‘(เ)ค้น’ความจริง ส่องอำนาจรัฐ กลางเสียงเรียกร้อง#ปฏิรูปตำรวจ

นับเป็นช่วงเวลาที่สังคมตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นทุกที ตั้งแต่การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ การปฏิบัติอย่างสองมาตรฐาน การประพฤติมิชอบที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ ไปจนถึงโลกโซเชียลที่ไม่อาจปิดกั้นได้ง่ายเหมือนในยุคอนาล็อก

โดยเฉพาะเมื่อเกิดประเด็น (อดีต) ผู้กำกับโจ้ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ พร้อมพวกใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาชายในคดียาเสพติดจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยมีคลิปจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐาน สร้างความสะเทือนใจและแรงกระเพื่อมแก่สังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

‘ปฏิรูปตำรวจ’ จึงกลายเป็นข้อเรียกร้องที่ดังขึ้นถี่ๆ คนรุ่นใหม่กล่าวปราศรัยอย่างดุเดือดในการชุมนุมทางการเมือง ย้อนถึงกรณี ‘ตั๋วช้าง’ ไล่เรียงมาจนถึงการสลายชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 และสมรภูมิดินแดงในวันนี้ ล่าสุด เกิดเหตุรถควบคุมผู้ต้องหาพุ่งชนกลุ่มวัยรุ่นที่รวมตัวกันปาประทัดบริเวณแยกดินแดง เมื่อช่วงดึกของวันที่ 12 กันยายน ปราบปรามด้วยการใช้กระสุนยาง และรถฉีดน้ำแรงดันสูงอย่างต่อเนื่อง

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ตำรวจลดน้อยลง บั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนเป็นอย่างมาก

Advertisement

‘Zoom Out อำนาจตำรวจ ส่องการใช้วิธีเค้นหาความจริง’ คือหัวข้อเสวนาออนไลน์ซึ่งจัดโดย Thailand Institute of Justice (TIJ) หรือ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงประเด็นกระบวนการทำงานและอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอบสวนผู้ต้องหา โดยมีวิทยากรจากหลายสาขา ให้ความเห็นในหลากแง่มุม ทั้งด้านกฎหมาย, สิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม

ค้นหาความจริง ไม่ใช่ ‘เค้น’ หาความจริง
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดวงสนทนาด้วยประเด็น ‘บทบาทหน้าที่’ การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งหลายคนยังสับสน และมักเข้าใจว่าตำรวจทุกคนคือพนักงานสอบสวน

“เมื่อพูดถึงตำรวจเราจะนึกถึงการสืบสวนสอบสวน เราจะคิดว่าตำรวจทุกคนคือพนักงานสอบสวนทั้งหมด กระบวนการกฎหมายของไทยเราแยกระหว่างสืบสวนและสอบสวนออกจากกัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกัน สืบสวนตามกฎหมายคือการสืบหาพยานหลักฐานเพื่อหาข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของตำรวจ ในขณะเดียวกันตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนจะมีหน้าที่ในการสอบสวน ขั้นตอนในการสอบสวนคือการรวบรวมพยานหลักฐาน ดำเนินการตามกฎหมายอื่นๆ เพื่อตรวจสอบและทำสำนวนคดีและค้นหาความจริงในคดีและส่งต่อสำนวนคดีไปให้พนักงานอัยการ แต่เรามักจะเรียกโดยรวมว่าสืบสวนสอบสวน ซึ่งสะท้อนให้เห็นทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาพยานหลักฐานว่าเขายังให้ความสำคัญกับการแสวงหาหลักฐานจากพยานบุคคล และตรงตามโจทย์ที่ตั้งไว้เลยคือเป็นการเค้นหาความจริง ไม่ใช่ ค้นหาความจริง เหมือนกับบทบาทที่เราคิดว่าควรจะต้องมี การเค้นหาความจริงจากตัวพยานบุคคล นั่นคือการสะท้อนว่ายังมีทัศนคติเช่นนี้อยู่อีกว่าสามารถทำทุกวิถีทาง รวมทั้งการซ้อม การทรมาน การใช้ความรุนแรงต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานในการดำเนินคดี” ผศ.ดร.ปารีณาอธิบายอย่างละเอียด

จากนั้น ฉายภาพให้เห็นถึงประเด็น ‘ทัศนคติ’ ที่ยังขาดความเข้าใจในประเด็น ‘สิทธิในชีวิต’ ทั้งในฝั่งเจ้าหน้าที่รวมถึงผู้คนในสังคมไทย

“วันที่แถลงข่าวเราจะเห็นว่ามีการยกว่าทำทุกวิถีทางเพื่อปราบปรามคดียาเสพติด เพื่อป้องกันสังคม ป้องกันเยาวชน ซึ่งหลายคนในโซเชียลมีเดียก็ยังเห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ ทำให้เห็นว่านอกจากทัศนคติของเจ้าหน้าที่แล้ว ทัศนคติของคนในสังคมก็ยังไม่เข้าใจว่านี่คือสิทธิในชีวิต สิทธิของมนุษย์ที่จะไม่ถูกทรมาน สิทธิที่จะได้รับการเคารพและจะถูกพรากไปไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใดก็ตาม ทั้งภาวะสงคราม ภาวะฉุกเฉิน หรือคดีร้ายแรงต่างๆ ก็แล้วแต่ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของการเป็นมนุษย์ ทัศนคติหรือวัฒนธรรมแบบนี้ต้องได้รับการปลูกฝังใหม่ ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดจนคนในสังคมด้วย” คณบดีนิติศาสตร์ จุฬาฯ ย้ำ

เมื่อกฎหมายยาเสพติดถูกใช้ในทางผิด
เมื่อเอ่ยถึงประเด็นด้านทัศนคติ วันชัย รุจนวงศ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เปิดมุมมองที่น่าสนใจว่า กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดของไทยและทัศนคติของคนในสังคมนี่เอง คือที่มาของปัญหาการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นช่องโหว่ให้ใช้อำนาจในทางมิชอบ

“ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมไทยดูเหมือนมันปกติ แต่จริงๆ ไม่ปกติ เพราะกระบวนการยุติธรรมไทยมันบิดเบี้ยวไปหมดแล้ว ประการแรกคือ เริ่มตั้งแต่นโยบายกฎหมายยาเสพติดคือต้นตอของปัญหา เพราะคดีของ ผกก.โจ้ที่มีการกระทำกับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดนั้นไม่ใช่เรื่องแรกและไม่ใช่เรื่องเดียว แต่เกิดขึ้นเป็นประจำและเกิดขึ้นมานานแล้ว ในบรรดากฎหมายที่มีโทษอาญาทั้งหมดกฎหมายยาเสพติดเป็นตัวปัญหามากที่สุดในประเทศไทย เพราะว่าเราเริ่มรณรงค์เรื่องยาเสพติดและเขียนกฎหมายยาเสพติดมา 40 ปีแล้ว ซึ่งจะเห็นว่ามันมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ใครก็ตามที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดคือผู้ทำลายชาติ คือผู้ร้าย แม้กระทั่งนักการเมืองเองก็ถูกครอบงำด้วยทัศนคติที่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ใช่มนุษย์ เป็นอสูรร้าย มาตรการต่างๆ ในการปราบปรามยาเสพติดจึงรุนแรงขึ้นไปทุกที และให้อำนาจมาก เช่น เข้าตรวจค้นได้เลยโดยไม่ต้องมีหมายค้นหรือจับได้ก่อนโดยไม่ต้องมีหมาย และสามารถควบคุมตัวก่อนเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี ซึ่งในระหว่างควบคุมตัวก็จะมีการต่อรองว่าถ้าจ่ายเงินให้ตำรวจ ในระหว่างการควบคุมตัว 3 วันก็จะไม่ถูกดำเนินคดี เพราะฉะนั้นตอนนี้กฎหมายยาเสพติดจึงถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดมากที่สุด เพราะผู้ที่ถูกจับในคดีนี้ถูกด้อยค่าเมื่อพูดอะไรไปก็จะไม่มีใครเชื่อ ทำให้พฤติการณ์แบบนี้ของตำรวจมีมากขึ้น” วันชัยกล่าว

สร้างสมดุลอำนาจ ‘ประชาชน-ภาครัฐ’
หยุดซ้อมทรมาน-แทรกแซงเสรีภาพ

มาถึงประเด็นสำคัญอย่างการซ้อมทรมาน ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เกินรับได้ ดังเช่นกรณีคลุมถุงดำของกลุ่มอดีตผู้กำกับโจ้

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าถ้าไม่มีการสร้างสมดุลอำนาจของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและของประชาชนจะทำให้เกิดปัญหาหลายประการตามมานอกเหนือความไม่เชื่อใจของประชาชน

“ถ้ามองภาพรวมทั้งโลกปัญหาเรื่องการทรมานผู้ต้องหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ เรามีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการบังคับสูญหาย พูดง่ายๆ มันคืออนุสัญญา
หรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่ต้องการยุติการใช้กำลังความรุนแรงนอกกฎหมาย ในปัจจุบันมากกว่า 140 ประเทศทั่วโลกยังมีการทรมานผู้ต้องหา ซึ่งไทยเราต้องยอมรับว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะในเวทีโลก กฎหมายของไทยมักให้ความสำคัญกับ Crime control หรือการควบคุมอาชญากรรมเพื่อให้คนในสังคมใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข

แต่ในขณะเดียวกันการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการใช้ความรุนแรงในรูปแบบหนึ่งซึ่งกลายเป็นการแทรกแซงเสรีภาพของประชาชน แต่ที่ทำได้เพราะทำไปในนามของผลประโยชน์ของสาธารณะ และที่เราสามารถให้รัฐแทรกแซงเสรีภาพของเราได้เนื่องจากความไว้วางใจและเชื่อมั่นของคนในสังคมว่ารัฐจะสามารถใช้อำนาจในการแสวงหาความจริงแล้วจะนำมาซึ่งความสงบสุข นำมาซึ่งการป้องกันอาชญากรรมที่ร้ายแรงในสังคม ถ้าไม่มีการสร้างสมดุลระหว่างอำนาจของประชาชนและอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ จะเกิดการไม่เชื่อใจของประชาชน เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดการละเมิดสิทธิอื่นๆ ต้องมีเส้นสายจึงจะได้รับความยุติธรรม” ฐิติรัตน์แนะ

แค่ตำรวจไม่พอ! ต้องปฏิรูปทั้งกระบวนการยุติธรรม

จากปมปัญหาต่างๆ ข้างต้น ถึงเวลาเข้าสู่ประเด็นการหาทางออกเพื่อแก้ไข โดย ผศ.ดร.ปารีณา ได้นำเสนอวิธีการตรวจสอบและปฏิรูปการทำงานที่ไม่ใช่เพียงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่ต้องปฏิรูปทั้งกระบวนการยุติธรรม

“การตรวจสอบเป็นหนึ่งในมาตรการที่ต้องมีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน แต่การตรวจสอบหรือการปฏิรูปตำรวจอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดรวมถึงสื่อและสังคมด้วย อย่างแรกคือกระบวนการออกกฎหมายควรออกจากมุมมองใหม่ ปัจจุบันกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐที่อยู่เหนือประชาชน ทั้งที่จริงกฎหมายคือสิ่งที่ใช้ในการแก้ปัญหาสังคมเพื่อประชาชน โดยเอาคนในสังคมเป็นศูนย์กลางไม่ใช่เอารัฐเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป ควรมีการคุ้มครองความปลอดภัยและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่เป็นปัจเจกไปพร้อมๆ กัน

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่ให้อำนาจรัฐเลย เพราะมีการละเมิดกฎหมายถึงขั้นเป็นอาชญากรรมที่กระทบต่อชีวิต เสรีภาพ ทรัพย์สินของมนุษย์คนอื่นๆ ซึ่งอำนาจรัฐเท่านั้นที่จะทำได้ การสร้างสมดุลทางอำนาจจะต้องมีโดยต้องมองประชาชนเป็นหลัก จึงอยากเสนอว่า การออกแบบกระบวนการยุติธรรมจึงต้องให้เห็นทั้งกฎหมายว่าเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากประชาชนด้วยกันเองและประชาชนจากเจ้าหน้าที่รัฐ”

ผศ.ดร.ปารีณา ย้ำว่า ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอื่นๆ จะต้องมุ่งว่ารัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆ การปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยด้วย

“การแก้ปัญหาประเด็นเหล่านี้มีด้วยกันสองแบบคือการตรวจสอบและสร้างความโปร่งใส หลายๆ ครั้งจะเห็นได้ว่าถ้ามีการสอบสวนจะมีการบันทึกเทปในการสอบสวนเพื่อแสดงความโปร่งใสว่าดำเนินการตามสิทธิอย่างเรียบร้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องนำมาพิจารณาเพื่อสร้างความโปร่งใส เพราะเมื่อเกิดการตรวจสอบจากภายนอกจะมีผลกระทบพอสมควร”

ส่วน วันชัย ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม แนะให้ไปศึกษาระบบของยุโรปที่เขาแยกรายเล็ก รายใหญ่ ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ส่งออก เพื่อปราบปรามอย่างจริงจัง หรือศึกษาว่าควรทำอย่างไรให้ลดปัญหายาเสพติดในสังคม ไม่ใช่การมุ่งเน้นจับแค่รายเล็กเนื่องจากจับได้ง่ายกว่า และกฎหมายก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจมากเกินไป เปิดโอกาสให้ต่อรองกับผู้ต้องหา อาจนำมาซึ่งการประพฤติมิชอบ โดยตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เห็นแล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ

ด้าน ฐิติรัตน์ เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นคือ เริ่มให้มีการบันทึกการสอบสวนเพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐได้ โดยทำให้เป็นแนวทางเดียวกัน และอีกแนวทางคือการติดอาวุธให้ประชาชนโดยให้ประชาชนรับรู้ถึงสิทธิของตนเองในการต่อรองและตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐ

“เราต้องห้ามความรุนแรงที่ปราศจาก due process (กระบวนการอันชอบธรรมทางกฎหมาย) ให้ได้ ต้องพูดให้ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ผิดคือห้ามการทรมาน ห้ามการบังคับสูญหาย และห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ แต่การห้ามเฉยๆ อาจจะไม่นำไปสู่การแก้ไขจึงต้องมีสองกลไกคือ กลไกในการตรวจสอบ เช่น ต้องมีการบันทึกกระบวนการทำงานของตำรวจ และองค์กรอื่นต้องเข้ามาตรวจสอบได้ว่าบันทึกเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ มีการใช้อำนาจนอกกฎหมายในกระบวนการเหล่านี้ที่ขัดกับบันทึกที่มีอยู่หรือเปล่า แล้วกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนจะไปสร้างแรงกดดันให้หน่วยงานอื่นๆ มาสร้างสมดุลอำนาจตรงนี้ได้”

อย่างไรก็ตาม ประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทยท่านนี้ มองว่า การตรวจสอบอย่างเดียวไม่พอ

“การตรวจสอบอย่างเดียวไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้าคนที่ทำงานยังอึดอัดอยู่หรือไม่สามารถทำตามหลักการที่มีอยู่ได้ ดังนั้น ควรมีทางเลือกให้เขา คือเครื่องมือในการสืบสวนสอบสวนโดยวิธีอื่นๆ เราต้องหยุดคิดได้แล้วว่าการใช้ความรุนแรงจะนำมาซึ่งความจริงแต่นำไปสู่ปัญหาอีกมากมาย ถ้าให้เสนอว่าในระยะสั้นทำอะไรได้บ้าง คิดว่าอย่างแรกเรื่องการบันทึกการสอบสวนนั้นทำได้โดยไม่ต้องรอกฎหมายใหม่ ควรทำให้เป็นแนวทางเดียวกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรื่องที่สองคือเราควรติดอาวุธฝั่งประชาชนที่ทำให้เขารู้ว่าตนเองมีสิทธิอะไร ในปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่เริ่มเรียนรู้ที่จะโต้แย้งสิทธิของเขาอย่างไร ซึ่งต้องทำให้เป็นเรื่องธรรมดาให้ได้ และคนที่จะติดอาวุธให้ฝั่งประชาชนได้คือทนายหรือสภาทนายความ ซึ่งควรระลึกถึงหน้าที่ของตนเองในฐานะผู้ที่ปกป้องเสรีภาพของประชาชน” ฐิติรัตน์กล่าว

ทั้งหมดนี้คือความเห็น มุมมอง และข้อแนะนำน่ารับฟังท่ามกลางเสียงเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นจริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image