รำลึก วิพากษ์ อาลัย ‘รื่นฤทัย ทมยันตี สุชาติ’ ในกระแสเชี่ยวกรากกลางวงวรรณกรรม

นับเป็นสัปดาห์ที่สปอตไลต์ส่องฉายไปยังแวดวงวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญในช่วงวลาเพียงไม่กี่วันตั้งแต่ ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีไทยอันดับต้นๆ ของไทย

ตามมาด้วย คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ‘ทมยันตี’ นักเขียนนวนิยายระดับตำนาน เสียชีวิตในวัย 85 ปี โดยอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555 ท่านนี้ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 10.00 น. ในท่านั่งสมาธิ ณ ล้านนาเทวาลัย ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตาม นั่นคือประเด็นการถอดถอน สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2554 ซึ่งล่าสุดจดหมายแจ้งยกเลิกการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมก็เดินทางมาถึงตู้ไปรษณีย์ หลังเกิดกระแสข่าวก่อนหน้านี้นานนับสัปดาห์

ทั้ง 3 เหตุการณ์น่าเศร้าที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน นำมาซึ่งปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าสังเกต สร้างแรงกระเพื่อมไม่มากก็น้อยในวันนี้ ทั้งยังมีช่วงชีวิตที่ได้พบปะ เกี่ยวข้อง สัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ

Advertisement

 

คำยกย่องบนหน้ากระดาษ
กับคลิปเสียงประวัติศาสตร์วิทยุยานเกราะ

คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ทมยันตี นักเขียนผู้ล่วงลับท่ามกลางความอาลัย ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสแชร์ข้อมูลด้านบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

13 กันยายนที่ผ่านมา หลังข่าวการเสียชีวิตของทมยันตีเผยแพร่ออกไป แฟนหนังสือและบุคคลในวงวรรณกรรมร่วมอาลัยอย่างล้นหลาม
ย้อนประวัติชีวิตที่สร้างชื่อเสียงจากนวนิยาย ‘ในฝัน’ ภายใต้นามปากกา ‘โรสลาเรน’ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้มีโอกาสเขียนนวนิยายลงในนิตยสารอีกหลายฉบับ ในนามปากกา ลักษณวดี ทมยันตี และกนกเรขา

ตลอดชั่วชีวิต มากมายด้วยนวนิยายถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ รวมถึงภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น คู่กรรม ทวิภพ ค่าของคน ในฝัน เลือดขัตติยา ดั่งดวงหฤทัย เมียน้อย พ่อปลาไหล ร่มฉัตร อตีตา กษัตริยา และใบไม้ที่ปลิดปลิว เป็นต้น

คำยกย่องที่มีต่อผลงานของทมยันตี คือความมีพลังทางวรรณศิลป์อย่างสูง สามารถโน้มน้าวอารมณ์ผู้อ่านให้เพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่อง ตัวละครมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะตัวละครหญิงซึ่งให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงแกร่ง เฉลียวฉลาด และมีความสามารถเท่าเทียมผู้ชาย

บทสนทนาของตัวละครเป็นจุดเด่นเพราะใช้ภาษาที่สื่ออารมณ์ได้เข้มข้น เชือดเฉือนใจ และแม้ว่านวนิยายส่วนใหญ่จะนำเสนอเรื่องราวความรักของหนุ่มสาว แต่มักเน้นว่าเหนือกว่าความรักคือหน้าที่ความรับผิดชอบ ความเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อรักษาชาติและแผ่นดิน กระตุ้นสำนึกและจิตวิญญาณ

ท่ามกลางบรรยากาศที่แฟนๆ ร่วมอาลัย ในอีกมุมหนึ่ง โลกออนไลน์แชร์ข้อมูลจากเว็บไซต์ ‘บันทึก 6 ตุลา’ เมื่อครั้ง วิมล มีบทบาทสำคัญในชมรมแม่บ้าน ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2519 โดยครั้งหนึ่งได้จัดอภิปรายที่โรงพยาบาลสงฆ์ และได้เชิญ สมัคร สุนทรเวช ไปกล่าว โดยมีเนื้อหาโจมตีขบวนการนักศึกษา ซึ่งได้นำไปออกอากาศที่สถานีวิทยุยานเกราะ ทั้งยังได้มีการจัดชุมนุมคัดค้านนักศึกษาที่สนามไชย

นอกจากนี้ คลิปคำกล่าวในวิทยุยานเกราะก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาโดยวิมลในวันนั้น หรือทมยันตีในวันนี้ ถูกกดฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ชมรมแม่บ้าน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2519 โดยมีทมยันตี หรือ วิมล ศิริไพบูลย์ (เจียมเจริญ) เป็นแกนสำคัญ รวมเอาภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพล รวมทั้งแม่บ้านจำนวนมากเข้าเป็นสมาชิก บทบาทที่เด่นชัดคือ การปกป้องและแก้ต่างแทนสหรัฐอเมริกา และโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าบ่อนทำลายมิตรประเทศ (ภาพ นสพ.ชาวไทย จาก เพจ ‘บันทึก 6 ตุลา’)

ไม่ว่ารัก หรือชัง เห็นด้วย หรือคัดค้าน สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ทมยันตี เป็นนักเขียนระดับตำนานที่ฝากผลงานไว้ในใจแฟนหนังสือ เช่นเดียวกับที่ไม่อาจยับยั้งการวิพากษ์และตั้งคำถาม

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล หรือ มะเดี่ยว ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัลมากมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กย้อนถึงนักเขียนที่มีอิทธิพลกับงานของตน

“การเสียชีวิตของคุณทมยันตี ทำให้เรานึกย้อนไปว่าใครคือนักเขียนที่มีอิทธิพลกับงานของเราบ้าง ก็พบว่าในตู้หนังสือเราจะมี มาลา คำจันทร์, กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และ วัฒน์ วรรลยางกูร ที่เรามีหนังสือของท่านเหล่านี้ครบเกือบทุกคอลเล็กชั่น และเราก็รักทุกท่าน

โดยเฉพาะคุณวัฒน์ วรรลยางกูร …งานของคุณวัฒน์มักพูดถึงคนตัวเล็ก ๆ ที่ต่อสู้กับสังคม ความเป็นมนุษย์ในบทประพันธ์ของแกนั้นมีศักดิ์ศรี การต่อสู้แม้เพียงเล็กน้อยและไม่ได้ชัยชนะเสมอไป มันย้ำเตือนเราถึงความคุณค่าของความเสมอภาพและเสรีภาพที่คุ้มค่าแก่การเรียกร้องให้ได้มา เพราะนั่นคือสิ่งสูงค่าที่ทำให้เรายืนอยู่อย่างสง่างามท้าทายอำนาจที่พร้อมกดขี่เราลงเป็นทาสเป็นฝุ่นธุลี…”

ในตอนท้าย มะเดี่ยวระบุด้วยว่า

“เวลาทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์แล้ว ดีเลวอย่างไรผู้คนก็จดจำไว้อย่างนั้น คนเดือนตุลาผู้ล่วงลับคงสิ้นสุดการรอคอยที่จะพูดคุยกับทมยันตีแล้ว”

โลกหนังสือ ปีที่ 4 ฉบับที่ 6 มีนาคม 2524 ปก ‘ทมยันตี’ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
เป็นบรรณาธิการ

อนุรักษนิยมอาลัย ประชาธิปไตยก็รำลึก
‘ราชบัณฑิต’ผู้ต่อสู้เพื่อนักประพันธ์

ก่อนการล่วงลับของทมยันตีเพียง 2 วัน ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ล่วงหน้าไปก่อนเมื่อวันที่ 11 กันยายน เวลา 22.28 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของวงวิชาการวรรณคดีไทย

ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย คือปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.2558

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาวรรณคดีไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ จากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) พ.ศ.2553 และอีกมากมายที่ไม่อาจกล่าวได้หมด

ล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 2563 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวรรณกรรมร้อยแก้ว สำนักศิลปกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ราชบัณฑิตซึ่งผู้คนร่วมย้อนรำลึกถึงคุณูปการทางวิชาการ ทั้งยังเคยผลักดันนักเขียนกวี นักประพันธ์ให้ได้เป็นศิลปินแห่งชาติจาก ‘ผลงาน’ ที่ส่งผลต่อสังคมไทย (ภาพจากเพจ ภาษาไทย ม.รามคำแหง)

สำหรับผลงานทางวิชาการนั้นมีมากมาย ด้วยหน้าที่หลักครั้งยังเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทุ่มเทเขียนตำราหลายเล่มที่ใช้ในการเรียนการสอนสืบมา รวมถึงหนังสือล้ำค่าที่อัดแน่นด้วยสาระ อาทิ

ศาสตร์และศิลป์แห่งวรรณคดี, อ่านอย่างมีเชิงชั้น วิจารณ์อย่างมีเชิงศิลป์, อ่านอย่างพินิจสาร วิจารณ์อย่างพิเคราะห์นัย, สุนทรียภาพแห่งชีวิต, สุนทรียรสแห่งวรรณคดี, นามานุกรมรามเกียรติ์, สืบสานสร้างสรรค์วรรณศิลป์, จากเก่าสู่ใหม่ วรรณศิลป์ไทยไม่สิ้นสูญ, ทอไหมในสายน้ำ 200 ปีวรรณคดีวิจารณ์, 25 ปีซีไรต์, คดีรหัสพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ประชุมกาพย์เห่เรือ จากสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์, อ่านได้ อ่านเป็น และข้ามชาติ ข้ามศาสตร์ ข้ามศิลป์ เป็นต้น

งานสุดท้ายคือการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปรับปรุงเพิ่มเติมพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปลายปี 2561 มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2565

ไม่เพียงเชี่ยวชาญอย่างยิ่งยวดในด้านวรรณคดีไทย ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย ยังให้ความสำคัญกับวรรณกรรมร่วมสมัย นั่งเก้าอี้กรรมการตัดสินวรรณกรรมเพื่อรับรางวัลซีไรต์ รางวัลหนังสือดีเด่น กระทรวงศึกษาธิการ รางวัลนายอินทร์ อวอร์ด รางวัลแว่นแก้ว รวมถึงรางวัลพานแว่นฟ้า เป็นต้น

สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปินแห่งชาติที่ไม่ยอมรับทั้งการยกย่องและเงินทองใดๆ จากภาครัฐ เล่าว่า ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย เป็นอาจารย์วรรณคดีไทยที่ ‘ใจกว้าง’ เปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง พูดง่ายๆ ว่า เป็นผู้มีความคิด ‘ก้าวหน้า’

จากปากคำข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อในวันที่ล่วงลับ คำอำลาหลั่งไหลจากทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและสายประชาธิปไตย

“เธอลาลับจากไปแล้ว เหลือทิ้งไว้แต่ความทรงจำแสนงามอีกหลายเรื่องที่เราเคยพบปะสนทนา และทำงานร่วมกัน
ขอรำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ไว้ ณ ที่นี้ตลอดไป”

คือคำอำลาอาลัย จากสเตตัสเฟซบุ๊กของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้รับหนังสือแจ้งยกเลิกการยกย่อง

สุชาติยังเล่าเรื่องราวน่าสนใจที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้

“เธอเป็นหนึ่งในคณาจารย์ทางด้านวรรณกรรมที่เข้าไปมีบทบาทในคณะอนุกรรมการ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นหนึ่งในอนุกรรมการที่ต่อสู้เพื่อให้กวี นักเขียน นักประพันธ์ หลายคนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ

ในวาระที่ผมได้รับเกียรตินี้ เมื่อปี พ.ศ.2554 คุณรื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ได้พยายามต่อสู้ในชั้นอนุกรรมการ และในชั้นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจนสำเร็จ หลังจากที่เคยต่อสู้ให้มาก่อนหน้านั้นหลายวาระ แต่ถูกตีตกไปในชั้นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จนเธอเองแปลกใจ หลังจากนั้นเธอยังพยายามต่อสู้เพื่อผลักดันให้ ศรีดาวเรือง ได้รับการยกย่องเชิดชูในเกียรตินี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 และ พ.ศ.2556

แต่หลังจาก คสช.เข้ามาทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 เธอก็บอกแปลกใจที่ชื่อของ ศรีดาวเรือง ได้ถูกบรรดากรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการบางคนนำออกจากการพิจารณา ทั้งที่เคยมีผู้เสนออย่างเป็นทางการมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2555 ทั้งนี้ ก็ด้วยข้ออ้างทางการเมืองว่า ศรีดาวเรือง มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผม

เท่าที่เคยมีประสบการณ์อยู่ในฐานะคณะอนุกรรมการ สาขาวรรณศิลป์ ระหว่างปี พ.ศ.2533-2535 ผมเข้าใจว่า คุณรื่นฤทัย สัจจพันธุ์ คือผู้เขียน ‘คำประกาศเกียรติคุณ’ ให้แก่ผมอย่างสง่างาม เมื่อครั้งได้รับเกียรตินี้ทางด้านวรรณศิลป์เมื่อปี พ.ศ.2554”

ถอด‘ศิลปินแห่งชาติ’
ประเด็น‘สาธารณะ’ที่ไม่กล้าเดาตอนจบ

ม็อบทะลุฟ้า ติดตั้งภาพสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่โดนแจ้งมติถอดถอน
บนถนนราชดำเนิน เบื้องหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยกย่องเป็น ‘ศิลปินแห่งราษฎร์’ (ภาพโดย นราธิป ทองถนอม)

เมื่อสุชาติพูดถึงประเด็นนี้ ย่อมไม่อาจข้ามไปได้ถึงความคืบหน้าล่าสุด หลังหนังสือทางการจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมมาถึง เนื้อหาแจ้งว่าได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้แจ้งมติในคราวประชุม (ลับ) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2564 กรณีการแสดงพฤติการณ์อันไม่เหมาะสม ซึ่งได้กระทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมในเฟซบุ๊กอยู่เป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบัน

8 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่มนักคิด นักเขียน นักวิชาการร่วมกันออกแถลงการณ์ ‘ค้านมติ’ กว่าร้อยราย พร้อมล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org โดยตั้งคำถามต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติว่าเป็นการวินิจฉัยที่เกินเลย ‘บทบาทหน้าที่’ พร้อมยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

1.ทบทวนและยกเลิกมติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว

2.คณะกรรมการคนใดอยู่ในเสียงข้างน้อย สมควรแสดงความกล้าหาญบอกกล่าวจุดยืนของตนต่อสาธารณะ เพื่อได้รับประดับเกียรติจากประชาชน

3.หากคณะกรรมการคนใดบังเกิดความละอาย สามารถสร้างวัฒนธรรมดีงามใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยการเอ่ยขอโทษอย่างจริงจัง และลาออกจากคณะกรรมการโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างบรรทัดฐานการทำงานให้คนรุ่นถัดไปแสดงความนับถือได้

ไม่เพียงเท่านั้น แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุว่า นอกจากมาตรการทางสังคม ปัญหาจากมติที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าว จะนำไปสู่ขั้นตอนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำรงหลักการความถูกต้องและชอบธรรมอีกหลายคดีความ ล่าสุด มีประชาชนร่วมลงชื่อแล้วเกือบ 7,000 ราย

ส่วนเจ้าตัวยังไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อใดอย่างเป็นทางการ แต่ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า เรื่องที่เกิดขึ้น ‘เวลานี้มันอยู่เลยตัวผมไปแล้ว’ คือกลายเป็นเรื่องของสาธารณชนดังที่มีผู้เข้าชื่อกัน ดังนั้น ก็ขอให้เป็น ‘ประเด็นสาธารณะ’ เพื่อการรับรู้ เรียนรู้ และการปรับเปลี่ยน ‘รื้อสร้าง’ โครงการนี้ (ศิลปินแห่งชาติ) ต่อไปในอนาคต

“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับผม ผมก็ได้รับความอับอาย เสียหาย สำเร็จแล้ว ดังนั้น ก็ขอให้ทุกท่านสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกได้ เพราะเงินค่าตอบแทนที่มอบให้ศิลปินแห่งชาติ ในแต่ละคนนั้นเป็นเงินภาษีของราษฎรทุกคน…

การถูกยกเลิก และการกล่าวประจานให้ผมได้รับความอับอาย เสียหาย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว ว่าไปก็คงไม่ต่างไปจากที่มีราษฎรคนอื่นๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ถูกยิงด้วยกระสุนยาง กระสุนจริง กระสุนแก๊สนํ้าตา และถูกจับกุมคุมขังไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม

การเป็นศิลปินแห่งชาติ ถ้าจะเป็นต่อไป จึงควรต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในความชอบธรรม และประเด็นนี้มันกลายเป็นประเด็นสาธารณะว่าด้วย จิตสำนึกและสามัญสำนึกของศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติด้วยเงินภาษีของราษฎรทุกคนไปแล้ว มันจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผม”

นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า ทนายจาก ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ถึงปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง “ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมพิจารณายกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ” โดยให้เวลา 10 วันในการตอบกลับ

นี่คือเรื่องราวเขย่าวงวรรณกรรมที่ต้องติดตามตอนต่อไป ส่วนผู้ล่วงลับ สังคมไทยย่อมร่วมกันตัดสิน แยกแยะและคัดกรองความทรงจำสุดท้ายกลางประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยที่ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image