวิตก็เป็นคนเหมือนกัน

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image