‘เจ้าพระยาเดือด’ ปริศนาวิมานล่ม และเงื่อนปมที่ยังคลายไม่ออก

‘ไม่ได้ลอก ไม่ได้ลอก และไม่ได้ลอก’!!!

นี่คือวรรคทองของ รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากอภิมหาปมปริศนา “วิมานพระอินทร์” ซึ่งคณะทำงานประกาศยอมพับเก็บไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังพายุโซเชียลกระหน่ำตั้งคำถามว่าเป็นการลอกการบ้านจากผลงาน “เดอะ คริสตัล ไอแลนด์” โมเดลของ นอร์แมน ฟอสเตอร์ ที่เคยมีแผนจะสร้างในรัสเซียหรือไม่ ?

ซ้าย-วิมานพระอินทร์ จุดหมายตา (แลนด์มาร์ก) แม่น้ำเจ้าพระยา จากอนิเมชั่นโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขวา-ครสิตัล ไอซ์แลนด์ กรุงมอสโคว์ รัสเซีย (ภาพจาก http://www.e-architect.co.uk/moscow/crystal-island-tower)
ซ้าย-วิมานพระอินทร์ จุดหมายตา (แลนด์มาร์ก) แม่น้ำเจ้าพระยา จากอนิเมชั่นโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขวา-ครสิตัล ไอซ์แลนด์ กรุงมอสโคว์ รัสเซีย (ภาพจาก http://www.e-architect.co.uk/moscow/crystal-island-tower)

ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เพียงทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่ส่งผลให้ประชาชนคนไทย ซึ่งส่วนหนึ่งไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของโครงการนี้ พากันส่องสปอตไลต์อย่างพร้อมเพรียง ทั้งยังส่อเค้านำไปสู่สิ่งอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเขย่าวงการสถาปนิกไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะแท้จริงแล้ว ก่อนเกิดกรณีวิมานพระอินทร์ โครงการดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดมา นับแต่กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครมอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศึกษาและจัดทำแผน ด้วยระยะเวลาทำงานราว 7 เดือนเศษ มีกำหนดส่งรายงานให้ กทม.ในปลายเดือน ก.ย.นี้ ทว่า ถูกคัดค้านโดยเอ็นจีโอ กลุ่มสถาปนิก และ “บิ๊กเนม” หลายราย โดยต่างฝ่ายก็ยกเหตุผลคัดง้างกันอย่างดุเดือด

กลุ่มคัดค้านเผยแพร่ภาพรณรงค์ยุติโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
กลุ่มคัดค้านเผยแพร่ภาพรณรงค์ยุติโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

สงครามข่าวสาร
ความจริงคนละด้านหรือจงใจบิดเบือน?

ย้อนกลับไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เมื่อมีข่าวว่าจะเกิดโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เกิดเสียงค้านในกลุ่มสถาปนิกและเอ็นจีโอ

Advertisement

รวมถึงชุมชนริมฝั่งแม่น้ำที่อาจได้รับผลกระทบ กลุ่ม FRIENDS OF THE RIVER หรือ “FOR” เผยแพร่กราฟิกและข้อมูลต่างๆ ที่น่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 12-15 เมตร บนเส้นทาง 14 กม. ทำให้สูญสียพื้นที่ 20% ส่งผลถึงระดับน้ำที่อาจสูงขึ้น ไหลแรงขึ้น ทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน รวมถึงงบประมาณสูงถึง 14,000 ล้านบาท ทว่า มีช่วงเวลาศึกษาสั้นเพียง 7 เดือน

ด้าน สจล.ชี้แจงว่า ไม่มีการสร้างถนน แต่เป็นเพียงทางเดินเท้าและทางจักรยานเท่านั้น ทั้งยังยืนยันว่าคำนึงถึงวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์

ส่วนหนึ่งของเอกสารที่จัดแสดงในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายที่หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.
ส่วนหนึ่งของเอกสารที่จัดแสดงในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายที่หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.

รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการบอกว่า ผลการศึกษาชี้ว่าระดับน้ำหน้าเสาจะสูงขึ้นเพียง 3 ซม. และเมื่อไหลผ่านไปในระยะ 1 เมตรจะกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนความเร็วก็เพิ่มขึ้นเพียง 0.006 เมตรต่อวินาที สรุปว่าไม่ส่งผลกระทบ

Advertisement

ด้าน ดร.กมล เกียรติเรืองกมลา หัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรมของโครงการ ประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนในการล่องเรือสรุปผลการศึกษาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า “ลืมเขื่อนไปได้เลย เพราะจะไม่มีการนำคอนกรีตแท่งหนาๆ ปักในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแน่นอน”

เช่นเดียวกับ นายแพทย์ พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัด กทม.ที่ย้ำชัดว่า “เลิกพูดกันสักทีเรื่องงบหมื่นสี่พันล้าน เพราะเมื่อไม่มีถนน ก็ใช้งบแค่หลักพันล้านเท่านั้น”

การล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยานำสื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องรับฟังผลสรุปการศึกษา-จากซ้าย รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการ, ศ.ดร.สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล., นายแพทย์ พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกทม.
การล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยานำสื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องรับฟังผลสรุปการศึกษา เมื่อวันที่ 12 ก.ย.-จากซ้าย รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการ, ศ.ดร.สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล., นายแพทย์ พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกทม.
ภาพจากเฟซบุ๊กโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา "Chao Phraya for All"
ภาพจากเฟซบุ๊กโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา “Chao Phraya for All” ระบุชัดเจนว่าเป็น “ทางเดิน” ไม่ใช่ถนน

เมื่อย้อนกลับไปถาม ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม FOR ว่า คำชี้แจงเหล่านี้ช่วยคลายปมในใจหรือไม่ สถาปนิกหนุ่มตอบว่า ยังมีมุมมองที่ต่างกันเยอะ เพราะความจริงเข้าใจตั้งแต่แรกแล้วว่า เส้นทางเลียบแม่น้ำเป็นทางเดินและทางจักรยาน แต่รูปร่างและความกว้างก็เท่ากับถนน 3 เลนอยู่ดี ทว่า คำถามสำคัญคือ ทำไมต้องมีทางเลียบ 14 กม. ส่วนวาทกรรมเรื่องการพัฒนาและการเข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียมก็ยังไม่มีคำอธิบายเชิงวิชาการที่ชัดเจน สำหรับงบประมาณไม่ว่าจะลดลงจาก 14,000 ล้าน เป็นหลักพันหรือร้อยล้านก็ไม่คุ้ม

“ทำไมเลือกที่แผนที่ใช้เงินสูงสุดมาทำอันดับแรก ทั้งที่มีอย่างอื่นที่สามารถทำก่อนได้ เช่น การพัฒนาชุมชน ถ้าตอบไม่ได้ว่าทำไปทำไมก็ไม่คุ้มไม่ว่าจะกี่ล้านเหมือนเอาภาษีไปทำลายแม่น้ำ เอาเงินไปใช้เพื่อประโยชน์และความจำเป็นของเมืองและแม่น้ำไม่ดีกว่าหรือ” ยศพลกล่าว พร้อมเคลียร์ปม “ผู้เสียผลประโยชน์” ว่าไม่เป็นความจริง เพราะตนออกมาค้านตั้งแต่ก่อนเกิดการประมูลของเอกชน ถ้าค้านแล้วตอนหลังไปทำก็เสียคนเปล่าๆ

ท่ามกลางสมรภูมิข้อมูลที่ถูกใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้ทางความคิด ของใครถูกผิด หรือบิดเบือน เป็นเรื่องต้องขบคิดด้วยวิจารณญาณ

pra01200959p3
โครงการฯเชื่อว่าปรับทัศนียภาพและทำให้คนเข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียม ส่วนกลุ่มค้านตั้งคำถามความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงห่วงขยะและผักตบชวาตกค้างใต้โครงสร้างสถาปัตยกรรมที่จะถูกสร้างขึ้น

วาทกรรม ‘ทำเพื่อชาติ’

มาถึงประโยคยอดนิยมหลังมีกระแสต้าน เมื่อมีการชี้แจงครั้งใด มักถูกเกริ่นนำหรือปิดท้ายโดยขอให้เข้าใจเจตนาว่าทำเพื่อสาธารณะ ให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง แนะลดอคติ ทำสิ่งดีแก่ประเทศชาติซึ่งส่งต่อสู่ลูกหลานอีกด้วย

วาทกรรมทำเพื่อชาติ จึงเริ่มถูกตั้งคำถามว่า เป็นข้ออ้างหรือเกราะคุ้มกันการวิพากษ์หรือไม่ อีกทั้งฝ่ายคัดค้านบางรายก็อธิบายว่า ไม่ได้ค้านโครงการ 100% หรือต่อต้านการพัฒนา หากแต่ “คาใจ” ในความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หากทำเพื่อชาติจริงต้องให้คนในชาติมีส่วนร่วมจึงจะถูกต้อง

ภารนี สวัสดิรักษ์ จาก “สมัชชาแม่น้ำ” เคยกล่าวออกไมค์ในประเด็นนี้หลายครั้งตามงานประชุมและเสวนาต่างๆ โดยระบุว่า มีความสงสัยใน “กระบวนการ” ว่ายังขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านกว่า 30 ชุมชน และเวลาศึกษาสั้นเพียง 7 เดือน นอกจากนี้ ยังมองว่ามีการ “ตั้งธง” ไว้แล้วว่าจะสร้างทางเลียบแม่น้ำ

ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการฯ ในงานของ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) 30 ส.ค.ที่สยามพารากอน
ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการฯ ในงานของ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) 30 ส.ค.ที่สยามพารากอน

ในขณะที่ ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการโครงการ ผู้รับบทหนักที่สุดในการชี้แจง ตามหน้าที่โฆษกอธิบายอย่างละเอียดว่ามีการลงพื้นที่ชุมชนละ 4-6 ครั้ง รวม 300 ครั้ง ส่วนหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการลงพื้นที่ รวม 400 ครั้ง ด้านสมาคมวิชาการ วัด โบราณสถาน ทั้งหมด 30 แห่ง ภาคประชาชน 6 กลุ่ม ซึ่งทางโครงการได้รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นไว้ทั้งหมดแล้ว ทั้งยังปฏิเสธว่าไม่ได้ศึกษา โดยตั้งธงไว้ตามที่ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้ ฝ่าย สจล.ยังเคยกล่าวในทำนองตัดพ้อว่า ไม่ได้เริ่มทำงานจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ เพราะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงแก่ชาวบ้านที่ได้รับข้อมูลบิดเบือน

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายที่หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ นอกจากชุมชนที่ออกมากล่าวสนับสนุนโครงการ เช่น ชุมชนโบสถ์คอนคอนเซ็ปชัญ โดยมองว่าอยากเห็นประเทศชาติเดินหน้า หลายชุมชนยังออกมากล่าวในทำนองเดียวกันว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้เรื่อง การประชุมต่างๆ ไม่มีการแจ้งรายละเอียด เอกสารก็ไม่มีแจก เช่น “ชุมชนวังหลัง”

อีกชุมชนที่กล่าวอย่างสะเทือนอารมณ์ คือ “ชุมชนเทวราชกุญชร” ซึ่งชาวบ้านรับว่า “ผิดหวัง” ที่คู่มือและแผนผังไม่มีแบบของชุมชน ทั้งที่เป็นชุมชนแรกๆ ที่ร่วมออกแบบกับ สจล.

pra01200959p2
(บน) ภาพร่างวิมานพระอินทร์ 1 ใน 4 แลนด์มาร์กเจ้าพระยา (ล่าง) “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน”จากนิทรรศการโดยสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA)

จาก’วิมานล่ม’ สู่ปม ‘วิวาทะสถาปนิก’

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญจากปรากฏการณ์วิมานพระอินทร์ คือ สังคมรับรู้ถึงความขัดแย้งในแวดวงสถาปนิกไทย หลัง ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กอย่างรัวๆ เริ่มจากประเด็นโมเดลวิมานพระอินทร์ ที่เขาเชื่อว่าดาวน์โหลดมาจากเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการจุดประเด็นร้อนแรงในวงการ ก่อนขยายสู่ “ชาวเน็ต” แทบทุกหมู่เหล่า

ครั้น สจล.เดินหน้าแจงเหตุผลและที่มาที่ไปของแนวคิดว่ามาจากเจดีย์ทรงจอมแห และเกล็ดพญานาค นอกจากกระแสจะไม่เงียบลง กลับยิ่งมีแถลงการณ์และจดหมายคัดค้านโครงการทยอยถูกเผยแพร่ทั้งที่เพิ่งเขียนใหม่สดๆ และเวอร์ชั่นวนซ้ำเพื่อตอกย้ำการคัดค้าน เช่น จากกลุ่มศิษย์เก่า สจล.

ยิ่งไปกว่านั้น ดวงฤทธิ์ยังร่างจดหมายเตรียมส่งสภาสถาปนิกขอให้เปิดประชุมวิสามัญ เพื่อวินิจฉัยเรื่องการอนุญาตให้สถาบันการศึกษารับงานออกแบบโดยไม่ได้เป็นนิติบุคคลวิชาชีพ และขอแก้ไขข้อบังคับจรรยาบรรณเพื่อให้สถาปนิกผู้ได้รับใบประกอบวิชาชีพมีความผิดหากมีเจตนาลอกเลียนแบบ ทั้งยัง “ขู่” ร้องเรียน โดยแนะ สจล.ให้ถอนตัวจากโครงการก่อนบานปลาย

ภาพเสียดสี "วิมานพระอินทร์" ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เผยแพร่โดยสถาปนิกและนักเขียนดัง "นิ้วกลม"
ภาพเสียดสี “วิมานพระอินทร์” ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เผยแพร่โดยสถาปนิกและนักเขียนดัง “นิ้วกลม”

 

ร้อนถึง เจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก ต้องเปิดห้องชี้แจงอย่างฉับไวว่าไม่ได้เพิกเฉย เพราะเคยออกหนังสือแจ้งไปแล้วว่า สจล.รับงานไม่ได้ เพราะไม่เคยขอใบอนุญาตนิติบุคคล ส่งผลให้ผิด พ.ร.บ.สถาปนิก ปี 2543 ส่วนการที่คณะทำงานเป็นบุคคลที่มีใบอนุญาต ก็ไม่น่าทดแทนกันได้ โดยได้มีการชงเรื่องถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ช่วยฟันธงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่อยากทำอะไรรุนแรง หากจะต้องแก้กฎหมาย ก็แก้โดยไม่ใช่เพื่อประโยชน์ต่อ สจล.เท่านั้น แต่รวมถึงสถาบันการศึกษาอีกนับ 10 แห่งรับงานในลักษณะนี้ เจตกำจรยังยอมรับว่า โครงการนี้ทำให้สถาบันการศึกษา สภาสถาปนิก และผู้ประกอบวิชาชีพแตกแยกกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

พร้อมระบุว่า “ต้องโทษรัฐบาล ไม่ใช่ความผิดของ สจล.”

“ไม่สบายใจที่เห็นสถาปนิกมานั่งทะเลาะกัน มีปัญหาอะไรควรคุยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง ช่วยกันพัฒนาวิชาชีพให้ก้าวหน้า สจล.อ้างว่าราชการมอบหมายงานให้ทำจึงต้องทำ ส่วนหนึ่งรัฐน่าจะเอาปัญหาเหล่านี้มาพิจารณาว่าการที่มอบงานให้สถาบันการศึกษาเหมาะสมหรือไม่”

นับแต่นี้ต่อไป อุณหภูมิของแม่น้ำเจ้าพระยาจะร้อนระอุจนทะลุปรอท หรือค่อยๆ ลดลงตามความสนใจของกระแสสังคม ต้องเกาะขอบฝั่งอย่างไม่กะพริบตา!

ทีม สจล. ขวาสุด-กมล เกียรติเรืองกมลา, อันธิกา สวัสดิ์ศรี, สกุล ห่อวโนทยาน
ทีม สจล. ขวาสุด-กมล เกียรติเรืองกมลา, อันธิกา สวัสดิ์ศรี, สกุล ห่อวโนทยาน ในวันแถลงข่าวยืนยัน วิมานพระอินทร์ “ไม่ได้ลอก” จากใคร เมื่อ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา
ภาพสามมิติหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ สจล. นำออกเผยแพร่เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ดาวน์โหลดโมเดลจากอินเตอร์เนต แต่มีกระบวนการทำงานจริง
ภาพสามมิติหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ สจล. นำออกเผยแพร่เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ดาวน์โหลดโมเดลจากอินเตอร์เนต แต่มีกระบวนการทำงานจริง
นิทรรศการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หอประชุมกองทัพเรือ ในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย
นิทรรศการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หอประชุมกองทัพเรือ ในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 9 ก.ย.
ป้ายคัดค้านโครงการฯ บริเวณชุมชนเชิงสะพานพระราม 8
ป้ายคัดค้านโครงการฯ บริเวณชุมชนเชิงสะพานพระราม 8 ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 12 ก.ย.

 

ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากเฟซบุ๊ก FRIENDS OF THE RIVER, Chao Phraya for All, ผศ.ดร. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image