เปิดบันทึก ‘ผักไห่’ ในประวัติศาสตร์ (นอก) กรุงศรีฯ ‘อย่าให้เป็นแค่อีเวนต์’

เปิดบันทึก ‘ผักไห่’ ในประวัติศาสตร์ (นอก) กรุงศรีฯ ‘อย่าให้เป็นแค่อีเวนต์’
ลวดลายปูนปั้นงดงามบนหน้าบันพระอุโบสถวัดย่านอ่างทอง อำเภอผักไห่ พระนครศรีอยุธยา

“อย่าให้เป็นแค่อีเวนต์ที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง แต่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงทางวิธีคิด”

คือคำกล่าวของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในช่วงท้ายของเสวนา ‘หลากหลายของดีที่ผักไห่’ ซึ่งต้องหยิบปากกามาไฮไลต์เป็นข้อความสำคัญ พร้อมกาดอกจันตัวโตๆ

เนื่องด้วยไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ท่ามกลางโปรเจ็กต์ และโครงการต่างๆ โดยเฉพาะในสายงานด้านวัฒนธรรม มีกิจกรรมมากมาย ที่สุดท้ายกลายเป็นเพียงอีเวนต์เร่งใช้งบก่อนจบไตรมาส บ้างก็ตั้งตั้นด้วยทิศทางที่ดี แต่ไม่มีการสานต่อ ถูกทิ้งขว้างอย่างน่าเสียดาย

การปิดท้ายของ เจ้ากระทรวง อว. ในประเด็นดังกล่าว ช่วยขับเน้นความเข้มข้นของวงสนทนาที่น่าสนใจเป็นทุนเดิม ด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผักไห่ อำเภอหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเปิดเผยเรื่องราวของพื้นที่ ผู้คน และชุมชนสำคัญในย่านนี้ได้อย่างมีการบ้านให้ ‘คิดต่อ’ ในหลายแง่มุม

Advertisement

ช่วงสายๆ ของวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ชายคา ‘พิพิธภัณฑ์วังหลัง’ เรือนไทยในเขตสังฆาวาส ของ วัดย่านอ่างทอง ริมแม่น้ำน้อยอำเภอผักไห่ และลานกว้างเบื้องหน้า คึกคักด้วยผู้คนในท้องถิ่น และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมกันขุดค้นรากเหง้าทางสังคม วัฒนธรรม อีกทั้งศิลปกรรมที่กระซิบให้เรียนรู้ถึงภาพชีวิตในอดีตของชุมชนผักไห่

ตกขอบประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจของเมื่อวานใน ‘คลองลาดชะโด’

เปิดประเด็นที่ ปรามินทร์ เครือทอง นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เริ่มต้นด้วยภาพกว้างทางภูมิศาสตร์ที่ว่าอำเภอผักไห่ อยู่เหนือสุดของพระนครศรีอยุธยาติดกับจังหวัดอ่างทอง โดยมีความ ‘ได้เปรียบ’ คือการเป็นพื้นที่เชื่อมแม่น้ำ 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำน้อยและแม่น้ำท่าจีน โดยมี ‘คลองลาดชะโด’ เป็นเส้นทางน้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

Advertisement
อว.พาเที่ยว ครั้งที่ 1 เสวนา ‘หลากหลายของดีที่ผักไห่ ต้นเหง้าและจุดกำเนิดของอยุธยา’ โดย TASSHA (Thailand Academy of Social Science Humanities and Arts) ร่วมกับ มรภ.พระนครศรีอยุธยา จากซ้าย รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี, ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สุรินทร์ ศรีสังข์งาม และปรามินทร์ เครือทอง

คลองดังกล่าวแยกออกมาจากแม่น้ำน้อย ไปออกแม่น้ำท่าจีน เป็นที่ตั้งของตลาดใหญ่อย่าง ‘ตลาดลาดชะโด’ นอกจากนี้ ปลายคลองยังมี ‘ตลาดเก้าห้อง’ จังหวัดสุพรรณบุรี บ่งชี้ถึงเครือข่ายการค้าแบบใยแมงมุม

“ท่าจีน คือ อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญและยิ่งใหญ่มาก เป็นเส้นทางการค้ามาเป็นพันปี ส่วนแม่น้ำน้อยมีความสำคัญมากในเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา มีการทำอุตสาหกรรมมหึมา คือ เตาเผาแม่น้ำน้อย ส่งขายทั่วโลก พบภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาดังกล่าวในเรือจม เป็นบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่เครื่องปั้นดินเผาแนวสวยงามแบบสังคโลก

แม่น้ำน้อยคือเส้นทางสำคัญในประวัติศาสตร์อยุธยา ปัญหาคือเราเน้นกันแต่แม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแม่น้ำท่าจีน แม่กลอง แม่น้ำบางปะกง ทั้งที่ต้องทำความเข้าใจทั้ง 4 สายก่อนเข้ามาถึงแม่น้ำสายใน อย่างแม่น้ำน้อย

แม่น้ำน้อย เส้นทางสำคัญในประวัติศาสตร์อยุธยา มุมมองจากศาลาท่าน้ำวัดย่านอ่างทอง

ผักไห่ ไม่ได้อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงตกขอบประวัติศาสตร์ เส้นทางเดินทัพก็อยู่นอกผักไห่ จึงมีบันทึกไว้น้อย ประวัติศาสตร์ผักไห่ อยู่บนคลองลาดชะโดซึ่งทำให้ เมืองใน มีความสำคัญขึ้นมา

เศรษฐกิจผักไห่ เดินด้วยคลองลาดชะโดเป็นหลัก คลองสายนี้เกิดและจบในอำเภอผักไห่ ส่วนปลายคลองซึ่งติดกับจังหวัดสุพรรณบุรี มีตลาดใหญ่ คือ ตลาดเก้าห้อง แสดงว่ามีเครือข่ายการค้า ซึ่งในอดีตไม่ได้ส่งตรง แต่ฝากพักยังตลาดใหญ่ๆ เพื่อไปขายต่อ เป็นเครือข่ายใยแมงมุม” ปรามินทร์ฉายภาพประวัติศาสตร์ผักไห่ผ่านแม่น้ำลำคลอง ก่อนชวนให้มองไปยังเส้นทางน้ำที่แม้ตอนนี้เต็มไปด้วยผักตบชวา ทว่าแท้แล้วมีความสำคัญมาก

ปรามินทร์ เครือทอง

เปิดบันทึกพระยาโบราณฯ โรงสี 3 โรงฝิ่น 10 ร้านสุรา 75

จากภาพรวมทางเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องกับพิกัดภูมิศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ท่านเดิม พาไปเช็กอินผ่านจินตนาการตามรอยทาง ‘พระยาโบราณราชธานินทร์’ ซึ่งเคยสำรวจคลองลาดชะโดในสมัยรัชกาลที่ 6 พบว่าแม้เป็นเพียงคลองสายสั้นๆ แต่มีโรงสีถึง 3 โรง ส่งข้าวขายในที่ต่างๆ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสิ่งชี้วัด ‘ความเจริญ’ ของชุมชนได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

“ผมจะวัดความเจริญในยุคนั้น จาก2-3 อย่าง คือ 1.วัดเยอะ เมืองเจริญ 2.ซ่องเยอะ เมืองเจริญ แต่เมื่อครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์มาสำรวจผักไห่ใน พ.ศ.2459 ตรงกับยุคต้นรัชกาลที่ 6 ท่านไม่ได้สำรวจซ่อง ผมเลยเอาโรงเหล้ามาวัด พบว่ามีโรงเหล้า 7 โรง โรงฝิ่น 10 โรง เหตุที่ยุคนั้นมีการสำรวจโรงฝิ่น เพราะรัฐบาลมีการเก็บภาษี ส่วนร้านสุรามี 75 ร้าน” ปรามินทร์เล่า ทั้งยังเน้นย้ำว่า ถ้าท้องถิ่นมีกำลัง อยากให้ดูเส้นทางสายนี้

สมุดไทยขาวในพิพิธภัณฑ์ของวัด เขียนด้วยอักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์ บันทึกภูมิปัญญาซึ่งควรมีการปริวรรต ถอดความเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
ตู้ลายรดน้ำและจิตรกรรมใต้กระจกชุดเวสสันดรชาดก

พูดแบบไม่เกรงใจ คือ ‘ผักไห่’ มีส่วนทำให้เกิดอยุธยา

มองมุมกว้างบนเส้นทางการค้าแล้ว ได้เวลาโฟกัส ‘วัดย่านอ่างทอง’ อารามสำคัญแห่งอำเภอผักไห่ ซึ่งมากมายด้วยขุมทรัพย์ทางมรดกวัฒนธรรม

“ถ้านัดเจอกันที่วัดย่านอ่างทอง 99 เปอร์เซ็นต์ ไปจังหวัดอ่างทอง” รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดประเด็นสร้างรอยยิ้มอย่างถ้วนหน้าให้ผู้ล้อมวงสนทนา ก่อนตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้คนรับรู้ว่าที่นี่มี ‘ของดี’

เหตุการณ์สำคัญข้างต้น ยังอาจช่วยอธิบายการมาถึงของข้าวของล้ำค่าในอดีตที่กลายเป็นโบราณวัตถุภายในวัดจนถึงทุกวันนี้ โดย รศ.ดร.ปรีดีเชื่อว่า ถูกขนเข้ามาในห้วงเวลาดังกล่าว คือสมัยรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 6

“บันทึกชี้ว่าชุมชนผักไห่มีจริง ไม่ใช่ชุมชนทิพย์ ไม่ใช่เมืองหัวไร่ปลายนา แต่เป็นย่านการค้าสำคัญ ระหว่างสุพรรณบุรีและอยุธยา พูดแบบไม่เกรงใจใครคือ ผักไห่มีส่วนทำให้เกิดอยุธยาใน พ.ศ.1893 การศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จะดูเฉพาะอยุธยาไม่ได้ ต้องดูชุมชนรอบๆ ด้วย”

นักวิชาการท่านนี้ยังแนะนำว่า ก่อนอื่นต้องสังคายนา ‘ป้ายประวัติวัด’ ให้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นชวนให้ร่วมขบคิดถึง ‘ชื่อบ้านนามเมือง’ ในคำว่า ‘ผักไห่’ ซึ่งมีหลายข้อสันนิษฐาน บ้างก็ว่า มาจากต้น ‘ไห่’ ซึ่งเป็นพืชตระกูล ‘มะระ’ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกแนวคิด อย่างความเป็นไปได้ที่ว่าผักไห่ อาจมาจาก ‘ปากไห่’ หรือไม่ โดย ‘ปาก’ แปลว่าต้น ส่วน ‘ไห่’ นอกจากพืชตระกูลมะระ ยังมีผู้กล่าวว่า เป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่ง มีใบคล้าย ‘ไผ่’ โดยคำว่า ‘ปากไห่’ ปรากฏในนิราศสุพรรณของ ‘เสมียนมี’ ว่าบ้านปากไห่

รศ.ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี

 

ตัวอักษรฟอนต์วันวานบนป้ายเก่าของอารามสำคัญอันเป็น ‘เพชรน้ำงาม’ ประจำผักไห่รศ.ดร.ปรีดียังชี้เป้าไปยังปฏิทินเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2451 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จมายัง ‘ผักไห่’ ต่อมา เมื่อวันที่ 16 กันยายน พุทธศักราช 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประทับแรมที่พลับพลา หน้าวัดย่านอ่างทอง ก่อนเสด็จ ‘วิเศษไชยชาญ’ ทางแม่น้ำน้อย ทั้ง 2 วันประวัติศาสตร์นี้ ทางท้องถิ่นสามารถใช้เป็นหมุดหมายในการจัดกิจกรรมได้

เหนือความงาม คือความรู้

‘วัดย่านอ่างทอง’ ประจักษ์พยาน การเติบโตของเมือง

อีกหนึ่งหลักฐานสำคัญอันเป็นประจักษ์พยาน คืองานศิลปกรรมล้ำค่าที่ผ่านกาลเวลาจากศักราช สู่ทศวรรษ จากทศวรรษสู่ศตวรรษ นับเนื่องยาวนานถึงวันนี้

ศิลปกรรมในวัดย่านอ่างทองอยู่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

สุรินทร์ ศรีสังข์งาม ผู้อำนวยการสถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พาชมศิลปกรรมในวัดย่านอ่างทองอันงดงามเฉพาะตัว ทั้งยังสะท้อนภาพชุมชนผ่านความรุ่งเรือง โอ่อ่า ในเชิงภูมิปัญญา กำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่มีความเป็นไปได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

วัดเป็นหลักฐานสำคัญในการเติบโตของเมือง นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนของรัฐด้วย ถ้าเราเคลียร์ผังปัจจุบัน ลองมองผังเดิม จะพบว่าเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส อยู่ไกลกันมาก มีพื้นที่เยอะ หมู่กุฏิขนาดใหญ่ล้อม 4 ด้านก็สามารถคาดเดาจำนวนพระสงฆ์ที่จำพรรษาได้ พุทธปรางค์ปราสาท เห็นครั้งแรกรู้สึกสะดุดตาด้วยรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร วิหารก็สวยงามมาก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่ยังใช้เส้นสินเทาแบบเก่า แต่เขียนภาพท้องฟ้าด้วยสีฟ้าเสมือนจริง อีกสิ่งวิเศษคือ หน้าบันของอุโบสถ ซึ่งครึ่งล่าง แบ่งเป็น 3 ช่อง มีรูปเทวดาประทับยืน คาดว่าเป็นพระนารายณ์ ปูนปั้นงดงามมาก”

สุรินทร์ ศรีสังข์งาม นำชมความงดงามของวัดย่านอ่างทองในทุกแง่มุม

ผอ.สถาบันอยุธยาศึกษายังชวนชมงานหัตถศิลป์หลากหลายรูปแบบ อาทิ จิตรกรรมใต้กระจกซึ่งนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันเก็บรักษาอย่างดีในพิพิธภัณฑ์วังหน้า ภายในวัด โดยมีการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุเป็นที่เรียบร้อย เช่นเดียวกับสรรพสิ่งล้ำค่าชิ้นอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธรรมาสน์ เครื่องเคลือบ ภาชนะดินเผา ไปจนถึงสมุดไทยดำ-ไทยขาว ซึ่งบันทึกวรรณกรรมล้ำค่า รอให้คนรุ่นหลังเปิดอ่านอีกครั้งเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

“จิตรกรรมใต้กระจกที่วัดแห่งนี้ มีด้วยกัน 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นภาพสไตล์ช่างจีน เขียนภาพหลังกระจก ตัดเส้นก่อนแล้วเขียนทับทีละชั้น แต่ที่สมบูรณ์มาก คือภาพชุดเวสสันดรชาดก นอกจากนี้ ยังธรรมาสน์ มีพระพุทธรูปสุโขทัย มีผ้าห่อคัมภีร์ และกระจกเกรียบซึ่งบางมาก ประดับบนตะลุ่มด้วยลายละเอียดอ่อน” อาจารย์สุรินทร์พรรณนาอย่างภาคภูมิ เน้นย้ำถึง ‘เพชรน้ำเอก’ ของผักไห่ พร้อมกล่าววาทะสำคัญ นั่นคือ นอกเหนือจากการสัมผัสซึ่ง ‘ความงาม’ โบราณวัตถุสถานเหล่านี้

“ใต้ความงามคือความรู้ ความรู้จะนำไปสู่ความภูมิใจ ความภาคภูมิใจจะนำไปสู่การทำนุบำรุงศิลปะอย่างยั่งยืน”

หมู่กุฏิในเขตสังฆาวาส
จิตรกรรมในวิหารผสมผสานรูปแบบไทยประเพณีด้วยเส้น‘สินเทา’ และสีสันเสมือนจริงในแนวคิดแบบใหม่
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้ากระทรวง อว. เน้นย้ำ อย่าให้เป็นแค่ ‘อีเวนต์’ แต่ต้องเดินหน้าต่อ คาดหวังให้โรงเรียนและชุมชนเรียนรู้รากเหง้าของตัวเองผ่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

‘ประวัติศาสตร์ผักไห่’ ที่โรงเรียน ‘ไม่ได้สอน’?

ปิดท้ายด้วยมุมมองของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ ที่เชื่อว่า ประวัติศาสตร์ผักไห่อย่างที่กล่าวกันในเสวนานี้โรงเรียนในพื้นที่ไม่ได้สอน

“ถ้าไม่มาเห็นด้วยตาตัวเองก็ไม่รู้ว่าตรงนี้ยิ่งใหญ่ขนาดไหน….เวลาเรียนประวัติศาสตร์อยุธยา จะเรียนแบบพระราชอาณาจักร แต่เดินเลียบคลองอะไร ถนนอะไร ไม่รู้ เป็นไปได้ไหมที่จะจัดให้นักเรียนในท้องถิ่นได้เรียน นายอำเภอจัดอบรมเลยได้หรือไม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ควรทำประวัติศาสตร์อยุธยาให้ทุกโรงเรียนได้เรียนกัน ให้ล้ำหน้าที่อื่น ขอให้ลงไปสู่ผู้เป็นเจ้าของ” รัฐมนตรี อว.แนะ

ส่วนความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างที่ตั้งใจหรือไม่ คงต้องอาศัยความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทว่าสำคัญที่สุดจะเป็นภาคส่วนใดไปไม่ได้ นอกจากพลังของผู้คนและชุมชนผักไห่

เมื่อได้รู้ว่าตัวเองเป็นใคร มาจากไหน ในวันที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติได้รับการสถาปนาเป็นฉบับหลักในแบบเรียนของพลเมืองไทย

พิพิธภัณฑ์วังหน้า ในวัดย่านอ่างทอง อนุรักษ์โบราณวัตถุล้ำค่าโดยจัดทำทะเบียนตามหลักวิชาการ
เครื่องลายคราม เครื่องปั้นดินเผา และงานประณีตศิลป์ ส่วนหนึ่งมรดกวัฒนธรรมที่ได้รับการดูแลอย่างดีในวัดย่านอ่างทอง
มุมหนึ่งของจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหาร

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image