ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ ที่พักสุดท้าย ก่อน’จากลา’

การเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้ต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่บนความเจ็บป่วยเป็นระยะเวลานาน

โดยทั้งตัวผู้ป่วย และครอบครัว ต่างก็รู้ว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่อาจยื้อชีวิตไว้ได้

ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่กับความเจ็บป่วย และรอคอยวันเสียชีวิตของผู้ป่วยนั้น เป็นความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

แล้วการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ควรเป็นอย่างไร?

Advertisement

เมื่อเกิดช่องว่างในการรักษาพยาบาล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ร่วมกันก่อตั้ง “ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์” โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ได้ใช้ช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปราศจากความทุกข์ทรมานมา รบกวนทั้งร่างกายและจิตใจ

สิ่งสำคัญคือ การทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถปรับตัวได้ สามารถเผชิญกับความสูญเสียในอนาคต และมีชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพ

รศ.ดร.มรรยาท รุจิวิชชญ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มธ. อธิบายว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือ ผู้ป่วยที่ได้รับคำวินิจฉัยทางการแพทย์ว่าไม่สามารถเยียวยาได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายที่จะต้องเสียชีวิต บางกรณีผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสุดท้าย แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ อาจจะยื้อชีวิตผู้ป่วยไว้ แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นความต้องการของผู้ป่วย บางรายต้องการจากไปอย่างสงบ จึงเกิดแนวทางดูแลรักษาแบบใหม่ขึ้นในต่างประเทศ เรียกว่า การดูแลรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) ซึ่งตอนนี้มาสู่ประเทศไทยมีการใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่ง แต่ยังไม่มีการตั้งศูนย์ประเภทนี้โดยเฉพาะ

Advertisement

จากความโดดเด่นด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งด้านสังคมศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ “ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์” จึงถือกำเนิดขึ้น มีทั้งแพทย์ มีพยาบาลคอยประคับประคอง และมีที่ปรึกษากฎหมายให้ด้วย

ดร.มรรยาท รุจิวิชชญ์ – ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท

รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. และเลขานุการศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ เกริ่นว่า ผู้ป่วยวาระสุดท้าย จะถูกพันธนาการด้วยเครื่องมือต่างๆ นานาเต็มไปหมด มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยื้อชีวิตให้ยาวนานที่สุดตามที่ต้องการ แต่มีการวิจัยและค้นพบว่าการใส่ท่อช่วยหายใจ การใส่เครื่องยื้อชีวิตต่างๆ หลายกรณีเป็นเรื่องไม่จำเป็น ทำให้ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมานก่อนตายและจากไปอย่างไม่สงบ แนวคิด Palliative Care จึงเป็นการดูแลประคับประคองไม่ให้เจ็บก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แต่เราจะไม่ใช้วิธีการยื้อชีวิตด้วยเครื่องช่วยชีวิต และเครื่องช่วยหายใจอื่นๆ

หลายครั้ง เป็นการยื้อชีวิตโดยไม่จำเป็น ทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวดทรมานก่อนถึงแก่กรรม

“แนวคิดใหม่ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือ Palliative Care มีขึ้นเพื่อเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ ไม่มีการยื้อชีวิต แต่ไม่ใช่การไม่รักษา แต่เป็นการรักษาให้จากไปอย่างสงบ จากไปอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีความสุขในบั้นปลายของชีวิต”

“เราได้รับบริจาคที่ดิน 44 ไร่ จากผู้มีจิตศรัทธา ริมถนนพหลโยธิน ศูนย์แห่งนี้ไม่ใช่สถานที่ดูแลคนชรา แต่เป็นสถานที่ที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายและญาติของผู้ป่วยมาอยู่ร่วมกัน เพราะสิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องการมากที่สุด คือมีญาติมาอยู่ด้วย เมื่อญาติมาอยู่ด้วยกันจะเกิดการเรียนรู้ในการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้ญาติได้จากไปอย่างสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต นี่จึงเป็นกึ่งบ้าน กึ่งโรงพยาบาล มีการให้คำแนะนำญาติผู้ป่วยในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ด้วยวิธีการทางการแพทย์และวิธีการตามหลักวิชา”

ปกป้องอธิบายว่า ในแง่กฎหมายการุณยฆาต คือการเร่งให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรม ขณะที่ Palliative Care ไม่ใช่

“เป็นการไม่ยื้อโดยไม่จำเป็น เช่น แพทย์ประเมินแล้วว่าเขาจะอยู่ได้ไม่นาน ไม่ว่าจะยื้อหรือไม่ก็ต้องถึงแก่กรรมด้วยโรคร้าย แทนที่เราจะยื้อให้เขาจากไปอย่างทรมาน เราก็จะประคับประคองให้เขาเจ็บปวดน้อยลง บำบัดทั้งทางกายและจิตใจ และก็จากไปอย่างเป็นสุข ฉะนั้น มันไม่ใช่การุณยฆาตที่เป็นการเร่งให้ตาย ไม่ใช่การถอดออกซิเจน”

เครื่องช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับทารก (บน) และเตียงพลิกตะแคงตัวระบบไฟฟ้า (ล่าง) ตัวอย่างนวัตกรรมทางการพยาบาลที่จะนำมาใช้ในศูนย์ฯ

เบื้องต้น ผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมายังศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ จะเป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติมีการพูดคุยและยอมรับรูปแบบการดูแลที่ไม่ใช้เครื่องช่วยยื้อชีวิต เช่น การให้ออกซิเจน แต่ประคับประคองหลายมาตรการให้จากไปอย่างสงบ เช่น หากมีอาการเจ็บปวด ก็ให้ยา บำบัดทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้นเบิกได้ตามสิทธิที่มี เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือบัตรทองต่างๆ โดยศูนย์นี้รับผู้ป่วยเพียง 20 เตียง มีห้องสำหรับญาติและครอบครัว 20 ห้อง เราเชื่อว่าการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ครอบคลุมถึงครอบครัวผู้ป่วยให้ได้รับการยอมรับ และปรับตัวกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิตได้

“ปัจจุบันมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่อนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถทำ ‘พินัยกรรมก่อนถึงแก่กรรม’ (Living wills) หนังสือทางกฎหมายที่ทุกคนสามารถทำได้ในเวลาที่มีชีวิตอยู่ เขียนไว้สั้นๆ ว่า เวลาที่เขาจะไป ให้ไปอย่างสงบ ไม่ต้องยื้อชีวิต ไม่ใช้เครื่องยื้อก็ไม่มีความรับผิดทางกฎหมาย ฉะนั้น ข้อกล่าวอ้างของบางคนที่ว่า ‘จะปล่อยให้เขาตายได้อย่างไร ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ’ ข้อกล่าวอ้างนี้ก็ไม่มีผลทางกฎหมายแล้ว

“คาดหวังว่าศูนย์แห่งนี้จะเป็นสถานที่รักษาแบบประคับประคอง และสถานที่เผยแพร่ความรู้ในการรักษาแบบประคับประคองให้แพร่หลายในสังคมไทย เป็น ‘ศูนย์ต้นแบบ’ ที่ขยายแนวคิดนี้ไปยังสถานพยาบาลหรือจังหวัดอื่นๆ เพราะแนวทางรักษาแบบนี้ ดีที่สุดสำหรับคนที่ใกล้จะจากไป ถ้าที่อื่นพร้อมดูงานและรับองค์ความรู้ไป เรายินดีด้วยซ้ำ และถ้ามีทุกจังหวัด จะเป็นที่พอใจจาก มธ.มากด้วย

“ผู้ป่วยที่เข้ามาที่ศูนย์นี้ไม่ได้เข้ามาเพื่อตาย แต่เพื่อให้ญาติและผู้ป่วยได้เรียนรู้และดูแลกันและกัน ประคับประคองให้จากไปอย่างสงบ หากดูแลกันได้แล้วผู้ป่วยอยากกลับไปตายที่บ้าน เราก็อำนวยความสะดวกให้โดยมีรถไปส่งที่บ้าน”

เลขาฯศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ บอกอีกว่า หากดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ มีผู้มาใช้บริการและเห็นว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง น่าจะมีการขยายศูนย์ให้ใหญ่ขึ้น

ปัจจุบัน ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ มีที่ทำการชั่วคราวอยู่ที่อาคารราชสุดา คณะพยาบาลศาสตร์ มธ.ศูนย์รังสิต หากศูนย์แล้วเสร็จในปี 2561 พื้นที่ทำการชั่วคราวนี้จะเปลี่ยนสภาพเป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (International Palliative Care Collaborating Center หรือ IPCCC) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมสมาชิกที่มีความสนใจในศาสตร์ของการดูแล

ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาเป็นสมาชิกอย่างน้อย 5 ประเทศในการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้ศูนย์นี้เป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการ สร้างงานวิจัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเป็นศาสตร์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรม ค้นคว้าวิจัย ที่ทำงานร่วมกับศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ สำหรับ น.ศ.ปริญญาเอกคณะพยาบาลศาสตร์ มธ. เนื่องจากหลักสูตรปริญญาเอกที่นี่ เน้นเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และเน้นเรื่องการดูแลครอบครัวผู้ป่วยเช่นเดียวกัน

ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการเรียนการสอนและการวิจัย ให้เกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวมต่อไป โดยทางคณะพยาบาลได้พัฒนานวัตกรรมทางการพยาบาล ที่ไม่ใช่เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการยื้อชีวิต แต่เป็นนวัตกรรมทางการพยาบาลที่ช่วยดูแล ประคับประคองผู้ป่วย ลดการใช้แรง ลดต้นทุน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในเชิงคุณภาพได้มาตรฐาน

ปกป้องทิ้งท้ายว่า ศูนย์นี้จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2561 หากประสบความสำเร็จ มีผู้มาใช้บริการและเห็นว่าแนวทางการรักษาแบบประคับประคองเป็นแนวทางที่ถูกต้อง จะขยายพื้นที่ให้บริการ

“ศูนย์นี้จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและญาติทุกฝ่าย แล้วจึงเริ่มดำเนินการประคับประคองให้ญาติกับผู้ป่วยอยู่ด้วยกัน หากเจ็บปวด ป่วยตรงไหนจะมียา

มีวิธีบำบัดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ท้ายที่สุดเขาก็จากไปอย่างสงบ”

ภาพศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ 004
ภาพศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ 005
ภาพศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ 006

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image