วาระ ‘ลับมาก’ ปลดศิลปินแห่งชาติ บรรทัดฐาน (คนดี) ใหม่ใต้มรสุมการเมือง

สุชาติ สวัสดิ์ศรี

ขณะที่ปริศนาหลุมดำในอวกาศและสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาค่อยๆ คลี่คลายด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่การปลด ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ของประเทศโลกที่ 3 กลับกลายเป็นมิติพิศวง สวนทางความเจริญแห่งอารยธรรมมนุษยชาติ

นับแต่วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม เมื่อ สมชาย แสวงการ 1 ในสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช.จิ้มนิ้วโพสต์เฟซโดยใช้คำว่า ‘ข่าวดี’ อย่างเต็มปากเต็มคำ ว่า

‘แว่วข่าวดี คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีมติถอดถอนนายสุ….จากศิลปินแห่งชาติแล้ว’

จุดจุดจุด ในพยางค์ที่ขาดหายไป สปอตไลต์ถูกส่องฉายยังศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2554 สุชาติ สวัสดิ์ศรี แห่งทุ่งรังสิตโดยพร้อมเพรียงกัน ด้วยฝีปากที่ฝากผ่านสเตตัสเฟซบุ๊กวิพากษ์เผด็จการ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลคสช. เรียกร้องศิลปิน นักเขียน วงวรรณกรรมแสดงจุดยืนประชาธิปไตย ไปจนถึงการยืนชู 3 นิ้วอย่างสง่างามกลางการชุมนุมที่สนามหลวง  (อ่าน ‘ผมเลือกประชาชน’ ย้อน 5 วาทะ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ก่อนกระแสข่าวจ่อถูกปลดพ้นศิลปินแห่งชาติ)

Advertisement

แม้โพยรายนามศิลปินแห่งชาติ ตั้งแต่ปีแรก เมื่อ พ.ศ. 2528 จนถึงปีล่าสุด เมื่อ พ.ศ. 2563 แม้สุชาติ จะไม่ใช่แค่คนเดียว ที่มี ‘สุ’ เป็นพยางค์แรกของชื่อ

ทว่า ยังมี สุดา สุรางค์ สุคนธ์ ไหนจะสุรชัยและสุจิตต์ !

ต่อมา มีข่าวคอนเฟิร์มว่า ว่าคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ลงมติ ‘เอกฉันท์’ ถอดถอนจริงในการประชุมเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

Advertisement

โดยการลงมติดังกล่าวอยู่ใน ‘วาระลับมาก’ ช่วงท้ายๆ ของการประชุมผ่านแอพพลิเคชั่น ‘ซูม’

จากวันนั้นถึงวันนี้ อย่างน้อยที่สุด ในวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม เจ้าตัวยังไม่ได้รับเอกสารอย่างเป็นทางการจากกระทรวงวัฒนธรรม

เปิดโพย ‘กฎหมายใหม่’ ทำไมต้อง ‘สุชาติ’ ?

ก่อนไปถึงประเด็นอื่นใด มาเริ่มต้นแบบทำตาใส ลองคิดเล่นๆ เหมือนเดาไม่ออกเลยว่า เหตุใด แคนดิเดตที่กำลังจะกลายเป็นตำนานด้วยการเป็นศิลปินแห่งชาติรายแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะถูกปลดพ้นทำเนียบอันทรงเกียรติ

มาลองพิจารณา ‘กฎหมายใหม่’ ใสกิ๊ง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 หรือ กว่า 1 ก่อน ซึ่ง อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ออกมาบอกว่า
ครม.ไฟเขียวแก้ไขกฎกระทรวงให้สามารถยกเลิกศิลปินแห่งชาติได้ถ้ามีพฤติกรรมเสื่อมเสีย และงดจ่ายประโยชน์ตอบแทน

ร่าง กฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ…. คือชื่ออย่างเป็นทางการตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้นำเสนอครม. โดยระบุว่า มีเหตุมาจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบเพื่อให้มีการถอดถอนศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม และบุคคลที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ที่มีความประพฤติปฏิบัติ ‘ไม่เหมาะสม ไม่เป็นตัวอย่างอันดี’

โดยได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณา ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว ซึ่งได้ให้มีการแก้ไขคุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ และกำหนดให้มีการยกเลิก การยกย่องเชิดชูเกียรติ ศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อปรากฏว่า มีพฤติกรรมเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกได้

ผู้ใดได้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว หากปรากฏว่า ศิลปินแห่งชาติผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการโดยมติด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย สองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ อาจยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อได้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติตามวรรคสองให้งดการจ่ายประโยชน์ตอบแทน

ร่างกฎหมายที่ว่านี้ ปัจจุบัน คือ ‘กฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563’

ย้อนไปเมื่อครั้งข่าวการไฟเขียวร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้เผยแพร่ออกไปเมื่อปีที่แล้ว ก็เกิดข่าวแพร่สะพัดในลักษณะเดียวกันนี้ แต่เงียบหายไป กระทั่งครั้งนี้ที่มีโพสต์ ส.ว. ผู้เป็นที่รักของฝั่งกองเชียร์รัฐบาลออกมาชี้เป้า

อย่างไรก็ตาม จากรายละเอียดกฎกระทรวงใหม่ที่ร่ายมาอย่างยาวนี้ คำถามสั้นๆ 3 ข้อที่สังคมรอคอย ยังคงไร้คำตอบอย่างเป็น ‘ลายลักษณ์อักษร’ ไม่ว่าจะเป็น 1. มีการถอดถอนศิลปินแห่งชาติ จริงหรือไม่ 2. สุ…ที่ถูกถอดถอน คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี จริงหรือไม่ ? 3. เหตุใดของการถอดถอนคืออะไร ?

สุขาติ สวัสดิ์ศรี ชู 3 นิ้วสนับสนุนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่อย่างเปิดเผย

เมื่อสุชาติ ไม่เคยต้องคำพิพากษา ‘จำคุก’ ก็เหลือเพียงข้อกล่าวหานามธรรมอย่าง ‘พฤติกรรมเสื่อมเสีย’ ซึ่งเจ้าตัวยังโพสต์เฟซบุ๊กกลางดึกของวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคมหลังไม่มีการเคลื่อนไหวไปพักหนึ่งว่า

‘วันนี้ไขตู้ ป.ณ. ยังไม่เห็นหนังสือถอดถอนจากกระทรวงวัฒนธรรม’

นอกจากนั้น ยังมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เป็นข่าวเข้าใจว่าถูกรุม ‘รีพอร์ต’ จนทำให้เฟซบุ๊กเข้าใจผิดและปิดการใช้งานไป 3 วัน ย้อนไปก่อนหน้านั้น สุชาติยังเผยว่า ‘จนบัดนี้ ผมยังไม่ทราบความประพฤติเสื่อมเสียของผมอย่างเป็นทางการ’ และ ‘ขอให้เห็นจดหมายถอดถอนอย่างเป็นทางการจากกระทรวงวัฒนธรรมก่อน จึงจะให้ความเห็นกับสาธารณะ’

คำถามเรื่องความประพฤติเสื่อมเสีย ไม่ได้คาใจแค่สุชาติ แต่สังคมไทยโดยเฉพาะฟากฝั่งประชาธิปไตยก็สงสัยอย่างหนัก รอคำอธิบายพร้อม ‘นิยาม’ จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อย่างใจจดใจจ่อ

บรรทัดฐานที่รัฐชี้ นิยาม(คนดี) ที่แปรผันตามขั้วการเมือง ?

ระหว่างรอเปิดพจนานุกรมฉบับ ‘แห่งชาติ’
ขั้นตอนถัดจากนี้ ตามหลักการจะมีการจัดประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติอีกครั้งเพื่อรับรองมติที่ประชุม จากนั้นจึงจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการและแจ้งไปยังศิลปินแห่งชาติที่กำลังจะกลายเป็นอดีต ว่าหากต้องการคัดค้านมติดังให้ส่งเรื่องภายใน 30 วันหลังประกาศมติดังกล่าว

นี่อาจตอบคำถามเบื้องต้นได้ว่า ทำไม สุชาติ ยังไม่ได้รับจดหมายฉบับที่รอคอย

ย้อนไปเมื่อปี 2563 เคยมีกระแสข่าวว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเจ้าปัญหานี้ ก็เพื่อจัดการกับศิลปิน ‘แห่งชาติ’ ที่ไม่ ‘รักชาติ’ แบบตามระเบียบพัก ก่อนข่าวคราวสงบลงจนกระทั่งเกิดเหตุในครั้งนี้

คำถามสำคัญที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องตอบอย่างระมัดระวังไม่พ้นนิยามคำว่าเสื่อมเสีย เพราะหากพิจารณาจากพฤติกรรมศิลปินแห่งชาติบางราย ก็เคยถูกสังคมตั้งคำถามหนักหน่วงใน ‘ชีวิตส่วนตัว’ ที่เคยถึงขั้นขึ้นโรงพักประเด็นชู้สาว ตกเป็นข่าวหลายครั้งหลายหน

หากนำ ‘ศีลธรรม’ จรรยา ในวิชาพุทธศาสนา 101 มาขีดเส้น ศิลปินแห่งชาติท่านนั้น ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานเพลงฝากไว้ในอ้อมใจคนไทยอย่างมากมาย จะเข้าข่าย ‘เสื่อมเสีย’ ด้วยหรือไม่ หากใช่ ทำไมไม่โดนถอดถอน ?

ผนึกกำลังเครือข่ายศิลปิน นักคิด นักเขียน ยื่น 1,964 ชื่อ ต่ออธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ให้เปิดพื้นที่ชุมนุม 19 กันยายน 2563

หรือถ้าจะเล่นกันประเด็น ‘การเมือง’ สุชาติ ก็ไม่ใช่ศิลปินแห่งชาติเพียงคนเดียวที่วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์เมือง แต่อาจเป็นคนเดียวที่ชัดเจนว่า ‘ไม่เอาประยุทธ์’ ไม่เอาเผด็จการ ไม่เอารัฐประหาร สิ่งที่ต้องการคือ เคียงข้างประชาชน

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องนับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้มีชื่อในทำเนียบศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2545 เพราะถึงจะวิพากษ์รัฐบาลผ่านข้อเขียนและกวีนิพนธ์ในหน้า 3 เป็นประจำไม่เคยขาด แต่ประกาศ ‘ไม่รับ’ การยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ทั้งตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนมาตั้งแต่แรก เป็นที่ทราบกันดีแม้แต่วิกิพีเดียก็ยังมีข้อมูล

ส่วนศิลปินแห่งชาติ ตำนานเพลงเพื่อชีวิต ที่เคยร่ายบทกวีว่าสุจิตต์ ‘เปลี่ยนไป’ จนถูกอีกฝ่ายจัดเตรียม’ศิวลึงค์’ ให้เมื่อหลายปีก่อน รวมถึง กวีรัตนโกสินทร์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 1 ใน 250 ส.ว. ไม่อยู่ในข่ายถูกถอด

สะท้อนว่านิยามความ ‘เสื่อมเสีย’ ผูกโยงกับการวิพากษ์รัฐบาลในทางลบใช่หรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้แต่เนาวรัตน์ ที่ถูกม็อบคนรุ่นใหม่ให้พรทุกการชุมนุม ก็เคยให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ เมื่อครั้งเกิดกระข่าวเมื่อราว 1 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ หากจะมีการถอดถอนศิลปินแห่งชาติ เพราะเป็นการยกย่องด้วย ‘ผลงาน’ โดดเด่นในสาขานั้นๆ ทั้งยังหวั่นจะถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองนำมาอ้างโจมตีกัน

ส่วนศิลปิน (เพื่อชีวิต) แห่งชาติอีกราย ที่ฝ่ายประชาธิปไตย ตั้งคำถามตลอดมา เมื่อเกิดเหตุถอดถอนสุชาติ สวัสดิ์ศรี ทั้งนักวิชาการ นักเขียน และศิลปินส่วนใหญ่ ต่างยืนยันว่า ประเด็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ไม่ควรถูกถอดถอนด้วยเหตุผลด้านความเห็นต่างทางการเมือง  (อ่าน การเมือง ศีลธรรม อำนาจรัฐ เมื่อ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ต้องเป็นคนดี?)

ร่วม ‘ยืนหยุดขัง’ หน้าศาลฎีกา 16 เมษายน 2564 ข้าง ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการฯ ธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้ประกันตัวเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง

วิพากษ์ ‘วัคซีน’ ฟางเส้นสุดท้าย ? นักกฎหมายชี้ช่องฟ้องศาลปกครอง

แม้สุชาติ วิพากษ์รัฐบาล โพสต์จวกเผด็จการมาหลายปี แต่ล่าสุด เมื่อมีสถานการณ์โควิด วิกฤตวัคซีน สุชาติ โพสต์วิพากษ์ประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนเกิด ‘คอมเมนต์’ ในทำนองเรียกร้องให้ถอดถอนจากศิลปินแห่งชาติอีกครั้ง จนเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าตัวต้องโพสต์ว่า รู้สึกรำคาญ และเคยบอกนานแล้วว่าสามารถทำเรื่องแจ้งกระทรวงวัฒนธรรมได้

“ผมเคยบอกไว้นานแล้วอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ให้บอกไปทางกระทรวงวัฒนธรรม ถ้าอยากจะปลดผม เพราะรู้สึกสิ้นเปลืองเงินภาษีของท่าน ก็ทำเรื่องบอกไปทางกระทรวงวัฒนธรรม แล้วให้ต้นสังกัด คือรัฐมนตรี หรือปลัดกระทรวง ปลดผมอย่างเป็นทางการ”

คือส่วนหนึ่งของข้อความใน ‘สเตตัส’ เฟซบุ๊กครั้งนั้น โดยเป็นช่วงเวลาหลัง ครม. ไฟเขียวแก้กฎกระทรวง มาแล้วพักใหญ่

ในขณะที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เคยเปิดเผยว่า ครั้งตนนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เคยมีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ได้ขอให้ผู้เสนอถอนเรื่องออกไป เพราะเห็นว่าศิลปินก็เหมือนนักปรัชญา เขารู้ความจริงแท้บางอย่างเหนือคนทั่วไป แต่ก็ใช่ว่าจะปฏิบัติตามความจริงนั้นได้

ดัาน รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ปี 2558 ซึ่ง
ตนและเพื่อนๆถูกฝากขังในเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. อ.สุชาติ สวัสดิ์ศรี และกลุ่มนักเขียนไปเยี่ยมให้กำลังใจในเรือนจำ

สำหรับวงการนักเขียน แน่นอนว่า พากันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงถึงเหตุผลให้ชัดเจน หนึ่งในนั้น คือ เวียง วชิร บัวสนธ์ บก.สามัญชน ซึ่งเผยแพร่จม.เปิดผนึก ความตอนหนึ่งว่า

‘ผมไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ยินเสียงคัดค้านเหล่านี้บ้างหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคยวิเคราะห์คาดคำนวณกันไว้บ้างหรือเปล่า ว่าจะนำไปสู่อะไร หรือสักแต่ใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยไม่แยแสใส่ใจด้วยซ้ำว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 3 (มาตรา 25 – 49) หรือไม่อย่างไร อย่าว่าแต่ถ้าผู้เสียหายใช้สิทธิดำเนินคดีต่อศาลปกครอง สุดท้ายแล้วจะลงเอยเช่นไร ไม่ต้องนับว่าผ่านมาแค่ไม่กี่วัน ผู้คนในสังคมส่ายหน้าระอาใจขนาดไหน

พวกท่านไม่รู้หรือไง ว่ากำลังทำให้ศิลปินแห่งชาติทั้งหลายพลอยเดือดร้อนไปด้วย เพราะบัดนี้ เริ่มมีผู้คนจำนวนไม่น้อยวิพากษ์วิจารณ์กันบ้างแล้วว่า การกระทำดังกล่าว เท่ากับเป็นการปรามให้ศิลปินแห่งชาติท่านอื่นๆ จงหุบปาก หรือเป็น ‘เด็กดี’ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมหรือรัฐบาลต้องการเท่านั้น!’

ประเด็นเรื่องการฟ้องร้องต่อศาลปกครองนี้ ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมาย ให้รายละเอียดว่า มติการปลดสุขาติ เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพราะเป็นการพิจารณาทางปกครองที่ไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้ง ชี้แจง หรือแสดงพยานหลักฐานแม้แต่สักครั้งเดียว ไม่มีการแจ้งให้ทราบในเรื่องดังกล่าวเลย

“หากมีคดีไปถึงศาลปกครองก็คงได้เห็นใครต่อใครต้องหน้าแตกกันบ้าง แต่อาจารย์สุชาติอยู่เหนือเขาพวกนั้นไปแล้วน่ะครับ”

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 วาระที่ 2 วันที่สาม งบประมาณกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แปรญัตติเพื่อขอปรับลดวงเงินลงร้อยละ 5 คิดเป็นประมาณ 214 ล้านบาท จากงบประมาณ 4,200 ล้านบาทเศษ ด้วยเหตุผล 3 ประการ หนึ่งในนั้นคือ ‘ไม่มั่นใจในความเป็นคนดีในนิยามของกระทรวงวัฒนธรรม’ โดย
พบว่า คำว่า คนดี คนไทย เต็มไปหมดในโครงการที่เกี่ยวกับความเป็นไทย แต่ละโครงการล้วนใช้งบประมาณเป็นล้านๆ

เป็นเหตุผลแสบๆ คันๆ ที่ไม่ได้แค่พูดเอามันส์ แต่เป็นข้อเท็จจริงเชิงรูปธรรม

มาถึงตรงนี้ ลองย้อนไปดูคำยกย่องของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ ‘นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี’ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์) พุทธศักราช 2554 ความ (สำคัญ) ตอนหนึ่งว่า

‘ด้วยบทบาทของบรรณาธิการมืออาชีพ ที่ได้ให้ความรู้และเปิดเผยความจริงแก่สังคม ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่คนรุ่นใหม่ ปลูกฝังอุดมการณ์ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ มนุษยธรรม และความกล้าต่อสู้กับความอยุติธรรม’

ส่วนคำประกาศถอดถอนที่ยังไม่ประกาศต่อสาธารณะ น่าจับตายิ่งกว่า ว่าจะชักแม่น้ำสายใดให้ ‘ฟังขึ้น’ ไม่ขำขื่นไปกว่าที่เป็นอยู่

‘ผู้เปิดเผยความจริงแก่สังคม’ 

เตือนความจำ คำประกาศยกย่อง ‘สุชาติ’

ได้รับยกย่องจากการสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่วัยหนุ่ม นานนับเนื่องหลายทศวรรษ ก่อนโดนลงมติถอดถอนผ่านซูม เมื่อ 19 สิงหาคม

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์) พุทธศักราช 2554 สร้างคุณูปการอย่างยิ่งแก่วงการนักเขียน นักอ่านและวงวรรณกรรม ด้วยบทบาทของบรรณาธิการมืออาชีพ ที่ได้ให้ความรู้และเปิดเผยความจริงแก่สังคม ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่คนรุ่นใหม่ ปลูกฝังอุดมการณ์ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ มนุษยธรรม และความกล้าต่อสู้กับความอยุติธรรม เขาได้จุดประกายความคิดแก่คนหนุ่มสาว ในการแสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิตตลอดจนใส่ใจในโลกและสังคมที่ตนดำรงอยู่ นอกจากนี้ ยังได้เปิดโลกทัศน์ทางวรรณกรรมแก่นักเขียนและนักอ่าน ให้เกิดความรู้ความเข้าใจวรรณกรรมของไทยและต่างประเทศ ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางวรรณศิลป์

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ได้เปิดเวทีแก่นักเขียนรุ่นใหม่ ให้มีพื้นที่ในโลกวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องรวมหลายร้อยคน

เขาเป็นช่างวรรณกรรมที่คัดสรร เจียระไน นักเขียนที่มีฝีมือจำนวนมากให้แก่วงวรรณกรรมเรื่องสั้นไทย เขาเป็นพลังสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและความเคลื่อนไหวในแวดวงวรรณกรรมอย่างจริงจังและกว้างขวาง อีกทั้งรูปแบบ เนื้อหาและความคิดในงานวรรณกรรมของเขาได้ส่งอิทธิพลไปสู่นักเขียนรุ่นหลัง สถานะและบทบาทของนายสุชาติเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างยิ่ง ในวงวรรณกรรมและวงวิชาการทั้งของไทยและต่างประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image