อาศรมมิวสิก : ผู้แสวงหาต้องพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศ ใช้เทคโนโลยี สร้างงานดนตรี และสร้างอาชีพ

ผมได้รับเชิญจากสถาบันการศึกษา ให้พูดเรื่องแนวโน้มการศึกษาดนตรี ให้นักศึกษาปริญญาเอก ในวันที่ 7 กันยายน 2564 และพูดกับอาจารย์สอนดนตรีอีกแห่งหนึ่ง ในวันที่ 8 กันยายน 2564 ว่าจะสอนดนตรีอย่างไร ประเด็นใหญ่อยู่ที่ความพร้อมและการผลิตคนดนตรีคุณภาพ เมื่อจบไปแล้วสามารถที่จะสร้างงานได้เลย

แนวโน้มการศึกษาดนตรีเป็นเรื่องอนาคต จะขอพูดเรื่องการศึกษาดนตรีในอดีตก่อน เพื่อปูพื้นฐานว่าการศึกษาดนตรีเป็นวิธีการของชาวตะวันตก แต่ก่อนไม่มีสถาบันดนตรี การเรียนดนตรีอยู่กับผู้ที่มีความชำนาญ เรียนรู้กับคนใกล้ตัว เล่นดนตรีในครอบครัว เรียนอยู่ในวงดนตรี มีความชำนาญ มีความเชี่ยวชาญและเคยมือ

พระเจนดุริยางค์ เป็นครูดนตรีคนสำคัญ ฝึกเรียนดนตรีกับพ่อชื่อจาคอป ไฟต์ เข้ามาในกรุงสยาม เมื่อ พ.ศ.2410 เป็นครูสอนแตรวงอยู่ที่วังหน้า เสียชีวิต พ.ศ.2452 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการศึกษาดนตรีสากล

พระเจนดุริยางค์ ทำงานที่กรมมหรสพหลวง พ.ศ.2460-2483 มีหน้าที่คุมวงดุริยางค์ โดยให้นักดนตรีไทยเปลี่ยนไปเล่นเครื่องดนตรีสากล สอนให้เล่นดนตรีได้แล้วก็มีงานทำ รับราชการอยู่ในกรมมหรสพหลวง

Advertisement

พ.ศ.2477 หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร จัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ เพื่อสอนโขน ละคร และดนตรีไทย เรียนจบแล้วก็เข้ารับราชการ ทำหน้าที่เล่นโขน ละคร และดนตรี อยู่ที่กรมศิลปากร

พ.ศ.2483-2485 พระเจนดุริยางค์ ย้ายไปสอนดนตรีที่กองดุริยางค์ทหารอากาศ เขียนตำราทฤษฎีการดนตรี การประสานเสียง ต่อมาในปี พ.ศ.2486-2492 พระเจนดุริยางค์ได้สอนดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2493-2511 พระเจนดุริยางค์ ได้ตั้งวงดุริยางค์ที่กรมตำรวจ จัดฝึกอบรมครูสอนวงโยธวาทิต ซึ่งมีครูลูกเสือและครูแตรวงจากโรงเรียนจังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ ครูดนตรีเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็น “ศิษย์พระเจน” เป็นศิษย์ที่มีครู ได้รับความเชื่อถือว่ามีความรู้ เมื่อพระเจนดุริยางค์เสียชีวิตลง ได้รับยกย่องให้เป็นศาสตราจารย์ดนตรีคนแรก

พ.ศ.2504 อาจารย์กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เรียนดนตรีที่อังกฤษ รับราชการที่ประสานมิตร ไปช่วยราชการที่ครุศาสตร์ จุฬาฯ สอนวิชาความซาบซึ้งดนตรี ทำรายการวิทยุจุฬาฯ บรรยายเรื่องดนตรีคลาสสิก โดยให้ความรู้ดนตรีแก่นักศึกษาในสาขาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์

อาจารย์กำธรเป็นผู้จัดสอบเทียบความรู้ดนตรี ใช้ข้อสอบของวิทยาลัยดนตรีอังกฤษ (Trinity College of Music) ประสงค์จะพัฒนาความรู้และยกระดับการศึกษาดนตรีให้แก่นักเรียนไทย สอบได้แล้วไม่สามารถใช้ทำงาน ใช้เข้ารับราชการ หรือใช้ศึกษาต่อไม่ได้ มีใบประกาศให้ไว้เป็นหลักฐานรับรองความรู้ดนตรี

พ.ศ.2509 ดร.ถาวร พรประภา ตั้งโรงเรียนดนตรียามาฮ่า เพื่อสอนดนตรีให้เด็กที่สนใจ ดนตรีเป็นวิชาพิเศษนอกโรงเรียน มีคุณหญิงสุเนตร พงษ์โสภณ กับอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ปัจจุบันเป็นสถาบันดนตรียามาฮ่า มีโรงเรียนดนตรีทั่วประเทศ 84 โรงเรียน มีนักเรียนดนตรีกว่า 25,000 คน นักเรียนกลุ่มนี้เป็นการเรียนดนตรีของผู้แสวงหา เรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพและศักยภาพความเป็นเลิศ เรียนเพื่ออาชีพดนตรี

พ.ศ.2513 อาจารย์วาสิษฐ์ จรัณยานนท์ เปิดหลักสูตรครูดนตรีที่บ้านสมเด็จฯ มีอาจารย์กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อาจารย์สงัด ภูเขาทอง อาจารย์บุญส่ง เฉลิมวัฒน์ อาจารย์อวบ เหมะรัชตะ ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล อาจารย์พึงจิตต์ สวามิภักดิ์ เป็นอาจารย์สอน โดยผลิตครูดนตรีออกไปรับราชการ

พ.ศ.2519 วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เปิดหลักสูตรครูดนตรี มี ดร.วิภา คงคากุล อาจารย์กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เรียนเป็นครูดนตรีมาเรียนเพื่อให้ได้ใบปริญญา ในปีเดียวกัน ที่ภาควิชาดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ สอนดนตรีศาสนา มีอาจารย์แคโรลีน คิงสฮิลล์ ดร.วิภา คงคากุล อาจารย์ บรู๊ซ แกสตัน

พ.ศ.2526 ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สอนสาขาดุริยางค์ตะวันตกและดุริยางค์ไทย ศิลปะการแสดง โดยอาจารย์ทรงคุณ อัตถากร เป็นคณบดี มีอาจารย์โกวิทย์ ขันธศิริ สอนดนตรี ในปี พ.ศ.2527 ภาคศิลปนิเทศ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดสอนดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก มีอาจารย์ขนิษฐา อัตถะสัมปุณณะ เป็นหัวหน้า

พ.ศ.2532 สถาบันวิจัยภาษาฯ มหิดล เปิดปริญญาโทดนตรี มี ศ.นพ.พูนพิศ อมาตยกุล เป็นประธาน พ.ศ.2537 รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข จัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ สอนปริญญาโทดนตรีศึกษาและดนตรีวิทยา ในปี พ.ศ.2541 มีหลักสูตรดนตรีคลาสสิก ดนตรีแจ๊ซ ดนตรีไทย อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีดนตรี ในปี พ.ศ.2548 สอนปริญญาเอกดนตรีทุกสาขา เป็นจุดเปลี่ยนที่ใช้ปรัชญานำ “สร้างคนดนตรีให้เป็นคนดีและคนเก่ง” โดยการสร้างคนออกไปสร้างงาน โดยอาศัยคุณภาพและศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีนำทาง

พ.ศ.2564 สถาบันที่ผลิตปริญญาตรีดนตรี 52 แห่ง ปริญญาโท 15 แห่ง และสอนปริญญาเอก 9 แห่ง วัตถุประสงค์หลักเพื่อเรียนให้ได้ปริญญาสูงขึ้น ปริญญาใช้เข้ารับราชการและเพื่อความเจริญก้าวหน้า ซึ่งแหล่งงานหลักอยู่ที่ส่วนราชการ ทั้งอาชีพครูดนตรีและอาชีพนักดนตรี

เมื่อโควิด-19 ระบาด ตั้งแต่มีนาคม 2563 ถึงสิงหาคม 2564 การเรียนดนตรีต้องหยุดนาน 17 เดือน มีคนติดโควิดกว่าล้านคน มีคนเสียชีวิตกว่าหมื่นคน อาชีพดนตรีเสียหายหนัก นักเรียนไม่ได้เรียน ครูก็ไม่ได้สอน โรงเรียนดนตรีปิด ธุรกิจดนตรีหยุดกิจการ นักดนตรีตกงาน ร้านอาหาร ผับ คาราโอเกะ โรงแรม สถานบันเทิง ศูนย์วัฒนธรรม หอศิลป์ โรงละคร หอแสดงปิดหมด นักดนตรีไม่มีเงินเลี้ยงชีพ ไม่มีหลักประกัน ขอทานเล่นดนตรีก็ไม่มีรายได้ นักดนตรีบางคนตัดสินใจผูกคอตาย

อาชีพดนตรีเปลี่ยนไป ราชการไม่มีตำแหน่ง นักดนตรีอาชีพไม่มีพื้นที่แสดง หางานและสร้างงานไม่ได้ เรียนดนตรีจบแล้วไม่มีงานทำ ความสำคัญของปริญญาลดลง บัณฑิตมีความรู้มีใบปริญญาแต่ไม่มีงานทำ การผลิตคนดนตรีเพื่อออกไปรับราชการหรือหางานทำ จึงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

จะเตรียมความพร้อมและสร้างคนดนตรีอย่างไร สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การสร้างคนให้เก่งมีฝีมือ เพื่อให้คนที่เก่งออกไปสร้างงานได้ คนเรียนดนตรีต้องมีความรู้และมีศักยภาพดนตรีสูง สามารถใช้เทคโนโลยีทันสมัย สื่อสารภาษาอังกฤษได้ มีทักษะทางธุรกิจ สามารถผลิตงานและขายงานเป็นอาชีพได้ อย่าลืมว่าเทคโนโลยีนั้นเก็บข้อมูลและหาข้อมูลได้ มนุษย์สามารถเอาข้อมูลมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ได้

โควิดเปลี่ยนวิถีชีวิต เทคโนโลยีมีบทบาทเปลี่ยนพฤติกรรมสังคม อาชีพดนตรีเปลี่ยนไป ไม่สามารถทำมาหากินแบบเก่าได้ แม้ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิตและใช้ดนตรีเพื่อความสุขส่วนตัวก็ตาม แต่การสร้างรายได้ ดนตรีต้องใช้เทคโนโลยีช่วย อาชีพดนตรีจึงต้องปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลง ต้องสร้างอาชีพในรูปแบบใหม่

โควิดทำให้แหล่งความรู้และแหล่งงานเปลี่ยนไป ความรู้ดนตรีไม่ได้อยู่ที่ครูในสถาบันการศึกษาอีกแล้ว แหล่งงานดนตรีก็ไม่ใช่เข้ารับราชการอีกต่อไป ทั้ง 2 กรณี ทำให้การศึกษาดนตรีเปลี่ยน เรียนจบแล้วไม่มีงานทำ ตำแหน่งครูดนตรีในโรงเรียนของรัฐไม่มี ครูดนตรีเอกชนเลือกคนเก่งทำงาน โรงเรียนนานาชาติเลือกครูดนตรีที่เป็นชาวต่างชาติ คนเก่งดนตรีเลือกประกอบธุรกิจ เมื่อแหล่งความรู้แหล่งงานเปลี่ยน จึงต้องเปลี่ยนวิธีศึกษา

การเรียนดนตรีออนไลน์เป็นวิถีใหม่ ไม่มีพิธีกรรม ไม่ต้องแต่งชุดเรียน เข้าถึงความรู้ผ่านมหาวิทยาลัยลอยฟ้า มีศาสตราจารย์ ดร.กูเกิล ศาสตราจารย์ ดร.ยูทูบ ศาสตราจารย์ ดร.วิกิพีเดีย จัดการเองตามสะดวกรวดเร็วและได้ความรู้ทันที การประเมินความรู้ ใช้เอไอ (Artificial Intelligence, A.I.) รวบรวมข้อมูลที่ผู้เรียนได้เรียนจากมหาวิทยาลัยลอยฟ้า เทียบวัดความรู้และเปลี่ยนให้เป็นใบปริญญา ซึ่งสามารถเลือกใบปริญญาดนตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ตามมาในไม่ช้า

โควิดต้องปรับบ้านเป็นห้องดนตรี ซ้อมดนตรี เรียนดนตรี ห้องนอนเป็นห้องทำงาน ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ซึ่งจะมีเวลามากขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง ไม่ต้องเดินทาง เรียนดนตรีด้วยตนเอง ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี ชีวิตเดินเข้าสู่โลกเทคโนโลยี ต้องเล่นและเรียนดนตรีผ่านเทคโนโลยี (มือถือ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์) ต้องจัดการเอง ไม่มีใครช่วย พึ่งใครไม่ได้ ชีวิตต้องอยู่คนเดียวเหมือนมนุษย์ในกระสวยอวกาศ กินอาหารซองหรืออาหารเม็ด โควิดบังคับชีวิตให้ต้องเปลี่ยนและมีวิถีชีวิตแบบใหม่ ต้องอยู่ด้วยตัวเอง ต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งโดยไม่มีทางเลือก

โควิดและเทคโนโลยีทำให้พบคนเก่ง มีโลกใหม่ที่ไร้พรมแดน มีครูดนตรีเก่งๆ ทั่วโลก มีวิธีเรียนดนตรีใหม่ มีวิชาใหม่ให้เลือกเรียน สามารถเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง เลือกเวลาเรียนได้เอง ประเมินผลการเรียนของตัวเอง เป็นวันที่มีโอกาสและได้ศักยภาพกลับคืนมา จะเลือกใช้โอกาสที่มีในการพัฒนาตัวเองให้อยู่รอดได้

ทุกคนสามารถจะเก่งได้โดยไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องขึ้นเครื่องบิน ไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง ไม่ต้องสอบภาษาอังกฤษ ไม่ต้องเข้าแถวแย่งชิงกับใคร แต่ต้องแข่งขันกับตัวเอง ความขยันเป็นวิชาที่ใช้เอาตัวรอด ต้องรู้ภาษาอังกฤษ ต้องรู้เทคโนโลยี เมื่อเลือกดนตรีต้องเข้าใจว่า ต้องทำงานหนัก ซึ่งเป็นใบเบิกทางแทนใบปริญญา

การตัดสินใจเลือกอาชีพดนตรี ต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจสูง จริงใจกับอาชีพ คนที่แสวงหาสามารถจะสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ ซึ่งศักยภาพความเป็นเลิศเป็นหัวใจของอาชีพดนตรี อาศัยทักษะความสามารถดนตรี สร้างนวัตกรรมดนตรีซึ่งเป็นโอกาสใหม่ที่ยิ่งใหญ่ โลกใหม่ต้องใช้ความสามารถในการทำงาน โอกาสที่ได้ทำงานเป็นสิ่งสำคัญกว่าใบปริญญา อย่าลืมว่าราคาความน่าเชื่อถือเป็นทรัพย์สินที่ล้ำค่าและไม่เสื่อมราคา

การสร้างพื้นที่อาชีพดนตรีมีกว้างขวางขึ้น นอกจากเทคโนโลยีและฝีมือดนตรีแล้ว ยังมีพื้นที่ในสังคมซึ่งต้องอาศัยความรู้ วิสัยทัศน์ ปรัชญา ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และฝีมือ เพื่อหาพื้นที่สร้างอาชีพดนตรีใหม่ อาทิ ดนตรีสำหรับผู้สูงอายุ ดนตรีสำหรับคนชรา ดนตรีสำหรับผู้ป่วย ดนตรีบำบัด ดนตรีเด็กเล็ก ดนตรีเด็กแรกเกิด 0-3 ขวบ ดนตรีเด็กอนุบาล ดนตรีสำหรับความตาย เป็นต้น ต่อไปนี้เป็นโลกของมืออาชีพเท่านั้น

สิ่งสำคัญคือ ความศรัทธาในความสามารถตัวเอง เมื่อตัดสินใจเลือกอาชีพดนตรีแล้ว ต้องขยันฝึกซ้อม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องก้าวเดินต่อไป ไม่ต้องรีบแต่อย่าหยุด เพราะว่ามีความสำเร็จรออยู่

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image