คำให้การ ‘นริศ จรัสจรรยาวงศ์’ จากหมอเหล็งรำลึก ถึง‘ปฏิวัติ ร.ศ.130’

นับเป็นพ็อคเก็ตบุ๊กฉบับพิมพ์ใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก สำหรับ “ปฏิวัติ ร.ศ.130” บันทึกความทรงจำร่วมของ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ซึ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของการก่อตัวทางความคิดในการพยายามปฏิวัติทางการเมืองของ “คณะ ร.ศ.130” ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ ก่อนการมาถึงของเหตุการณ์ “อภิวัฒน์สยาม” ในวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475

“ท่านปรีดี พนมยงค์ (นามปัจจุบันของท่าน) ได้กล่าววาทะอย่างนุ่มนวลออกมาครั้งแรกเมื่อพบพวกเราว่า พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ.139 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ.130 ว่าพวกพี่ๆ ต่อไป โดยท่านได้ให้อรรถาธิบายว่า เมื่อชาวคณะ ร.ศ.130 ถูกจับกุมครั้งกระนั้น ท่านยังมีอายุได้เพียง 11 ขวบ”

คือข้อความตอนหนึ่งในบันทึกล้ำค่าเล่มดังกล่าวอันเต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราวเข้มข้น ร้อนแรง ราวนวนิยายขายดี ทว่า เป็นเรื่องจริงในไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เป้าหมายการขยายแนวร่วม การถูกจับกุมและไต่สวน การถูกคุมขังลงทัณฑ์ ชีวิตนักโทษการเมืองในคุก ชีวิตหลังคืนสู่อิสรภาพ และการส่งต่ออุดมการณ์ในการปฏิวัติ 2475 ผ่านการถ่ายทอดความคิดลงบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์

Advertisement

จาก “ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130” อนุสรณ์งานศพ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) 19 เมษายน พ.ศ.2503 ซึ่งมักเรียกกันว่า “หมอเหล็งรำลึก” ตามข้อความบรรทัดบนสุดของปก

สำนักพิมพ์มติชน นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2556 มาถึงฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยร่วมสมัยที่ท้าทายอย่างยิ่ง ไม่เพียงมีชื่อของ ณัฐพล ใจจริง นักวิชาการชื่อดังนั่งเก้าอี้บรรณาธิการ ยังมี 2 บทความพิเศษที่พลาดไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือ “อนุสรณ์คณะเก๊กเหม็งสยาม ร.ศ.130” ผลงาน นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักประวัติศาสตร์ผู้ค้นคว้าเรื่องราวในห้วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” อย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะจากหลักฐานใน “หนังสืองานศพ”

Matichon Book Talk จัดเสวนาผ่านซูม ในหัวข้อ “ปฏิวัติ ร.ศ.130 แสงแรกแห่งประชาธิปไตยในสยาม” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นริศ ร่วมเปิดเผยถึงเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงอุดมการณ์ของ “นักปฏิวัติหนุ่ม” ซึ่งแม้ล้มเหลวในภารกิจ ทว่า ได้จุดประกายและส่งต่อแนวคิดสู่ “คณะราษฎร” ซึ่งก่อการสำเร็จในอีก 20 ปีต่อมา

Advertisement

ต่อจากนี้ คือเนื้อหาเสวนาข้างต้น คำให้การจากปากนักวิชาการผู้ค้นลึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

•นักปฏิวัติหนุ่ม ‘นักเรียนนายร้อย’ เดือนเดียวแผนแตก ติดคุก 25 คน

ก่อนอื่น ต้องอธิบายว่า ร.ศ. ย่อมาจากรัตนโกสินทร์ศก เหตุการณ์ ร.ศ.130 เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2455 ยุคต้นรัชกาลที่ 6 ถ้านับตามปฏิทินเก่าถือเป็นช่วงปลายปี 2454 เพราะสมัยนั้นเรายังนับเดือนเมษายนเป็นปีใหม่

ริเริ่มโดย ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ ซึ่งได้พบกันตอนรับราชการ หลังจากนั้น ร.ต.เหรียญไปดึงพี่ชาย คือ หมอเหล็ง ศรีจันทร์ หรือขุนทวยหาญพิทักษ์ เข้ามาร่วมด้วย โดยเริ่มประชุมกันตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม แต่ล้มเหลวภายในเดือนเศษๆ ก็ถูกรวบตัวทั้งคณะ แผนเดิมจะปฏิบัติการที่วัดพระแก้วในวันปีใหม่ คือเดือนเมษายนโดยจับตัวบุคคลสำคัญ แต่แผนแตกเสียก่อน จนถูกจับเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ แต่เอกสารราชการบอกว่าถูกจับในวันที่1 มีนาคม ปีเดียวกัน

เหตุการณ์นี้เกิดหลังรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์เพียงปีเศษ ความน่าสนใจของความพยายามในครั้งนี้คือกลุ่มที่ปฏิบัติการทั้งหมดแทบจะเรียกได้ว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักเรียนนายร้อย

ร.ต.เหรียญบอกว่ามีประมาณ 200 กว่าคน แต่เอกสารราชการบอกว่ามีประมาณ 800-1,000 คน ศัพท์ทางราชการใช้คำว่า “กลุ่มก่อการกำเริบ” แต่ตอนถูกจับจริงๆ โดนดำเนินคดี 92 คน เป็นทหารบก 85 คน ทหารเรือ 3 คน พลเรือน 4 คน

ทหารบกเหล่านี้ เป็นทหารระดับร้อยตรี จนถึงร้อยเอกอาวุโสสุดคือพันตรี หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิวิทย์ (อัทย์ หะสิตะเวช) เป็นหมอศิริราช อายุ 38 ปี

ศาลพิพากษาในเดือนพฤษภาคม ติดคุก 25 คน โดย 23 คนติดคุกที่กรุงเทพฯ ส่วนอีก 2 ท่านไปติดคุกที่นครสวรรค์ จริงๆ แล้ว 2 ท่านนี้พอโดนจับได้รับการปล่อยตัว รอลงอาญา แต่ปรากฏว่าอีก 4 เดือนต่อมา โดนข้อหาไม่เข็ดหลาบ เลยถูกแยกคุกไปขังที่นครสวรรค์

คณะ 25 คนนี้มีโทษถึงประหารชีวิต 3 คน คือตัวนำ ที่เหลือจำคุกตลอดชีวิต แต่มีการลดโทษ ลดหลั่นกันไปสุดท้ายติดคุกไปทั้งสิ้น 12 ปี 6 เดือน 6 วัน ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2467 ซึ่งครบ 15 ปีของการครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 6 ความน่าสนใจของกลุ่มนี้คือ ตั้งแต่ก่อการในต้นรัชกาลที่ 6 แล้วถูกปล่อยมาในช่วงปลายรัชกาลพอดี เพราะอีกราว 1 ปีต่อมา ในหลวงรัชกาล 6 เสด็จสวรรคต

⦁‘ผู้ก่อการกำเริบ’ มองบริบทโลก ตกผลึกความคิด

ในบริบทโลก เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ ซินไฮ่ ของ ดร.ซุน ยัด เซ็น เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2454 บางคนบอกว่า เหตุการณ์ ร.ศ.130 ได้โครงสร้างรูปแบบความคิดมาจากฝรั่ง แต่อิทธิพลที่สำคัญ คือการปฏิวัติที่จีน

บริบทโลกตอนนั้นที่น่าสนใจคือ ในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดการปฏิวัติใหญ่ในโลก 2 ครั้ง คือ ปฏิวัติ ซินไฮ่ ล้มล้างราชวงศ์ชิงของจีน และบอลเชวิค (การปฏิวัติในรัสเซีย) ช่วงเวลานั้นโลกกำลังเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก

เชื่อว่าการศึกษายุคนั้นมีความก้าวหน้าพอสมควร ถึงได้ชักชวนกันเหมือนไม่กลัวเลย เราอาจมองว่าแผนแตก มีหนอนบ่อนไส้ แต่ทางราชการมองว่าข่าวอย่างนี้มันรู้กันอยู่แล้ว สืบทราบมาอยู่แล้ว เพราะจริงๆ ต้องยอมรับว่า มันมีความโฉ่งฉ่าง ซึ่งเป็นบทเรียนให้ปรีดี พยมยงค์ นำมาปรับในอีก 20 ปีต่อมา คือ พ.ศ.2475

ประเด็นความแค้นส่วนตัวในระบบราชการ มีเรื่องเล่าว่า โดนมหาดเล็กทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่อย่างน้อยต้องมีโครงสร้าง ชุดความคิด มีการตกผลึกพอสมควร ที่สำคัญ การชักชวนกันแล้วได้เครือข่ายที่กว้างขวางขนาดนี้ คงไม่ใช่เรื่องความแค้นส่วนตัว แต่อาจเป็นองค์ประกอบเสริม

วิธีคิดเรื่องโครงสร้าง น่าจะต้องไปดูในเอกสารราชการ ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีเอกสารสำคัญ คือ คำให้การของแต่ละคนหลังถูกจับ มีบางคนที่อาจารย์ณัฐพล ใจจริงค้นคว้าแล้วนำมาลง เช่น ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ ซึ่งวิธีคิดน่าสนใจ

⦁12 ปี 6 เดือน 6 วันในคุก จากนักโทษสู่นัก นสพ.

ความน่าสนใจของคณะนี้ ไม่ใช่แค่บริบทที่พวกเขาอยู่ในคุกซึ่งก็มีสีสันมาก ในหนังสือเล่มนี้ เล่าเหตุการณ์ในคุกหลายเรื่อง ตอนติดคุก ส่งบทความออกมาตีพิมพ์ใน นสพ.ได้ เนื่องจากหลังคณะ ร.ศ.130 ติดคุกได้ราว 1 ปีเศษ เซียวฮุดเสง (เจ้าของ นสพ.จีนโนสยามวารศัพท์) มีคดีกับกรมพระสวัสดิ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์) ต้องติดคุกหลายเดือน เขาเป็นจีนฮกเกี้ยน ถือสัญชาติอังกฤษ เลยติดคุกนักโทษต่างประเทศ ทำให้ได้รู้จักกัน ซึ่งพอมีอะไรปุ๊บ จะติดต่อลูกสาว คือ “จูปีเตอร์” ลม่อม สีบุญเรือง ซึ่งเป็นนักประพันธ์หญิงที่เก่งมาก ตอนนั้นถึงกับให้เงินเดือนคณะนี้ 23 คน เดือนละ 80 บาท เพื่อเขียนบทความออกมาข้างนอก

ศรียาตรา หรือ ร.ต.โกย วรรณกุล แปลเรื่อง พระนางโยเซฟีนแปลดีถึงขนาด รัชกาลที่ 6 ทรงขอดูตัว บรรณาธิการเดือดร้อนมาก ไม่ทราบจะทำอย่างไร เลยต้องหาเหตุผล หานู่น หานี่ ซึ่งต้องไปอ่านในหนังสือเล่มนี้ จะมีช็อตต่างๆ เล่าไว้

สุดท้ายคนพวกนี้ซึ่งเป็นนักปฏิวัติเมื่ออายุ 20 กว่า หัวใจและศักยภาพเหลือเฟือ เขาติดคุกขณะอายุน้อยมากแค่ 20 กว่า ติดอยู่ 12 ปี พอออกมา แต่ละคนอายุแค่ 30 กว่า ถ้าเทียบเจนฯ 2475 ปรีดี อายุ 32 จอมพล ป. พิบูลสงคราม 35 พูดง่ายๆ เขาอายุมากกว่าเจนฯ 2475 แค่ 10 ปี

ถ้าไปอ่านบทสัมภาษณ์ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ ตอนอายุ 80 กว่า ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ มีคนถามว่า เข็ดไหม เขาบอก ไม่เข็ด ขนาดตอนออกจากคุก ยังไม่เปลี่ยนยูนิฟอร์ม ใส่ชุดคุกเดินกลับบ้านเพื่อแสดงความอารยะขัดขืน

หลังออกจากคุกแล้ว ทักษะของพวกเขาถูกนำมาใช้ในการทำงานหนังสือพิมพ์ อย่างศรีกรุง กับสยามราษฎร์ หลายคนเป็นนักหนังสือพิมพ์เพื่อสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ มีศักยภาพมาก ร.ต.เนตรถึงขนาดเป็น บก.

ช่วงก่อน 2475 คนกลุ่ม ร.ศ.130 ทำงานด้านความคิดผ่าน นสพ.อยู่แล้วในเรื่องระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 2475 สำเร็จ แน่นอนว่า ตอนปรีดีเชิญมาคุย คนเหล่านี้ก็ยังทำงานต่อ อย่างน้อยเราเห็นชัดๆ 2 คน คือ ร.ต.จรูญ ณ บางช้าง และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ได้เป็น ส.ส.แต่งตั้ง

เราจะเห็นไทม์ไลน์ของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นคณะที่อายุยืนยาวมาก หลายท่าน เช่น จรูญ ษตะเมษ เหรียญ ศรีจันทร์ หมอเหล็ง อายุเกินปี 2500 ทั้งสิ้น ร.ต.เนตร อยู่มาถึงรัฐบาลป๋าเปรมด้วยซ้ำ เป็นคนสุดท้ายที่เสียชีวิตเมื่ออายุ 90 ปี

สำหรับหมออัทย์ (หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิวิทย์) ผมพยายามไปตามหนังสืออนุสรณ์งานศพ ท่านสิ้นใน พ.ศ.2506 สละร่างเป็นครูใหญ่ที่ศิริราช ปรากฏว่าตอนนี้โครงกระดูกของท่านตอนนี้ยังอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ความน่าสนใจของบุคคลท่านนี้คือเรื่องเล่า ซึ่งตอนท่านยังติดคุก ยังเป็นนายหน้าขายที่ ได้กำไร 5,000 บาท เขียนตำราแพทย์จากในคุก พิมพ์ 1,000 เล่ม ขายหมดด้วย (หัวเราะ) ท่านเล่าให้นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี ซึ่งตอนนั้นไปทำไร่อยู่ที่ชลบุรีฟัง ทั้ง 2 ท่านนี้เป็นคนสนุกทั้งคู่ ขอชักชวนคนที่สนใจวรรณกรรม และเหตุการณ์ ร.ศ.130 ให้ไปหา “นิทานชาวไร่” มาอ่าน

⦁จาก ร.ศ.130 ถึงปฏิวัติ 2475

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ มันเชื่อมโยงกับ 2475 ด้วย ตอนเกิดความพยายามปฏิวัติเมื่อปี 2455 ตอนนั้นปรีดีอายุแค่ 11 ขวบ ยังอยู่ที่อยุธยา รับทราบเรื่องนี้จากคุณครู หลังคณะราษฎรปฏิวัติ 2475 สำเร็จแล้ว พวกเขาเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ถึง 19 คน คือ ติดคุก 25 ตายในคุก 2 คน เหลือ 23 คน ออกมาจากคุก โดยจำนวนมากถึง 19 คน ทันเห็น 2475

พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เชิญคณะนี้ไปพูดคุยเมื่อบ่ายวันที่24 มิถุนายน 2475 ปรีดีบอกว่า ขอเรียกพวกท่านว่า พี่ พระยาพหลบอกว่า ถ้าไม่มีพวกคุณ ก็ไม่มีพวกผม บุคคลเหล่านี้ หลายคนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของพระยาพหลกับพระยาทรงสุรเดชด้วย พระยาพหลบอกว่า ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนเมืองนอก ก็คงร่วมกับพวกคุณ เพราะตอนปฏิวัติ ร.ศ.130 ท่านเรียนอยู่เยอรมนี แต่จรูญ ณ บางช้างบอกว่า เพราะคุณไปเรียนต่างประเทศ ถึงกลับมาปฏิวัติสำเร็จ ไม่เหมือนกับพวกเขา

⦁จากหมอเหล็งรำลึก ถึงปฏิวัติ ร.ศ.130

ขอบคุณมติชนมากๆ ที่นำหนังสือหมอเหล็งรำลึกกลับมาพิมพ์อีกครั้ง (ในชื่อ ปฏิวัติ ร.ศ.130) เพราะสำคัญมาก เล่มนี้เป็นหนังสือเก่าที่มูลค่าสูงมาก ปกติขายกันเล่มละ 2,000 บาท มติชนเคยพิมพ์ครั้งแรกในโอกาสครบรอบ 100 ปีเหตุการณ์ ร.ศ.130 เมื่อปี 2555 ตอนนั้นมี อาจารย์ณัฐพลทำบทความลงนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 2 ชิ้น และได้มาเป็นบรรณาธิการเล่มนี้ ความพิเศษของฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 คือ อุดมไปด้วยเอกสารชั้นต้น ที่อาจารย์ณัฐพลไปค้นคว้าในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เช่น เอกสารที่ถูกยึดโดยทางการ เช่น เรื่องความเสื่อมทรามและความเจริญของประเทศ มีลายมือของกลุ่มผู้ก่อการซึ่งหายากมาก

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือ “เพื่อนตาย” ของอุทัย เทพหัสดิน ซึ่งเป็นหนังสืองานศพของกลุ่ม รศ.130 เล่มแรกๆ หลัง 2475 เพราะเรื่องของ ร.ศ.130 กว่าจะพูดได้ ต้องเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาก่อนจึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทางมติชนให้ความสำคัญกับหนังสือเล่มนี้ซึ่งขาดตลาดไป 8 ปี เมื่อนำกลับมาพิมพ์อีกครั้งก็ไม่อยากให้พลาด เนื้อหาข้างใน คุณอ่านเล่มเดียวจะได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับ ร.ศ.130 ครบ พิมพ์สวยด้วย ผมก็ภูมิใจนำเสนอบทความอนุสรณ์งานศพที่รวบรวมหนังสืองานศพให้ได้มากที่สุดจาก 25 คน ได้มา 10 กว่าคน และเป็นคนสำคัญของคณะนี้ทั้งสิ้น

การพิมพ์ครั้งนี้ ผมประทับใจเพราะพิมพ์แบบปกแข็ง มีแจ๊กเก็ตซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยทำกันแล้ว แต่มติชนให้ความสำคัญกับงานชิ้นนี้ในระดับที่นำกลับมาพิมพ์เป็นเล่มพรีเมียม ถือว่าต้องคารวะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image