สถานการณ์ ‘วัคซีน’ ชะตากรรมโลก ก่อน 4 เดือนสุดท้าย2021

พรุ่งนี้ 1 กันยายน 2564

วันแรกของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ในขณะที่ไทยแลนด์ตกชั้นความสามารถในการรับมือโควิด กลายเป็น 1 ใน 5 ประเทศรั้งท้ายตาราง ในอันดับที่ 49 จาก 53 ประเทศจากการรายงานของ ‘บลูมเบิร์ก’ ซึ่งพิจารณาให้คะแนนจากหลายๆ ปัจจัยไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต จำนวนผู้ได้รับวัคซีน ความเข้มงวดของการล็อกดาวน์ ไปจนถึงอิสรภาพในการเดินทางในประเทศ โดยไทยมีคะแนนรวมอยู่ที่เพียง 47.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยอยู่รั้ง 5 อันดับท้ายร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่าง เวียดนาม (50), อินโดนีเซีย (51), ฟิลิปปินส์ (52) และมาเลเซีย (53)

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์เป็นประเทศอาเซียนที่รับมือกับโควิดได้อย่างยอดเยี่ยม ขึ้นไปติดอยู่ในอันดับ 8 พุ่งขึ้น 3 อันดับจากเดิม มีคะแนนอยู่ที่ 73.3 คะแนน ล่าสุดมีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 76 เปอร์เซ็นต์

‘ทีมข่าวต่างประเทศ มติชน’ เกาะติดสถานการณ์ ‘วัคซีน’ อันเป็นเกราะป้องกันสำคัญในสมรภูมิไวรัสแห่งศตวรรษ ซึ่งมีความเป็นไปที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง ก่อนเข้าสู่ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2021

Advertisement

ทั่วโลกฉีดวัคซีนกว่า 5 พันล้านโดส

‘เดลต้า’ ทำเสี่ยงเข้า รพ.มากกว่าอัลฟ่า 2 เท่า

ขณะที่มนุษยชาติพากันเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานว่า ขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ไปแล้วกว่า 5,060 ล้านโดส ใน 183 ประเทศทั่วโลก ด้วยความเร็วในการฉีด 37.4 ล้านโดสต่อวัน โดยวัคซีนปริมาณดังกล่าวเพียงพอที่จะฉีดให้ประชากรโลก 33% แต่ด้วยการ
กระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียม ทำให้ประเทศที่ร่ำรวยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้เร็วกว่าประเทศยากจนกว่าถึง 20 เท่า

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีก็เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยในอังกฤษได้เผยแพร่ผลการศึกษาบนวารสารการแพทย์แลนเซตระบุว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าทำให้ความเสี่ยงที่จะป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟ่า โดยจากการศึกษาเปรียบเทียบเชื้อโควิดทั้ง 2 สายพันธุ์ในผู้ป่วยจำนวน 43,000 ราย พบว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วยยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย อีก 24% ของผู้ป่วยได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบโดสและมีเพียง 1.8% เท่านั้นที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วแต่ยังติดเชื้อ

แอนน์ พรีซานิส ผู้ร่วมทำการศึกษาซึ่งเป็นนักสถิติอาวุโสของหน่วยเอ็มอาร์ซีไบโอสตาทิสติกส์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นผลของการศึกษานี้ได้บอกเราเกี่ยวกับความเสี่ยงในความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนและผู้ที่ฉีดวัคซีนบางส่วน

ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยโควิดจำนวน 43,338 คน ในอังกฤษตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม-23 พฤษภาคมของปีนี้ ซึ่งรวมถึงข้อมูลสถานการณ์ฉีดวัคซีน การรักษาพยาบาล การเข้าโรงพยาบาลและข้อมูลผู้ป่วยอื่นๆ โดยตัวอย่างไวรัสทั้งหมดได้รับการจัดลำดับจีโนม ซึ่งเป็นวิธีที่แน่นอนที่สุดในการยืนยันว่าเชื้อสายพันธุ์ใดทำให้เกิดการติดเชื้อ

ในการศึกษานี้มีผู้ป่วยถูกระบุว่าติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่าเกือบ 80% ส่วนที่เหลือเป็นสายพันธุ์เดลต้า และราว 1 ใน 50 ของผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใน 14 วันนับตั้งแต่ตรวจพบว่าติดเชื้อ

หลังจากพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรง เช่น อายุ เชื้อชาติ และสถานะการฉีดวัคซีน นักวิจัยพบว่าความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า

‘โคแวกซ์’ กระจายวัคซีนจีนครั้งใหญ่

แอฟริกาใต้ไม่รับ ‘ซิโนแวค’

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหว คือการที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)เตรียมการกระจายวัคซีนล็อตใหญ่ที่ผลิตจากประเทศจีนรวม 100 ล้านโดส ให้กับประเทศต่างๆ ภายใต้โครงการโคแวกซ์ โดยส่วนใหญ่จัดสรรให้กับประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชียภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ หลังจากล่าช้ากว่าเป้าหมายในการกระจายวัคซีนให้ได้ 2,000 ล้านโดส ภายในปีนี้อยู่มาก

วัคซีน 100 ล้านโดส ดังกล่าว ครึ่งหนึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค อีกครึ่งหนึ่งเป็นวัคซีนจากบริษัท ซิโนฟาร์ม อย่างไรก็ตาม แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่จะได้รับวัคซีนผลิตในจีนจากโครงการโคแวกซ์มากที่สุด โดยจะมีวัคซีนซิโนแวค รวมอยู่ด้วย 2.5 ล้านโดส กลับยืนยันไม่รับวัคซีนดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ยังไม่มีข้อมูลของซิโนแวคเพียงพอว่าสามารถต่อต้านเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าได้มากน้อยแค่ไหน และข้อมูลด้านอื่นๆ เพียงพอ ต่อการประเมินและจัดวางแผนการใช้งานวัคซีน จึงยังไม่สามารถรับวัคซีนซิโนแวคมาใช้ได้ในขณะนี้

ในขณะที่ในเอเชียจะได้รับวัคซีนที่ผลิตในจีนอีกกว่า 25 ล้านโดส โดยวัคซีนซิโนแวคเกือบ 11 ล้านโดส จะจัดส่งให้กับอินโดนีเซีย ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่ได้รับซิโนแวคจากโครงการโคแวกซ์มากที่สุด โดยทางการอินโดนีเซียเตรียมให้กับบุคลากรสาธารณสุขใช้วัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนกระตุ้นหลังจากได้รับซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว แบบเดียวกับอีกหลายประเทศ ที่ใช้ซิโนแวคเป็นวัคซีนหลัก เช่น บราซิลและชิลี

ญี่ปุ่นเบรก ‘โมเดอร์นา’ ล็อตปนเปื้อน

หลังดับ 2 ราย ทิ้ง 1.63 ล้านโดส

สำหรับสถานการณ์ในเอเชีย สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นแถลงเมื่อ 28 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีผู้เสียชีวิต 2 ราย หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นา ในล็อตที่ทางการญี่ปุ่นสั่งหยุดใช้ไปเมื่อไม่กี่วันก่อนจำนวน 1.63 ล้านโดส เนื่องจากพบการปนเปื้อนของวัคซีนล็อตดังกล่าว

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นระบุว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย เป็นชายใน วัย 30 ปีเศษ เสียชีวิตลงในเดือนสิงหาคมนี้ ไม่กี่วันหลังจากได้รับการฉีด วัคซีนโมเดอร์นาเข็มที่ 2 โดยทั้งสองคนต่างได้รับวัคซีนที่มาจาก 1 ใน 3 ล็อตการผลิตที่ถูกสั่งระงับการใช้ไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาสำหรับสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ตายทั้งสองยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวน

คำสั่งหยุดใช้วัคซีนโมเดอร์นาที่ปนเปื้อนจำนวน 1.63 ล้านโดสนี้ เป็นล็อตที่ถูกจัดส่งไปยังศูนย์วัคซีนจำนวน 863 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีขึ้นกว่า 1 สัปดาห์ก่อนที่บริษัท ทาเคดะ ฟาร์มาซูติคัล ตัวแทนจำหน่ายในประเทศ จะได้รับรายงานว่าขวดบรรจุวัคซีนของโมเดอร์นาส่วนหนึ่งมีการปนเปื้อน

อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทโมเดอร์ระบุว่ายังไม่มีประเด็นเรื่องความปลอดภัยหรือประสิทธิผลของวัคซีนที่มีการปนเปื้อน และว่า การระงับการใช้วัคซีนปนเปื้อนดังกล่าวนี้ก็เพื่อป้องกันไว้ก่อน

ด้านสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่นอ้างแหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า เชื่อว่าวัคซีนโมเดอร์นาล็อตที่มีปัญหานั้นน่าจะมีการปนเปื้อนอนุภาคของโลหะ

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม รัฐบาลท้องถิ่นโอกินาวาสั่งระงับการใช้วัคซีนโควิดของโมเดอร์นา หลังพบการปนเปื้อนในวัคซีนอีกครั้ง ทำให้ต้องมีการเลื่อนโครงการฉีดวัคซีนบางส่วนของโอกินาวาออกไป

วันเดียว ‘อินเดีย’ ระดมฉีด 10 ล้านโดส

ติดเชื้อทำนิวไฮในรอบ 2 เดือน

ส่วนประเทศที่ล่าสุดระดมฉีดวัคซีนอย่างมหาศาล วันเดียวจิ้มแขนกว่า 10 ล้านโดส โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า อินเดียทำสถิติฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มากกว่า 10 ล้านโดส ภายในวันเดียวได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม จากก่อนหน้านี้ทำสถิติไว้สูงสุดที่ 9.2 ล้านโดส ซึ่งนายก
รัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย กล่าวชื่นชมความพยายามนี้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับชาวอินเดียทั้งประเทศที่มีประชากรราว 1,300 ล้านคน โดยมีขึ้นในขณะที่อินเดียกำลังเร่งเสริมเกราะป้องกันมากขึ้น เพื่อรับมือกับจำนวนมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก

ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนต้านโควิดให้กับประชากรวัยผู้ใหญ่ราว 1,100 ล้านคน ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่อินเดียต้องเผชิญกับการขาดแคลนวัคซีน การบริหารจัดการที่สับสนและความลังเลใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแผนการกระจายวัคซีน โดยขณะนี้อินเดียมีประชาชนเพียงราว 15% เท่านั้น ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันทางการอินเดียแถลงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาว่า มีมากถึง 44,658 ราย ทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อรวมแล้วสูงขึ้นเป็น 32.6 ล้านราย ในขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 496 ราย ส่งผลให้ยอดเสียชีวิตทั้งหมดของอินเดียเป็น 436,861 รายแล้ว

ย้อนไปก่อนหน้านี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในอินเดียลดลงจนถึงระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 25,166 ราย ในราวกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่กลับพุ่งขึ้นสูงมากอีกครั้งในช่วง 3 วันที่แล้ว โดยรัฐเกรละ ซึ่งตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงมากที่สุดคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อใหม่ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ต่อด้วยรัฐมหาราษฏร์ ทางตะวันตกของประเทศที่มีผู้ติดเชื้อคิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน

กระทรวงมหาดไทยของอินเดียแถลงหลังจากหารือกับมุขมนตรีแห่งรัฐเกรละ และมหาราษฏร์ แล้วว่า ทางการของทั้ง 2 รัฐควรเข้าแทรกแซงกิจกรรมภายในรัฐโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อสูง ด้วยมาตรการเช่น การติดตามควานหาตัวคนกลุ่มเสี่ยง, ผลักดันการฉีดวัคซีนให้สูงขึ้นโดยเร็วและให้มีพฤติกรรมในท่ามกลางการแพร่ระบาดที่ถูกต้อง

นอกจากนั้นทางมหาดไทยยังได้ร้องขอไปยังทั้ง 2 รัฐให้พิจารณาว่า ควรประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถานในตอนกลางคืนสำหรับพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูงหรือไม่

รายงานข่าวระบุว่า อินเดียกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 611 ล้านคน โดยฉีด 1 เข็มให้กับประชากรวัยผู้ใหญ่ไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสิ้น 944 ล้านคน ในขณะที่ฉีดครบ 2 เข็มไปแล้วคิดเป็นสัดส่วน 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

‘ฟิลิปปินส์’

กางแผนฉีดวัคซีนครบคน มกราคม 65

ปิดท้ายด้วยสถานการณ์ในฟิลิปปินส์ซึ่งล่าสุด ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ตัดสินใจขยายผลการบังคับใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในเขตนครบาลมะนิลา และอีกบางจังหวัดออกไปจนถึงวันที่ 7 กันยายน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังคงพุ่งสูง

ด้านกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า ขณะนี้สามารถจัดหาวัคซีนต้านโควิดมาได้ทั้งสิ้น 194.89 ล้านโดส เพียงพอสำหรับชาวฟิลิปปินส์ราว 100.5 ล้านคน หรือมากกว่า 100% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ วัคซีนจำนวนเกือบ 49 ล้านโดส ถูกส่งมาถึงแล้ว ขณะที่อีก 42 ล้านโดส จะมาถึงภายในเดือนนี้ ซึ่งรัฐบาลจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับทุกคนได้ภายในเดือนมกราคม 2565

ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ล่าสุดของการระดมฉีดวัคซีนทั่วโลก ในวันที่มนุษยชาติพยายามหุ้มเกราะป้องกันตัวเองจากศัตรูที่มองไม่เห็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image