1 ปี เด็กไทยได้อะไร? ‘เรียน-สอนออนไลน์’ ไปต่อหรือพอแค่นี้?

จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกนับแต่เดือนธันวาคมปี 2019 ทำให้หลายๆ ประเทศต้องมีการปรับตัว จนทำให้เกิดแนวทางที่เรียกว่า ‘นิวนอร์มอล’ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยจากโรคระบาด จากการใช้ชีวิตและทำงานนอกบ้านสู่การ ‘เวิร์ก ฟรอม โฮม’ ส่วนเยาวชนก็ต้อง ‘เรียนออนไลน์’ ซึ่งมีบทพิสูจน์แล้วว่า มีผลกระทบมากมายทั้งต่อตัวเด็กและต่อตัวครู มีข่าวเด็กนักเรียนฆ่าตัวตายจากความเครียดให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

แคมเปญรณรงค์หยุดเรียนออนไลน์ มีนักเรียนเข้าร่วมในวันแรกมากกว่า 5,000 คน (ภาพจากเพจ นักเรียนเลว)

กระทั่งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘นักเรียนเลว’ จัดแคมเปญ ‘Strike’ ชวนหยุดเรียนออนไลน์ทั่วประเทศ 5 วัน ตั้งแต่ 6-10 กันยายน เรียกร้องให้มีการจัดการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโควิดโดยเร็วเพื่อให้พวกเขาได้กลับไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติ โดยวันแรกมีนักเรียนทั่วไทยเข้าร่วมถึง 5,574 คน

นอกจากนี้ ยังยื่น 5 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1.กระทรวงศึกษาธิการ ต้องออกคำสั่งปรับรูปแบบการศึกษาเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2.หากสถานศึกษายังไม่สามารถเปิดได้ กระทรวงศึกษาฯ ต้องทำให้นักเรียนที่ขาดแคลนเข้าถึงการเรียนออนไลน์

Advertisement

3.รัฐบาลต้องนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพ ฉีดให้ทุกคนอย่างทั่วถึงโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สังคมกลับมาเป็นปกติ

4.กระทรวงศึกษาฯ ต้องจัดช่องทางไว้ช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากความเครียดในการเรียนออนไลน์

5.กระทรวงศึกษาฯ ต้องเร่งทำให้การศึกษามีคุณภาพทั่วถึง ไม่มีค่าใช้จ่ายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

Advertisement
เยาวชนหญิงในชุดนักเรียนห้อยร่างลงมาจากสกายวอล์กข้ามแยกอโศกมนตรี เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ข้างป้ายข้อความ ‘เด็ก 1.8 ล้านคนกำลังหลุดจากระบบการศึกษา…’

ยิงหมัดตรงไปยัง ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต่อมา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเพียงสั้นๆตามสูตร ว่า ได้พยายามประสานกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดสรรวัคซีนให้เด็ก

“มาตรการของ ศธ.ไม่ได้เน้นเรื่องการต่อต้าน หรือสร้างความรุนแรง คิดว่าครูและนักเรียนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน และหาทางออกร่วมกันเพื่อที่จะข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเร็วๆ นี้” รมว.ศึกษาธิการกล่าว

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน Equity Lab แล็บเสมอภาค จัดเสวนาสะท้อนถึงปมปัญหาดังกล่าวจากมุมมองของ ‘ครู’ ภายใต้หัวข้อ ‘1 ปีที่ผ่านมาเด็กไทยได้อะไรจากห้องเรียนออนไลน์?

มากมายด้วยประเด็นน่าสนใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปขบคิดและปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจเช่นนี้

นักเรียนห้องหนึ่งร่วมกันเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ ใช้ชื่อ ‘เหยื่อของระบบการศึกษา’ สนับสนุนการหยุดเรียนออนไลน์และผลักดันข้อเรียกร้อง

‘ครูที่ปรึกษา’ บทบาทสำคัญ ‘เรียน-สอนออนไลน์’

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ‘ครูทิว’ แอดมินเพจดังอย่าง ‘ครูขอสอน’ เริ่มต้นด้วยประเด็นเรื่อง ‘ความพร้อม’ ที่แตกต่างกันของนักเรียนจากครอบครัวหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์การเรียน การเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงสภาพแวดล้อมซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายในการเรียนออนไลน์

“ในช่วงนี้ครูที่ปรึกษานั้นมีบทบาทสำคัญมาก ทั้งในการพูดคุยให้คำปรึกษากับเด็กในห้องของตนเอง ทำความเข้าใจปัญหา เข้าไปพูดคุยกับผู้ปกครอง และยังต้องสอนในรายวิชาของตนเองอีกด้วย ซึ่งครูแต่ละคนก็มีเด็กนักเรียนในความดูแลเป็นจำนวนมาก ความท้าทายของครูคือเราจะสามารถติดตามดูปัญหาของเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้เด็กและผู้ปกครองไว้วางใจ สามารถพูดคุยและเข้าใจถึงปัญหาได้ แต่ด้วยจำนวนนักเรียนที่มากเราก็ทำได้แค่เท่าที่ไหว เพราะอีกความท้าทายหนึ่งคือการดูแลสภาพจิตใจของทั้งเด็กนักเรียนและตัวของครูผู้สอนเอง ที่ต้องเผชิญกับความเครียดสะสมจากการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์และปัญหาอื่นๆ ของแต่ละคน” ครูทิวกล่าว

ด้าน มิติ โอชสานนท์ ครูแนะแนว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา แสดงความเห็นว่า นอกจากจะสอนย่างไรแล้วนั้น อีกหนึ่งความท้าทายคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบของตัวชิ้นงานหรือภาระงานให้เหมาะสม

“อย่าลืมว่านักเรียนที่เรียนออนไลน์ก็มีหลากหลายแบบ ตั้งแต่มีมือถือเพียงเครื่องเดียวที่ใช้ในการเรียน บางคนมีทั้งมีไอแพด มีโน้ตบุ๊ก ครบทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการที่เรามอบหมายงานควรอำนวยความสะดวกให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงการทำชิ้นงานได้ เราจะออกแบบรูปแบบชิ้นงานอย่างไรให้เป็นมิตรกับนักเรียน (Student Friendly) เช่น รูปแบบไฟล์งานที่นักเรียนจะสามารถเข้าถึงได้มากที่สุดคือรูปแบบไฟล์ภาพ คนส่วนใหญ่ที่มีมือถือก็จะมีแอพพลิเคชั่นในการแต่งรูปอยู่แล้ว จะทำให้นักเรียนสามารถเติมข้อความลงไปไฟล์ภาพและส่งได้ นอกจากการปรับชิ้นงานแล้ว ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเด็กบางคนก็มีความเหลื่อมล้ำกัน บางบ้านมีอินเตอร์เน็ตพร้อมที่จะเรียนตลอดเวลาทุกคาบ บางบ้านมือถือเครื่องเดียวต้องใช้ทั้งสแกนขายของ ทั้งเรียนออนไลน์ ทำให้เครื่องร้อนหรือแบตหมดไม่สามารถเรียนคาบท้ายต่อๆ ไปได้ จึงหาวิธีที่จะช่วยเหลือเด็กโดยการปรับชิ้นงานให้เป็นงานกลุ่มหรืองานห้องไปเลย ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมถึงแม้ว่าบางคนไม่สามารถเข้าเรียนได้ทุกคาบเรียน” ครูมิติเล่า

ในขณะที่ ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Eduzone กล่าวว่า ความท้าทายมองได้สองแบบ แบบหนึ่งมองว่าเป็นอุปสรรค อีกแบบหนึ่งมองว่าเป็นโอกาส

“เวลาเราพูดถึงความท้าทายนั่นแปลว่ามีอะไรบางอย่างที่ทำให้เราอยู่ในความไม่มั่นคง รู้สึกไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่อยากเห็นคือความยืดหยุ่น อยากให้มองว่าความท้าทายนี้เป็นโอกาส เช่น เรามองว่าการเรียนออนไลน์เป็นโอกาสที่จะทำให้เด็กทุกคนเท่าเทียมกันได้ แต่บางคนบอกว่ามันจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ซึ่งก็แล้วแต่มุมมอง จึงต้องมีความยืดหยุ่น ต้องมองเห็นโอกาส ถ้าเกิดปัญหาโทรศัพท์ร้อนหรือคนที่บ้านต้องใช้โทรศัพท์ในขณะเรียนออนไลน์ ให้ยืดหยุ่นด้วยการให้ครูผู้สอนอัดคลิปสอน ไม่ต้องมีการเล็กเชอร์นาน 2-3 ชั่วโมง” ผู้ก่อตั้ง
เว็บไวต์การศึกษาชื่อดังแนะ

กลุ่มนักเรียนเลว แจกใบปลิวแคมเปญ Strike หยุดเรียนออนไลน์ ยื่น 5 ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการในการชุมนุมที่แยกอโศกมนตรี เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา

แพลตฟอร์ม เทคโนโลยี

ความท้าทายที่ต้องใช้เป็นโอกาส

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ครูทิว ธนวรรธน์ เห็นด้วยกับ ดร.วิริยะในประเด็นที่ว่า การถูกสถานการณ์บังคับให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ แม้จะมีปัญหามากมาย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเลย

“การเรียนออนไลน์เป็นการถูกบีบบังคับให้เปลี่ยน ซึ่งวิธีการจัดการในการเรียนมันถูกเปลี่ยนไป เรื่องวิธีการสอนที่ควรจะไม่ใช่การจดเล็กเชอร์อย่างเดียว ต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิดการสอน ควรมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียน การสอนกับครูโรงเรียนอื่นๆ และได้พูดถึงประเด็นการใช้เทคโนโลยีที่ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถมาทดแทนห้องเรียนที่มาเจอกันแบบตัวเป็นๆ ได้ แต่เมื่อได้กลับไปเรียนแบบปกติแล้วเชื่อว่าครูที่ไม่เคยใช้เทคโนโลยีเลย หรือครูที่ใช้เป็นปกติอยู่แล้วก็จะได้นำการสอนออนไลน์มาผนวกรวมกัน เป็นการเสริมเพิ่มเติมจากการเรียนการสอนแบบเดิม”

มาถึงตรงนี้ ครูมิติ เสริมว่าเห็นด้วยกับการที่บอกว่าการศึกษาควรมีการปรับเปลี่ยน มีการยืดหยุ่น อยากชวนให้มาพิจารณาร่วมกันว่า สิ่งไหนทำแล้วประสบความสำเร็จ สิ่งไหนมีอุปสรรคที่ต้องแก้ไขเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

“ถ้าสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียน สามารถกำหนดแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ให้เป็นแบบเดียวกันได้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนได้เยอะมาก บางโรงเรียนไม่ได้กำหนดแพลตฟอร์มตัวกลางเอาไว้ ดังนั้น เวลาจะไปเรียน คาบนี้ต้องเข้าไลน์ คาบนี้ต้องเข้าซูม ทำให้ผู้เรียนสับสนว่าต้องเรียนที่ไหน แต่บางโรงเรียนใช้แพลตฟอร์มเดียวกันทั้งโรงเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างครูกับนักเรียน เป็นศูนย์กลางในการโพสต์ชิ้นงาน แบบทดสอบให้เห็นได้อย่างทั่วถึง”

นอกจากนี้ครูมิติ ยังกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่อยากให้ครูเปิดใจคือ การประเมินครูออนไลน์ (insKru) ซึ่งไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้ครูได้เห็นผลตอบรับจากการสอนในแต่ละชั้นเรียน ทั้งนี้ ยังมองว่าอุปสรรคเหล่านี้เป็นโอกาสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวในครั้งนี้จะติดตัวครูไปและสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต

เสวนา ‘1 ปีที่ผ่านมาเด็กไทยได้อะไรจากห้องเรียนออนไลน์? ขวาบน ครูทิว , ซ้ายล่าง ครูมิติ และดร.วิริยะ

การเรียนรู้ ‘หยุดไม่ได้’ เกรดไม่ใช่ ‘ตัวชี้วัด’

ปิดท้ายด้วยคำถามสำคัญที่ว่า การพักการเรียนชั่วคราวในสถานการณ์เช่นนี้ คือ คำตอบที่ถูกต้องที่สุดหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อการเรียนออนไลน์มากมายด้วยปัญหา

ครูทิว ธนวรรธน์ เชื่อว่าการเรียนรู้หยุดไม่ได้ ควรแยก Learning กับ Schooling การหยุดหรือไม่หยุดเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะตอนนี้เชื่อว่ามีเด็กหลายคนที่ขอพักการศึกษาอาจจะเนื่องด้วยปัญหาครอบครัว หรือปัญหาเศรษฐกิจ

“อยากให้โรงเรียนมีตัวเลือกที่ชัดเจนว่าถ้าเด็กจะหยุดพักการเรียนเขาควรจะทำอย่างไร ให้ข้อมูลถึงข้อดีข้อเสียและสามารถสนับสนุนเขาอย่างไรได้บ้าง”

ส่วน ครูมิติ เห็นว่า ควรนำความรู้เรื่องของพัฒนาการมนุษย์มาคิดตามแล้วจะได้คำตอบว่าจะหยุดเรียนหรือจะเรียนต่อ

“ถ้าเป็นเด็กในวัยอนุบาลจะมานั่งเรียนออนไลน์ก็คงจะไม่ได้ ไม่เหมาะสม โรงเรียนสามารถจัดเป็นคลังกิจกรรมให้ผู้ปกครองได้นำกิจกรรมไปเล่นกับลูกได้ ผมเห็นด้วยกับครูธนวรรธน์ที่ว่าการที่จะเรียนต่อหรือหยุดเรียนเป็นเรื่องของส่วนบุคคล เพราะบางคนอาจจะรู้ว่าถ้าหยุดเรียนจะลองไปทำกิจกรรมที่ตนเองถนัดและสนใจ ถ้ามีเป้าหมายที่ชัดเจนก็จะเป็นการหยุดที่ไม่สูญเปล่า ในขณะเดียวกัน เด็กที่ยังไม่มีเป้าหมายว่าสนใจอยากทำอะไรก็ถือเป็นโอกาสในการมาพูดคุยกันว่าเด็กสนใจหน่วยการเรียนไหน บทไหน สนใจอะไร”

ครูทุกท่านได้เปลี่ยนมุมมอง การที่เราจะไปยึดติดกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมๆ อยากให้เปลี่ยนความคิดว่ามันสามารถยืดหยุ่นได้ บทบาทของครูอาจจะต้องเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งที่เรียกว่าการศึกษา

วงเสวนาดังกล่าว ยังเสนอให้มีการปรับการเรียนการสอนไม่ให้เด็กล้าจนเกินไป เช่น ลดเวลาระหว่างคาบลง มีช่วงเวลาให้เด็กนักเรียนมีเวลาพักก่อนเริ่มเรียนวิชาต่อไป และยังให้เวลาครูผู้สอนมีการพูดคุยกันเองเกี่ยวกับเด็กนักเรียนแต่ละคน เกี่ยวกับเนื้อหาการสอน เป็นการให้ทั้งครูและนักเรียนมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะสอนหรือเรียนในคาบเรียนต่อไป

นอกจากนี้ ควรมีการกระจายอำนาจให้โรงเรียนหรือครูได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง มีอิสระที่จะทำอะไรมากขึ้นเหมือนประเทศอื่นๆ บริบทวัฒนธรรมของไทยทำให้ครูไม่กล้าที่ทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากระเบียบที่เคยมีเพราะกลัวจะถูกผู้ใหญ่ตำหนิ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเสนอให้ยกเลิกการให้เกรด เพราะในบางครั้งเกรดไม่สามารถเป็นตรวจชี้วัด เนื่องจากหน่วยกิตของแต่ละวิชาต่างกัน การที่เด็กคนหนึ่งถนัดในวิชาที่หน่วยกิตน้อยเมื่อเฉลี่ยเกรดออกมาทำให้เด็กดูกลายเป็นคนโง่ การที่คะแนนสอบระดับประเทศของเราอยู่ในระดับต่ำ

เด็กไม่ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ได้มาจากการที่ครูสอนไม่ดี แต่มาจากการสอนที่ผิดวิธี

พรสุดา คำมุงคุณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image