สุจิตต์ วงษ์เทศ: อ่านออกเขียนได้ไม่พอ ต้องคิดวิเคราะห์ได้ด้วย

อ่านออกเขียนได้ แค่นั้นไม่พอ อาจตกเป็นเหยื่อของการเสพสื่อโซเชียลอย่างไม่รู้ตัวก็ได้ ซึ่งจะก่ออันตรายต่อตัวเองแล้วสร้างปัญหาสังคมด้วย

อ่านออกเขียนได้แล้วต้องเข้าใจจนรู้เท่าทันโดยวิเคราะห์ได้ด้วย ถึงจะอยู่รอดปลอดภัย

นี่สรุปสั้นๆ ย่อๆ เนื้อๆ เน้นๆ จากคำบรรยายแสดงความคิดเห็นของผู้บริหารการศึกษาไทย เนื่องในวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ และตามที่รัฐบาลไทยพยายามส่งเสริมการรู้หนังสือของประชาชน

ผมอ่านข่าวนี้จากหนังสือพิมพ์อย่างอ่านการ์ตูนขายหัวเราะ เพราะล่าสุดรัฐราชการเพิ่งบอกว่าจะย้อนยุคปลุกผีท่องอาขยานเหมือนนกแก้วนกขุนทอง (มีผู้พยายามบอกว่าไม่เหมือน แต่ผมว่าไม่ต่าง) เท่ากับไม่ให้คิดเอง วิเคราะห์เอง

Advertisement

การเรียนประวัติศาสตร์และวรรณกรรม เป็นช่องทางสั่งสมประสบการณ์การใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่จะพบในชีวิตจริงได้

เพราะประวัติศาสตร์คือคำอธิบายอย่างมีเสรีภาพในความคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลข้อมูลหลักฐานที่ต้องพินิจพิจารณาว่าจริงหรือไม่จริง? เชื่อได้หรือไม่ได้? ฯลฯ

แต่ในระบบการศึกษาไทย ประวัติศาสตร์เป็นประมวลเหตุการณ์ให้ท่องจำเท่านั้นว่ามีสงครามกับพม่าที่ไหน? เมื่อไร? ฯลฯ

Advertisement

ประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของไทย ท้ายสุดก็คือ สิ่งที่ถูกสั่งให้จำ กับ สิ่งที่ถูกทำให้ลืม ไม่ใช่เรื่องของการคิดวิเคราะห์ เพราะไม่มีเสรีภาพให้ทำอย่างนั้น

สังคมไทย สรุปแล้วการอ่านไม่ต้องฝันไกลถึงคิดวิเคราะห์หรอก เพราะอำนาจนิยมไม่ต้องการ จะได้สะดวกในการปลุกผีต่างๆ เช่น ผีพม่าเผาอยุธยา, ผีคอมมิวนิสต์, ผีทักษิณ, ผีศาสนามิจฉาทิฐิในทัศนะของเถรวาทไทย ฯลฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image